ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลของโปรแกรมคุณภาพชีวิตในช่องปากด้วยการเรียนรู้การสนทนากลุ่มเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : พลอยไพลิน เอนกแสน1, กนกกาญจน์ ราชชมภู1, นศ.สบ.(ทันตสาธารณสุข) วสส.ขอนแก่น ทพญ.วาระดิถี มังคละแสน2, ฝ่ายทันตฯ รพ.ท่าคันโท ทพญ.พิชุดา วีรนิธาน3, ฝ่ายทันตฯ รพ.ท่าคันโท สุริมล จำปี4, เทศบาลตำบลท่าคันโท ดร.ทพญ.วุฒิกุล ธนากาญจนภักดี5, อาจารย์ วสส.ขอนแก่น ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์ปัจจุบัน มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากรายงานปี 2560 ของมูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาผู้สูงอายุไทย โลกมีประชากรสูงอายุหรือคนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปมากถึง 962 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 13 ของประชากรโลกทั้งหมด 7,550 ล้านคน เรียกได้ว่าโลกได้กลายเป็นสังคมสูงอายุ ผลรายงานการคัดกรองสถานะสุขภาพประชากรกลุ่มวัยผู้สูงอายุ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปีงบประมาณ 2560 พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุที่มีฟันแท้ใช้งานได้อย่างน้อย 20 ซี่ ร้อยละ 46.51 กลุ่มผู้สูงอายุที่มีคู่สบไม่น้อยกว่า 4 คู่สบ ร้อยละ 34.56 และกลุ่มผู้สูงอายุที่ได้รับการใส่ฟันเทียมร้อยละ 7ปัญหาเรื่องสุขภาพในช่องปากและฟันเป็นปัญหาที่มีความสำคัญ เนื่องจากมีความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตทั้งด้านกายภาพ และด้านจิตใจ ส่งผลต่อความสุขในการดำเนินชีวิตประจำวัน คุณภาพชีวิตที่ดีมีความสำคัญต่อการดำเนินชีวิต องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) ได้ให้คำจำกัดความของคำว่า “คุณภาพชีวิต” (Quality of life) เมื่อ พ.ศ. 2537 ว่า เป็นการรับรู้ด้านร่างกาย ด้านจิตใจ ด้านความสัมพันธ์ทางสังคม และด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้ วัฒนธรรม ค่านิยม ความเชื่อ และเป้าหมายในชีวิตของแต่ละบุคคลซึ่งทั้งนี้ ปัจจุบันมีเครื่องมือการประเมินคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ที่ได้รับการแปลและผ่านการตรวจสอบคุณภาพแล้วหลายชนิด แต่เครื่องมือที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคือ แบบวัดคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากในประชากรวัยผู้ใหญ่ (Thai oral health impact profile: Thai OHIP-14) แนวคิดในการประยุกต์ใช้โปรแกรมคุณภาพชีวิตในช่องปากด้วยการเรียนรู้การสนทนากลุ่มเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพของผู้สูงอายุ เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุมีความรู้ ความเข้าใจ มีทัศนคติที่ดี และพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลตนเองและการดูแลสุขภาพช่องปาก จึงมีความสำคัญในการส่งเสริมด้านทันตสุขภาพ นอกจากนี้ยังสามารถให้คำแนะนำผู้อื่นและเป็นต้นแบบให้กับบุคคลทั่วไปทั้งในครอบครัวและชุมชนได้ พร้อมทั้งนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมคุณภาพชีวิตในช่องปากด้วยการเรียนรู้การสนทนากลุ่มเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพของผู้สูงอายุในเขตเทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มผู้สูงอายุ ในโรงเรียนผู้สูงอายุเทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : 1. แบบสอบถามข้อมูลทั่วไป จำนวน 12 ข้อ 2. แบบประเมินความรู้ด้านทันตสุขภาพ จำนวน 15 ข้อ 3. แบบสอบถามพฤติกรรมการปฏิบัติการดูแลตนเองและการดูแลสุขภาพช่องปาก และพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพ จำนวน 10 ข้อ 4. แบบสอบถามคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก จำนวน 14 ข้อ 5. แบบประเมินสภาวะอนามัยช่องปาก  
ขั้นตอนการดำเนินการ : กิจกรรมที่จัดสำหรับกลุ่มทดลอง แบ่งออกเป็น 4 ครั้ง ครั้งละ 3 ชม. ตั้งแต่เวลา 8.30 – 11.30 น. ดังนี้ สัปดาห์ที่ 1กิจกรรมเสริมพื้นฐานความรู้ด้วยการสนทนากลุ่ม เกี่ยวกับเรื่องผู้สูงอายุกับสุขภาพช่องปาก คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพของผู้สูงอายุ และการส่งเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพสำหรับผู้สูงอายุ สัปดาห์ที่ 3 กิจกรรมสนทนากลุ่ม เกี่ยวกับเรื่องดูแลตนอย่างไร ให้สุขอนามัยดี สัปดาห์ที่ 7 กิจกรรมสนทนากลุ่มแบบฐานการเรียนรู้ (Walk rally) แบ่งออกเป็น 4 ฐานการเรียนรู้ ได้แก่ ฐานที่ 1 ห้องเรียนทันตสุขศึกษา,ฐานที่ 2 กินดีฟันดีชีวีมีสุข,ฐานที่ 3 แปรงถูก ฟันสะอาด,ฐานที่ 4 สมุนไพรสู้โรคเหงือก สัปดาห์ที่ 8 กิจกรรมสนทนากลุ่ม เกี่ยวกับเรื่องมุมมองการดูแลสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุ การปฏิบัติการแปรงฟันและสรุปการเรียนรู้หลังการดำเนินกิจกรรม โดยสัปดาห์ที่ 1 และสัปดาห์ที่ 8 กลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบจะได้รับการตอบแบบสอบถามและประเมินสภาวะอนามัยช่องปากเพื่อวัดดัชนีคราบจุลินทรีย์  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า ภายหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก พฤติกรรมการปฏิบัติการดูแลตนเองและการดูแลสุขภาพช่องปาก และพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพ มากกว่าก่อนการทดลอง และมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value <0.001 ค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปาก ลดลงมากกว่าก่อนการทดลอง และลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value <0.05 และมีค่าเฉลี่ยดัชนีคราบจุลินทรีย์ในช่องปาก ลดลงมากกว่าก่อนการทดลอง และลดลงมากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ p-value <0.001  
ข้อเสนอแนะ : สรุป โปรแกรมคุณภาพชีวิตในช่องปากด้วยการเรียนรู้การสนทนากลุ่มเพื่อส่งเสริมพฤติกรรมด้านทันตสุขภาพ ช่วยให้ผู้สูงอายุมีความรู้เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพช่องปาก มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปาก มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และมีการสะสมของคราบจุลินทรีย์ลดลง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)