ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การสำรวจพฤติกรรมและสภาวะทันตสุขภาพเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ Oral Health Behavior and Status among Staff Members of Khaowong Hospital, Kalasin Province
ผู้แต่ง : นางสาวเดือนเพ็ญ โสมย์ดวงแก้ว ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : จากการสำรวจสภาวะทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 8 ประเทศไทย พ.ศ.2560 พบว่ากลุ่มวัยทำงานอายุ35-44 ปี มีปัญหาหลักที่พบคือการสูญเสียฟัน กล่าวคือร้อยละ 85.3 มีการสูญเสียฟันเฉลี่ย 3.6 ซี่/คน โดยมีผู้ที่มีฟันผุที่ยังไม่ได้รับการรักษาร้อยละ 43.3 ซึ่งปัญหาดังกล่าวจะแสดงอาการที่รุนแรงจนเกิดความเจ็บปวดและการสูญเสียฟันในช่วงอายุต่อไปถ้าไม่ได้รับการดูแลรักษาที่เหมาะสมทันเวลา ซึ่งจากงานวิจัยของสุณี วงศ์คงคาเทพ (2558) ที่นำข้อมูลจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2556 มาวิเคราะห์พบว่ามีเพียงร้อยละ 9.3 ของประชาชนกลุ่มวัยทำงานที่มีการมาใช้บริการทันตกรรม โรงพยาบาลเขาวงมีเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานซึ่งอยู่ในกลุ่มวัยทำงานจำนวนทั้งสิ้น 210 คน โดยพบว่าในปี 2561มีบุคลากรโรงพยาบาลเขาวงมารับบริการทันตกรรมจำนวน 35 คน คิดเป็นร้อยละ 16.7 ของบุคลากรทั้งหมด เป็นสิทธิข้าราชการร้อยละ 12.4และสิทธิประกันสังคมร้อยละ 4.3ประเภทบริการทันตกรรมที่ได้รับ ได้แก่ขูดหินปูน 14คน(ร้อยละ 40.0)อุดฟัน 8คน (ร้อยละ 22.9) ถอนฟัน 7คน (ร้อยละ 20.0) ครอบฟัน 4คน (ร้อยละ 11.4) และรักษารากฟัน 2 คน (ร้อยละ 5.7)นอกจากนี้โรงพยาบาลก็ยังไม่เคยมีการสำรวจพฤติกรรมและสภาวะทันตสุขภาพของเจ้าหน้าที่มาก่อน ผู้ศึกษาจึงมีความต้องการที่จะสำรวจพฤติกรรมและสภาวะทันตสุขภาพของเจ้าหน้าที่ เพื่อนำข้อมูลไปวางแผนการดูแลรักษาทางทันตกรรมแก่เจ้าหน้าที่ได้อย่างเหมาะสมทันท่วงทีเพื่อลดการสูญเสียฟันในอนาคต  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาสภาวะทันตสุขภาพของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาทัศนคติและพฤติกรรมทันตสุขภาพของเจ้าหน้าที่ โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : เจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 210 คน  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1) จัดเตรียมแบบสอบถามพฤติกรรมทันตสุขภาพ แบบบันทึกสภาวะช่องปาก แบบบันทึกการรับบริการทันตกรรมและทำความเข้าใจเกี่ยวกับโครงการแก่เจ้าหน้าที่ในฝ่ายทันตสาธารณสุข 2) ทันตแพทย์ทุกคนในฝ่ายทำความเข้าใจเกี่ยวกับแบบบันทึกสภาวะช่องปากร่วมกัน 3) กำหนดตารางเวลาในการเข้ารับบริการตรวจช่องปากและรับการรักษาทางทันตกรรมของเจ้าหน้าที่ โดยแยกเป็นรายหน่วยงาน วันละ 5-6 คน ในช่วงเดือน มีนาคม-พฤษภาคม 2562 4) ประชาสัมพันธ์โครงการในที่ประชุมกรรมการบริหารโรงพยาบาลและผ่านเสียงตามสายของโรงพยาบาล 5) ส่งแบบสอบถามทัศนคติและพฤติกรรมทันตสุขภาพให้เจ้าหน้าที่ทุกคนตอบ โดยกำหนดให้มีตัวแทนของทุกหน่วยงานทำหน้าที่รวบรวมแบบสอบถามส่งกลับที่กลุ่มงานทันตสาธารณสุข 6) แจ้งเตือนการเข้ารับบริการเป็นรายวันทางไลน์กลุ่มเจ้าหน้าที่โรงพยาบาล 7) เมื่อถึงวันนัดเข้ารับบริการ ทันตแพทย์จะทำการตรวจสภาวะช่องปากตามแบบบันทึกที่ประยุกต์ใช้จากแบบสำรวจสภาวะช่องปากแห่งชาติครั้งที่ 8 และให้การรักษาทันตกรรมตามสภาพปัญหาที่พบสำหรับในรายที่ต้องรักษาต่อเนื่องก็จะทำการนัดรักษาต่อ 8) เจ้าหน้าที่ทุกคนที่เข้ารับบริการ ทำการเขียนชื่อสกุลของตนเองเพื่อใช้จับสลากรางวัลเมื่อเสร็จสิ้นโครงการ 9) นำข้อมูลทัศนคติและพฤติกรรมทันตสุขภาพข้อมูลสภาวะทันตสุขภาพ ข้อมูลการรักษาทันตกรรม มาวิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนาเป็นค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าต่ำสุด ค่าสูงสุด  
     
ผลการศึกษา : ดูได้จากเอกสารฉบับเต็ม  
ข้อเสนอแนะ : 1. จากการศึกษาพบว่าเจ้าหน้าที่มีพฤติกรรมใช้ไหมขัดฟันเป็นอุปกรณ์เสริมในการทำความสะอาดช่องปากอยู่ในระดับพอใช้ ส่วนพฤติกรรมข้ออื่นๆ อยู่ในระดับดีและดีมาก ดังนั้นนอกจากการรณรงค์ให้เจ้าหน้าที่มารับการตรวจสุขภาพช่องปากและรับการรักษาแล้วก็ควรมีมาตรการควบคุมป้องกันโรค โดยการให้ความรู้และส่งเสริมให้เจ้าหน้าที่มีการใช้อุปกรณ์เสริมทำความสะอาดซอกฟันเพื่อป้องกันโรคปริทันต์และฟันผุด้านประชิด (proximal caries) 2. จากการศึกษาพบว่า เจ้าหน้าที่มารับบริการร้อยละ 62.8 ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ (คือ ร้อยละ 80) ดังนั้นควรมีการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อการรับบริการทันตกรรมของเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลทั้งในเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ เพื่อจะได้นำผลการศึกษามาปรับปรุงแก้ไขให้เจ้าหน้าที่มารับบริการได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)