ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของการใช้แนวทางการประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : เย็นฤดี หลักคำ, ฐิติรัตน์ หาระทา ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : โรคหัวใจและหลอดเลือดเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกและในประเทศไทย จากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราตายด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจ (I20-I25) ต่อประชากร 100,000 คนมีแนวโน้ม เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถานการณ์ดังกล่าวโรงพยาบาลคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีความตื่นตัวและเตรียมความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือทางการแพทย์ การพัฒนาความรู้ความสามารถของบุคลากร มีการจัดระบบ Fast track ที่แผนกผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน การประสานงานส่งต่อภายใต้ระบบ Motor path way มีการคัดกรองและให้ความรู้ในคลินิกโรค การจัดทำสื่อที่เข้าใจง่ายในรูปแบบ ผญ๋า เน้นการประสัมพันธ์เรื่องโรคและการเข้าถึงการรักษาผ่านเวทีผู้นำ รวมถึงการพัฒนาแบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มที่มาด้วยอาการเจ็บแน่นหน้าอกหรือผู้ป่วยที่มีอาการเข้าได้กับโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งจัดทำตามมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยของเขต 7 โดยทีมสหวิชาชีพ เพื่อให้ผู้ป่วยกลุ่มอาการเจ็บแน่นหน้าอก/กลุ่มเสี่ยงทุกคน ได้รับการคัดกรองโดยใช้แบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Fast tract ได้รวดเร็ว และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น STEMI ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 30 นาที ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะประเมินผลของการใช้แนวทางการประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินผลของการใช้แนวทางการประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ โรงพยาบาลคำม่วง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรกลุ่มตัวอย่าง ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นโรค STEMI , Non STEMI และกลุ่มอาการเจ็บแน่นหน้าอก ที่มารับบริการในปี 2559-2561 จำนวน 96 ราย  
เครื่องมือ : แบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ และแบบประเมินความพึงพอใจของบุคลากร วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ ใช้สถิติ จำนวน ร้อยละ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ผู้ป่วยกลุ่มอาการเจ็บแน่นหน้าอก/กลุ่มเสี่ยงทุกคน ได้รับการคัดกรองโดยใช้แบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยกลุ่มโรคหลอดเลือดหัวใจ ผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ Fast tract ได้รวดเร็ว และผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น STEMI ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ภายใน 30 นาที  
     
ผลการศึกษา : จากการใช้แบบประเมินให้การพยายาบาล พบว่าสามารถคัดกรองและให้การพยาบาลผู้ป่วย กลุ่มอาการเจ็บแน่นหน้าอก วิงเวียน และกลุ่มเสี่ยง เข้าสู่ระบบ Fast track ได้เร็วขึ้น ในปี 2559-2561 ผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยเป็น STEMI ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ที่แผนกผู้ป่วยอุบัติเหตุ-ฉุกเฉิน อยู่ที่ร้อยละ 75.0, 25.0,42.9 ตามลำดับ Door to EKG <10 นาที ร้อยละ 93.9,100.0, 100.0 ตามลำดับ ผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น AMI ได้รับยาละลายลิ่มเลือด ไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกรุนแรง ร้อยละ 100 ผู้ป่วย STEMI ได้รับการตรวจ EKG ภายใน 10 นาที ร้อยละ 100 ทั้ง 3 ปี การเข้าถึงและให้การพยาบาลอย่างรวดเร็วทำให้ผู้ป่วยมีความปลอดภัยและเข้าถึงการรักษาได้รวดเร็วและคลอบคลุมมากขึ้น มีการเข้าถึงยาละลายลิ่มเลือดอย่างรวดเร็ว และมีแนวทางการประสานงานการส่งต่อที่ชัดเจน ลดความรุนแรงของโรคและอัตราการเสียชีวิต ทำให้ผู้ป่วยครอบครัวกลับมาดำเนินชีวิตอย่างปกติสุข คำง่ายๆที่สื่อถึงโรค *เจ็บแน่นๆ แค้นกลางเอิ๊ก เป็นบ่โดน ทนบ่ได้ โทร 1669 ความพึงพอใจของบุคลากร พบว่าแพทย์ พยาบาล ผู้ปฏิบัติงานมีความพึงพอใจในการใช้แบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ ร้อยละ 98.50  
ข้อเสนอแนะ : ผลลัพธ์ด้านคุณภาพการดูแลตามตัวชี้วัดเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ โดยอัตราการตรวจ EKG ภายใน 10 นาที ในปี 2559-2561 ร้อยละ 93.9, 100, 100 ตามลำดับ อัตราผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็น AMI ได้รับยาละลายลิ่มเลือดไม่มีภาวะแทรกซ้อนเลือดออกรุนแรงในปี 2560-2561 ร้อยละ100 อัตราการได้รับยาละลายลิ่มเลือด SK (Streptokinase) ภายใน 30 นาที ยังล่าช้า จากการรอปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง และญาติตัดสินใจล่าช้า และมีผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยเป็น STEMI แต่ไม่ได้รับยา SK (Streptokinase) เนื่องจากผู้ป่วยมีข้อห้ามในการให้ยา ซึ่งทีมให้การรักษามีความพร้อมทั้ง ด้านเวชภัณฑ์และบุคลากร ปี 2561 พบผู้ป่วย STEMI 1 รายเสียชีวิตขณะกำลังจะให้ยา SK (Streptokinase) จากอาการและความรุนแรงของโรค ซึ่งจะเห็นว่านำแบบประเมินและให้การพยาบาลโรคหลอดเลือดหัวใจมาใช้ สามารถช่วยแพทย์ในการวินิจฉัย การให้ยาให้การพยาบาล และให้การดูแลรักษาได้อย่างคลอบคลุม ข้อเสนอแนะ ควรนำแนวทางการประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ มาใช้กับผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆเช่นผู้ป่วยที่มาด้วยวิงเวียนและปวดอืดแน่นท้อง ที่อายุมากกว่า 45 ปี หรือมีโรคประจำตัวอื่นๆหรือในผู้สูงอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป และกรณีส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลแม่ข่ายให้นำแบบประเมินและให้การพยาบาลผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจไปด้วยทุกครั้ง เพื่อความต่อเนื่องในการให้การพยาบาลและการรักษา  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง