ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลลัพธ์ของการพัฒนาและติดตามรูปแบบการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผล อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ยุพิน สุ่มมาตย์ ,นัยนา เยื้องกลาง ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ปัญหาเชื้อโรคดื้อยา (antimicrobial resistance) ที่มากขึ้นเกิดจากการใช้ยาปฏิชีวนะที่ไม่เป็นไปตามข้อบ่งชี้ทำให้ผู้ป่วยต้องนอนโรงพยาบาลนานขึ้นมีอัตราการเสียชีวิตที่สูงขึ้น ข้อมูลโรงพยาบาลห้วยผึ้ง ปีพ.ศ. 2558-2559 พบว่าอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบน (URI) และกลุ่มโรคท้องเสียฉับพลัน (AGE) เท่ากับร้อยละ 52.43 และ 30.08 ตามลำดับ มีค่ามากกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่กระกรวงกำหนด การศึกษานี้จะนำเสนอให้เห็นการพัฒนาอย่างเป็นระบบ เพื่อลดปริมาณการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อลดอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและกลุ่มโรคท้องเสียฉับพลัน 2.สร้างรูปแบบการดำเนินงานและติดตามการใช้ยาสมเหตุผลในโรงพยาบาลและรพ.สต.เครือข่ายอย่างยั่งยืน  
กลุ่มเป้าหมาย : ชุมชนต้นแบบต.นิคมห้วยผึ้ง อ.ห้วยผึ้ง จ.กาฬสินธุ์  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ : เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (Action research) โดยทุกคนมีส่วนร่วม มีการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติร้อยละ มีกิจกรรมที่ใช้ในการพัฒนาและติดตามดังนี้ 7.1 แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานระดับ คปสอ. เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาระบบบริการและนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 7.2 สร้างความตระหนักรู้จัดประชุมวิชาการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลและ รพ.สต.เครือข่าย จัดทำคู่มือแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เอกสารให้ความรู้ต่างๆ โปสเตอร์แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลใน 2 กลุ่มโรค จัดนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลที่หน่วยบริการต่างๆ 7.3 จัดกิจกรรมรณรงค์ในชุมชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมใน 2 โรคเป้าหมาย ให้ความรู้ผ่านวิทยุกระจายเสียง แผ่นพับ จัดชั่วโมงการเรียนการสอนแก่ผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุในทุกๆตำบล 7.4 พัฒนาศักยภาพ อสม. จิตอาสาและภาคีเครือข่ายให้มีความรู้ด้านผลิตตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อไปถ่ายทอดให้กับชุมชนและเฝ้าระวังเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย 7.5 พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านชำ/มินิมาร์ท ทำข้อตกลงร่วมกับชุมชน ยกระดับร้านชำ/ มินิมาร์ท ให้เลิกการจำหน่ายยาชุดและยาอันตราย 7.6 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสถานบริการเครือข่ายเป็นประจำทุกเดือน 7.7 สรุปข้อมูลประจำเดือนและคืนข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีการประชุมของ คปสอ.  
     
ผลการศึกษา : 1. สามารถลดอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและกลุ่มโรคท้องเสียฉับพลันภายในโรงพยาบาลห้วยผึ้งและรพ.สต. 5 แห่ง น้อยกว่าร้อยละ 20 2.รพ.สต.5 แห่งผ่านเกณฑ์การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะใน 2 กลุ่มโรค ร้อยละ 100 3.สร้างระบบการติดตามและรูปแบบการดำเนินงานได้ต่อเนื่อง  
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการติดตามและประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่และสถานบริการเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงความเชื่อและทัศนคติของประชาชนต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ การสร้างภาคีเครือข่ายของคนในชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและเกิดกลไกการป้องกันและรักษาสิทธิด้วยตัวของชุมชนเอง  
     
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 3 ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)