ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : รูปแบบการดำเนินงานควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดย อสม.จิ๋ว ชุมชนบ้านแสนสุข ตำบล กุดจิก อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : เสาวณี ดอนเกิด ผู้ร่วมวิจัย : นรกมล สกุลเดช (รพ.สต.บ้านแสนสุข อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์) ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดนโยบายด้านสุขภาพในการควบคุมโรคและภัยคุกคามสุขภาพ โดยใช้แนวทางสร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง การพัฒนาเครือข่ายองค์กรต่างๆ ในชุมชนเป็นกลยุทธ์หนึ่งในการดำเนินงาน โดยมุ่งหวังให้พื้นที่เกิดกระบวนการทำงานและเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้นในการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค โดยเฉพาะโรคและพฤติกรรมเสี่ยงที่เป็นเป้าหมายหลักสำคัญในระดับนโยบาย ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพจังหวัดกาฬสินธุ์ (ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔) โดยสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ให้มีการเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และตอบโต้ภาวะฉุกเฉินโรคและภัยสุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ตามแนวทางการจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสานระดับตำบล โดยเกิดความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ซึ่งในปัจจุบันโรคที่เป็นปัญหาสำคัญโดยมียุงลายเป็นพาหะนำโรค คือ โรคไข้เลือดออก ไข้ปวดข้อยุงลาย โรคติดเชื้อไวรัสซิการ์ เป็นต้น สำหรับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกอำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี ๒๕๖๑ - ๒๕๖๒ พบผู้ป่วยสูงกว่าค่ามัธยฐาน ๕ ปีย้อนหลัง (ปี ๒๕๕๘ – ๒๕๖๒) อัตราป่วยเท่ากับ ๕.๒๖, ๑๐.๕๓ ต่อประชากรแสนคนตามลำดับ ไม่พบผู้เสียชีวิต ตำบลที่มีอัตราป่วยสูงสุดของอำเภอท่าคันโท คือตำบลกุดจิก โดยปี ๒๕๖๒ มีอัตราป่วยต่อประชากรแสนคน เท่ากับ ๓๓.๕๒ ซึ่งผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตำบลกุดจิก อยู่ในเขตรับผิดชอบรพ.สต.บ้านแสนสุข และ รพ.สต.บ้านกุดจิก (งานระบาดวิทยา รพ.สมเด็จพระยุพราชกระนวน, ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๒) เมื่อเปรียบเทียบกับค่ามัธยฐาน ๕ ปีย้อนหลัง พบว่าปี ๒๕๖๒ พบผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกตำบลกุดจิก สูงกว่าค่ามัธยฐาน และเมื่อสังเกตแนวโน้มความชุกลูกน้ำยุงลายในบ้าน วัด โรงเรียน ยังพบว่าค่าความชุกของลูกน้ำยุงลายในบ้าน (HI) สูงเกินร้อยละ ๑๐ และยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งมีโอกาสที่จะเกิดโรคอื่นๆ ที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค เช่น โรคติดเชื้อไวรัสซิการ์ ที่มีรายงานผู้ป่วยในปัจจุบันและพื้นที่เสี่ยงใกล้เคียง (สถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสซิการ์, กรมควบคุมโรค, เม.ย.๒๕๖๑) ด้วยเหตุผลข้างต้น รพ.สต.บ้านแสนสุข ร่วมกับชุมชนบ้านแสนสุข จึงเกิดแนวคิดการพัฒนาศักยภาพนักเรียนในหมู่บ้าน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อหาแนวทางการดำเนินงานควบคุม ป้องกัน และแก้ไขปัญหาโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค ร่วมกับโรงเรียนและชุมชน ให้สอดคล้องกับบริบทพื้นที่อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย โดย อสม.จิ๋ว ชุมชนบ้านแสนสุข และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในชุมชน  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษารูปแบบการดำเนินงานควบคุมและกำจัดลูกน้ำยุงลาย  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้เลือกแบบเฉพาะเจาะจง จำนวน ๖๐ คน ประกอบด้วย ครูอนามัยโรงเรียน ๑ คน, นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๑ – ๖ จำนวน ๔๑ คน, อสม. ๑๒ คน, ผู้นำชุมชน ๓ คน และเจ้าหน้าที่ รพ.สต.บ้านโคกไม้งาม ๓ คน ดำเนินการเดือน มกราคม ๒๕๖๒ ถึงเดือน มิถุนายน ๒๕๖๒  
เครื่องมือ : รูปแบบและกระบวนการการมีส่วนร่วมของ อสม.จิ๋ว  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ผู้ศึกษาทำการเก็บรวบรวมข้อมูลด้านกระบวนการดำเนินงานจากการประชุมหารือ ระดมความคิดเห็น จากผลการดำเนินกิจกรรมในโรงเรียนและชุมชน โดยภาคีเครือข่ายที่สำคัญคือโรงเรียนและชุมชนเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้อง ในการกำหนดรูปแบบการดำเนินงานของ อสม.จิ๋ว โดยการใช้กระบวนการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา แบ่งออกเป็น ๔ ขั้นตอน คือ ขั้นตอนที่ ๑ ขั้นวางแผน (Planning) ทำการวิเคราะห์สถานการณ์การเกิดโรคในปัจจุบันที่มียุงลายเป็นพาหนะนำโรคและความชุกลูกน้ำยุงลายในหมู่บ้าน/โรงเรียน พร้อมทั้งวางแผนกำหนดกลยุทธ์และกิจกรรมเพื่อสร้างรูปแบบการดำเนินงานของ อสม.จิ๋ว และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ขั้นตอนที่ ๒ ขั้นลงมือปฏิบัติงาน (Action) มีกระบวนการดำเนินงาน ดังนี้ ๑) ถ่ายทอดความรู้เรื่องโรคที่มียุงลายเป็นพาหะนำโรค วัฏจักรยุงลาย และการกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยวิธีต่างๆ ๒) สร้างทีม อสม.จิ๋ว ในหมู่บ้านและในโรงเรียน ๓) กำหนดบทบาทการทำงานของ อสม.จิ๋ว โดยการเป็นผู้สื่อข่าวประชาสัมพันธ์หน้าเสาธงทุกเช้า, ร่วมสร้างกระแสให้ชุมชนตื่นตัวโดยการออกประชาสัมพันธ์ที่หอกระจายข่าวหมู่บ้านทุกบ่ายวันศุกร์ พร้อมทั้งสำรวจลูกน้ำยุงลายคนละ ๑๕ หลังคาเรือน และรายงานผลให้ครูอนามัยโรงเรียนทราบ ๔) อสม.จิ๋ว มีตารางเวรรับผิดชอบในการตรวจลูกน้ำยุงลายในโรงเรียนทุกเช้า ๕) จัดทีม อสม.จิ๋วทำงานร่วมกับ อสม.ในการควบคุมค่า HI/CI เดือนละ ๑ ครั้ง ๖) โรงเรียนมีการจัดประกวดห้องเรียนสะอาดปราศจากโรคติดต่อ ๗) จับคู่บัดดี้พี่สอนน้องปลูกฝังการกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้านของตนเอง ๘) ทำการยกย่องชื่นชม อสม.จิ๋ว ขั้นตอนที่ ๓ ขั้นสังเกตผลการปฏิบัติงาน (Observation) ดำเนินการ ๑) ติดตามและสังเกตการดำเนินงาน อสม.จิ๋ว ๒) สอบถามผู้ปกครอง อสม.จิ๋ว เกี่ยวกับพฤติกรรมการควบคุมกำจัดลูกน้ำยุงลายในบ้าน ๓) ประเมินผลหลังดำเนินกิจกรรม โดยการวิเคราะห์ค่า HI, CI, และการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่าย ขั้นตอนที่ ๔ ขั้นสะท้อนกลับผลการปฏิบัติงาน (Reflection) ทำการถอดบทเรียน สะท้อนปัญหา อุปสรรคในการดำเนินงาน พร้อมทั้งแนวทางแก้ไขปัญหาโดยการจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อสะท้อนปัจจัยแห่งความสำเร็จในการดำเนินงานให้เกิดรูปแบบ อสม.จิ๋ว ชุมชนบ้านแสนสุข  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง