ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : เสนอโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 9 เดือน ถึง 4 ปี ที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : จุฑามาศ คำไสว ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : โรคฟันผุเป็นโรคที่พบมากในเด็กปฐมวัยซึ่งจะอยู่ในช่วงอายุ 1 ปี- 6 ปี จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 8 ประเทศไทย 2560 พบว่า เด็กก่อนวัยเรียนอายุ 3 ปี และ 5 ปี สถานการณ์ในเด็กอายุ 3 ปี มีความใกล้เคียงกับการสำรวจครั้งที่ผ่านมา โดยพบผู้ปราศจากโรคฟันผุในเด็กอายุ 3 ปี ร้อยละ 47.1 ในเด็กอายุ 5 ปี มีแนวโน้มการปราศจากโรคฟันผุเพิ่มขึ้นคือร้อยละ 24.4 นอกจากนี้ยังพบว่า เด็กก่อนวัยเรียนทั้ง 2 กลุ่มอายุ ประมาณร้อยละ 40.0 มีคราบจุลินทรีย์อยู่ในระดับเสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุ พบฟันผุระยะเริ่มต้นในเด็กอายุ 3 ปี และ 5 ปี ร้อยละ 31.1 และร้อยละ 31.3 ตามลำดับ ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จำเป็น ต้องได้รับการส่งเสริมป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดฟันผุเป็นรู นอกจากนี้ยังพบว่าเด็กอายุ 5 ปี ร้อยละ 18.6 มีฟันกรามถาวรซี่ที่หนึ่งขึ้นในช่องปากแล้ว การให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพช่องปากตั้งแต่ช่วงปฐมวัยจึงมีความสำคัญและลดโอกาสเกิดฟันถาวรผุได้ จากผลการสำรวจสภาวะสุขภาพช่องปากของจังหวัดกาฬสินธุ์ ข้อมูล 3 ปีย้อนหลัง พบว่ากลุ่มเด็ก 18 เดือน มีปราศจากฟันน้ำนมผุค่อนข้างคงที่ ร้อยละ 85.5, 89.6, 87.3 ตามลำดับ เด็ก 3 ปี มีแนวโน้มฟันน้ำนมปราศจากฟันผุเพิ่มขึ้นจาก ร้อยละ 46.2, 48.1, และ 55.4 ในกลุ่มอายุ 6ปี มีสภาวะสุขภาพช่องปากที่ดีขึ้น แต่เด็ก 12 ปี พบฟันฟันผุเพิ่มขึ้นจากกลุ่ม 6 ปี ในปี 2557-2559 พบปราศจากฟันแท้ผุ ร้อยละ 46.4, 58.3 และ 85.06 ตามลำดับ ปัจจัยที่มีผลต่อการเกิดโรคฟันผุในเด็กมีด้วยกันหลายปัจจัยทั้งปัจจัยที่มาจากตัวเด็กเนื่องจากฟันเด็ก ที่ขึ้นใหม่ๆ ตัวฟันยังมีการสร้างไม่สมบูรณ์ จึงทำให้เกิดฟันผุได้ง่าย โรคฟันผุเป็นผลจากการสูญเสียสมดุลระหว่างแร่ธาตุและกระบวนการคืนกลับแร่ธาตุในฟัน โดยกระบวนการเกิดโรคฟันผุเกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ (ขี้ฟัน)ย่อยสลายคราบอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลที่ตกค้างในช่องปากเพื่อใช้พลังงานในการเจริญเติบโตของตัวเองซึ่งผลจากการย่อยสลายนี้จึงทำให้เกิดกรดแลคติกที่สามารถทำลายโครงสร้างของฟันทำให้เกิดการผุกร่อน (ฟันผุ) อีกทั้งการไม่ทำความสะอาดช่องปากหรือทำไม่สม่ำเสมอ ผู้ปกครองไม่ได้ตรวจดูหรือแปรงเพิ่มให้ ดังจะเห็นได้จากการศึกษาของ สุนีย์ พลภานุมาศ (2546) ที่พบว่า แม่เริ่มแปรงฟันให้ลูกเมื่ออายุ 1 ปี และเริ่ม ให้เด็กหัดแปรงฟันเมื่ออายุ 1-2 ปี และมักให้เด็กแปรงเองโดยไม่มีการดูแลเมื่ออายุ 4-5 ปี นอกจากนี้พฤติกรรมการเลี้ยงดูเด็กของผู้ปกครองซึ่งได้แก่ การให้นมเด็กโดยให้ดูดนมเป็นระยะเวลานาน การให้เด็กดูดนมมื้อดึก การเติมน้ำหวาน น้ำผึ้งลงไปในนมเพื่อให้เด็กกินนมได้มากขึ้น อีกทั้งทัศนคติต่อการบริโภคอาหารที่ไม่ถูกต้องและบางครั้งมีความรู้ไม่เพียงพอในการจัดอาหารที่เหมาะสมกับเด็ก จากการศึกษาของวรรณศรี แก้วปินตา และคณะ, 2538) พบว่าผู้ปกครองมักมีความรู้ทัศนคติและการปฏิบัติในการดูแลทันตสุขภาพของเด็กในระดับต่ำ และพบว่าผู้ปกครองได้ให้น้ำอัดลมขนมกรุบกรอบแก่เด็กตั้งแต่อายุไม่ถึง 1 ปี จะเห็นได้ว่า เด็ก 9 เดือน – 4 ปี เป็นช่วงวัยที่สำคัญของการเจริญเติบโตทั้งร่างกาย จิตใจ อารมณ์และสติปัญญาและเป็นวัยที่เหมาะสมที่สุดในการปูพื้นฐานในด้านการอบรม เลี้ยงดู การส่งเสริมพัฒนาการ การสร้างความรู้ ความเข้าใจ การฝึกฝนทักษะตลอดจนการปลูกฝังทัศนคติ และพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสมโดยเฉพาะการดูแลสุขภาพช่องปาก ซึ่งการปลูกฝังดังกล่าว ผู้ปกครองนับว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่จะช่วยส่งเสริมให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดี ดังนั้น ผู้ศึกษาซึ่งเดิมเป็นทันตบุคลากร โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เล็งเห็นความสำคัญในการสร้างความตระหนักให้ผู้ปกครองได้เห็นความสำคัญในการส่งเสริมสุขภาพช่องปากเด็ก จึงทำการศึกษาเพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมของผู้ปกครองเด็กอายุ 9 เดือน – 4 ปี ที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาปรับใช้ในการให้ทันตสุขศึกษา ช่วยแก้ปัญหาได้ตรงประเด็นและตรงกับความต้องการของผู้ปกครอง ซึ่งจะทำให้ผู้ปกครองได้มีความรู้ ทัศนคติ และพฤติกรรมในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กที่ถูกต้อง ส่งผลให้เด็กมีสุขภาพช่องปากที่ดีก่อให้เกิดการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่สมวัย  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาระดับความรู้ ทัศนคติของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก 9 เดือน ถึง 4ปี ที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี 2.เพื่อศึกษาพฤติกรรมของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก 9 เดือน ถึง 4 ปีที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี 3.เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความรู้ ทัศนคติ กับพฤติกรรมของผู้ผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 9 เดือน ถึง 4 ปีที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ เด็กอายุ 9 เดือน-4 ปีและผู้ปกครองเด็ก ที่พาเด็กมารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน คน ซึ่งการคัดเลือกขนาดตัวอย่างใช้การเลือกแบบเจาะจง  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยเชิงบรรยาย รวบรวมข้อมูลโดยการสำรวจด้วยแบบสอบถาม นำมาวิเคราะห์ด้วยสถิติเชิงพรรณนา เพื่ออธิบายพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้ปกครองในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็กอายุ 9 เดือน ถึง 4 ปีที่มารับบริการในคลินิกสุขภาพเด็กดี  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง