ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ส่งเสริมสุขภาพจิตในผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในพื้นที่บ้านนาวี หมู่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : วรุณรัตน์ ทิพย์สิงห์ ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ที่เป็นปัญหาสาธารณสุขในอันดับต้นๆของประเทศและระดับโลก จากการรายงานสถิติสาธารณสุขของไทย พ.ศ. 2553-2557 พบว่า จำนวนผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง (สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, 2558) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มโรคเรื้อรังที่รักษาไม่หายขาดต้องปฏิบัติตัวให้ถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ ทั้งในด้านการเข้ารับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เพื่อป้องกันการเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงด้านการควบคุมโรค ด้านการรับประทานยา การควบคุมอาหาร และการออกกำลังกาย ต้องตัดสินใจแก้ปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวัน ต้องควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และระดับความดันโลหิต ต้องควบคุมน้ำหนักของตนเอง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองต้องเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของตนเองไปจากเดิมมาก ต้องฝืนตนเองในการควบคุมปริมาณอาหาร หรือต้องหลีกเลี่ยงอาหารที่ตนเองเคยชอบ นอกจากนี้ผู้ป่วยยังมีความรู้สึกไม่ปลอดภัยในชีวิตไม่ทราบว่าโรคจะเกิดความรุนแรงหรือมีภาวะแทรกซ้อนเกิดขึ้นเมื่อใด และยังต้องเสียค่าใช้จ่ายในการไปรับการรักษาอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มีผลกระทบด้านสังคมที่ไม่สามารถเข้าร่วมสังสรรค์ต่างๆ ได้ตลอดจนไม่มีอิสระในการเข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการต่างๆ (ปัฐยาวัชร ปรากฏผล, เยาวดี สุวรรณนาคะ, อรุณี ไชยฤทธิ์, บุญสืบ โสโสม, สราวุฒิสีถาน, มยุรีสร้อยศรีสวัสดิ์และคณะ, 2558) สิ่งต่างๆเหล่านี้ส่งผลให้สุขภาพจิตของผู้ป่วยแปรเปลี่ยนไปจากปกติจนเพิ่มความเสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้าได้มากยิ่งขึ้น และมีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย จากรายงานการศึกษาร่วมกันระหว่างองค์การอนามัยโลก (World Health Organization) มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและธนาคารโลก (Murray, 1996) คาดการณ์ว่าภายในปี พ.ศ. 2563 โรคซึมเศร้าจะเป็นปัญหาสาธารณสุขระดับโลกอันดับที่ 2 รองลงมาจากโรคหัวใจหลอดเลือด โดยคิดเป็นร้อยละ 10-25 ในผู้หญิง และร้อยละ 5-12 ในผู้ชาย เพราะปัจจัยทางเศรษฐกิจและสังคม อย่างไรก็ตามสถานการณ์โรคซึมเศร้าในประเทศไทยถือเป็นปัญหาอันดับ 4 ซึ่งสังคมต้องให้ความสำคัญ เพราะเป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก ทำให้เกิดความบกพร่องต่อการดำเนินชีวิต หน้าที่รับผิดชอบ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนสูง (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2550) โดยพบอุบัติการณ์โรคซึมเศร้า ร้อยละ 1.98 จากทั่วโลก และจากข้อมูลของกรมสุขภาพจิตกระทรวงสาธารณสุขปี 2556 พบว่าในประเทศไทยอัตราการป่วยด้วยโรคนี้มีแนวโน้มสูงขึ้น โดยมีอัตราผู้ป่วยที่มาใช้บริการของหน่วยบริการสุขภาพในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขระหว่าง ปี พ.ศ. 2551-2555 เท่ากับ 229.9, 260.8, 241.37, 290.82 และ 345.75 ต่อแสนประชากรตามลำดับ นอกจากนี้ผลการศึกษาและวิจัยภาวะโรคซึมเศร้าในผู้ป่วยโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง มีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากเหตุผลการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ และจากการทบทวนวรรณกรรมพบว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ประมาณร้อยละ 20-30 มีภาวะซึมเศร้าซึ่งเป็นอัตราที่มากกว่าคนปกติ 2-3 เท่า 6-8 ปัจจุบันผลการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้าและโรคเบาหวานยังมีความไม่ชัดเจน หรือมีความสัมพันธ์กันสองทางคือ ภาวะซึมเศร้าอาจก่อให้เกิด โรคเบาหวานในทางกลับกันโรคเบาหวานก็อาจก่อให้เกิดภาวะซึมเศร้าได้ ซึ่งภาวะซึมเศร้าในผู้ป่วยเบาหวานยังส่งผลให้การเอาใจใส่ในด้านการดูแลตนเองของผู้ป่วยลดน้อยลง ทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ดี มีการศึกษา พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะซึมเศร้ามีความสัมพันธ์กับการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรค อย่างไรก็ตามทิศทางของความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้าและระดับน้ำตาลในเลือดยังไม่ชัดเจน ปัจจุบันมีการศึกษาพบว่า ภาวะซึมเศร้าทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้นและมีการศึกษาที่ไม่พบความสัมพันธ์ของภาวะซึมเศร้าและการควบคุมน้ำตาลในเลือด ในประเทศไทยยังมีการศึกษาเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างภาวะซึมเศร้ากับการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานค่อนข้างน้อย และยังพบการศึกษาที่มีผลแตกต่างกันออกไป ในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง เป็นผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 56,298 ราย ผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จำนวน 75,358 ราย รวมทั้งสิ้น จำนวน 137,078 ราย (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ 2561) คิดเป็น 1:10 ของประชากรทั้งหมด และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และยังส่งผลให้เกิดความเครียดและภาวะซึมเศร้าเพิ่มขึ้นตามไปด้วย อำเภอเขาวง มีผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 2,769 ราย ความดันโลหิตสูง จำนวน 3,958 ราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 6,727 ราย จากประชากรทั้งหมด 34,498 คน (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ บ้านกุดบอด: 2562) คิดเป็น 2:10 ของประชากรทั้งหมด จากจำนวนอัตราการป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงในอำเภอเขาวงเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรทั้งหมด ถือว่ามีจำนวนอัตราการป่วยที่สูงมาก และอาจส่งผลให้มีอัตราการป่วยที่รุนแรงหรือแย่ลงกว่าเดิมหากไม่มีการส่งเสริมสุขภาพจิตควบคู่ไปกับการรักษา และในปัจจุบันอำเภอเขาวงมีผู้ป่วยจิตเวช จำนวน 320 ราย (โรงพยาบาล เขาวง: 2562) หากมีการส่งเสริมสุขภาพจิตให้แก่กลุ่มผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูงก็จะทำให้การรักษาดีขึ้น และลดการเกิดภาวะเครียดที่จะเสี่ยงเป็นภาวะซึมเศร้า อีกทั้งลดอัตราการป่วยโรคจิตเวชลง ตำบลสงเปลือย มีผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 309 ราย ความดันโลหิตสูง จำนวน 243 ราย ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 538 ราย รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,090 ราย (โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพบ้านกุดบอด: 2562) จากจำนวนผู้ป่วยเรื้อรังทั้งหมด ที่ได้กล่าวมาหากไม่มีการส่งเสริมสุขภาพจิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อาจส่งผลให้มีอัตราการป่วยโรคจิตเวชเพิ่มขึ้นมากกว่าเดิม บ้านนาวี หมู่ที่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีจำนวนผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 15 ราย ผู้ป่วยความดันโรคหิตสูง จำนวน 9 ราย ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง จำนวน 31 ราย รวมผู้ป่วยเบาหวานและความดันทั้งหมดจำนวน 55 ราย จากการลงสำรวจปัญหาด้านสุขภาพของประชาชนหมู่ 6 พบว่าผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นผู้สูงอายุอาศัยอยู่ด้วยกันกับสามี ลูกหลานไปทำงานต่างจังหวัดไม่ค่อยมีเวลามาดูแล ส่งผลให้ผู้ป่วยน้อยใจและเกิดภาวะเครียด ทั้งเรื่องรายจ่าย สุขภาพ และการดำเนินชีวิตประจำวัน เหมือนดังที่กล่าวมา นิสิตจึงได้เล็งเห็นปัญหาและความสำคัญของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต ได้จัดโครงการส่งเสริมสุขภาพจิตในผู้ป่วยเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง บ้านนาวี หมู่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อที่จะมีวิธีลดความเครียด การปรับตัว เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นจากโรค และการรักษาในการดูแลจิตใจของผู้ป่วยให้สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างมีความสุข มีการดูแลสุขภาพจิตของผู้ป่วยให้เหมาะสม สามารถช่วยเหลือตนเอง พิจารณาทางเลือกในการจัดการปัญหาที่ถูกต้อง และเป็นการส่งเสริมสุขภาพจิตให้ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงเป็นการดูแลโรคที่ผู้ป่วยเป็นให้มีอาการคงที่ ไม่แย่ลงกว่าเดิม สามารถเรียนรู้ที่จะอยู่กับโรคได้อย่างมีความสุขอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างปกติ และยังช่วยป้องกันภาวะเครียดและภาวะซึมเศร้าที่จะเกิดตามมาอีกด้วย  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาและเปรียบเทียบความเครียดของผู้ป่วยโรคเบาหวานและความดันโลหิตสูง บ้านนาวี หมู่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานและความดันโลหิตสูง ในพื้นที่ บ้านนาวี หมู่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ แบ่งเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินการวิจัย และเครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 2 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 1. แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล ได้แก่ เพศ อายุ สถานภาพสมรส อาชีพ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่เป็นโรค และสิทธิการรักษา 2. แบบสอบถามความเครียด โดยผู้วิจัยใช้แบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเองของ (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2546) โดยการตรวจสอบคุณภาพของเครื่องมือมีค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.9176 ซึ่งประกอบด้วยข้อคำถามจำนวน 20 ข้อ แบบสอบถามมีลักษณะเป็นมาตราส่วนประมาณค่า 4 ระดับ ดังนี้ 0 คะแนน ไม่เคยเลย 1 คะแนน เป็นครั้งคราว 2 คะแนน เป็นบ่อย 3 คะแนน เป็นประจำ การวิเคราะห์ระดับความเครียด (สถาบันประสาทวิทยา, 2544) 0–5 คะแนน หมายถึง ผู้ตอบไม่จริงใจ ไม่แน่ใจในคำตอบ 6–17 คะแนน หมายถึง ปกติ/ไม่เครียด 18–25 คะแนน หมายถึง เครียดสูงกว่าปกติเล็กน้อย 26–29 คะแนน หมายถึง เครียดปานกลาง 30–60 คะแนน หมายถึง เครียดมาก ส่วนที่ 2 เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินวิจัย คือ โปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต ซึ่งผู้วิจัยได้ดัดแปลงจากนวัตกรรมสุขภาพจิต บูรณาการการดำเนินงานทุกกลุ่มวัย ตำบลท่าข้าม อำเภอค่ายบางระจัน จังหวัดสิงห์บุรี  
ขั้นตอนการดำเนินการ : งานวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยเป็นผู้ดำเนินการและรวบรวมข้อมูลด้วยตนเอง โดยดำเนินการตามขั้นตอน ดังนี้ 1. ผู้วิจัยทำหนังสือผ่านผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านกุดบอด ตำบล สงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ถึงผู้ใหญ่บ้านบ้านนาวี หมู่ 6 ตำบลสงเปลือย อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์ของการทำโครงการวิจัย รายละเอียดของการเก็บรวบรวมข้อมูล เพื่อขออนุญาตและขอความร่วมมือในการทำโครงการวิจัย 2. ผู้วิจัยให้กลุ่มตัวอย่างทำแบบประเมินและวิเคราะห์ความเครียดด้วยตนเอง (กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, 2546) 3. คะแนนความเครียด ผู้วิจัยนำมาใช้เป็นคะแนนความเครียดของกลุ่มตัวอย่างก่อนการเข้าร่วมโครงการวิจัย 4. ผู้วิจัยดำเนินการโครงการวิจัย ดังนี้ 4.1 ผู้วิจัยพบกลุ่มตัวอย่าง แนะนำตนเอง อธิบายวัตถุประสงค์การวิจัย ขั้นตอน ระยะเวลา จำนวนครั้งของการเข้าร่วมโครงการวิจัย 4.2 ผู้วิจัยทำการดำเนินกิจกรรมตามโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต ประกอบด้วยแผนกิจกรรมกลุ่ม สัปดาห์ละ 1 ครั้ง จำนวน 4 ครั้ง ใช้เวลาครั้งละ 2 ชั่วโมง รวม 4 สัปดาห์ โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้ สัปดาห์ที่ 1 กลุ่มกิจกรรมบำบัด - แลกเปลี่ยนความคิดเห็นของผู้เข้าร่วมโครงการ โดยให้ผู้เข้าร่วมโครงการแลกเปลี่ยนวิธีการจัดการความเครียดเมื่อตนเองเผชิญกับความเครียด - สร้างแรงจูงใจให้แก่ผู้เข้าร่วมโครงการใน 4 ด้าน ได้แก่ ด้านที่ 1 Affaction (ความรู้สึก) พัฒนาความรู้สึกให้ผู้ป่วยเห็นคุณค่าในตนเอง ด้านที่ 2 Respect (การยอมรับ) เสริมสร้างความเชื่อ ความสามารถให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจ ด้านที่ 3 Help (การช่วยเหลือ) สร้างความมั่นใจว่ามีผู้อื่นพร้อมที่จะช่วยเหลือสนับสนุนความพยายามของผู้ป่วย ด้านที่ 4 Approval (การรับรอง) แนะแนวทางและสนับสนุนให้ผู้ป่วยเกิดกำลังใจ ให้คำชมเชยอย่างจริงใจ - นั่งสมาธิ กำหนดลมหายใจเข้า-ออก สัปดาห์ที่ 2 กลุ่มนันทนาการบำบัด - เล่นเกมแต่งหน้าให้ตลกที่สุด - เต้นรำวงบาสโลป สัปดาห์ที่ 3 กิจกรรมจัดกลุ่มทำสิ่งประดิษฐ์ (ถุงหอมคลายเครียด) สัปดาห์ที่ 4 กิจกรรมกีฬาสีในร่ม - เกมลูกกอล์ฟคนจน - เกมแข่งหัวเราะนานสุด - ผู้วิจัยให้กำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมโครงการในการเสริมสร้างสุขภาพจิต เพื่อใช้รับมือกับความเครียดในการใช้ชีวิตประจำวันต่อไป  
     
ผลการศึกษา : ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่าง ผลการศึกษา พบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 58.2เพศชาย จำนวน 23 คน คิดเป็นร้อยละ 41.8 และร้อยละ 34.5 มีอายุ 50 – 59 ปี จำนวน 19 คน รองลงมาคือมีอายุ 60 – 69 ปี จำนวน 14 คน คิดเป็นร้อยละ 25.5 ส่วนใหญ่ของกลุ่มตัวอย่างมีสถานภาพสมรส คิดเป็นร้อยละ 89.1 จำนวน 49 คน และร้อยละ 81.8 มีอาชีพเป็นเกษตรกร จำนวน 45 คน รองลงมาคือมีอาชีพรับจ้างทั่วไป จำนวน 8 คน คิดเป็นร้อยละ 14.5 และมีอาชีพค้าขาย จำนวน 2 คน คิดเป็นร้อยละ 3.6 ระดับการศึกษาส่วนใหญ่จะศึกษาอยู่ในระดับชั้นประถมศึกษา จำนวน 46 คน คิดเป็นร้อยละ 83.6 สำหรับระยะเวลาที่เป็นโรค 1 ปี - 5 ปี มากที่สุด จำนวน 32 คน คิดเป็นร้อยละ 58.2 รองลงมาคือมีระยะเวลาที่เป็นโรคมากกว่า 10 ปีขึ้นไป จำนวน 12 คน คิดเป็นร้อยละ 21.8 และสิทธิการรักษาของกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีสิทธิการรักษาเป็นบัตรทอง จำนวน 34 คน คิดเป็นร้อยละ 61.8 และมีสิทธิผู้สูงอายุ จำนวน 20 คน คิดเป็นร้อยละ 36.4 ผลการวิเคราะห์ข้อมูล จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ สามารถสรุปผลตามสมมติฐานการวิจัยได้ดังนี้คือ ความเครียดของผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง หลังได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต น้อยกว่าก่อนได้รับโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิต อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01  
ข้อเสนอแนะ : จากการศึกษาวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะในการนำผลการวิจัยในครั้งนี้ให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยนำโปรแกรมส่งเสริมสุขภาพจิตที่สร้างขึ้น เป็นแนวทางให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการดูแล  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง