ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลการใช้น้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคำม่วงเพื่อการเกษตร
ผู้แต่ง : อรรคพล ภูผาจิตต์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : โรงพยาบาลคำม่วงได้มีการพัฒนาระบบบำบัดน้ำเสียอย่างมีประสิทธิภาพ จนเกิดแนวคิดในการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียมากลับใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อการเกษตรและพื้นที่สีเขียวในโรงพยาบาลคำม่วง เพื่อให้มีภูมิสถาปัตย์ที่สวยงามเป็นสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี นอกจากจะเป็นการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างคุ้มค่าแล้วนั้นยังเป็นการลดการใช้น้ำประปา ลดค่าใช้จ่ายและเป็นมาตรการ “Wastewater zero discharge” ที่สามารถทำได้ในโรงพยาบาล แต่การจะใช้ประโยชน์จากน้ำทิ้งโรงพยาบาลนั้น อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาถึงความเหมาะสมและพิจารณาถึงความเสี่ยงทางด้านสุขภาพที่อาจก่อให้เกิด ผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยสิ่งแวดล้อม และมลพิษ โดยเฉพาะความกังวลในประเด็นการแพร่กระจายเชื้อโรค ดังนั้นผู้ศึกษาจึงสนใจศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคำม่วง กลับมาใช้ประโยชน์ และเพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของผักบุ้งจีนที่เป็นตัวแทนของพืชที่ใช้บริโภคทั้งใบและลำต้นและเตยหอม ที่เป็นตัวแทนของพืชที่ไม่ใช้บริโภค ระหว่างแปลงที่รดด้วยน้ำทิ้งกับแปลงที่รดด้วยน้ำประปา  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคำม่วงกลับมาใช้ประโยชน์ 2.เพื่อเปรียบเทียบการเจริญเติบโตของผักบุ้งจีนและเตยหอมระหว่างแปลงที่รดด้วยน้ำทิ้งกับแปลงที่รดด้วยน้ำประปา  
กลุ่มเป้าหมาย : น้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสีย  
เครื่องมือ : รูปแบบการศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (Experimental research)  
ขั้นตอนการดำเนินการ : แบ่งการศึกษาเป็น 2 ระยะ ดังนี้ ระยะที่ 1 ประเมินศึกษาประสิทธิภาพระบบบำบัดน้ำเสียเทียบกับมาตรฐานการใช้น้ำทางการเกษตร (2012 Guideline for Water Reuse, USEPA) เก็บตัวอย่างน้ำทิ้งเวลา 9.00 – 11.00 น. จำนวน 2 ครั้ง วิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการ ดังนี้ ค่า pH, BOD5, COD, SS, TDS, S, N, Grease and Oil, Cr, Pb, Cd, TCB และ FCB ระยะที่ 2 การศึกษาการใช้น้ำทิ้งเพื่อการเกษตร 1) เตรียมแปลงทดลอง ทำแปลงผัก ขนาด 60 X 90 ซม. จำนวน 2 แปลง โดยแปลงที่ 1 รดด้วยน้ำทิ้ง แปลงที่ 2 รดด้วยน้ำประปา เตรียมแปลงโดยขุดดินลึก 10 – 15 ซม. และทำการพลิกกลับหน้าดินขึ้นตากแดด 7 วัน เพื่อกำจัดวัชพืชและฆ่าเชื้อโรค จากนั้นย่อยดินให้ร่วนซุย 2) คัดเลือกเมล็ดพันธุ์ที่มีขนาดสมบูรณ์ ส่วนเตยหอมคัดเลือกต้นที่มีความสูง 10 ซม. และจำนวนใบ 8 ใบ 3) หลังจากมีการเตรียมแปลงทั้งสองแปลง ที่มีขนาด 60 X 90 ซม. พร้อมปลูกดำเนินการดังนี้ 3.1 ปลูกผักบุ้งจีน ทำการปลูกเป็นแถว แถวละ 30 หลุม แต่ละหลุมห่างกัน 2 ซม. ทำการปลูกหลุมละ 2 เมล็ด ในแต่ละแปลงทำการปลูก 3 แถว แต่ละแถวห่างกัน 15 ซม. 3.2 ปลูกต้นเตยหอม ทำการปลูกต้นเตยหอมโดยปลูกขอบแปลงทดลองทั้งสองข้าง ข้างละ 4 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 10 ซม. ขุดหลุมปลูกลึก 6 – 7 ซม. 4) ออกแบบชุดการให้น้ำโดยใช้ถังพลาสติกขนาด 40 ลิตร ต่อกับท่อพีวีซีที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 22 มม. เจาะรูให้มีขนาดเท่ากันจำนวน 30 รู แต่ละรูห่างกัน 2 ซม. โดยปริมาณน้ำที่ใช้ในการทดลองคือ 20 ลิตร/แปลง/วัน ทำการรดน้ำ 2 ช่วงเวลา คือ 06.00-07.00 น. และ 17.00- 18.00 น.ทำการกำจัดวัชพืชทุกสัปดาห์ 5. ทำการบันทึกสังเกตการณ์เจริญเติบโต วัดความสูง และจำนวนใบของพืชแต่ละต้น ทำการบันทึกระยะเวลา 45 วัน ทำการเก็บผักบุ้งจีนและเตยหอมส่งห้องปฏิบัติการ โดยเก็บแนวทแยงของแปลงผัก เก็บพืชแบบต้นเว้นต้น ปริมาณ 0.5 กก. ส่งวิเคราะห์ในห้องปฏิบัติการพารามิเตอร์ Coliform bacteria และ Fecal coliform bacteria สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูลใช้สถิติเชิงพรรณนา นำเสนอข้อมูลด้วยค่าเฉลี่ย เปรียบเทียบการเจริญเติบโตของพืช  
     
ผลการศึกษา : พบว่า ค่าน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียเมื่อนำมาเทียบกับมาตรฐานการใช้น้ำทิ้งเพื่อการเกษตรเป็นไปตามาตรฐานที่กำหนดทุกพารามิเตอร์ และค่า Pb, Cr, Cd ไม่พบในน้ำทิ้ง อัตราการงอกของเมล็ดผักบุ้งจีนแปลงน้ำทิ้งเท่ากับ 53.33 แปลงน้ำประปาเท่ากับ 35.00 ความสูงผักบุ้งจีนแปลงน้ำทิ้งเพิ่มขึ้น 25.33+0.25 ซม. แปลงน้ำประปาเพิ่มขึ้น 16.23+0.25 ซม. เตยหอมสูงเพิ่มขึ้น 29.33+1.55 ซม. แปลงน้ำประปาเพิ่มสูงขึ้น 20.11+1.02 ซม. ผลการตรวจหาปริมาณ Coliform Bacteria และ Fecal Coliform bacteria พบว่าผักบุ้งจีนทั้งสองแปลงมีปริมาณเชื้อเท่ากับ 2.4 × 104 MPN/100 ml. และพบ Fecal coliform bacteria < 300 MPN/100 ml. ส่วนต้นเตยหอมแปลงน้ำทิ้งพบเชื้อ Coliform Bacteria เท่ากับ1.1× 104 MPN/100 ml. Fecal coliform bacteria <300 MPN/100 ml. แปลงน้ำประปาพบเชื้อ Coliform Bacteria เท่ากับ 0.046 × 104 MPN/100 ml. Fecal coliform bacteria <300 MPN/100 ml. สรุปได้ว่าน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคำม่วง เมื่อมีการควบคุมประสิทธิภาพการบำบัดตามมาตรฐานการใช้น้ำทิ้งเพื่อการเกษตรแล้วนั้น สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านการเกษตรได้ พิจารณาการเจริญเติบโตของพืชและความปลอดภัยต่อสุขภาพอนามัยของมนุษย์ เมื่อนำพืชมาบริโภคเทียบกับการใช้น้ำประปาในการปลูก  
ข้อเสนอแนะ : 7.1 จากผลการศึกษาอัตราการเจริญเติบโตพบว่าน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียโรงพยาบาลคำม่วงสามารถนำมารดน้ำต้นไม้ได้ เนื่องจากมีแร่ธาตุอาหารที่เหมาะสมในการเจริญเติบโตของต้นพืชโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี 7.2 โรงพยาบาลควรมีการควบคุมคุณภาพน้ำทิ้งตามเกณฑ์และนำน้ำทิ้งจากระบบบำบัดน้ำเสียไปใช้ในพื้นที่จริง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง