ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ในชุมชนแห่งหนึ่ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พงศธร ทิพย์อุทัย,เพชรไสว ลิ้มตระกูล ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ในปัจจุบันได้มีการพัฒนาทั้งทางด้านเศรษฐกิจและสังคมอย่างรวดเร็ว มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากขึ้น ส่งผลต่อแบบแผนในการดำรงชีวิตและการบริโภคที่เปลี่ยนไป ประชาชนมีพฤติกรรมการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสม1 รวมถึง ขาดการออกกำลังกาย มีความเครียดสะสม ในบางรายเลือกการจัดการความเครียดได้ไม่เหมาะสม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานได้ในอนาคต สำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน (pre-diabetes) หมายถึง ภาวะที่บุคคลมีระดับน้ำตาลในเลือดขณะงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 8 ชั่วโมง มีค่าเท่ากับ 100 – 125 mg/dl โดยจากการศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบว่า ในปี ค.ศ. 2010-2012 บุคคลที่มีอายุตั้งแต่ 20 ปีขึ้นไป มีภาวะเสี่ยงต่อโรคเบาหวาน เพิ่มขึ้นจาก 79 ล้านคน เป็น 86 ล้านคน2 ซึ่งเมื่อคนปกติกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน การทำงานของเบต้าเซลล์จะลดลงประมาณร้อยละ 50 ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานในอนาคตมากกว่าคนปกติ3 และประมาณร้อยละ 25 มีโอกาสพัฒนาไปเป็นโรคเบาหวานได้ในระยะเวลา 5 ปี ซึ่งการมีระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่ตลอดในระยะเวลานานๆ ยังเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ โรคไตวายเรื้อรัง และหลอดเลือดที่ตาเสื่อมอีกด้วย4 จากรายงานสถิติกระทรวงสาธารณสุข 3 ปีย้อนหลัง ในระดับประเทศ พบว่า อัตราอุบัติการณ์โรคเบาหวานรายใหม่ทุกกลุ่มอายุ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น คือ ปี พ.ศ. 2557-2559 เท่ากับ 446.78, 455.71 และ508.65 ต่อประชากรแสนคน และในจังหวัดกาฬสินธุ์ เท่ากับ 451.63, 408.10 และ 714.49 ต่อประชากรแสนคน ส่วนอัตราความชุกของผู้ป่วยในโรคเบาหวานทุกกลุ่มอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นกัน คือ ปี พ.ศ. 2556-2558 ในระดับประเทศ เท่ากับ 1,081.25, 1,032.50 และ 1,233.35 ต่อประชากรแสนคน ส่วนในจังหวัดกาฬสินธุ์ เท่ากับ 1,459.74, 1,557.29 และ 1,791.32 ต่อประชากรแสนคน5 ซึ่งพบว่าอัตราความชุกของผู้ป่วยโรคเบาหวานในระดับจังหวัดกาฬสินธุ์มีค่าสูงกว่าระดับประเทศ จากการศึกษาเบื้องต้นในหมู่บ้านแห่งหนึ่งที่ทำการศึกษา ในปี พ.ศ.2558 พบกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน จำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 25.77 ป่วยเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ จำนวน 6 คน มีอัตราอุบัติการณ์เท่ากับ 20.20 ต่อ 1,000 ประชากร รวมผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 62 คน มีอัตราความชุกเท่ากับ 90.51 ต่อ 1,000 ประชากร และในปี พ.ศ. 2559 พบว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 29.56 ป่วยเป็นโรคเบาหวานรายใหม่ จำนวน 9 คน มีอัตราอุบัติการณ์เท่ากับ 27.69 ต่อ 1,000 ประชากรรวมผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 70 คน มีอัตราความชุกเท่ากับ 98.31 ต่อ 1,000 ประชากร โดยพบว่าอัตราอุบัติการณ์และอัตราความชุกของทั้ง 2 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการสัมภาษณ์กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานเพิ่มเติม จำนวน 9 คน พบว่า ทุกคนรับรู้ว่าตนเองเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา ทำสวน ไม่มีเวลาประกอบอาหารเองก็จะซื้ออาหารถุงจากร้านค้าในชุมชน ทำให้ไม่สามารถควบคุมปริมาณอาหารหรือเครื่องปรุงได้ด้วยตัวเอง บางคนเป็นแม่บ้าน เลี้ยงหลานอยู่บ้าน มีพฤติกรรมนั่ง ๆนอนๆ รวมถึงบริบทชุมชนที่อาศัยอยู่นั้นนิยมรับประทานอาหารรสเค็มจัด และมักจะรับประทานของหวานตามเพื่อลดคาว รวมถึงงานประเพณีในชุมชนที่นิยมทำข้าวต้มมัดที่ปรุงรสด้วยน้ำตาล กะทิ หรือเมื่อมีงานบุญมักจะนิยมดื่มมีน้ำหวาน น้ำอัดลมด้วย กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานยังไม่ทราบรายละเอียดเชิงลึก และไม่ตระหนักที่จะปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ เพราะคิดว่าไม่มีอาการผิดปกติ จึงทำให้ยังมีการรับประทานอาหารตามใจตัวเอง ไม่ได้จำกัดปริมาณ ส่วนการออกกำลังกายนั้น พบว่า มีเพียงการยืดเหยียดกล้ามเนื้อ วิ่งเหยาะๆ ในบริเวณบ้านเท่านั้น เฉลี่ยสัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง ๆ ละ 5-10 นาที บางส่วนไม่มีเวลาทำ เพราะเหนื่อยจากการทำงานแล้ว และเมื่อต้องเผชิญกับความเครียด ก็จะปล่อยให้หายเอง จากการศึกษาเบื้องต้นสรุปได้ว่า กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานยังไม่สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้ เนื่องจาก วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การมีความรู้และทักษะไม่เพียงพอ ซึ่งจากการศึกษาเพิ่มเติม พบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่จะช่วยชะลอการเกิดโรคเบาหวานนั้น จำเป็นต้องมีการเลือกรับประทานอาหาร การออกกำลังกายอย่าง การจัดการความเครียดที่เหมาะสม รวมถึงการลดพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่และดื่มสุรา2,6-8 จากการสัมภาษณ์ ผู้ดูแลในครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานจำนวน 5 คน พบว่า ได้ให้คำแนะนำเพียงแค่ให้ลดอาหารหวาน และบอกให้ออกกำลังกายร่วมด้วย การประกอบอาหารยังทำเหมือนคนปกติ ไม่ได้จำกัดปริมาณน้ำตาลหรือเครื่องปรุงอื่นๆ และไม่ได้กระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง สำหรับ อสม. มีเพียงการแนะนำให้ลดการรับประทานอาหารหวาน รับประทานผักให้มากขึ้น แต่ชาวบ้านบางส่วนก็ยังไม่เชื่อในความรู้ที่ อสม.บอก ส่วนผู้นำชุมชน ยังไม่เคยทำโครงการเกี่ยวกับการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานในชุมชน จากการทบทวนวรรณกรรม พบว่า การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกายด้วยความรุนแรงปานกลาง วันละ 30 นาที สัปดาห์ละ 5 วัน หรือ 150 นาที/สัปดาห์ สามารถป้องกันการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ ร้อยละ 589 และการออกกำลังกายช่วยทำให้อินซูลินมีความไวมากขึ้น ลดไขมันหน้าท้อง2 ซึ่งการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจะประสบความสำเร็จได้นั้น กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานจำเป็นต้องรับรู้ถึงความสามารถของตนเอง ตามทฤษฎีการรับรู้ความสามารถตนเอง (self-efficacy theory) โดยผ่านแหล่งเรียนรู้ 4 แหล่ง ได้แก่ 1) การเรียนรู้จากการประสบความสำเร็จจากการกระทำ ของตนเอง (enactive mastery experience) 2) การได้เห็นประสบการณ์จากตัวแบบ (vicarious experience) 3) การใช้คำพูดชักจูง (verbal persuasion) และ 4) การส่งเสริมสภาวะทางร่างกาย และทางอารมณ์ (physiological and effective states) รวมถึงการคาดหวังในผลลัพธ์ของการปฏิบัติพฤติกรรมนั้นด้วย จึงจะทำให้บุคคลนั้นสามารถปฏิบัติพฤติกรรมหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้อย่างต่อเนื่อง10-12 และมีการศึกษาโดยนำทฤษฎีนี้มาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในประเทศไทย คือ Wongsricha13 และ Sandee, et al.14 ซึ่งจากงานวิจัยทั้ง 2 เรื่องพบว่า กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพและมีระดับน้ำตาล ดัชนีมวลกาย และเส้นรอบเอวลดลง สำหรับประเทศไทยนั้นได้จัดทำแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 12 พ.ศ.2560-2564 ซึ่งมีแผนงานที่เกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โดยการลดอัตราผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่จากกลุ่มเสี่ยง ไม่เกินร้อย 2.4 กำหนดให้กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในด้าน การรับประทานอาหาร ลดหวาน มัน เค็ม เพิ่มผักและผลไม้ การออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ เช่น การสูบบุหรี่และดื่มสุรา เป็นต้น15 สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลแห่งหนึ่งในปี พ.ศ.2560ได้จัดทำโครงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยได้รับงบสนันสนุนจากองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น แต่ยังขาดการกระตุ้น ติดตามประเมินผลหลังทำโครงการ และการดำเนินงานที่ผ่านมาเป็นการนำโปรแกรมสำเร็จรูปการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพตามหลัก 3อ.2ส.มาใช้ แต่ยังขาดการวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานที่แท้จริง ซึ่งส่งผลให้การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพไม่สอดคล้องกับบริบทของชุมชนอย่างแท้จริง รวมถึงยังขาดการกระตุ้นการมีส่วนร่วมของครอบครัว และชุมชนในการดูแลกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน จากปัญหาข้างต้นและการทบทวนวรรณกรรมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้มีประสิทธิผลจำเป็นต้องส่งเสริมให้กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานได้รับรู้ถึงความสามารถของตนเอง และจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมจาก สมาชิกในครอบครัว ชุมชน และเจ้าหน้าสาธารณสุขในพื้นที่ด้วย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะพัฒนาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยการส่งเสริมสมรรถนะแห่งตนของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน และใช้กระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ เพื่อให้เกิดแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่สามารถปฏิบัติได้จริง ตรงกับสภาพปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ซึ่งจะทำให้สามารถลดอุบัติการณ์และความชุกของโรคเบาหวานในชุมชนได้  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาสถานการณ์ด้านปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพและการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานของชุมชนที่ศึกษา 2. เพื่อพัฒนาแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ โดยการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานจำนวน 25 คน ผู้ดูแลในครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานจำนวน 7 คน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านจำนวน 10 คน ผู้นำชุมชนจำนวน 3 คน และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขที่รับผิดชอบดูแลหมู่บ้านจำนวน 1 คน รวมทั้งสิ้น 46 คน  
เครื่องมือ : 1) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างสำหรับกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ประกอบด้วย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไปและภาวะสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ส่วนที่ 2 การรับรู้สมรรถนะแห่งตนของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ส่วนที่ 3 พฤติกรรมสุขภาพของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน และ ส่วนที่ 4 การรับรู้ภาวะสุขภาพ พฤติกรรมสุขภาพ ความต้องการในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ และปัญหา อุปสรรคในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 2) แบบสัมภาษณ์แบบกึ่งโครงสร้างสำหรับ ผู้ดูแลในครอบครัว ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป และส่วนที่ 2 การดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในครอบครัว 3) แนวทางการสนทนากลุ่ม สำหรับ อสม. และผู้นำ ชุมชน ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป และส่วนที่ 2 การดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในชุมชน 4) แนวทางการสัมภาษณ์เชิงลึก สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบดูแลหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป และส่วนที่ 2 การดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในชุมชน และ 5) แนวทางการสังเกตแบบมีส่วนร่วม โดยสังเกตบริบท สิ่งแวดล้อม ประเพณีและวัฒนธรรมของชุมชน รวมถึงพฤติกรรมสุขภาพและการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ที่ส่งผลต่อสุขภาพ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย แบ่งเป็น 4 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ระยะวิเคราะห์สถานการณ์ โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทุติยภูมิ ได้แก่ รายงานการดำเนินงานประจำปี สถิติกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานและผู้ป่วยโรคเบาหวาน และเก็บข้อมูลปฐมภูมิจากผู้ให้ข้อมูลหลักได้แก่ 1) การสัมภาษณ์กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน 2) ผู้ดูแลในครอบครัวของกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน 3) สนทนากลุ่มกับอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านและผู้นำชุมชน 4) สัมภาษณ์เชิงลึกเจ้าหน้าที่สาธารณสุขผู้รับผิดชอบหมู่บ้าน 5) สังเกตแบบมีส่วนร่วมตลอดกระบวนการวิจัย วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณตามหลักสถิติ และข้อมูลเชิงคุณภาพในเชิงเนื้อหา และนำเสนอผลการรวบรวมข้อมูลกับผู้ให้ข้อมูลหลักทุกคน ขั้นตอนที่ 2 ระยะวางแผน จัดเวทีประชุมระดมสมอง โดยมีกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ร่วมวางแผนกิจกรรมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพโดยการส่งเสริมการรับรู้สมรรถนะแห่งตนในด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียดที่เหมาะสม การลดพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่และดื่มสุรา ผู้ดูแลในครอบครัวกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน วางแผน การดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในครอบครัวอสม .และผู้นำชุมชน วางแผนการดูแล สนับสนุน ให้กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพให้ประสบผลสำเร็จ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข วางแผนแนวทางในการติดตาม ดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานที่สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของชุมชน ขั้นตอนที่ 3 ปฏิบัติตามแผน กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน ได้รับการส่งเสริมการรับรู้ความสามารถของตนเอง ตามทฤษฎีความสามารถของตนเองของ Bandura16ได้แก่ 1) การจัดอบรมเชิงปฏิบัติการให้ความรู้และฝึกทักษะการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด รวมถึงการลดพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่และดื่มสุรา 2) การจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลต้นแบบที่เป็นกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานด้วยกัน ฝึกหัดและพัฒนาทักษะอย่างต่อเนื่องโดยการจดบันทึกพติกรรมลงในสมุดบันทึกประจำตัว 3) ผู้วิจัย เจ้าหน้าที่ บุคคคลต้นแบบ ผู้ดูแลในครอบครัวในครอบครัว อสม. และผู้นำชุมชนได้ใช้คำพูดเชิญชวน ให้กำลังใจ และกระตุ้นให้กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานที่เข้าร่วมกิจกรรมทุกครั้งได้ปฏิบัติตาม ทำให้เกิดความรู้สึกที่ดี และมั่นใจว่าจะสามารถลงมือปฏิบัติการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้จนประสบความสำเร็จ และ 4) การประเมินความพร้อมของร่างกายและจิตใจ ก่อนปฏิบัติกิจกรรมทุกครั้ง โดยการประเมินความพร้อมของร่างกาย พูดคุย ระบายความรู้สึก สันทนาการ ผู้ดูแลในครอบครัว ประกอบอาหารเมนูลดหวาน มัน เค็ม กระตุ้นให้กำลังใจและช่วยจดบันทึกพฤติกรรมสุขภาพลงในสมุดประจำตัวกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน อสม.ได้รับการพัฒนาศักยภาพในการดูแล และติดตามเยี่ยมบ้านร่วมกับเจ้าหน้าที่ ผู้นำชุมชน สนับสนุนอุปกรณ์ เครื่องเสียง จัดหาสถานที่ออกกำลังกาย และประชาสัมพันธ์ข้อมูลความรู้ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ร่วมจัดทำแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ ปรับปรุงการให้บริการตามแผนการดำเนินงาน ขั้นตอนที่ 4 ระยะสะท้อนหรือประเมินผลการวิจัย ประเมินพฤติกรรมสุขภาพและการรับรู้สมรรถนะแห่งตน ในด้านการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การจัดการความเครียด และลดพฤติกรรมเสี่ยงในการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา  
     
ผลการศึกษา : ผลการวิจัย พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมสุขภาพ ได้แก่ 1) ปัจจัยส่วนบุคคล 2) ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม 3) ปัจจัยด้านผู้ดูแลในครอบครัว และ 4) ปัจจัยด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน สำหรับพฤติกรรมสุขภาพโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง มีการรับรู้สมรรถนะแห่งตนโดยรวมอยู่ในระดับมาก ผลการพัฒนา มีดังนี้ 1) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้วางแผนแนวทางการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพ 2) การอบรมเชิงปฏิบัติการ 3) กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับบุคคลต้นแบบ 4) เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และอสม.ติดตามเยี่ยมบ้าน 5) ผู้นำชุมชนประชาสัมพันธ์ สนับสนุนอุปกรณ์ และจัดหาสถานที่ออกกำลังกาย และ 6) เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับดูแลกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวาน และประเมินผลลัพธ์ พบว่า กลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานมีค่าเฉลี่ยคะแนนพฤติกรรมสุขภาพ และการรับรู้สมรรถนะแห่งตนเพิ่มขึ้น  
ข้อเสนอแนะ : พยาบาลควรนำแนวทางนี้ไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงโรคเบาหวานในชุมชนอื่นที่มีบริบทใกล้เคียงกัน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)