ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : วิเคราะห์ข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พฤติกรรมด้านทันตสุขภาพและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคฟันแท้ผุในเด็กนักเรียนระดับประถมปีที่ 6 อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ดร.ศุภศิลป์ ดีรักษา, ทพญ.วาระดิถี มังคละแสน, ทพญ.พิชุดา วีรนิธาน, วิภาดา จิตรปรีดา, จิดาภา วงศ์ไชยา, วรารัตน์ น้อยเสนา ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : ปัญหาสุขภาพช่องปาก เป็นปัญหาที่สำคัญทางสาธารณสุขที่สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจและทำลายสุขภาพของประชาชน ทั้งนี้ โรคในช่องปากที่พบมากและเป็นปัญหาที่สำคัญของการเกิดโรคในช่องปากของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษา คือ โรคฟันผุและโรคเหงือกอักเสบ (อาซีย๊ะ แวหะยี และคณะ, 2560) โดยเฉพาะกลุ่มเด็กนักเรียนอายุ 12 ปี เป็นเป้าหมายของการดำเนินงานด้านทันตสุขภาพของประเทศ ซึ่งเป็นวัยที่มีฟันแท้ในช่องปากครบทุกซี่ ทั้งนี้ จึงต้องดูแลเป็นพิเศษเพื่อป้องกันของการเกิดโรคฟันแท้ผุในกลุ่มนี้ จากผลการสำรวจสภาวะทางทันตสุขภาพแห่งชาติครั้งที่ 7 พ.ศ.2555 พบว่า ร้อยละ 52.30 ของเด็กอายุ 12 ปี มีค่าเฉลี่ยฟันผุประมาณ 1.30 ซี่/คน สภาวะทางทันตสุขภาพในเด็กอายุ 12 ปี อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ ใน ปี พ.ศ. 2559 – 2561 พบว่า ร้อยละของการเกิดโรคฟันผุในเด็ก 12 ปี เท่ากับ 33.98, 47.27 และ 31.11 ตามลำดับ (วิภาดา จิตรปรีดา และคณะ, 2561; ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงสาธารณสุข, 2562) ซึ่งส่วนใหญ่จากการแบบรายงาน และการวิเคราะห์ปัญหาร่วมกันของทันตบุคลากรและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง พบว่า สาเหตุของการเกิดโรคฟันผุในเด็กส่วนใหญ่มักเกิดจากพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก และพฤติกรรมการบริโภคอาหาร แต่ยังขาดการศึกษาปัจจัยอื่นๆที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ ปัญหาโรคฟันผุในเด็กเล็กยังถือเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่และมีผลต่อการประเมินตัวชี้วัดด้านสุขภาพ แม้ว่าทันตบุคลากรและผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องพยายามดำเนินงานเพื่อเข้าถึงปัญหาด้านทันตสาธารณสุขในพื้นที่ แต่ปัญหาโรคฟันผุในพื้นที่ยังเป็นปัญหาที่ต้องดำเนินการแก้ไขต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาความชุกของโรคฟันแท้ผุในเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพและปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ของการเกิดโรคฟันแท้ผุในเด็กนักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6  
กลุ่มเป้าหมาย : นักเรียนประถมศึกษาปีที่ 6 ทั้งอำเภอ จำนวน 204 คน  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม และแบบสำรวจสภาวะทางทันตสุขภาพ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ระยะเตรียมการ ผู้วิจัยเตรียมก่อนการวิจัย ดังนี้ 1.1 ผู้วิจัยและคณะชี้แจงการวิจัยแก่คณะกรรมการบริหาร คปสอ.ท่าคันโท 1.2 เตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ในการดำเนินงานวิจัย 2. ระยะการดำเนินการ 2.1 ประสานงานกับโรงเรียนในพื้นที่, เก็บแบบสอบถามและสำรวจสภาวะทางทันตสุขภาพ 2.2 การเก็บรวมรวมข้อมูล, จัดการข้อมูล และวิเคราะห์ข้อมูล ได้รับการรับรองจริยธรรมการวิจัยจากคณะกรรมการจรยธรรมการวิจัยในมนุษย์ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ เลขที่ KLS.REC031/2562 ลงวันที่ 29 กันยายน 2562  
     
ผลการศึกษา : 1. สภาวะโรคฟันผุของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่ากับ ร้อยละ 63.61 (95%CI = 54.21 – 64.11) ค่าเฉลี่ยของโรคฟันผุ เท่ากับ 1.67 ซี่/คน และมีค่าเฉลี่ยของโรคฟันแท้ผุ ถอน อุด เท่ากับ 0.7 ซี่/คน ส่วนปัจจัยที่พบความสัมพันธ์ของการเกิดโรคฟันผุ คือ นักเรียนหญิง เท่ากับ 1.62 (Adj.OR = 1.62, 95%CI= 1.07 – 2.64, p=0.024) พฤติกรรมการไม่แปรงฟันก่อนนอน เท่ากับ 1.75 (Adj.OR = 1.75, 95%CI= 1.12 – 2.75, p=0.014), การเลือกใช้ขนแปรงที่มีลักษณะขนแปรงปานกลาง-แข็ง เท่ากับ 1.60 (Adj.OR = 1.60, 95%CI= 1.02 – 2.50, p=0.042) 2. สภาวะโรคเหงือกอักเสบของเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 เท่ากับ ร้อยละ 10.73 (95%CI = 7.61 – 13.85) ซึ่งถือว่าค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับของสถานการณ์ของโรคเหงือกอักเสบในเด็กอายุ 12 ของระดับประเทศ ซึ่งเท่ากับร้อยละ 66.30 (สำนักทันตสาธารณสุข, 2561) โดยพบว่าปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเหงือกอักเสบ คือ การแปรงที่น้อยกว่าวันละ 2 ครั้ง เท่ากับ 3.22 (Adj.OR = 3.22, 95%CI= 1.53 – 6.76, p=0.002), การเลือกใช้ขนแปรงที่มีลักษณะขนแปรงปานกลาง-แข็ง เท่ากับ 1.45 (Adj.OR = 1.45, 95%CI= 1.23 – 1.89, p=0.022)  
ข้อเสนอแนะ : ควรแนะนำในการสร้างเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพให้แก่เด็กนักเรียน ทั้งในโรงเรียนและครอบครัว เพื่อลดปัยหาของการเกิดโรคฟันผุในเด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในพื้นที่ ต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ