ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในเขตตำบลยอดแกง อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : วัชรินทร์ คำมะภา, ชัยธัช จันทร์สมุด, ลำพูน เสนาวัง ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ความเครียดทำให้เกิดการตื่นตัวเตรียมรับเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้รู้สึกไม่สบายใจ และอาจส่งผลกระทบต่อร่างกายของคนเราทำให้รู้สึกว่าควบคุมตนเองไม่ได้ แต่ถ้าความเครียดมีปริมาณพอเหมาะ จะเป็นแรงกระตุ้นให้เกิดความพยายามเอาชนะปัญหา และอุปสรรคที่เผชิญอยู่จนนำไปสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. ซึ่งเป็นผู้ดูแลสุขภาพของประชาชนภายใต้สโลแกนที่ว่า “แจ้งข่าวร้าย กระจายข่าวดี ชี้บริการ ประสานงานสาธารณสุข บำบัดทุกข์ของประชาชน ทำตนเป็นแบบอย่างที่ดี” จะดำเนินงานตอบสนองต่อภาครัฐและประชาชนได้อย่างดีนั้น ผู้ที่ปฏิบัติงานในหน้าที่นี้ต้องมีทั้งองค์ความรู้ที่ทันสมัย การปฏิบัติตัวที่เหมาะสม และการส่งเสริมให้ประชาชนมีสุขภาพกายและจิตที่ดี ผู้ที่เป็นต้นแบบหรือตัวอย่างโดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจะต้องมีสุขภาพกายและจิตที่ดีก่อนที่จะแนะนำให้ประชาชนปฏิบัติตาม อีกทั้งยังต้องรับนโยบายจากทางภาครัฐที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอตามกระแสของการเมือง รวมทั้งการทำงานในชุมชนที่มีบริบทต่างๆกันย่อมก่อให้เกิดปัญหาทั้งจากเพื่อนร่วมงาน ผู้บังคับบัญชา และประชาชนในชุมชน ซึ่งเป็นต้นเหตุของความเครียดได้เช่นกัน ดังนั้น ผู้วิจัยจึงสนใจในเรื่องสุขภาพจิต โดยเฉพาะความเครียดและปัจจัยที่ส่งผลความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือ อสม. เพื่อนำข้อมูลมาหาสาเหตุ วางแผนแก้ไขปัญหา และป้องกันความเครียดจากการปฏิบัติงาน รวมทั้งการให้คำปรึกษาที่ถูกต้องต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาระดับความเครียดจากการปฏิบัติงาน และปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่ส่งผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเขตตำบลยอดแกง อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเขตตำบลยอดแกง อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวนทั้งสิ้น 184 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม โดยแบ่งเป็น 4 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป จำนวน 7 ข้อ ส่วนที่ 2 แบบสอบถามปัจจัยสิ่งแวดล้อมจำนวน 10 ข้อ ส่วนที่ 3 แบบสอบถามความเครียดจากการปฏิบัติงาน มีองค์ประกอบ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านสภาพการปฏิบัติงาน ด้านการควบคุมงาน ด้านการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และด้านการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงาน จำนวน 40 ข้อ และส่วนที่ 4 ข้อเสนอแนะอื่นๆ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ประกอบด้วย ค่าความถี่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ประกอบด้วย การทดสอบสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน และสัมประสิทธิ์ถดถอยพหุคูณ  
     
ผลการศึกษา : 1. ข้อมูลทั่วไปของผู้มารับบริการ พบว่า ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง มีอายุระหว่าง 41 – 50 ปี สถานภาพคู่ จบชั้นประถมศึกษา ประกอบอาชีพเกษตรกร มีอายุการเป็น อสม. น้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ปี และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน น้อยกว่าหรือเท่ากับ 3,000 บาท 2. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม พบว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านมีปัญหาต้องเจอกับสิ่งอันตรายต่างๆต่อไปนี้คือ มลพิษทางอากาศ เสียง และสารเคมีอันตราย เช่น ฝุ่น ควัน ก๊าซ เสียงดัง สารพิษต่างๆ หรือสิ่งอื่น มากที่สุด รองลงมาคือการติดเชื้อโรคจากงาน 3. ความเครียดจากการปฏิบัติงาน พบว่า มีความเครียดจากการปฏิบัติงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน ปรากฏว่า 1) ด้านสภาพการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ค่าเฉลี่ย 3.17 2) ด้านการควบคุมงานอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.90 3) ด้านการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุขอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 3.98 4)ด้านการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับสูง ค่าเฉลี่ย 4.12 4. ความสัมพันธ์และสร้างสมการพยากรณ์คุณลักษณะทางประชากรที่มีผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงาน พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ระหว่างตัวแปรพยากรณ์และตัวแปรเกณฑ์ไม่มีความสัมพันธ์กันทางสถิติ 5. ความสัมพันธ์และสร้างสมการพยากรณ์ปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงาน พบว่า ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การติดเชื้อโรคจากงาน ส่งผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 สรุปผลการวิจัย 1. อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในเขตตำบลยอดแกง อำเภอนามน จังหวัดกาฬสินธุ์มีความเครียดจากการปฏิบัติงานโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่า ด้านสภาพการปฏิบัติงานอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านการควบคุมงาน ด้านการสนับสนุนจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และด้านการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมงานอยู่ในระดับสูง 2. คุณลักษณะทางประชากร ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษาสูงสุด อาชีพ อายุการเป็น อสม. และรายได้เฉลี่ยต่อเดือน ไม่ส่งผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน 3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่ การติดเชื้อโรคจากงาน ส่งผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ซึ่งสามารถเขียนในรูปของสมการพยากรณ์ได้ดังนี้ Y = 0.766 +0.175(การติดเชื้อโรคจากงาน)  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะทั่วไป 1. ควรจัดหางบประมาณค่าตอบแทน/ค่าป่วยการของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจากแหล่งกองทุนต่างๆให้เพิ่มมากขึ้นจากเดิม รวมทั้งปรับลดภาระงานหรือความหลากหลายของงานให้สมดุลกับการดำรงชีพ เพื่อความมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการปฏิบัติงาน 2. ควรมีการจัดอบรมการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมการติดเชื้อ (Infection control = IC) แก่อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในการปฏิบัติงานอีกทั้งยังช่วยควบคุมปัจจัยที่ก่อให้เกิดความเครียดในการปฏิบัติงานได้ ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป 1. ควรทำการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านในตำบล/อำเภอ/จังหวัดอื่นๆ เพื่อเปรียบเทียบกับผลการวิจัยนี้และให้เป็นภาพรวมของประเทศ 2. ควรทำการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงานของกลุ่มวิชาชีพอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่สาธารณสุข แพทย์ พยาบาล ครู อาจารย์ ทหาร ตำรวจ ฯลฯ 3. ควรทำการศึกษาวิจัยรูปแบบการจัดการความเครียดร่วมกับการศึกษาปัจจัยสิ่งแวดล้อมที่มีผลต่อความเครียดจากการปฏิบัติงาน เพื่อนำข้อมูลมาเป็นแนวทางการจัดการความเครียดที่เหมาะสม และทำให้การวิจัยมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)