ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุในเขตตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : กอญารัญ พลชิวา ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ต้องมีความเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุ และสภาพจิตใจที่ผู้สูงอายุต้องเผชิญเมื่อเข้าสู่ภาวะที่เคยเป็นอิสระในการดำเนินชีวิตมาเป็นผู้ที่ต้องพึ่งพาบุคคลอื่นแทน ดังนั้นการวางแผนในการดูแลให้เหมาะสมจึงต้องทราบว่าผู้สูงอายุต้องการความช่วยเหลือมากน้อยเพียงใด จึงมีการศึกษาภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุในเขตตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจะดีหรือไม่นั้น การเตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุถือว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญยิ่ง ซึ่งผลการศึกษาที่ได้จะเป็นข้อมูลในการทราบถึงระดับภาวะพึ่งพาในผู้สูงอายุ เพื่อนำไปใช้เตรียมความพร้อมในการดูแลผู้สูงอายุ มีการพัฒนาความสามารถของผู้ดูแลในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งยังสามารถเป็นข้อมูลพื้นฐานในการวางแผนการเตรียมผู้ดูแลและเตรียมชุมชนในการดูแลผู้สูงอายุที่เข้าสู่ภาวะพึ่งพาได้อย่างเหมาะสม  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาระดับภาวะพึ่งพาของผู้สูง ในเขตตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากร คือ ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่พื้นที่ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 1,095 คน กลุ่มตัวอย่าง ผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ที่อาศัยอยู่พื้นที่ตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย (Simple random sampling) จำนวนร้อยละ 30 ของประชากรทั้งหมด  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 2 ส่วนคือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 แบบประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เป็นดัชนีชี้วัดภาวะพึ่งพาในด้านความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน ของดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL Index)  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาเชิงสำรวจ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างที่ได้มาจากการสุ่มอย่างง่าย จำนวนร้อยละ 30 ของประชากร สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไป ในพื้นตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ และแบบประเมินความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน เป็นดัชนีชี้วัดภาวะพึ่งพาในด้านความสามารถในการประกอบกิจวัตรประจำวันพื้นฐาน ของดัชนีบาร์เธลเอดีแอล (Barthel ADL Index) วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา คำนวณหาร้อยละ ค่าเฉลี่ยและส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน  
     
ผลการศึกษา : การศึกษาภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุในเขตตำบลหนองแปน อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์ เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสัมภาษณ์ กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 329 ราย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ เป็นเพศหญิง ร้อยละ 55.93 มีอายุระหว่าง 60 – 69 ปี ร้อยละ 51.37 นับถือศาสนาพุทธ ร้อยละ 100.00 และอยู่กับคู่สมรส ร้อยละ 68.39 มีโรคประจำตัว ร้อยละ 52.89 มีการเจ็บป่วยที่ต้องเข้ารับการรักษา ร้อยละ 30.40 ไม่สูบบุหรี่ ร้อยละ 55.92 และไม่ดื่มสุรา ร้อยละ 56.53 จบชั้นประถมศึกษา ร้อยละ 51.37 อาศัยอยู่กับคู่สมรสและบุตร ร้อยละ 67.78 มีบุตรเป็นผู้ดูแลหลัก ร้อยละ 55.92 เป็นสมาชิกชมรมผู้สูงอายุ ร้อยละ 73.55 เข้าร่วมกิจกรรมในสังคม ร้อยละ 76.89 ในอดีตประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 61.39 และยังประกอบอาชีพเกษตรกรรมในปัจจุบัน ร้อยละ 61.39 มีรายได้หลักจากการทำงาน ร้อยละ 52.88 รายได้เฉลี่ย ระหว่าง 1,001 – 5,000 ร้อยละ 40.42 ซึ่งเพียงพอต่อการเลี้ยงชีพ ร้อยละ 75.68 ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง) ร้อยละ 78.11 ไปรับการสถานบริการตามสิทธิการรักษาทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ ร้อยละ 89.05 มีความสะดวกในการไปใช้บริการ ร้อยละ 100.00 และได้รับความรู้ด้านสุขภาพ ร้อยละ 100.00 ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุ จากการประเมินเกี่ยวกับความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันของผู้สูงอายุ ซึ่งมีคะแนนเต็ม 20 คะแนน พบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีคะแนนเฉลี่ย คือ 14.19 คะแนนต่ำสุดคือ 0 คะแนน มีจำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 0.60 คะแนนสูงสุดคือ 20 คะแนน จำนวน 27 คน คิดเป็นร้อยละ 6.07 ระดับภาวะพึ่งพาของผู้สูงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ มีภาวะพึ่งพาคนอื่นเล็กน้อย (คะแนน 12 – 19) ร้อยละ 80.24 รองลงมาสามารพึ่งพาตนเองได้ ร้อยละ 6.07 (คะแนน 20) สรุปและข้อเสนอแนะ : สรุปผลการศึกษา : ความสามารถในเชิงปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน พบว่า การมีภาวะพึ่งพาเพิ่มขึ้นตามอายุ เนื่องจากสภาพร่างกายที่มีความเสื่อมที่เป็นไปตามอายุ สำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาผู้อื่นปานกลางจนถึงไม่สามารถช่วยตนเองได้ เป็นกลุ่มที่ต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิดทั้งทางกายและทางจิตใจ เป็นผู้ที่มีโอกาสเจ็บป่วยและเกิดภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ได้ง่าย โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะพึ่งพาตนเองไม่ได้มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนง่ายกว่ากลุ่มอื่น ๆ เช่น การเกิดแผลกดทับจากการนอนนาน ๆ  
ข้อเสนอแนะ : 1. มีแผนการประเมินภาวะสุขภาพผู้สูงอายุในชุมชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นประโยชน์ในการจัดกลุ่มสำหรับการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน ได้ความเหมาะสมตามลำกับความสำคัญก่อนหลัง เช่น มุ่งเน้นในกลุ่มที่มีระดับภาวะพึ่งพาคนอื่นมาก และในกลุ่มที่มีภาวะพึ่งพาตนเองไม่ได้ ควรได้รับการเยี่ยมบ้านอย่างต่อเนื่อง มีการให้ความรู้และฝึกทักษะแก่ผู้ดูแลผู้สูงอายุและติดตามความก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง 2. มีการศึกษารูปแบบการส่งเสริมสุขภาพและการให้การดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพาตรงตามความต้องการของผู้ดูแลและผู้สูงอายุ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)