ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เก็บข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความรู้ ทัศนคติ พฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ในตับของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในเขตตำบลหนองสรวง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ. 2560
ผู้แต่ง : วรุณยุพา สมคำศรี ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : พยาธิใบไม้ในตับที่เป็นเชื้อก่อโรคในคนประเทศไทย คือ Opisthorchis viverrini พยาธิตัวเต็มวัยขณะมีชีวิตพบอยู่ในทางเดินท่อน้ำดีของตับในคน พบได้ทุกภาคของประเทศไทย แต่พบในอัตราที่สูงในภาคตะวันอออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจัดอันดับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคที่สำคัญและยอมรับให้โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นสาเหตุสำคัญ ในการเป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี โรคมะเร็งตับหรือส่วนหนึ่งคือมะเร็งท่อน้ำดี พบว่าอุบัติการณ์ของการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าว ในประเทศไทยยังพบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารประเภทที่ปรุงจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวตระกูลปลาตะเพียนปรุงดิบ หรือ สุกๆดิบๆซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับปนเปื้อน ดังตัวอย่างอาหารเสี่ยงได้แก่ ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าดิบ (น้อยกว่า 6 เดือน ) หรือส้มตำปลาร้าดิบ เป็นต้น เมื่อ คน รวมทั้งแมว หรือสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์รังโรคพยาธิใบไม้ตับที่สำคัญ ถ่ายอุจาระปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาด ได้อีกทั้งพยาธิใบไม้ตับ ซึ่งมีอายุขัย มากกว่า 10 ปี อาศัยอยู่ในท่อน้ำดีทั้งของคนและสัตว์รังโรคเป็นเวลานานจะทำให้พยาธิสะสมจำนวนมากๆขึ้นมีการอักเสบของท่อน้ำดีมากขึ้น และมีโอกาสพัฒนากลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี การศึกษาระบาดวิทยาของโรคพยาธิใบไม้ตับสถานการณ์ล่าสุดในปี 2558 พบว่าอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับทั่วประเทศมีเฉลี่ยร้อยละ 8.7 การกระจายของโรคพยาธิใบไม้ตับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราความชุกสูงกว่าภาคอื่น คือร้อยละ 18.7 ภาคเหนือร้อยละ10.0 เมื่อพิจารณาในระดับหมู่บ้านพื้นที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือพบว่าอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับสูงที่สุดถึงร้อยละ85.2 ในขณะที่อัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในระดับหมู่บ้านพื้นที่ภาคเหนือตรวจพบสูงที่สุดร้อยละ 45.6 ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทยยังมีปัญหาอยู่สูงมาก และเป็นหลักฐานทางระบาดวิทยาโดยการายงานที่แสดงให้เห็นเป็นตัวเลข ที่เป็นปัจจุบัน ที่บ่งชี้ว่า โรคพยาธิใบไม้ตับยังเป็นปัญหาที่ต้องได้รับแก้ไขในทุกระดับ จากการศึกษาพบว่าการเกิดโรคมะเร็งตับในประเทศไทยส่วนมากเป็นมะเร็งท่อน้ำดีและมีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข ปี พ.ศ. 2558 รายงานว่าประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือว่าร้อยละ 16.6 หรือประมาณการ 8.7 ล้านคน มีการติดพยาธิชนิดนี้ ขณะเดียวกันก็พบว่าอุบัติการณ์ของมะเร็งตับและท่อน้ำดี มีอุบัติการณ์ในผู้ชายสูงสุด 113.4 ในผู้หญิง 49.8 ต่อประชากรแสนคน ซึ่งเป็นอุบัติการณ์ มะเร็งท่อน้ำดีที่สูงที่สุดในโลก สำหรับจังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น พบว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี และแต่ละปีก็มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการสำรวจพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทย พ.ศ. 2558 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับ ดังนี้ กาฬสินธุ์พบร้อยละ 27.4 ขอนแก่นพบร้อยละ 14.2 ร้อยเอ็ดพบร้อยละ 11.8 มหาสารคามพบร้อยละ 11.6 อัตราตายจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีต่อประชากร 100,000คน ดังนี้ ร้อยเอ็ด 54.8 คน กาฬสินธุ์ 50.9 คน และ มหาสารคาม 44.9 คน (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่7 จังหวัดขอนแก่น ) ดังนั้น หากประชาชนมีความรู้และพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมอาจส่งผลทำให้เกิด การติดโรคพยาธิใบไม้ตับและก่อให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีในที่สุด ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาความรู้ เจตคติ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำบลหนองสรวง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยการศึกษาครั้งนี้จะนำมาเพื่อเป็นแนวทางวางแผนการแก้ไขปัญหาการติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีให้เหมาะสม  
วัตถุประสงค์ : 1. วัตถุประสงค์ของการศึกษา 1.1 วัตถุประสงค์ทั่วไป ศึกษาความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ตับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านตำบลหนองสรวง อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ 1.2 วัตถุประสงค์เฉพาะ 1. เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากรของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 2. เพื่อศึกษาความรู้เรื่องโรคพยาธิใบไม้ตับของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 2. เพื่อศึกษาการทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันโรคโรคพยาธิใบไม้ตับของอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 3. เพื่อศึกษาพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ตับของอาสาสมัคร สาธารณสุขประจำหมู่บ้าน  
กลุ่มเป้าหมาย : อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเขตตำบลหนองสรวง อำเภอ หนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 107 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม (Questionnaire) ที่พัฒนาขึ้นจากการศึกษาค้นคว้าเอกสาร ตำรา งานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องตลอดจนสอบถามจากผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งประกอบด้วย 4 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ลักษณะทางประชากร ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ โดยแบบสอบถามมีคำถามแบบเลือกตอบและเติมคำ จำนวน 5 ข้อ ส่วนที่ 2 ความรู้เกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นลักษณะคำถามแบบปรนัย 4 ตัวเลือกชนิดเลือกคำตอบที่ถูกเพียงคำตอบเดียว ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับ อาทิ สาเหตุ อาการ การป้องกันการเกิดโรค จำนวน 15 ข้อ โดยมีเกณฑ์ให้คะแนนดังนี้ ตอบถูกให้ 1 คะแนน ตอบผิดให้ 0 คะแนน รวมคะแนนเต็ม 15 คะแนนการจัดระดับความรู้เกี่ยวกับโรคพยาธิใบไม้ตับ จัดโดยอิงเกณฑ์ (อ้างใน วรพจน์ พรหมสัตยพรต, 2544) ดังนี้ มีความรู้ระดับดี หมายถึง คะแนนความรู้ร้อยละ 80 ขึ้นไป ( 12 –15 คะแนน ) มีความรู้ระดับปานกลาง หมายถึง คะแนนความรู้ร้อยละ 60–79 ( 9 – 11 คะแนน) มีความรู้ระดับต้องปรับปรุง หมายถึง คะแนนความรู้ต่ำกว่าร้อยละ 60 ( 0 – 8 คะแนน ) ส่วนที่ 3 ทัศนคติเกี่ยวกับการป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ มีลักษณะคำถามแบบประเมินค่า(เห็นด้วยมากที่สุด เห็นด้วยมาก เห็นด้วยปานกลาง เห็นด้วยน้อย เห็นด้วยน้อยที่สุด) ซึ่งเป็นคำถามเกี่ยวกับการติดต่อ อาหารเสี่ยงต่อการติดเชื้อ อันตราย และการป้องกันการติดเชื้อ มีจำนวน 15 ข้อ กำหนดคะแนน ดังนี้ ข้อความเชิงบวก ข้อความเชิงลบ (ข้อ2,6,7,9,10,12,13,15) (ข้อ1,3,4,5,8,11,14) เห็นด้วยมากที่สุด 5 คะแนน 1 คะแนน เห็นด้วยมาก 4 คะแนน 2 คะแนน เห็นด้วยปานกลาง 3 คะแนน 3 คะแนน เห็นด้วยน้อย 2 คะแนน 4 คะแนน เห็นด้วยน้อยที่สุด 1 คะแนน 5 คะแนน ส่วนที่ 4 ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อการติดโรคพยาธิใบไม้ตับ เป็นคำถามเกี่ยวกับพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ เป็นการวัดโดยใช้มาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ลักษณะคำถามเป็นคำถามปลายปิด ( Close Ended Question ) มีคำถามให้เลือก 3 ตัวเลือก ผู้ถูกสอบถามจะเลือกคำตอบด้วยการตัดสินใจเพียงคำตอบเดียว จำนวน 10 ข้อ และมีรายละเอียด คือ ปฏิบัติเป็นประจำ หมายถึง มีการปฏิบัติเป็นประจำในข้อความนั้นๆ ปฏิบัติบางครั้ง หมายถึง มีการปฏิบัติในข้อความนั้นบางครั้ง ไม่เคยปฏิบัติ หมายถึง มีการปฏิบัติในข้อความนั้นเลย โดยมีเกณฑ์การให้คะแนน แบ่งเป็น 3 ระดับ ดังนี้ การปฏิบัติเป็นประจำ ให้คะแนนความเสี่ยง 3 คะแนน การปฏิบัติเป็นบางครั้ง ให้คะแนนความเสี่ยง 2 คะแนน ไม่เคยปฏิบัติ ให้คะแนนความเสี่ยง 1 คะแนน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ผู้ศึกษาดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ประสานงานกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองสรวง เพื่ออนุญาตดำเนินการศึกษา 2. ประสานงานกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองสรวง ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบพื้นที่รับผิดชอบตำบลหนองสรวง เพื่อช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น 3. ผู้ทำการศึกษาใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง และตรวจสอบความถูกต้องของ ข้อมูลก่อนออกจากผู้ให้การตอบแบบสอบถาม 4. ผู้ศึกษาจะนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้อง แล้วให้คะแนนตามเกณฑ์ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง