ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลลัพธ์ของการพัฒนาศักยภาพชุมชนในการจัดการปัญหายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่ไม่เหมาะสม อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปีพ.ศ. 2560
ผู้แต่ง : ยุพิน สุ่มมาตย์ ,วันนิสา หินจันทร์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันผู้บริโภคมีทางเลือกในการรักษาอาการเจ็บป่วยต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับตนเองและคนในครอบครัวมากมายหลากหลายทางเลือก โดยผู้บริโภคส่วนใหญ่จะมีวิธีการรักษาตนเองเมื่อเกิดความเจ็บป่วยตามแต่ทัศนคติของแต่ละคน ผู้บริโภคส่วนมากเลือกที่จะซื้อยามารับประทานเอง จึงมีความเสี่ยงมากมายเกี่ยวกับการใช้ผลิตภัณฑ์ยาและสุขภาพ เช่น ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 ยาที่อนุญาตให้จำหน่ายได้ทั่วไปมีเฉพาะยาสามัญประจำบ้าน (1) แต่ร้านค้าทั่วไปมีการจำหน่ายยาควบคุมพิเศษ ยาอันตราย ยาแผนโบราณ ยาบรรจุเสร็จที่ไม่อันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ ยาชุดที่มียาสเตียรอยด์และยาปฏิชีวนะ นอกจากนี้การดูแลสุขภาพและการใช้ยาเกี่ยวข้องกับมิติทางสังคมและวัฒนธรรม การใช้ยาจึงสัมพันธ์กับความเชื่อ วิถีชุมชน และบริบทของสังคม (2) เมื่อเจ็บป่วยประชาชนมีการแสวงหายาหรือวิธีการรักษาตนเองหรือตามการโฆษณาในสื่อต่าง ๆ เมื่อไม่หายป่วยอาจมีการแสวงหายาหรือการรักษาใหม่ไปเรื่อย ๆ (3) จึงมีรายงานการศึกษาหลายฉบับ พบว่าประชาชนมีพฤติกรรมการใช้ยาและผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเกินจำเป็น (4) แม้ภาครัฐมีนโยบายสร้างความตระหนักรู้และความเข้มแข็งภาคประชาชนด้านการใช้ยาอย่างสมเหตุสมผล (5-6) การศึกษานี้เป็นการศึกษาศักยภาพของชุมชนในการจัดการปัญหายาและผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่เหมาะสมใน อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคด้านสาธารณสุข การไปเสริมพลังภาคประชาชนให้เข้มแข็งคือสิ่งที่สำคัญที่สุดในการแก้ปัญหาให้กับชุมชนเครือข่าย การสร้างมาตรการเพื่อจัดการปัญหาผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ปลอดภัย โดยประสานงานกับหลายภาคส่วน สะท้อนข้อมูลที่แสดงถึงปัญหาให้ประชาชนในชุมชนได้รู้เท่าทันไม่หลงเชื่อ และไม่ซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีความเสี่ยง ตลอดจนเป็นหูเป็นตาแจ้งการกระทำที่ละเมิดกฎหมายแก่หน่วยงานที่รับผิดชอบ โดยหวังว่าชุมชนมีความรู้และสามารถการสร้างกลไกเฝ้าระวัง และจัดการปัญหาด้านยาและผลิตภัณฑ์สุขภาพในพื้นที่ เกิดการคุ้มครองตนเองและชุมชนจากผลิตภัณฑ์ที่ไม่ปลอดภัยได้  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาความรู้ พฤติกรรมการใช้ยาของประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง ลดการจำหน่ายยาที่ผสมสารสเตียรอยด์ ยาปฏิชีวนะ ยาอันตราย ยาชุด หรือยาที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนตำหรับยาในร้านชำและมินิมาร์ท สร้างพฤติกรรมการปกป้องสิทธิ์ตนเองแบบให้ประชาชนมีส่วนร่วมและสร้างชุมชนต้นแบบการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ยาอย่างเหมาะสม อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชาชนตำบลนิคมห้วยผึ้ง อำเภอห้วยผึ้ง จกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม จำนวน 3 ตอน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 7.1 แต่งตั้งคณะกรรมการและคณะทำงานระดับ คปสอ. เพื่อขับเคลื่อนแนวทางการพัฒนาระบบบริการและนำนโยบายสู่การปฏิบัติ 7.2 สร้างความตระหนักรู้จัดประชุมวิชาการให้กับบุคลากรทางการแพทย์ภายในโรงพยาบาลและ รพ.สต.เครือข่าย จัดทำคู่มือแนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผล เอกสารให้ความรู้ต่างๆ โปสเตอร์แนวทางการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุสมผลใน 2 กลุ่มโรค จัดนิทรรศการให้ความรู้แก่ผู้มาใช้บริการเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างสมเหตุผลที่หน่วยบริการต่างๆ 7.3 จัดกิจกรรมรณรงค์ในชุมชนเกี่ยวกับการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างเหมาะสมใน 2 โรคเป้าหมาย ให้ความรู้ผ่านวิทยุกระจายเสียง แผ่นพับ จัดชั่วโมงการเรียนการสอนแก่ผู้สูงอายุในโรงเรียนผู้สูงอายุในทุกๆตำบล 7.4 พัฒนาศักยภาพ อสม. จิตอาสาและภาคีเครือข่ายให้มีความรู้ด้านผลิตตภัณฑ์สุขภาพ เพื่อไปถ่ายทอดให้กับชุมชนและเฝ้าระวังเรื่องการจำหน่ายผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ผิดกฎหมายและไม่ปลอดภัย 7.5 พัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการร้านชำ/มินิมาร์ท ทำข้อตกลงร่วมกับชุมชน ยกระดับร้านชำ/มินิมาร์ท ให้เลิกการจำหน่ายยาชุดและยาอันตราย 7.6 ติดตามและประเมินผลการดำเนินงานของสถานบริการเครือข่ายเป็นประจำทุกเดือน 7.7 สรุปข้อมูลประจำเดือนและคืนข้อมูล แลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวทีการประชุมของ คปสอ.  
     
ผลการศึกษา : 1. สามารถลดอัตราการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะในกลุ่มโรคติดเชื้อทางเดินหายใจส่วนบนและกลุ่มโรคท้องเสียฉับพลันภายในโรงพยาบาลห้วยผึ้งและรพ.สต. 5 แห่ง น้อยกว่าร้อยละ 20 2.รพ.สต.5 แห่งผ่านเกณฑ์การสั่งใช้ยาปฏิชีวนะใน 2 กลุ่มโรค ร้อยละ 100 3.สร้างระบบการติดตามและรูปแบบการดำเนินงานได้ต่อเนื่อง  
ข้อเสนอแนะ : ควรมีการติดตามและประเมินผลการทำงานของเจ้าหน้าที่และสถานบริการเครือข่ายอย่างต่อเนื่อง การเปลี่ยนแปลงความเชื่อและทัศนคติของประชาชนต้องอาศัยระยะเวลาในการดำเนินการ การสร้างภาคีเครือข่ายของคนในชุมชนเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและเกิดกลไกการป้องกันและรักษาสิทธิด้วยตัวของชุมชนเอง  
     
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลผลงานดีเด่น ระดับจังหวัด /รางวัลชนะเลิผสอันดับที่ 3 ระดับเขต ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)