ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาระบบการค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาโดยใช้ Tracer agents (ยาช่วยตามรอย) ในผู้ป่วยที่มารับบริการรักษาในโรงพยาบาลคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ พ.ศ.2561 – พ.ศ.2562
ผู้แต่ง : จินตนา พูลกสิ, มยุรี สรรพรักษ์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : กระบวนการติดตามเฝ้าระวังการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา มีความสำคัญต่อกระบวนการดูแลรักษาผู้ป่วย เพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากการใช้ยา และเมื่อมีเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นแล้ว ต้องมีการสื่อสารข้อมูลในระบบการดูแลผู้ป่วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ขึ้นซ้ำอีก สำหรับการค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ทำได้โดยการรายงานโดยความสมัครใจ จากผู้ป่วยให้ประวัติ ทบทวนเวชระเบียนแต่วิธีการนี้ต้องใช้เวลาในการสืบค้นมาก ส่วนการใช้ tracer agents (ยาช่วยตามรอย) จะช่วยลดภาระในการทบทวนเวชเบียนที่มีจำนวนมากให้เหลือเฉพาะเวชระเบียนที่พบ tracer agents จากการทบทวนวิธีการค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ในโรงพยาบาลคำม่วง ยังไม่มีการค้นหาการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents ดังนั้นในการพัฒนาระบบการค้นหาอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาจึงได้กำหนด tracer agents ได้แก่ chlorpheniramine tablet (CPM tab), chlorpheniramine injection (CPM inj), dexamethasone injection และ adrenaline injection ขึ้น  
วัตถุประสงค์ : เพื่อสร้างระบบการค้นหาที่ครอบคลุม และสามารถรายงานการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้ครบถ้วน ความสมบูรณ์ของระบบดูแลผู้ป่วย เพื่อไม่ให้เกิดอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ และทราบลักษณะอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาที่เกิดขึ้น  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยที่มีการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents  
เครื่องมือ : รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents และการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1) มีการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents อย่างน้อย 1 รายการใน 4 รายการที่กำหนดไว้ 2) ค้นหารายชื่อผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยในที่มารับบริการรักษาในโรงพยาบาลคำม่วง ช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 และมีการใช้ยาที่เป็น tracer agents สืบค้นจากโปรแกรม drug inj alert 3) รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents และการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาเพื่อสรุปผลการดำเนินงาน 4) หากผู้ป่วยแพ้ยาให้บันทึกข้อมูลบนบัตรแพ้ยา เวชระเบียน และโปรแกรม Hos XP ให้ครบถ้วน 5) รวบรวมข้อมูลอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ส่งไปยังศูนย์เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านผลิตภัณฑ์สุขภาพ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา  
     
ผลการศึกษา : จากการติดตามการสั่งใช้ tracer agents ระยะเวลาตั้งแต่ 1 ธันวาคม 2561 ถึง 31 มีนาคม 2562 พบว่า เดือนธันวาคม พ.ศ. 2561 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 294 ราย มีการสั่งใช้ tracer agents จำนวน 435 ครั้ง โดยพบมีการใช้ยา CPM tab มากที่สุด รองลงมาคือ dexamethasone inj, CPM inj, adrenaline inj คิดเป็นร้อยละ 40.00, 37.24, 20.92 และ 1.84 ตามลำดับ แพ้ยา metronidazole จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด Fix drug eruption แพ้ยา piroxicam จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด angioedema สั่งใช้ CPM inj เป็น pre-medication ในผู้ป่วยที่มีการใช้ยา Amphotericin B จำนวน 2 ราย และสั่งใช้ CPM inj ในผู้ป่วยที่ได้รับเลือด 5 ราย สำหรับเดือนมกราคม พ.ศ. 2562 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 353 ราย มีการสั่งใช้ tracer agents จำนวน 525 ครั้ง โดยพบมีการใช้ยา dexamethasone inj มากที่สุด รองลงมาคือ CPM tab, CPM inj, adrenaline inj คิดเป็นร้อยละ 43.80, 36.19, 18.10 และ 1.91 ตามลำดับ มีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังการใช้ยา clindamycin จำนวน 1 ราย ซึ่งมีอาการ ผื่นแดงเล็กน้อย แพ้ยา diclofenac จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด Fix drug eruption และผู้ป่วยที่เฝ้าระวังการใช้ยา tramadol จำนวน 1 ราย มีอาการคันตามร่างกายซึ่งเป็นอาการข้างเคียงที่พบอุบัติการณ์ได้ร้อยละ 8-11 และสั่งใช้ CPM inj ในผู้ป่วยที่ได้รับเลือด 7 ราย เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2562 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 355 ราย มีการสั่งใช้ tracer agents จำนวน 546 ครั้ง โดยพบมีการใช้ยา CPM tab มากที่สุด รองลงมาคือ dexamethasone inj, CPM inj และ adrenaline inj คิดเป็นร้อยละ 40.11, 39.74, 18.86 และ 1.29 ตามลำดับ มีผู้ป่วยที่เฝ้าระวังการใช้ยา Amoxicillin/clavulanic acid จำนวน 1 ราย มีอาการ ผื่นแดงเล็กน้อย เฝ้าระวังการใช้ยา Ibuprofen จำนวน 1 ราย มีอาการ ตาบวมข้างเดียว แพ้ยาธาตุน้ำขาวตรากระต่ายบิน จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด urticaria แพ้ยา dicloxacillin จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด early steven johnson syndrome และสั่งใช้ CPM inj ในผู้ป่วยที่ได้รับเลือด 6 ราย เดือนมีนาคม พ.ศ. 2562 กลุ่มตัวอย่างจำนวน 416 ราย มีการสั่งใช้ tracer agents จำนวน 645 ครั้ง โดยพบมีการใช้ยา dexamethasone inj มากที่สุด รองลงมาคือ CPM tab, CPM inj, adrenaline inj คิดเป็นร้อยละ 41.40, 39.07, 17.52 และ 2.01 ตามลำดับ มีผู้ป่วยที่แพ้ยา diclofenac จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด anaphylaxis แพ้ยา omeprazole จำนวน 1 ราย ผื่นชนิด urticaria และสั่งใช้ CPM inj ในผู้ป่วยที่ได้รับเลือด 1 ราย  
ข้อเสนอแนะ : จากผลการศึกษาข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ในเดือนธันวาคม 2561 ถึง มีนาคม 2562 พบกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 294, 353, 355 และ 416 ราย ตามลำดับ มีความสัมพันธ์กับการเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากยาเพียง 4 ราย (ร้อยละ 0.92), 3 ราย (ร้อยละ 0.57), 4 ราย (ร้อยละ 0.73) และ 2 ราย (ร้อยละ 0.31) ตามลำดับ นอกจากการสั่งใช้เพื่อการรักษาแล้วยังมีการสั่งใช้ยา CPM inj ตาม protocol เป็น pre-medication ในผู้ป่วยที่มีการใช้ยา Amphotericin B และ Pack red cells ผลการศึกษานี้ทำให้ทราบอุบัติการณ์และลักษณะเกิดอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น แบ่งเป็น ADR type A จาก tramadol 1ราย (ร้อยละ 0.28) สำหรับ ADR type B พบ Fix drug eruption 2 ราย (ร้อยละ 0.31) angioedema 2 ราย (ร้อยละ 0.31) rash 2 ราย (ร้อยละ 0.28) urticaria 2 ราย (ร้อยละ 0.26) anaphylaxis 1 ราย (ร้อยละ 0.24) และ early steven johnson syndrome 1 ราย (ร้อยละ 0.28) โดยพบอุบัติการณ์ในยาปฏิชีวนะมากที่สุด รองลงมาคือยากลุ่มต้านอักเสบชนิดไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDs) แต่ไม่พบอุบัติการณ์การแพ้ยาซ้ำ การศึกษานี้เป็นการศึกษาแรกของโรงพยาบาลคำม่วงที่ได้จากการเก็บข้อมูลย้อนหลังเพื่อนำมาใช้เป็นข้อมูลในการพัฒนาระบบการเฝ้าระวังการใช้ยาเพื่อความปลอดภัยของผู้ป่วยต่อไป ข้อเสนอแนะ 1) ควรเก็บข้อมูลระยะเวลาหลังมีการสั่งใช้ยาที่เป็น tracer agents เพื่อให้เกิดความรวดเร็ว 2) ควรศึกษา tracer agents ชนิดอื่น เพื่อติดตามอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง