|
|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : จัดทำโครงร่าง |
บทความ/วิจัย เรื่อง : ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลดงสมบูรณ์ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
มลิ สุขภานิด,เพชรรัตน์ วงค์ไชยชาญ |
ปี : 2563 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
ประชากรวัยทำงานเป็นกลุ่มที่เป็นกำลังสำคัญของครอบครัว และประเทศชาติ ทั้งในด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม ประเทศไทยมีประชากรวัยแรงงานมากกว่าวัยอื่น ๆ โดยแรงงาน ที่เยอะที่สุด คือ แรงงานเกษตรกรรมร้อยละ 70 ของแรงงานทั้งหมด ดังนั้นนโยบายการดูแลสุขภาพในกลุ่มวัยทำงานของกรมควบคุมโรค จึงได้ให้ความสำคัญในการดูแลสุขภาพของผู้ประกอบอาชีพเกษตรกรรม เนื่องจากเป็นกลุ่มแรงงานกลุ่มใหญ่ และมีความเสี่ยง ทั้งทางด้านกายภาพ ชีวภาพ สารเคมี การยศาสตร์ และความเครียดจากการทำงาน (สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, 2558) ซึ่งในอดีตเป็นการเกษตรเพื่อยังชีพ มีการพึ่งพาธรรมชาติเป็นสำคัญ แต่ปัจจุบันเน้นการผลิตเพื่อส่งออกต่างประเทศ หรือส่งเข้าโรงงานอุตสาหกรรม มีการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างแพร่หลาย ไม่ว่าจะเป็นสารกำจัดแมลง สารกำจัดวัชพืช เป็นต้น เพื่อให้ได้ผลผลิตทางการเกษตรตามความต้องการของผู้บริโภค จากการใช้สารเคมีอย่างแพร่หลายนี้ เกษตรกรบางคนอาจขาดความรู้ ความเข้าใจในการใช้สารเคมีอย่างถูกต้อง ซึ่งอาจส่งกระทบต่อผู้บริโภค ชุมชน แม้แต่ ผู้ฉีดพ่นสารเคมีเองก็มีโอกาสรับสัมผัสสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชมากขึ้น จากข้อมูลการเฝ้าระวังโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมเชิงรับ (รง.506/2) ปี พ.ศ.2546-2552 ของสำนักระบาดวิทยา พบว่า มีกลุ่มวัยทำงานที่ป่วยด้วยสารเคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชร้อยละ 1.6 (จุรีพร คงประเสริฐ, 2558) ในปี 2560 พบผู้ป่วยจากโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 10,312 รายคิดเป็นอัตราป่วยเท่ากับ 17.12 ต่อประชากรแสนราย ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี พ.ศ. 2559 ที่พบผู้ป่วยโรคพิษสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จำนวน 8,689 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 14.47 ต่อประชากรแสนราย และจากข้อมูลการตรวจคัดกรองสารกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มเกษตรกรของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ ฯ กรมควบคุมโรค ในปี 2558 มีจำนวนผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง 325,944 คน พบว่า มีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัย จำนวน 113,547 คน คิดเป็นร้อยละ 34.84 ปี 2559 มีจำนวนผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง 418,672 คน พบว่า มีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัย จำนวน 153,905 คน คิดเป็น ร้อยละ 36.76 และในปี 2560 มีจำนวนผู้ได้รับการตรวจคัดกรอง 251,794 คน พบว่า มีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัย จำนวน 71,575 คน คิดเป็นร้อยละ 28.43 (สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, 2560) จากข้อมูลจะเห็นว่าเกษตรกรมีความเสี่ยงจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเพิ่มขึ้น จากการศึกษาพบว่าหลังจากใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชเกษตรกรจะมีผลกระทบทางสุขภาพ คือ วิงเวียนศีรษะ ร้อยละ 61.82 ปวดศีรษะ ร้อยละ 56.36 (สิริภัณฑ์กัญญา เรืองไชย, 2553) นอกจากนี้ยังมีอาการแสบจมูกและคลื่นไส้อาเจียน ร้อยละ 25.0 คันผิวหนัง ผิวแห้ง ผิวแตก ร้อยละ 21.50 (ประภารัตน์ วิจิตรจันทร์และเลิศชัย เจริญธัญรักษ์, 2560) ความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีของเกษตรกร พบว่า เกษตรกรมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องอยู่ในระดับสูง ร้อยละ 45.7 ซึ่งมีความรู้เรื่องวิธีการที่สารเคมีเข้าสู่ร่างกายมากที่สุดคิดเป็นร้อยละ 40.5 มีความรู้เรื่องอาการที่เกิดขึ้นหลังจากสัมผัสสารเคมีปวดศีรษะร้อยละ 87.9 คลื่นไส้อาเจียน ร้อยละ 87.1 ผิวหนังระคายเคืองหรือไหม้เกรียม ร้อยละ 83.6 (ประภารัตน์ วิจิตรจันทร์ และเลิศชัย เจริญธัญรักษ์, 2560) โดยเกษตรกรส่วนใหญ่มีทัศนคติที่ไม่ถูกต้อง เกี่ยวกับการใช้สารเคมี คือ ควรผสมสารเคมีหลายชนิดในการฉีดพ่นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ร้อยละ 68.1และควรเพิ่มความเข้มข้นของสารเพื่อแก้ไขปัญหาศัตรูพืชดื้อยา ร้อยละ 61.7 (สมพร ศรีโปกฎ, 2543) มีพฤติกรรมการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่ไม่ถูกต้อง คือ ใช้มือเปล่าผสมสารเคมี ร้อยละ 9.09 ไม่ล้างมือทุกครั้งก่อนรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำ ร้อยละ 3.64 ใช้ปากเป่าหัวฉีดพ่น ร้อยละ 3.64 (สิริภัณฑ์กัญญา เรืองไชย, 2553) อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเกษตรกรจะมีความรู้ในการปฏิบัติตนเพื่อป้องกันสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้องอยู่ในระดับสูง แต่ยังมีทัศคติ และพฤติกรรมการปฏิบัติตัวที่ไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุทำให้เกษตรกรมีความเสี่ยงที่จะได้รับพิษจากสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้ ซึ่งสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรนิยมใช้ส่วนใหญ่มักใช้สารเคมีกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต (Organophosphate) และกลุ่มคาร์บาเมต (Carbamate) เป็นสารเคมีที่มีพิษรุนแรง โดยมีทั้งพิษที่เฉียบพลัน และเรื้อรัง ซึ่งพิษเฉียบพลันที่สำคัญ คือ มีฤทธิ์ยับยั้ง การทำงานของเอนไซม์ Acetyl cholinesterase ซึ่งเป็นเอ็นไซม์ที่มีความสำคัญต่อการส่งสัญญาณประสาทระหว่างเซลล์ ทำให้เกิดอาการกระตุ้นปลายประสาทมากขึ้น ทำให้มีอาการตั้งแต่เล็กน้อยถึงรุนแรง ขึ้นอยู่กับชนิด ขนาด และการสัมผัส ได้แก่ อ่อนเพลีย มึนงง ใจสั่น มีเหงื่อ น้ำลายไหล วิงเวียน และตาพร่ามัว อาการรุนแรง ส่วนมากเกิดจากได้รับในปริมาณมาก และระยะเวลาอันสั้น ได้แก่ อาการใจเต้นเร็ว คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งช่องท้อง กล้ามเนื้อเต้น กระตุกที่ใบหน้า เหนื่อยหอบ แขนขาสั่นกระตุก ตามัว ม่านตาหดลง หมดสติ หายใจติดขัด หายใจช้าลง และอาจเสียชีวิตได้ พิษแบบเรื้อรัง คือ ทำให้เกิดพยาธิสภาพของตับ ไต ระบบไหลเวียนโลหิต ระบบทางเดินหายใจ ระบบประสาทผิดปกติ กระสับกระส่าย พูดจาช้าลง สุขภาพอ่อนแอ และ อาจทำให้สมองเสื่อมได้ (สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม, 2558)
สถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2556 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 1,302 คน พบว่ามีผลเสี่ยง จำนวน 350 คน คิดเป็นร้อยละ 26.91 และไม่ปลอดภัยจำนวน 443 คน คิดเป็นร้อยละ 34.08 ปี 2557 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกร จำนวน 1,270 คน พบว่ามีผลเสี่ยง จำนวน 229 คน คิดเป็นร้อยละ 18.10 และไม่ปลอดภัย จำนวน 319 คน คิดเป็นร้อยละ 25.15 (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2558) ปี 2558 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 1,350 คน มีผลเสี่ยงจำนวน 400 คน คิดเป็นร้อยละ 29.69 และไม่ปลอดภัยจำนวน 602 คน คิดเป็นร้อยละ 44.60 ปี 2559 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 1,280 คน มีผลเสี่ยงจำนวน 454 คน คิดเป็นร้อยละ 35.50 และไม่ปลอดภัยจำนวน 186 คน คิดเป็นร้อยละ 14.55 ปี 2560 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 1,225 คน พบว่ามีผลเสี่ยงจำนวน 566 คน คิดเป็นร้อยละ 46.24 และผลไม่ปลอดภัยจำนวน 344 คน คิดเป็นร้อยละ 28.10 (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2560) จากข้อมูลพบว่าเกษตรกรจังหวัดกาฬสินธุ์มีความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบด้านสุขภาพจากการใช้สารเคมีป้องกัน กำจัดศัตรูพืช โดยมีระดับความเสี่ยงที่จะมีระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสต่ำเพิ่มขึ้นทุกปี
อำเภอท่าคันโท เป็นอำเภอที่มีพื้นที่อยู่ในเขตชลประทานเขื่อนลำปาว ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพหลักคือ เกษตรกรรม ตำบลดงสมบูรณ์ เป็นตำบลที่มีพื้นที่ติดกับเขตชลประทานเขื่อนลำปาวเช่นกัน ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม นิยมฉีดพ่นสารเคมีด้วยตนเอง และเป็นพื้นที่ที่มีการดำเนินโครงการเฝ้าระวังสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกร ความปลอดภัยด้านอาหารในชุมชน และอบรมสร้างอนามัยสิ่งแวดล้อมน้อยประจำโรงเรียนมาตั้งแต่ปี 2555 ถึงปี 2560 มีตรวจระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดของเกษตรกร พบว่า ปี 2555 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 80 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 48 คน คิดเป็นร้อยละ 60.33 ปี 2556 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 68 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 50 คน คิดเป็นร้อยละ 74.12 ปี 2557 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 78 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 74 คน คิดเป็นร้อยละ 95.56 ปี 2558 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 522 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 378 คน คิดเป็นร้อยละ 72.41 ปี 2559 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 160 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 36 คน คิดเป็นร้อยละ 22.55 ปี 2560 มีผู้รับการตรวจคัดกรองสารเคมีตกค้างในเลือดเกษตรกรจำนวน 120 คน พบว่ามีผลเสี่ยงและ/หรือไม่ปลอดภัยจำนวน 88 คน คิดเป็นร้อยละ 73.33 (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2560) จากข้อมูลจะเห็นว่าถึงแม้จะมีการดำเนินโครงการเพื่อเฝ้าระวังสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในชุมชน แต่เกษตรกรยังคงมีเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงซึ่งแสดงให้เห็นว่าเกษตรกรตำบลดงสมบูรณ์ มีความเสี่ยงที่จะเกิดผลกระทบด้านสุขภาพ นอกจากนี้สิ่งแวดล้อมก็อาจปนเปื้อนสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชได้เช่นกัน ดังนั้นจึงได้จัดทำวิจัยเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการป้องกันตนเองจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชของเกษตรกรในพื้นที่ตำบลดงสมบูรณ์ขึ้น เพื่อนำข้อมูลมาใช้กำหนดการเฝ้าระวังทางสุขภาพ และลดอัตราป่วยเนื่องจากพิษของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช รวมทั้งหาแนวทางในการป้องกันควบคุมผลกระทบทางสุขภาพจากการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชต่อไป
|
|
วัตถุประสงค์ : |
1. เพื่อศึกษาความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติตนในการใช้เคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชในกลุ่มเกษตรกร ในเขตพื้นที่ตำบลดงสมบูรณ์ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
2. เพื่อศึกษาระดับความเสี่ยงการตกค้างของสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชโดยการตรวจระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดเกษตรกร ในเขตพื้นที่ตำบลดงสมบูรณ์ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
เกษตรกรตำบลดงสมบูรณ์ จำนวน 25 คน |
|
เครื่องมือ : |
แบบสอบถาม และ ชุดตรวจเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส |
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
1. ขอความร่วมมือในการทำวิจัย โดยทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ถึงสาธารณสุขอำเภอท่าคันโท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงสมบูรณ์ อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
2. ผู้วิจัย และทีมผู้ช่วยนักวิจัย ได้แก่ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงกลาง ดงสมบูรณ์ จำนวน 3 คน เข้าไปประสานงานกับสาธารณสุขอำเภอท่าคันโท และผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดงสมบูรณ์ ด้วยตนเอง
3. ชี้แจงรายละเอียดของการทำวิจัยให้สาธารณสุขอำเภอท่าคันโท จากนั้นนำเรื่องเข้าชี้แจงในที่ประชุมประจำเดือนของอาสาสมัครสาธารณสุข ในพื้นที่ตำบลดงสมบูรณ์ เพื่อขอความร่วมมือในการช่วยเก็บข้อมูล
4. กรณีตรวจคัดกรองหาระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ผู้วิจัยและผู้ช่วยนักวิจัยลงพื้นที่เพื่อตรวจหาระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสแปลผลและบันทึกข้อมูลในแบบบันทึก
กรณีแบบสอบถาม
1 การนำส่งแบบสอบถาม ผู้วิจัยนำส่งแบบสอบถาม โดยส่งมอบให้กับกลุ่มตัวอย่างด้วยตนเอง รวมทั้งนัดหมายกำหนด วันและเวลาในการส่งแบบสอบถามกลับคืนโดยให้อาสาสมัครสาธารณสุขนำแบบสอบถามหย่อนลงในกล่องที่จัดเตรียมไว้ให้แล้ว ภายในกำหนด 30 วัน ถ้าได้แบบสอบถามกลับคืนไม่ครบตามเวลาที่กำหนด ผู้วิจัยจะดำเนินการติดตามโดยส่ง จดหมายถึงกลุ่มตัวอย่างทุกท่านโดยมีข้อความว่า “ถ้าท่านยังไม่ตอบแบบสอบถาม ขอให้ท่านตอบแบบสอบถาม” แล้วนำไปหย่อนลงกล่องที่ผู้วิจัยจัดเตรียมไว้ให้แล้ว หลังจากได้แบบสอบถามครบถ้วนแล้ว ผู้วิจัยส่งหนังสือขอบคุณไปยังผู้ตอบแบบสอบถามทุกคน
2 เมื่อตอบแบบสอบถามเสร็จสิ้นผู้วิจัยตรวจสอบความครบถ้วน ลงลำดับแบบสอบถาม ลงรหัสตัวแปรที่กำหนด และนำไปวิเคราะห์ข้อมูล สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง
|
|
|
|
|
|