ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลการบริบาลเภสัชกรรมผู้ป่วยนอกที่ใช้ยาต้านวัณโรค โรงพยาบาลเขาวง
ผู้แต่ง : นางสาวธีรารัตน์ คูศรีรัตน์ ปี : 2563
     
หลักการและเหตุผล : ประเทศไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่องค์การอนามัยโลก(WHO)จัดเป็นกลุ่มประเทศที่มีภาระวัณโรคสูง(High Burden Country Lists) ได้แก่ มีภาระโรควัณโรค (TB) วัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี(TB/HIV) และวัณโรคดื้อยาหลายขนาน (Multidrug resistant-TB : MDR-TB) สูง โดยในปี 2561 องค์การอนามัยโลกคาดประมาณผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับมาเป็นซ้ำ ในประเทศไทยไว้ประมาณ 108,000 ราย หรือคิดเป็น 156 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการติดเชื้อเอชไอวี 11,000 ราย และผู้ป่วยวัณโรคดื้อยา (Multidrug-resistant TB or rifampicin-resistant TB : MDR/RR-TB) 3,900 ราย(1) โดยเมื่อปี 2559 องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดยุทธศาสตร์ยุติวัณโรค มีเป้าหมายลดอุบัติการณ์วัณโรคให้ต่ำกว่า 10 ต่อแสนประชากรโลกภายใน ปี 2578 ซึ่งประเทศไทยได้กำหนดแผนปฏิบัติการระดับชาติด้านการต่อต้านวัณโรค พ.ศ. 2560-2564 มีเป้าประสงค์เพื่อลดอุบัติการณ์วัณโรคให้เหลือ 88 ต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นปี2564 โดยมุ่งเน้น “ค้นให้พบ จบด้วยหาย พัฒนาระบบและเครือข่าย นโยบายมุ่งมั่นสร้างสรรค์นวัตกรรม” สำนักวัณโรครายงานผลการดำเนินงานวัณโรคของประเทศไทยปี 2559 พบว่า มีผู้ป่วยขึ้นทะเบียนรักษาวัณโรค(ผู้ป่วยรายใหม่และกลับเป็นซ้ำ) 70,114 รายผู้ป่วยวัณโรคที่สัมพันธ์กับการ ติดเชื้อเอชไอวี6,794 รายซึ่งคิดเป็นร้อยละ 11ของผู้ที่ได้รับการตรวจเชื้อเอชไอวีวัณโรคดื้อยาหลายขนาน 955 ราย และวัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก 13 ราย โดยมีผลสำเร็จการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำร้อยละ 82.9 แต่พบว่ามีอัตราการตรวจพบผู้ป่วยวัณโรค (Detection rate) เพียงร้อยละ 58.9 เท่านั้น(2) จะเห็นได้ว่าวัณโรคเป็นโรคติดต่อที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญ ซึ่งเป็นโรคที่สามารถรักษาให้หายขาดได้หากผู้ป่วยได้รับยาที่เหมาะสมและรับประทานยาติดต่อกันอย่างสม่ำเสมอ และความต่อเนื่องในการรักษาเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่กำหนดความสำเร็จในการรักษา แต่การรักษาวัณโรคนั้นผู้ป่วยต้องรับประทานยาอย่างน้อย 4 ชนิด ร่วมกัน และต้องรับประทานติดต่อกันเป็นเวลาอย่างน้อย 6 เดือน ซึ่งการรับประทานยาหลายชนิดร่วมกันก็จะมีโอกาสทำให้ผู้ป่วยการเกิดปัญหาจากการใช้ยาและอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาได้มากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลให้ผู้ป่วยหยุดยาเอง และไม่มาพบแพทย์ตามนัด ทำให้ขาดความต่อเนื่องสม่ำเสมอในการรักษา ส่งผลให้เกิดความไม่สำเร็จในการรักษา และยังมีส่วนทำให้เกิดการดื้อยาของเชื้อวัณโรคด้วย และจะกลายเป็นอุปสรรคต่อเป้าหมายยุติวัณโรคขององค์การอนามัยโลกเนื่องจากใช้เวลารักษานาน มีผลข้างเคียงจากยามากและอัตราการรักษาสำเร็จ(success rate) ต่ำกว่าวัณโรคที่ไวต่อยา ในประเทศไทยพบรายงานอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยาต้านวัณโรคประมาณร้อยละ 29 - 53(3) โดยอาการไม่พึงประสงค์พบได้หลายชนิด ได้แก่ อาการเบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ปวดข้อ ชาปลายมือปลายเท้า วิงเวียนศีรษะ สับสน หูอื้อ การได้ยินผิดปกติ การทรงตัวผิดปกติ การมองเห็นผิดปกติ ดีซ่าน ตับอักเสบ ผื่นคัน ปัสสาวะออกน้อย ไตวาย เป็นต้น อาการไม่พึงประสงค์เหล่านี้มีวิธีการป้องกันรักษาและแก้ไขแตกต่างกันไป โดยบางครั้งอาจจะไม่จำเป็นต้องหยุดยา ทั้งนี้การจัดการอาการไม่พึงประสงค์ขึ้นกับชนิดและความรุนแรงของอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลเป็นหน่วยบริการที่สำคัญในการตรวจวินิจฉัย และเป็นจุดศูนย์กลางของการรักษาและดูแลผู้ป่วยวัณโรค ซึ่งต้องมีการพัฒนาคุณภาพมาตรฐานและติดตามประเมินผลการให้บริการในคลินิกวัณโรค ซึ่งโรงพยาบาลเขาวง เป็นโรงพยาบาลชุมชนให้บริการสาธารณสุขระดับทุติยภูมิระดับต้น(F2.1) ขนาด 60 เตียง มีการพัฒนาตามมาตรฐานโรงพยาบาลคุณภาพการดูแลรักษาวัณโรค(Hospital Standards for Quality Tuberculosis Care:QTB) ของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข โดยมีการกำหนดมาตรฐานให้มีการบริบาลทางเภสัชกรรมและบริหารจัดการยาวัณโรค เพื่อการส่งเสริมให้การใช้ยาเป็นไปอย่างปลอดภัยและเพิ่มคุณภาพในการดูแลรักษา เช่น การให้ความรู้เกี่ยวกับยาวัณโรค ความสำคัญของการรักษาอย่างต่อเนื่อง การค้นหา/ให้การปรึกษา เมื่อเกิดอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา พร้อมทั้งประเมินผลการรักษาวัณโรค การขาดการรักษา และความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ(4) โรงพยาบาลเขาวงมีผู้ป่วยที่ขึ้นทะเบียนและเข้ารับบริการที่คลินิกวัณโรค ปี2560 - 2561 จำนวนรวม 147 ราย พบว่ามีผู้ป่วยเกิดอาการไม่พึงประสงค์และปัญหาจากการใช้ยาต้านวัณโรค ทำให้ผู้ป่วยบางรายหยุดยาเองและไม่มาพบแพทย์ตามนัด โดยมีอัตราการขาดยาร้อยละ 2.72 ซึ่งมีส่วนส่งผลให้เกิดความไม่สำเร็จในการักษา เภสัชกรมีบทบาทหน้าที่ในการบริบาลเภสัชกรรมแก่ผู้ป่วย โดยการค้นหาปัญหาการรักษาด้วยยา แก้ไขปัญหาการรักษาด้วยยาที่เกิดขึ้น และป้องกันปัญหาการรักษาด้วยยาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดการใช้ยาอย่างเหมาะสม และปลอดภัยในผู้ป่วย จากงานวิจัยของนิสารัตน์ คำด้วง และศุภวรรณ พงศ์พัฒนาวุฒิ พบว่า การให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยวัณโรคปอดทำให้ผลลัพธ์ของการรักษาดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เภสัชกรสามารถแก้ปัญหาได้ร้อยละ 80 ปัญหาของการรักษาที่พบมากที่สุด คือ อาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา พบร้อยละ 47(5) ส่วนงานวิจัยของวิชชุดา เทียนเจษฎา, เชิดชัย สุนทรภาส พบปัญหาเกี่ยวกับยามากที่สุด คือ ขนาดการใช้ยาไม่เหมาะสม ร้อยละ 55 และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา ร้อยละ 15 ปัจจัยที่สัมพันธ์เชิงลบกับการรักษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ได้แก่ ผลการตรวจเอชไอวีเป็นบวก ขนาดยาไรแฟมพิซิน(Rifampicin) ที่ต่ำกว่าขนาดการรักษา และความไม่ต่อเนื่องในการรักษาผู้ป่วย(6) ดังนั้น การให้บริบาลทางเภสัชกรรมผู้ป่วยวัณโรคเพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาประเมินผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านวัณโรค จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาใช้เป็นแนวทางในการวางแผนพัฒนาคุณภาพการบริการดูแลผู้ป่วยวัณโรคต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินผลการให้บริบาลทางเภสัชกรรมในผู้ป่วยนอกที่ใช้ยาต้านวัณโรค โรงพยาบาล เขาวง  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรเป็นผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ และได้รับการขึ้นทะเบียนและเข้ารับบริการ ณ คลินิกวัณโรคโรงพยาบาลเขาวง อำเภอเขาวง จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2561 มีจำนวนผู้ป่วยสะสมทั้งสิ้น 147 ราย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยวัณโรคทุกชนิดที่ใช้ยาต้านวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนและเข้ารับบริการ ณ คลินิกวัณโรค แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลเขาวง โดยได้รับการให้บริบาลทางเภสัชกรรมโดยเภสัชกร ซึ่งต้องตรวจสอบดูแลผู้ป่วยแต่ละรายเพื่อค้นหาปัญหาที่เกิดจากการรักษาด้วยยา(Actual drug therapy problems) ปัญหาจากการรักษาด้วยยาที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้น(Potential drug therapy problems) พร้อมทั้งจัดการแก้ไขและป้องกันปัญหาที่เกิดจากการใช้ยาแก่ผู้ป่วย โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษาด้วยยาตามแนวทางการรักษาวัณโรคขององค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.2560 ซึ่งให้คำแนะนำสูตรยามาตรฐานสำหรับผู้ป่วยใหม่ที่เชื้อไวต่อยาและไม่มีความผิดปกติใดๆจะใช้สูตรยาต้านวัณโรคระยะสั้น 6 เดือน(2HRZE /4HR) โดยในช่วง 2เดือนแรก จะใช้ยาต้านวัณโรค 4ชนิด ได้แก่ H=Isoniazid , R=Rifampicin , Z=Pyrazinamide , E=Ethambutol และในช่วง 4เดือนหลังจะใช้ H=Isoniazid และ R=Rifampicin  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย 3.1 บันทึกประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก และฐานข้อมูลโปรแกรมคอมพิวเตอร์บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลเขาวง 3.2 แบบบันทึกการให้บริบาลทางเภสัชกรรม 3.3 ข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยในคลินิกวัณโรค (TB treatment card) ในผู้ป่วยวัณโรคที่ขึ้นทะเบียนและเข้ารับบริการ ณ คลินิกวัณโรคโรงพยาบาลเขาวง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 4.1 ทบทวนข้อมูลจากแบบบันทึกประวัติผู้ป่วยจากเวชระเบียนผู้ป่วยนอก(OPD Card) และฐานข้อมูลโปรแกรมคอมพิวเตอร์บริการผู้ป่วยของโรงพยาบาลเขาวง(โปรแกรมHos-Xp) ระหว่างวันที่ 1 ตุลาคม 2559 – 30 กันยายน 2561 4.2 ทบทวนข้อมูลจากแบบบันทึกการให้บริบาลทางเภสัชกรรมและข้อมูลทะเบียนผู้ป่วยในคลินิกวัณโรค (TB treatment card) ทั้งอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา(Adverse Drug Reaction : ADR) ปัญหาจากการใช้ยา (Drug therapy problems: DTPs) และการจัดการปัญหา 4.3 เก็บรวบรวมข้อมูลการขาดการรักษา และอัตราความสำเร็จการรักษาในผู้ป่วยวัณโรครายใหม่และกลับเป็นซ้ำ 4.4 วิเคราะห์และสรุปข้อมูลผลการบริบาลเภสัชกรรมในผู้ป่วยที่ใช้ยาต้านวัณโรค และความสำเร็จในการรักษาเมื่อสิ้นสุดการรักษา  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง