ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เสนอโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นงลักษณ์ โชติมุข ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันประเทศไทยมีประชากรทั้งสิ้น 66.4 ล้านคน (รายงานสถิติจำนวนประชากรและบ้านประจำปี, 2561) มีผู้ถือครองทำการเกษตรทั้งสิ้น 5.8 ล้านราย ทั้งประเทศมีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตร 112.6 ล้านไร่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีเนื้อที่ถือครองมากที่สุด คือ 53.1 ล้านไร่ (ร้อยละ 47.1) มีผู้ถือครองที่ทำไร่อ้อยจำนวน 270,261 คน มีเนื้อที่เพาะปลูกไร่อ้อย 7.6 ล้านไร่ (สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2551) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่ปลูกไร่อ้อยมากเป็นอันดับ 1 จำนวน 5,044,952 ไร่ สำหรับจังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูกไร่อ้อยมากเป็นอันดับ 5 จำนวน 432,111 ไร่ โดยอำเภอห้วยผึ้งมีพื้นที่ปลูกไร่อ้อย 5,164 ไร่ กระจายไปตามตำบลต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเขตตำบลหนองอีบุตร และตำบลคำบง (สำนักคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย, 2561) ในปี 2560 ปริมาณการนำเข้าวัตถุอันตรายทางการเกษตรมีการนำเข้าเพิ่มขึ้น จากปี 2559 คิดเป็นร้อยละ 23 โดยประเภทของสารอันตราย ภาคเกษตรกรรมที่นำเข้าสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สารกำจัดวัชพืช ร้อยละ 75 สารกำจัดแมลง ร้อยละ 11 และสารป้องกันกำจัดโรคพืช ร้อยละ 10 เมื่อพิจารณาในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ปี 2553-2560) พบว่า การนำเข้าสารอันตรายภาคเกษตรกรรมมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น (สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, 2562) จากรายงานสถานการณ์การเจ็บป่วยจากพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในปี 2544-2560 มีรายงานผู้ป่วยได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชจำนวน 34,221 ราย พบผู้เสียชีวิตทั้งหมด 49 ราย เฉลี่ยป่วยปีละ 2,013 ราย ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชาย อายุ 45-54 ปี ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พบผู้ป่วยสูงสุดในช่วงเดือนเดือนมิถุนายน-สิงหาคม ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน เกษตรกรมักทำการเพาะปลูก และมีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชปริมาณมาก ซึ่งสารเคมีกำจัดศัตรูพืชถูกนำมาใช้ทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย และมีแนวโน้มของปริมาณการใช้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในทุกๆ ปี ก่อให้เกิดความเป็นอันตรายต่อร่างกาย ทั้งแบบพิษเฉียบพลัน และพิษเรื้อรัง ในปี 2561 ผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม พบมีผลเสี่ยง และไม่ปลอดภัย ร้อยละ 41.0 (จำนวน 342,737 ราย จากผู้ที่ได้รับการคัดกรองความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 836,118 ราย) (กรมควบคุมโรค, 2562) ปัจจัยที่ส่งผลต่อสุขภาพของเกษตรกรไร่อ้อยมากที่สุดคือ การใช้สารเคมีอย่างปลอดภัย การทำงานหนัก ยก แบก ขับรถไถ แนวทางการฝึกทักษะการส่งเสริมสุขภาพเกษตรกรไร่อ้อยที่ดีคือการให้เรียนรู้ เข้าใจ พัฒนาเทคโนโลยีที่ช่วยอำนวยความสะดวก ลดการใช้แรงมาก พฤติกรรมการใช้สารเคมีของเกษตรกรจากการศึกษาพบว่ายังไม่ถูกต้องทั้งที่มีคู่มือในการใช้งาน (ศิริกัญญา ฤทธิ์แปลก และคณะ, 2561) ปัญหาด้านสุขภาพและความเสี่ยงจากสารเคมีทางการเกษตรสามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ผลกระทบกรณีออกฤทธิ์เฉียบพลันจะส่งผลต่อระบบประสาทอาจถึงขึ้นเสียชีวิตได้ ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการในทันทีหลังจากสัมผัสสารเคมี เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ท้องร่วง หายใจติดขัด และตาพร่า เป็นต้น และผลกระทบที่เป็นพิษเรื้อรัง ซึ่งเกิดจากพาหะสะสมที่ก่อให้เกิดโรคหรือปัญหาอื่นๆ เช่น หากมีการสะสมนานก่อให้เกิดมะเร็ง เบาหวาน อัมพฤกษ์อัมพาต โรคผิวหนังต่างๆ การเป็นหมัน ทารกแรกเกิดมีความพิการ เป็นต้น จากการรวบรวมข้อมูลผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรทั้งต่อเกษตรกร และผู้บริโภคจะเห็นได้ว่าภัยจากสารเคมีกำลังคุกคามสุขภาพโดยรวมของคนไทยทั้งประเทศ ดังนั้นทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องควรร่วมมือกันแก้ปัญหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างจริงจัง โดยต้องร่วมกันขับเคลื่อนให้มีการกำหนดนโยบายและมาตรการที่จะทำให้ระบบเกษตรและอาหารของประเทศคำนึงถึงสุขภาพและสภาพแวดล้อม และสามารถเข้าถึงอาหารได้อย่างพอเพียงและปลอดภัย โดยมีมาตรการทางกฎหมายเข้ามาควบคุมมากขึ้นจากเดิมด้วย (สาคร ศรีมุข, 2556) สารเคมีที่เกษตรกรนิยมใช้ก่อนปลูกอ้อย ได้แก่ อาทราซีน ร้อยละ 75.0 และพ่นหลังปลูกอ้อย ได้แก่ พาราควอท ร้อยละ 79.6 อาการผิดปกติขณะฉีดพ่นและหลังฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืช พบว่า อาการที่เกษตรกรเป็นมากที่สุด คือ อาการคอแห้งและปวดศีรษะร้อยละ76.6 รองลงมา คือ เวียนศีรษะ ร้อยละ65.6 และยังมีอาการเดินตรงไม่ได้ ร้อยละ 12.5 อาการหมดสติหรือช็อกยังไม่พบว่าเกษตรกรเคยมีอาการดังกล่าว (สุวัฒน์ คุรุวาสี, 2546) ผลกระทบต่อสุขภาพของเกษตรเกษตรกรไร่อ้อยที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช มีอาการเจ็บป่วยทางด้านสุขภาพ ร้อยละ 84.9 เกิดอาการวิงเวียน มึนศีรษะ ปวดศีรษะมากที่สุด ร้อยละ78.3 มีอาการคลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ร้อยละ52.5 มีอาการแสบจมูก คอแห้ง เจ็บคอ ร้อยละ19.3 มีอาการผิวหนังเป็นผื่นแดง อักเสบบริเวณที่สัมผัสสารเคมี ร้อยละ 23.7 มีอาการแสบตา น้ำตาไหล ตาแดง พร่ามัว ร้อยละ 4.2 และมีอาการแน่นหน้าอก หายใจติดขัด ร้อยละ 0.8 ตามลำดับ (ชุติญา ดานะ, 2557). ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 38,033 ไร่ ใช้ในการเกษตรประมาณ 8,857 ไร่ของพื้นที่ทั้งหมด ทำไร่อ้อย 1,716 ไร่ ซึ่งในตำบลหนองอีบุตร มีสถานบริการด้านสาธารณสุข 1 แห่ง คือ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลหนองอีบุตร ถึงแม้ที่ผ่านมาจะไม่มีการเก็บสถิติการเจ็บป่วยของเกษตรกรไร่อ้อย แต่พบว่าประชาชนที่มารับบริการด้วยอาการ และอาการแสดง เช่น วิงเวียนศีรษะ ปวดศีรษะ อาเจียน ผื่นคัน ตุ่มพุพอง ซึ่งจากการซักประวัติการตรวจรักษาได้ทราบสาเหตุมาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชหรือเป็นผู้สัมผัสซึ่งเป็นที่นิยมในกลุ่มเกษตรกร จากการจัดกิจกรรมรณรงค์ลดใช้สารเคมีในภาคเกษตรกรรมอย่างต่อเนื่องทุกปี มีการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดในปี 2562 โดยเจาะเลือดประชาชนกลุ่มเสี่ยง จำนวน 214 คน เพื่อตรวจหาปริมาณเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในน้ำเหลือง โดยใช้กระดาษทดสอบ reactive paper พบว่า ปริมาณเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสอยู่ในระดับที่ไม่ปลอดภัย จำนวน 60 คน คิดเป็นร้อยละ 28 ระดับมีความเสี่ยงจำนวน 122 คน คิดเป็นร้อยละ 57 จากข้อมูลข้างต้น ทำการศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่ทุกพื้นที่มีการใช้สารเคมีเพื่อกำจัดศัตรูพืช ซึ่งควรได้รับการส่งเสริมสุขภาพ ป้องกัน และลดความเสี่ยง การเจ็บป่วยจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช เพื่อนำไปสู่คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ดีต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของกลุ่มเกษตรกรไร่อ้อย ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ เกษตรกรไร่อ้อยที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในการปลูกอ้อย ที่อาศัยอยู่จริงในพื้นที่ตำบลหนองอีบุตร อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 254 คน  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ :  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ