ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : เก็บข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของการใช้โปรแกรมการส่งเสริมพลังสมองและความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ ชุมชนไทโส้ บ้านกอก หมู่ที่ 11 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ประมวล สะภา,พัชรีพร ชินฤทธิ์,รัชนีวรรณ จันทร์สะอาด,จิราภรณ์ ภารประดับ,พวงเพชร ภูบุญทอง ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : จากข้อมูลของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พบว่าประเทศไทย มีจำนวนประชากรของผู้สูงอายุเกินกว่าร้อยละ 10 ตั้งแต่ปี 2548 และเพิ่มเป็นร้อยละ 10.4, 10.5 และ 10.7 ในปี 2548, 2549 และ 2550 ตามลำดับ คาดว่าอัตราส่วนผู้สูงอายุจะเพิ่มขึ้นถึง 10.7 ล้านคน หรือร้อยละ 15.28 ในปี 2563 และในอีก 20 ปีข้างหน้า พ.ศ. 2573 จะเพิ่มมากกว่า 2 เท่าตัว เป็นร้อยละ 25 ซึ่งถือว่าก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มตัว (มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย, 2555) ผู้สูงอายุเป็นวัยที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสุขภาวะทุกด้าน ทั้งด้านสุขภาพกายที่มีความเสื่อมลง เมื่อผู้สูงอายุต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพทางกายที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยร่างกายเสื่อมสมรรถภาพ มีการเสียบทบาทของตนเอง ทำให้ความเชื่อมั่นในตัวเองลดลง เป็นสาเหตุสำคัญของการเกิดความวิตกกังวล ความเครียดและภาวะซึมเศร้า โดยอาการเหล่านี้จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตประจำวัน เช่น รับประทานอาหารได้น้อยลง เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ สิ้นหวัง หดหู่ รู้สึกว่าตนเองไม่มีความสุขกับชีวิต วิตกกังวลตลอดเวลา และที่สำคัญคือผู้สูงอายุจะไม่สามารถรับมือกับปัญหาต่างๆ ที่ต้องเผชิญได้ดีพอ จนทำให้เกิดปัญหาด้านความจำตามมา ซึ่งจะนำไปสู่ภาวะความจำเสื่อมของผู้สูงอายุได้ และส่งผลให้ความสามารถในการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้สูงอายุลดลง เสี่ยงต่อการเกิดโรคร้ายแรงต่างๆมากขึ้น เพราะฉะนั้นผู้สูงอายุจึงเป็นวัยที่ต้องใส่ใจสุขภาพของร่างกายและจิตใจสูงกว่าวัยอื่น และผู้สูงอายุยังกลายเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่ต้องได้รับการดูแลมากขึ้น จากการศึกษาที่ผ่านมาพบว่าผู้สูงอายุที่มีภาวะความจำเสื่อม มีจำนวนไม่น้อยกว่า 8 แสนคน (กรมสุขภาพจิต, 2561) เนื่องจากภาวะความเสื่อมในการทำงานของสมอง ซึ่งจะส่งผลให้มีปัญหาเกี่ยวกับความจำ การรับรู้ หรือมีการเปลี่ยนแปลงทางพฤติกรรม และบุคลิกภาพได้ จัดเป็นกลุ่มอาการที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของสมอง หรือสมองมีการสูญเสียหน้าที่หลายๆด้านพร้อมๆกัน โรคสมองเสื่อมเป็นโรคที่เกิดขึ้นในบุคคลที่มีความชราภาพ และความสูงอายุอาจทำให้เซลล์สมองเสื่อมสภาพ หรือพลังงานสำรองของอวัยวะต่างๆเริ่มเสื่อมสภาพ โรคสมองเสื่อมก็จะแสดงตัวขึ้นมา เมื่ออายุมากขึ้นจะส่งผลกระทบให้ต้องใช้เวลาในการทำกิจวัตรประจำวันต่างๆเพิ่มขึ้นเพราะมีอาการหลงๆลืมๆ เช่น รู้ว่าหยิบของออกมาแล้วแต่ไม่รู้ว่าเอาไปวางไว้ที่ไหน คิดเรื่องยากๆหรือคิดแก้ไขปัญหาไม่ค่อยได้ อารมณ์ฉุนเฉียวง่ายขึ้น เนื่องจากการทำงานในส่วนของอารมณ์เริ่มเสื่อมประสิทธิภาพจึงมีการกระทบกระทั่ง โกรธ ฉุนเฉียวแก่คนในครอบครัวโดยไม่มีเหตุผล ส่งผลให้ผู้ที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูเกิดความเครียดตามมา (สมาคมจิตแพทย์แห่งประเทศไทย, 2561) จากปัญหาดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่าการเกิดภาวะความจำเสื่อมในผู้สูงอายุส่งผลกระทบต่อผู้ดูแลที่ต้องรับภาระเลี้ยงดูอย่างหนักและต่อเนื่อง ได้รับผลกระทบด้านลบทั้งทางกาย จิตใจ และหน้าที่การงาน เนื่องจากภาระหลักจะตกอยู่กับผู้ดูแล เพราะผู้สูงอายุบางรายต้องพึ่งพาผู้ดูแลทุกกิจกรรม โดยรูปแบบการดำเนินชีวิตของผู้สูงอายุจะเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จึงต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในการดูแลผู้สูงอายุ อาจส่งผลกระทบต่อบุคคลในครอบครัวเนื่องจากต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ดูแลผู้สูงอายุ ทำให้ไม่สามารถออกไปทำงานเพื่อหารายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว และผู้ดูแลไม่มีเวลาดูแลตนเอง อาจทำให้เกิดการเจ็บป่วยตามมา เมื่อเกิดความเจ็บป่วยในขั้นที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลส่งผลให้มีการสูญเสียงบประมาณของรัฐบาลในการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลเพิ่มมากขึ้น จึงอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศ ดังนั้นเพื่อลดความสูญเสียต่อครอบครัวและประเทศชาติที่อาจตามมาได้ ผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ จึงหาวิธีชะลอความเสื่อมของสมองโดยการบริหารสมองและป้องกันภาวะความจำเสื่อมของผู้สูงอายุ จากการทบทวนวรรณกรรมพบว่ามีวิธีการรักษาและฟื้นฟูผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อมทั้งแบบใช้ยาและไม่ใช้ยา เช่น การปรับเปลี่ยนความคิดและพฤติกรรม การทำการกระตุ้นสมอง กิจกรรมระลึกถึงความจำในอดีต การส่งเสริมความจำ การใช้เทคนิคการผ่อนคลาย การออกกำลังกาย ส่งผลต่อการเพิ่มศักยภาพด้านความจำและความคิดการเพิ่มความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันและการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น แต่ยังไม่พบวิธีใดที่จะรักษาให้หายขาดได้ ซึ่งในปัจจุบันพบว่าวิธีการชะลอความเสื่อมของสมอง เพื่อลดการสูญเสียความจำยังมีจำนวนน้อย แต่หากรู้จักใช้สมองอย่างต่อเนื่องและทำการบริหารสมองอย่างถูกวิธีจะทำให้ผู้สูงอายุมีความจำที่ดีขึ้น ถึงแม้อายุจะมากขึ้นก็ตาม ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางส่งเสริมความจำให้มีประสิทธิภาพและช่วยชะลอการเปลี่ยนแปลงทางด้านความจำได้ ส่งผลให้ผู้สูงอายุช่วยเหลือตนเองได้นานที่สุด และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอีกด้วย ผู้วิจัยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเพิ่มความจำในผู้สูงอายุ จึงหาวิธีการเพิ่มความจำเพื่อชะลอความเสื่อมของสมองโดยนำโปรแกรมการส่งเสริมพลังสมองและความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ ของสุนทรี และคณะ(2562) ซึ่งประยุกต์มาจาก กิจกรรมสร้างสุข 5 มิติสำหรับผู้สูงอายุในชุมชนของสำนักงานพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิต (2560) ในด้านที่ 4 สุขสว่าง (Cognition) จาก 5 ด้าน คือ ด้านที่ 1 สุขสบาย (Health) ด้านที่ 2 สุขสนุก (Recreation) ด้านที่ 3 สุขสง่า (Integrity) ด้านที่ 4 สุขสว่าง (Cognition) และด้านที่ 5 สุขสงบ (Peacefulness) (สำนักงานพัฒนาและส่งเสริมสุขภาพจิต, 2560) ซึ่งเป็นกิจกรรมเกี่ยวกับความสามารถด้านความจำ ความคิดอย่างมีเหตุผล การสื่อสาร การวางแผนและการแก้ไขปัญหา ความสามารถในการคิดแบบนามธรรม รวมทั้งความสามารถในการจัดการสิ่งต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเพิ่มความจำ และชะลอความเสื่อมของสมอง ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้สูงอายุเหล่านั้นมีความจำที่ดีขึ้นสามารถปฏิบัติกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และปรับตัวในการดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างเหมาะสม เพื่อมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของการใช้โปรแกรมการส่งเสริมพลังสมองและความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ ชุมชนไทโส้ บ้านกอก หมู่ที่ 11 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้สูงอายุ จำนวน 20 คน  
เครื่องมือ : 1.โปรแกรมการการส่งเสริมพลังสมองและความจำ หมายถึง โปรแกรมที่ปรับมาจากกิจกรรมสร้างสุข 5 มิติสำหรับผู้สูงอายุในชุมชน ในด้านที่ 4 ด้านสุขสว่าง ของกรมสุขภาพจิต (2560) โดย สุนทรีและคณะ (2562) นำมาพัฒนารูปแบบกิจกรรม จะเน้นไปที่ กิจกรรมที่ช่วยในการชะลอความเสื่อมทางสมอง เพิ่มไหวพริบ ความจำ การมีสติ การคิดอย่างมีเหตุผล และจัดการกับสิ่งต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ 2.คะแนนความจำ หมายถึง ความสามารถในการจดจำของผู้สูงอายุทั้งเพศชายและเพศหญิง ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปี ขึ้นไปโดยมี แบบทดสอบสภาพสมองเบื้องต้นฉบับภาษาไทย (Mini-mental State Examination: MMSE-Thai 2002) เป็นเครื่องมือที่ใช้ในการวัด  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.ขั้นก่อนทดลอง 1.1 คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย และประเมินกลุ่มเป้าหมาย 2.ดำเนินการทดลองดำเนินกิจกรรมโปรแกรมการส่งเสริมพลังสมองและความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ ชุมชนไทโส้ บ้านกอก หมู่ที่ 11 ตำบลผาเสวย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ 3.ทดสอบหลังดำเนินกิจกรรมโปรแกรมการส่งเสริมพลังสมองและความจำในกลุ่มผู้สูงอายุ 4.วิเคราะห์ข้อมูล  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง