ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เก็บข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : อัจฉราพรรณ ชั่งยนต์ ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : โรคพยาธิใบไม้ตับ เชื้อก่อโรคในคนที่มีรายงานในประเทศไทย มีสาเหตุจากพยาธิ Opisthorchis viverrini พยาธิตัวเต็มวัยขณะมีชีวิตพบอยู่ในทางเดินน้ำดีและท่อน้ำดีของตับในคน มีการแพร่ระบาดในประชาชนทุกกลุ่มอายุ และพบได้ทุกภาคของประเทศไทยแต่พบสูงที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ปัจจุบันองค์การอนามัยโลกจัดอันดับพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดีเป็นโรคสำคัญ และยอมรับให้โรคพยาธิใบไม้ตับเรื้อรัง หรือมีการติดเชื้อซ้ำบ่อยๆ ในระยะยาว เป็นสาเหตุที่สำคัญในการเป็นสารก่อมะเร็งที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี โรคมะเร็งตับหรือส่วนหนึ่งคือมะเร็งท่อน้ำดี พบว่า ความชุกของการเกิดโรคมะเร็งดังกล่าวในประเทศไทยยังพบมากที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการป่วยเป็นโรคพยาธิใบไม้ตับ มีสาเหตุเกิดจากการรับประทานอาหารประเภทที่ปรุงจากปลาน้ำจืดเกล็ดขาวตระกูลปลาตะเพียนปรุงดิบหรือสุกๆดิบๆ ซึ่งมีตัวอ่อนพยาธิใบไม้ตับปนเปื้อน ดังตัวอย่างอาหารเสี่ยงได้แก่ ก้อยปลาดิบ ลาบปลาดิบ ปลาส้ม ปลาร้าดิบ หรือส้มตำปลาร้าดิบ เป็นต้น เมื่อคนรวมทั้งแมวหรือสุนัข ซึ่งเป็นสัตว์รังโรคพยาธิใบไม้ตับ ถ่ายอุจจาระปนเปื้อนลงในแหล่งน้ำ ก็จะทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้ อีกทั้งพยาธิใบไม้ตับอาศัยอยู่ในท่อน้ำดีทั้งของคน และสัตว์รังโรค เมื่อมีตัวพยาธิสะสมมากๆ เป็นเวลานาน จะมีการอักเสบของท่อน้ำดี จากนั้นมีโอกาสพัฒนากลายเป็นมะเร็งท่อน้ำดี (นางสาวศิวาพร พิมพ์เรือง,2557) องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้ยอมรับและจัดให้พยาธิใบไม้ตับเป็นเชื้อก่อมะเร็ง โดยทำให้เกิดมะเร็งท่อน้ำดี โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยมีอุบัติการณ์โรคมะเร็งท่อน้ำดีสูงมากที่สุดในโลก ข้อมูล พ.ศ.2557 พบความชุกพยาธิใบไม้ตับร้อยละ 9.2 โดยในระดับหมู่บ้านอาจมีความชุกสูงถึงร้อยละ 90 รองลงมาคือภาคเหนือพบร้อยละ 5.2 ในระดับหมู่บ้านอาจมีความชุกสูงถึงร้อยละ 45.6 พบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง จากพฤติกรรมเสี่ยงเรื่องการบริโภคอาหารที่ทำจากปลาน้ำจืดเช่น ปลาร้าดิบ ส้มตำใส่ปลาร้าดิบ แจ่วบองใส่ปลาร้าดิบ โรคนี้มีต้นทุนในการรักษาสูงประมาณ 5 แสนบาทต่อคน ผู้ป่วยมีอัตราการรอดชีวิตต่ำมาก เนื่องจากพบผู้ป่วยมะเร็งในระยะท้ายๆ (สำนักสารสนเทศกระทรวงสาธารณสุข,2559) ประเทศไทยมีแนวโน้มการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ที่เป็นปัญหาของสาธารณสุขที่สำคัญที่จะต้องเร่งแก้ไข โดยเฉพาะประชาชนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประชากรกว่า 6 ล้านคน ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ที่เป็นสาเหตุให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากแก่คนอีสาน และมีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศปีละประมาณ 14,000 คน ปัจจุบันสถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พบผู้ป่วยที่ภาคอีสานมากที่สุดเป็นอันดับ 1 ของประเทศ รองลงมาคือภาคเหนือ ทั้งนี้เกิดจากพฤติกรรมการกินของคนภาคอีสานที่ชอบกินก้อย กินลาบปลาดิบ หรือกินแบบสุกๆ ดิบๆ ก็มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคดังกล่าวสูง การแก้ไขและวิธีป้องกันนั้นต้องเดินหน้ารณรงค์ในการเลิกกินอาหารดิบ โดยเฉพาะอาหารที่ทำจากปลา เพราะโรคดังกล่าวเป็นโรคติดต่อที่สามารถป้องกันได้ (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการส่งเสริมสุขภาพ,2561) กระทรวงสาธารณสุขร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชนและประชาสังคม ผลักดันให้ปัญหาพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี เป็นวาระประเทศ โดยจัดทำแผนยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการทศวรรษกำจัดพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี พ.ศ. 2559-2568 มีเป้าหมายใน 10 ปีข้างหน้า คนไทยจะติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับน้อยกว่า 6 แสนราย กลุ่มเสี่ยงมะเร็งท่อน้ำดีได้รับการคัดกรองและรักษา ลดอัตราการเสียชีวิตลงร้อยละ 50 จาก 40 ต่อแสนประชากร เหลือ 20 ต่อแสนประชากร จากการสำรวจความชุกโรคหนอนพยาธิทั่วประเทศ พบว่ามีจำนวนผู้ป่วยทั่วประเทศ ป่วยพยาธิใบไม้ตับ ร้อยละ 8.7 หรือประมาณ 6 ล้านคนทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีกว่าปีละ 28,000 คน หรือประมาณ 80 คนต่อวัน ซึ่งสูงที่สุดในโลก ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายวัยทำงาน เมื่อตรวจพบแล้วมักเสียชีวิตภายใน 1 ปี ทำให้ครอบครัวประสบปัญหาขาดผู้นำครอบครัว เกิดปัญหาสังคมตามมา และจากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคปลาดิบของประชาชนในพื้นที่ ยังพบว่า ประชาชนร้อยละ 49.7 ยังบริโภคส้มตำใส่ปลาร้าดิบ ร้อยละ 43.6 บริโภคปลาจ่อมดิบ ร้อยละ 29.2 บริโภคลาบปลาดิบ ร้อยละ 28.2 บริโภคก้อยปลาดิบ โดยให้เหตุผลว่า อร่อย เคยชิน กินกันมานานแล้ว และบางส่วนมีความเชื่อว่า เป็นโรคพยาธิใบไม้ตับแล้วไม่เป็นไรกินยาถ่ายพยาธิก็หายแล้วกินใหม่ได้อีก สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคพยาธิใบไม้ตับและเป็นมะเร็งท่อน้ำดีทั้งสิ้น (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น,2558) จังหวัดในพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานหลักประกันสุขภาพเขต 7 ขอนแก่น พบว่าจำนวนผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี และแต่ละปีก็มีแนวโน้มที่จะพบมากขึ้นเรื่อยๆ จากผลการสำรวจพยาธิใบไม้ตับในประเทศไทย พ.ศ. 2552 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบอัตราการติดพยาธิใบไม้ตับ ดังนี้ กาฬสินธุ์พบร้อยละ 27.4 ขอนแก่นพบร้อยละ 14.2 ร้อยเอ็ดพบร้อยละ 11.8 มหาสารคามพบร้อยละ 11.6 อัตราตายจากมะเร็งตับและท่อน้ำดีต่อประชากร 100,000 คน ดังนี้ ร้อยเอ็ด 54.8 คน กาฬสินธุ์ 50.9 คน และ มหาสารคาม 44.9 คน (สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 6 จังหวัดขอนแก่น,2552) อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประชากรกลุ่มเป้าหมาย โดยคิดจากตัวชี้วัดของจังหวัดกาฬสินธุ์ และยุทธศาสตร์อำเภอสามชัยในตำบลต้นแบบ โดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซงตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ จากผลการรณรงค์ตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ ปี 2562 กลุ่มเป้าหมายประชากร อายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งหมดในเขตรับผิดชอบ จำนวน 2,983 คน ผลการสำรวจมีกลุ่มเสี่ยงที่มีความเสี่ยง 3 ข้อ ขึ้นไป จำนวน 1,472 คน ได้รับการตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในอุจจาระ จำนวน 793 คน ร้อยละ 53.87 พบไข่พยาธิใบไม้ตับ จำนวน 85 คน ร้อยละ 10.71 จะเห็นได้ว่าจากผลการรณรงค์ตรวจหาไข่พยาธิใบไม้ตับในปี 2562 ประชาชนในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง พบว่ายังมีอัตราความชุกของโรคพยาธิใบไม้ตับเกินร้อยละ 10 และได้มีการจัดทำโครงการเพื่อลดปัญหาและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของคนในชุมชนเพื่อลดการเดินโรคพยาธิใบไม้ตับ ดังนั้นในการศึกษาครั้งนี้ผู้ศึกษาได้สนใจศึกษาผลการส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล หนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาเป็นแนวทางในการปรับปรุง แก้ไข ดำเนินการควบคุมโรคพยาธิใบไม้ตับ เพื่อลดอัตราความชุกของพยาธิใบไม้ตับของประชาชน ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาความตระหนักในการป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 3. เพื่อพัฒนากิจกรรมส่งเสริมเพื่อปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ 4. เพื่อเปรียบเทียบความตระหนักและพฤติกรรมการบริโภคเพื่อป้องกันโรคของผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนและหลังเข้ารับการส่งเสริม  
กลุ่มเป้าหมาย : 1. ประชากรที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านการคัดกรองโดยแบบคัดกรองตามเกณฑ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงสาธารณสุข ที่มีความเสี่ยงได้รับการตรวจอุจจาระหาไข่พยาธิ จำนวน 793 คน 2. กลุ่มตัวอย่างใช้ในการวิจัยครั้งนี้ ได้แก่ ประชาชนที่เป็นผู้ป่วยโรคพยาธิใบไม้ตับในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง ตำบลสำราญ อำเภอสามชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ผ่านการคัดกรองโดยแบบคัดกรองตามเกณฑ์ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ กระทรวงสาธารณสุข และตรวจพบเชื้อพยาธิใบไม้ตับ จำนวน 85 คน โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างด้วยวิธีเจาะจง (Purposive Sampling)  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม (questionnaire) เอกสาร ทะเบียน สถิติ รายงานที่เกี่ยวกับการดำเนินงานป้องกันโรคพยาธิใบไม้ตับ แฟ้มประวัติครอบครัว  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ประสานงานกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองแซง เพื่ออนุญาตดำเนินการศึกษา 2. ประสานงานกับอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.) ซึ่งเป็นพื้นที่รับผิดชอบตำบลสำราญ เพื่อช่วยในการเก็บรวบรวมข้อมูลเป็นไปอย่างสะดวกยิ่งขึ้น 3. ผู้ทำการศึกษาใช้แบบสอบถามกับกลุ่มตัวอย่าง และตรวจสอบความถูกต้องของ ข้อมูลก่อนออกจากผู้ให้การตอบแบบสอบถาม 4. ผู้ศึกษาจะนำข้อมูลที่ได้มาตรวจสอบความสมบูรณ์และความถูกต้อง แล้วให้คะแนนตามเกณฑ์ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง