ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียมต่อความรู้ ปริมาณโซเดียมที่ได้รับ และระดับความดันโลหิต ในประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง
ผู้แต่ง : นายเจนณรงค์ ละอองศรี ปี : 2562
     
หลักการและเหตุผล : ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีประชาชนบริโภคอาหารที่มีโซเดียมสูง ประมาณ 4,200 – 4,400 มิลลิกรัมต่อวัน สูงเป็นสองเท่าของปริมาณโซเดียมที่กำหนดไว้โดยองค์การอนามัยโลก คือ ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวัน ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของระดับความดันโลหิต นำมาซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง ซึ่งในปัจจุบันมีประชากรไทยป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง คิดเป็นร้อยละ 21.4 หรือ 11.5 ล้านคน โดยโรคความดันโลหิตสูง เกิดจากพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสมของประชาชนในการบริโภคอาหารรสชาติเค็ม จากการดำเนินงานคลินิกโรคเรื้อรังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลโนนนาจาน พบว่า ประชากรทั้งหมด 3,664 คน มีผู้ป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูงจำนวน 340 คน คิดเป็นร้อยละ 9.28 จากผลการคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรังในกลุ่มอายุ 35 ปีขึ้นไป จำนวน 2,245 คน พบว่า มีกลุ่มเสี่ยงสูงต่อการเกิดโรคความดันโลหิตสูง จำนวน 67 คน จากผลการสำรวจพบว่า 2 ใน 3 ของกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงเหล่านี้ ชอบรับประทานอาหารรสชาติเค็มจัด ซึ่งมาจากการเติมเครื่องปรุงรสระหว่างการประกอบอาหาร และขาดการออกกำลังกาย รวมไปถึงการสูบบุหรี่และการดื่มสุรา ทำให้ผู้วิจัยเล็งเห็นความสำคัญในการส่งเสริมให้กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงในชุมชน สามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพเพื่อควบคุมระดับความดันโลหิต และลดอัตราการเกิดผู้ป่วยความดันโลหิตสูงรายใหม่ ดังนั้นผู้วิจัยจึงพัฒนาโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียมขึ้น เพื่อก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการลดการบริโภคเกลือหรือโซเดียม  
วัตถุประสงค์ : เพื่อเปรียบเทียบความรู้ ปริมาณโซเดียมที่ได้รับ และระดับความดันโลหิต ของกลุ่มเสี่ยงโรค ความดันโลหิตสูง ก่อนและหลังได้รับโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียม  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงในชุมชนแห่งหนึ่ง ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์คัดเข้า จำนวน 42 คน ได้รับโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียม เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์  
เครื่องมือ : เก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารลดโซเดียม แบบบันทึกการรับประทานอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง มีการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อกระตุ้นเตือนเรื่องการปฏิบัติตัวในการบริโภคอาหารลดโซเดียม และส่งเสริมให้กำลังใจกลุ่มตัวอย่างในสัปดาห์ที่ 12 และ 24 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย การทดสอบทีคู่  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษาในครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงกึ่งทดลอง (Quasi experimental research) แบบกลุ่มเดียวทดสอบก่อน – หลังการทดลอง (One group pretest – posttest design) กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้คือ กลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูงในชุมชนแห่งหนึ่ง ดำเนินการคัดเลือกกลุ่มตัวอย่างตามเกณฑ์คัดเข้า จำนวน 42 คน ได้รับโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียม เป็นระยะเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นจึงทำการเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคล แบบทดสอบความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารลดโซเดียม แบบบันทึกการรับประทานอาหารย้อนหลัง 24 ชั่วโมง มีการติดตามเยี่ยมบ้านเพื่อกระตุ้นเตือนเรื่องการปฏิบัติตัวในการบริโภคอาหารลดโซเดียม และส่งเสริมให้กำลังใจกลุ่มตัวอย่างในสัปดาห์ที่ 12 และ 24 วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติบรรยาย การทดสอบทีคู่  
     
ผลการศึกษา : ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง ร้อยละ 88.9 เพศชาย ร้อยละ 11.1 มีอายุส่วนมากอยู่ในช่วง 50 - 55 ปี คิดเป็นร้อยละ 66.7 ส่วนใหญ่จบประถมศึกษา ร้อยละ 77.8 ส่วนใหญ่มีสถานภาพคู่ ร้อยละ 68.1 ส่วนใหญ่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนอยู่ระหว่าง 3,000 - 6,000 บาท ผลการวิจัยก่อนการทดลอง พบว่ากลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารลดโซเดียม 8.8 ± 2.6 คะแนนอยู่ในระดับน้อย ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมที่ได้รับ 3,845.4 ± 524.2 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งมากกว่าปริมาณที่แนะนำ กลุ่มตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิต ซีสโตลิก 145.6 ± 12.8 มีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตไดแอสโตลิก 92.2 ± 8.1 ภายหลังการทดลองพบว่า กลุ่มตัวอย่าง มีค่าเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารลดโซเดียม 15.1 ± 0.8 คะแนนอยู่ในระดับดี ซึ่งมากกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ค่าเฉลี่ยปริมาณโซเดียมที่ได้รับ 2,015.2 ± 902.5 มิลลิกรัมต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าระยะก่อนทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) กลุ่มตัวอย่างมีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตซีสโตลิก 128.6 ± 9.6 มีค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตไดแอสโตลิก 75.2 ± 6.3 ซึ่งมีค่าเฉลี่ยความดันโลหิตน้อยกว่าก่อนได้รับโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05)  
ข้อเสนอแนะ : ภายหลังการทดลองพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีความรู้เกี่ยวกับการบริโภคอาหารลดโซเดียมเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) สอดคล้องกับการศึกษาผลของโปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดโซเดียมต่อความรู้และปริมาณโซเดียมในปัสสาวะของนักศึกษาพยาบาล ที่พบว่าค่าเฉลี่ยของความรู้เพิ่มขึ้นมากกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ภายหลังการทดลอง กลุ่มตัวอย่างมีปริมาณโซเดียมที่ได้รับน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) อธิบายได้จากการที่กลุ่มตัวอย่างได้รับข้อมูลความรู้จากกิจกรรมของโปรแกรมในเรื่อง ปริมาณโซเดียมในเครื่องปรุงรส การอ่านฉลากโภชนาการ การใช้เครื่องวัดโซเดียมในอาหารด้วยตนเอง การติดตามเยี่ยมบ้านให้กำลังใจอย่างต่อเนื่อง การคัดกรองสุขภาพโดยการประเมินค่าดัชนีมวลกาย ค่าความดันโลหิต ทำให้กลุ่มตัวอย่างเกิดความตระหนัก นำสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เมื่อเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตหลังได้รับโปรแกรมและการติดตามเยี่ยมบ้านพบว่า ค่าเฉลี่ยของระดับความดันโลหิตซีสโตลิกและไดแอสโตลิก ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) สอดคล้องกับการศึกษาผลของโปรแกรมการเยี่ยมบ้านร่วมกับการติดตามทางโทรศัพท์ต่อพฤติกรรมสุขภาพของผู้เป็นความดันโลหิตสูงควบคุมไม่ได้ พบว่า ค่าเฉลี่ยของความดันโลหิตลดลงกว่าก่อนได้รับโปรแกรมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) การศึกษาครั้งนี้มีข้อเสนอแนะต่อพยาบาลเวชปฏิบัติชุมชนและทีมสุขภาพสามารถประยุกต์ใช้โปรแกรมส่งเสริมการบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม ในผู้ป่วยโรคเรื้อรังกลุ่มอื่น  
     
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลชนะเลิศอันดับ 3 การนำเสนอด้วยวาจา สาขาที่ 4 กลุ่มสาธารณสุข ระดับ ระดับเขต  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)