ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : นวัตกรรม “สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง” สุขศาลาบ้านข้าวหลาม ม.16 ตำบลกมลาไสย อำเภอกมลาไสย จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ศุภพงศ์ ไวแสน ,อุธาทิพย์ นักธรรม ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : จากสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่มีการระบาดอยู่ทั่วประเทศ และเป็นปัญหาด้านสาธารณสุขที่สำคัญ ส่งผลกระทบตามมามากมาย เช่น เป็นภาระของครอบครัว ผลต่อการเรียน ต่อการทำงานและค่าใช้จ่ายในการรับบริการการรักษาพยาบาล และค่าใช้จ่ายของครอบครัวผู้ป่วย ตลอดจนอาจทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ด้วยเหตุนี้ ปัญหาโรคไข้เลือดออก จึงเป็นปัญหาสำคัญที่เราทุกคนในสังคม ควรช่วยกันป้องกัน แก้ไข อย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย และเพื่อลดผลกระทบทางสังคม เศรษฐกิจ และสุขภาพของประชาชนจากการแพร่ระบาดของโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ระดับครัวเรือน ชุมชน จนถึงระดับชาติ และในส่วนของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านข้าวหลามเอง ก็มีผู้ป่วยซึ่งเป็นโรคไข้เลือดออกในทุก ๆ ปี ทั้งที่มีการรณรงค์ ป้องกัน ควบคุมโรคไข้เลือดออกโดยการควบคุมลูกน้ำยุงลาย ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุงลาย อย่างต่อเนื่อง โดยทางคณะเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านข้าวหลาม ร่วมกับ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน และ องค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย ดังนั้น ทางโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านข้าวหลามได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงได้ร่วมมือกับทางคณะ อสม.บ้านข้าวหลาม หมู่ที่ 2 และ หมู่ที่ 16 จัดทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุงขึ้น ซึ่งเป็นการแปรรูปสมุนไพรที่มีอยู่แล้วในท้องถิ่นนำมาใช้ประโยชน์ในการไล่ยุง ป้องกันยุง และแมลงอื่น ๆ กัดประชาชนได้ใช้สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุงที่ปลอดสารพิษ ราคาถูก และยังสามารถทำได้เองในครัวเรือน เพื่อลดรายจ่ายในครอบครัวอีกด้วย ซึ่งคุณสมบัติของตะไคร้หอมมีหลายอย่าง เช่น ช่วยไล่ยุง ขับเหงื่อ เป็นยาบำรุง (สมยศ จารุวิจิตรวัฒนา และคณะ 2525) สาระสำคัญในการออกฤทธิ์ไล่ยุงและแมลงของตะไคร้หอมคือ camphor (2,3),cineol (4-6) eugenol (7-10) linalool (11) ,citronellal,citral (8) มีการทดลองทางคลินิกใช้ในการไล่ยุง โดยทางคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้ครัมที่มีส่วนผสมของน้ำมันหอมระเหยตะไคร้หอม 17% พบว่ามีฤทธิ์ไล่ยุงได้นาน 3 ชั่วโมง สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย ได้ทดลองประสิทธิภาพป้องกันยุงกัดของครีมที่มีส่วนผสมตะไคร้หอม 20% พบว่ามีฤทธิ์ไล่ยุงได้นานประมาณ 2 ชั่วโมง ขึ้นไป (ศศิธร วสุวัตและคณะ,2533,หน้า 62) ในมะกรูดมีน้ำมันหอมระเหยอยู่มาก มีกลิ่นฉุน จึงสมารถนำไปไล่แมลงบางชนิดได้ เช่น มอด และมด ที่อยู่ในข้าวสาร นอกจากนี้มะกรูดยังใช้ในการไล่ยุงและกำจัดลูกน้ำได้ นำเปลือกมาตากแห้งและเผาไฟจะช่วยไล่ยุงได้ดี (www.rspg.or.th www.learners .in.th,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  
วัตถุประสงค์ : เพื่อประยุกต์ใช้สมุนไพรที่มีอยู่ในชุมชนมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ไล่ยุง ลดการใช้สารเคมี  
กลุ่มเป้าหมาย : ดำเนินการในผู้ใช้ผลิตภัณฑ์ 50 คน  
เครื่องมือ : แบบประเมินความพึงพอใจ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. เจ้าหน้าที่ รพ.สต.ข้าวหลามร่วมกับ อสม.บ้านข้าวหลาม ประชุมวางแผนดำเนินงาน 2. อบรมให้ความรู้แก่ อสม.ในเรื่องของสภาพ คุณและประโยชน์ตะไคร้หอม และมะกรูด วิธีการทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง 3. จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์เพื่อนำมาทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง และดำเนินการจัดทำสเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง 4.นำไปทดลองใช้ในกลุ่ม ผู้สนใจ และในศูนย์เด็กเล็ก 5.ประเมินผล และประเมินความพึงพอใจของผู้ใช้สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง 6.ขยายผลประชาสัมพันธ์/เผยแพร่ ความรู้แก่ผู้สนใจ/หมู่บ้านในเขตรับผิดชอบของ รพ.สต.ข้าวหลาม จำนวน 10 หมู่บ้าน โรงเรียน 5 แห่ง ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก 6 แห่ง  
     
ผลการศึกษา : 1. สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุง สามารถกำจัดยุงได้ ผู้ใช้ผลิตภัณฑ์มีความพึงพอใจ ร้อยละ 88.76 2. สุขศาลามีผลิตภัณฑ์ชุมชนที่จัดทำโดย อสม.สามารถจำหน่าย สร้างรายได้ให้แก่สุขศาลา เฉลี่ย 3,000 บาท/เดือน 3. มีการขยายผลการใช้สเปรย์ตะไคร้หอมไล่ยุงไปในชุมชน 50 ครัวเรือน โรงเรียน 5 แห่ง ศูนย์ดูแลเด็กเล็ก 6 แห่ง  
ข้อเสนอแนะ : ๖.ขยายใช้ในศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพื่อลดการสัมผัสสารเคมีในกลุ่มเด็กปฐมวัย  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)