ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง ในผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยทีมสหวิชาชีพ โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : อดิศร อุดรทักษ์, สุลาวัณย์ วรรณโคตร ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : จากสถานการณ์สภาวะด้านสุขภาพของประชากรไทยพบว่า แนวโน้มการเจ็บป่วยและตายด้วย โรคไม่ติดต่อเรื้อรังเพิ่มขึ้น โดยโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายอันดับหนึ่งของไทยเพิ่มเป็น759.8 ต่อแสนประชากรในปี 2555 โรคหลอดเลือดสมองเพิ่มขึ้นเป็น 31.7 ต่อแสนประชากรในปี 2555 ความชุกของประชาชนที่เป็นโรคหลอดเลือดสมอง อัมพฤกษ์ อัมพาต เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ1.6 ในปี 2553 (กรมการแพทย์, 2557) จากแนวโน้มที่เพิ่มขึ้น สะท้อนถึงความต้องการการบริการการดูแลแบบประคับประคองมากขึ้นตามมา โรงพยาบาลเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ให้บริการผู้ป่วยในเขตอำเภอเขาวง และนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ นับตั้งแต่ปี 2557 เป็นต้นมามีการส่งต่อจากผู้ป่วยจากแม่ข่าย และยังมีผู้ป่วยระยะสุดท้ายในชุมชนที่ต้องได้รับการดูแลเพิ่มมากขึ้นด้วย จากการดำเนินงานที่ผ่านมาพบว่ายังมีผู้ป่วยบางรายที่ยังไม่ได้รับการดูแลแบบประคับประคองและมีปัญหาผู้ป่วยเสียชีวิตที่ไม่คาดคิดในโรงพยาบาล ตลอดจนยังพบปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการใช้ยาในผู้ป่วยระยะสุดท้าย โดยเฉพาะการเข้าถึงยากลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่น จึงมีความจำเป็นต้องพัฒนาและเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงบริการของผู้ป่วย  
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนาการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองของผู้ป่วยระยะสุดท้าย  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยที่ได้รับการดูแลแบบประคับประคอง  
เครื่องมือ : -  
ขั้นตอนการดำเนินการ : เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ ( Action research) ประกอบด้วย 3 ขั้นตอนดังนี้ 1.การวิเคราะห์สถานการณ์ และรวบรวมปัญหาในการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย แบบประคับประคอง ทำการรวบรวมข้อมูลจากการทบทวนเวชระเบียนในส่วนของการเข้าถึงบริการ โดยแพทย์และพยาบาลผู้รับผิดชอบ และปัญหาเกี่ยวกับการใช้ยาโดยเภสัชกรเป็นผู้สำรวจปัญหาที่เกี่ยวกับการใช้ยา 2.การพัฒนาการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง โดยทีมสหวิชาชีพ 3.การติดตามและประเมินผลของการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองเพื่อประเมินผลของการใช้รูปแบบการดูแลแบบประคับประคอง เพื่อการเข้าถึงบริการที่ได้พัฒนาขึ้น โดยเก็บข้อมูลเพื่อประเมินผลทุก 1 เดือน รายงานผลด้วยสถิติเชิงพรรณนาได้แก่ จำนวน ร้อยละ และค่าเฉลี่ย  
     
ผลการศึกษา : ขั้นตอนที่1. การวิเคราะห์สถานการณ์ และรวบรวมปัญหา จากการทบทวนเวชระเบียนผู้ป่วยที่เสียชีวิตในโรงพยาบาลระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 - 31 มกราคม 2561 มีผู้ป่วยเสียชีวิตในโรงพยาบาลทั้งสิ้น 19 ราย เป็นเพศหญิง (11 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.89) อายุเฉลี่ย 70.53 ปี ได้รับการวินิจฉัยส่วนใหญ่เป็นมะเร็ง ( 9 ราย คิดเป็นร้อยละ 47.37) , กลุ่ม Organ failure (7 ราย คิดเป็นร้อยละ 36.84) ได้แก่ ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย( 5 ราย คิดเป็นร้อยละ26.31 ), โรคหัวใจล้มเหลว และติดเชื้อในกระแสเลือด (2ราย คิดเป็นร้อยละ 10.52) ผู้ป่วยโรค Frailty, Dementia ( 2ราย คิดเป็นร้อยละ 10.52) และ HIV Infection (1 รายคิดเป็นร้อยละ 5.26) ได้รับการลงทะเบียนเป็นป่วยระยะสุดท้ายที่มีได้รับการดูแลแบบประคับประคอง 5 ราย (คิดเป็นร้อยละ 26.31) และจากสำรวจปัญหาการใช้ยาในผู้ป่วยกลุ่มนี้ พบปัญหาทั้งสิ้น 14 ครั้ง เฉลี่ย 0.74 ครั้งต่อผู้ป่วย 1 ราย โดยปัญหาจากการใช้ยาที่พบมากที่สุดได้แก่ การขาดยาที่จำเป็นต้องได้รับในการจัดการอาการ (10 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 62.5) ขั้นตอนที่ 2.การพัฒนาการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคอง 2.1 มีการจัดประชุมวิชาการเพื่อเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับการดูแลแบบประคับประคองแก่ พยาบาลวิชาชีพผู้เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบหลักการดูแลแบบประคับประคองของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล, 2.2 การประชุมเพื่อหารือระหว่างทีมสหวิชาชีพเพื่อให้เกิดข้อตกลงในดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในระดับโรงพยาบาล เพื่อให้เกิดรูปแบบการเข้าถึงบริการที่เอื้อในการเข้าถึงบริการ, 2.3 จัดทำคำสั่งให้มีการตั้งศูนย์โฮมฮักและทีม Palliative Care อันประกอบไปด้วย แพทย์ พยาบาลวิชาชีพผู้รับผิดชอบ Palliative Care และเภสัชกรผู้รับผิดชอบ Palliative Care ตลอดจนพยาบาลประจำหอผู้ป่วย ผู้รับผิดชอบ Palliative Care, 2.4 มีการปรับปรุงบัญชียาของโรงพยาบาล เพื่อให้มีรูปแบบยาที่สามารถบริหารในผู้ป่วยระยะสุดท้ายครอบคลุมมากขึ้นและจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นในการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง (ภาคผนวก 1) ขั้นตอนที่3. จากการติดตามและประเมินผลของการเข้าถึงการดูแลแบบประคับประคองหลังจากที่มีการพัฒนารูปแบบการเข้าถึงบริการตั้งแต่เดือน กุมภาพันธ์ ถึงเมษายน 2561 มีผู้ป่วยที่ได้รับการลงทะเบียนในการดูแลแบบประคับประคองทั้งสิ้น 35 ราย เพศชาย (18 ราย คิดเป็นร้อยละ 51.42) อายุเฉลี่ย 67.57 ปี เป็นผู้ป่วยโรคมะเร็ง (21 ราย คิดเป็นร้อยละ 60), กลุ่ม Organ failure (14 ราย คิดเป็นร้อยละ 40) ผู้ป่วยเสียชีวิตแล้ว 18 ราย (คิดเป็นร้อยละ51.42) ซึ่งได้รับการทำ Advance care plan ทุกรายเสียชีวิตที่บ้านอย่างสงบ 17 ราย(คิดเป็นร้อยละ94.44) และประสงค์ที่จะเสียชีวิตในโรงพยาบาล 1ราย (คิดเป็นร้อยละ5.55) ในผู้ป่วยเสียชีวิตที่จำเป็นต้องได้รับยากลุ่มอนุพันธุ์ของฝิ่นจำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ได้รับยา Morphine (8 ราย คิดเป็นร้อยละ 77.78) และได้รับ Fentanyl patch (2 ราย คิดเป็นร้อยละ 22.22)  
ข้อเสนอแนะ : -เนื่องจากเป็นการเก็บข้อมูลย้อนหลัง และไม่มีกลุ่มเปรียบเทียบ จึงอาจเป็นข้อจำกัดในการสะท้อนข้อมูล และสถานการณ์จริง ควรมีการเก็บข้อมูลแบบไปข้างหน้า เพื่อที่จะสามารถปรับปรุงรูปแบบการเก็บข้อมูลได้  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ