ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การศึกษาและพัฒนาพฤติกรรมของเกษตรกรที่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ด้วยกระบวนการกลุ่มในชุมชน
ผู้แต่ง : นีรนาท วิลาศรี พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ ศิริพงษ์ สารเลา อสม.บ้านทุ่งคลอง และคณะ กองทุนหลักประกันสุขภาพ อบต.ทุ่งคลอง อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ปัญหาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชก่อให้เกิดผลกระทบต่อมนุษย์จากการรับสารเคมีเข้าสู่ร่างกายโดยผลกระทบที่เกิดขึ้นในระยะเฉียบพลัน เช่น วิงเวียน ปวดศรีษะ คลื่นไส้ อาเจียน ปวดท้อง ตาพร่า ผื่นคัน ระคายเคืองจมูกหรือน้ำมูกไหล ง่วงซึม กระวนกระวายหรือหงุดหงิด เจ็บหน้าอกปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เหนื่อยเพลีย ในระยะยาวก่อให้เกิดการสะสมในร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบการทำงานต่างๆทั้งระบบสมองและประสาท การเกิดความพิการของทารกในครรภ์ ความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบต่อมไร้ท่อ ระบบสืบพันธุ์ ความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งเต้านม โดยเฉพาะการเกิดนันฮ๊อดกิ้นลิมโฟมา เป็น 4.5 เท่า ในผู้สัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืช โดยมีการสัมผัสกับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างน้อย 10 ปี ทำให้มีผลเสี่ยงต่อการเกิด นันฮ๊อดกิ้นลิมโฟมาได้ และยังส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมทำให้มีการแพร่กระจายและการสะสมของสารเคมีกำจัดศัตรูพืชในดิน น้ำ และอากาศ บ้านทุ่งคลอง เป็นแหล่งเพาะปลูกพืชการเกษตรหลากหลาย ประชาชนส่วนมาก มีอาชีพปลูกผักขาย พบว่ามีการใช้สารเคมีในการกำจัดศัตรูพืชกันมาก คือ สารเคมีกำจัดแมลงในกลุ่มคาร์บาเมทและออร์กาโนฟอสเฟต มีระยะถี่ในการฉีดพ่น 1-4 ครั้ง/สัปดาห์ และส่วนมากมักฉีดพ่นประมาณ 4-6 โมงเย็น ซึ่งเป็นช่วงที่คนอยู่บ้าน ทำให้คนในชุมชนได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมือสอง จากละอองของสารเคมีที่แพร่กระจายไป ผลการตรวจหาระดับเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสในกระแสเลือด ในปี 2558 จำนวน 81 ราย พบว่า ปลอดภัย ร้อยละ 22.22 มีความเสี่ยง ร้อยละ 28.39 ไม่ปลอดภัย ร้อยละ27.16 ที่ผ่านมามีการแก้ไขโดยการให้ความรู้การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างถูกต้อง การดื่มและอบสมุนไพร แต่เป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายเหตุ ต้นเหตุ พบว่า เกษตรกรยังไม่ได้ให้ความสำคัญต่อผลกระทบของสารเคมีกำจัดศัตรูพืช จึงยังมีปัญหาสุขภาพและสิ่งแวดล้อมตามมาอย่างมากมาย การวิจัยครั้งนี้ได้นำแนวคิดการสร้างการมีส่วนร่วมมาสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันในชุมชน เพื่อร่วมวิเคราะห์ปัญหาและสาเหตุทุกขั้นตอน ทำให้เกิดความเข้าใจ ตระหนักถึงพิษภัยของการใช้สารเคมี แล้วนำไปสู่การคิดหาหนทางในการแก้ไขเพื่อป้องกันตนเองและคนในชุมชนได้  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อสำรวจความเสี่ยงพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในเกษตรกร 2.เพื่อพัฒนากระบวนการกลุ่มในการป้องกันปัญหาจากการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชในชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย : การศึกษาครั้งนี้เลือกเกษตรกรในพื้นที่บ้านทุ่งคลอง หมู่ 1และ12 ตำบล ทุ่งคลอง อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยเลือกกลุ่มตัวอย่างโดยวิธีเฉพาะเจาะจงจากตัวแทนครัวเรือนที่ประกอบอาชีพเกษตรกรรรมจานวน 72คน โดยทำการศึกษาช่วงเดือนเมษายน- สิงหาคม 2559  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาผู้ศึกษาได้ทบทวนวรรณกรรมและนำแบบประเมินความเสี่ยงตามแบบประเมิน นบก.ของสำนักโรคจากการประกอบอาชีพ ในการทำงานของเกษตรกรจากการสัมผัสสารเคมีกำจัดศัตรูพืชมาใช้ร่วมกับการประเมินความรู้ของเกษตรกรโดยแบบสอบถามที่ใช้ประกอบด้วย 5 ส่วนดังนี้ ส่วนที่ 1ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2ความเกี่ยวข้องในการใช้สารเคมี ส่วนที่ 3ข้อมูลการเจ็บป่วยหรืออาการผิดปกติที่เกิดขึ้นหลังการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช ส่วนที่ 4 ผลการเจาะเลือดตรวจคัดกรอง ส่วนที่ 5 แนวทางการเสวนากลุ่ม(เกษราวัลณ์ นิลวรางกูล, 2555)  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.ประชุม อสม.ผู้นำชุมชน เพื่อชี้แจงแนวทาง เป้าหมายการสำรวจและพัฒนา 2. คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเฉพาะเจาะจงจากหลังคาเรือนที่ทำอาชีพเกษตรกรรมในหมู่บ้าน จำนวน 72 คน 3. ประชุมชี้แจงและทำความเข้าใจให้แก่กลุ่มตัวอย่าง เพื่อ1)สำรวจความเสี่ยงและพฤติกรรมการใช้สารเคมีกำจัดศัตรู ตรวจเลือดหาเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรส 2) ให้กลุ่มตัวอย่างตอบแบบสอบถามเรื่องการใช้สารเคมีทางเกษตรและความรู้เรื่องสารเคมีทางเกษตร 4. วิเคราะห์ข้อมูล สรุปผลการประเมินความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมี การเกษตร 5. นำเสนอข้อมูลภาวะสุขภาพ การประเมินความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรให้แด่เกษตรกรและชุมชนทราบ 6. ดำเนินการให้ความรู้และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของเกษตรกรในการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชอย่างปลอดภัย ตามหลัก 3 อ 2 ส การอบสมุนไพรด้วยภูมิปัญญาท้องถิ่น จำนวน 3 เดือน 7. สรุปผลการศึกษา  
     
ผลการศึกษา : กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อายุ 41-50 ปี ร้อยละ 61.11 เป็นเพศชายร้อยละ 75.00 จากการดำเนินกิจกรรมการลดใช้สารเคมีในบ้านทุ่งคลอง พบว่า ผลการตรวจคัดกรองสารเคมีในการแสเลือดมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยพบเกษตรกรที่ผลสารเคมีในกระแสเลือดอยู่ในระดับปลอดภัย เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 34.27 เป็น 59.72 ระดับปกติ เท่าเดิม ร้อยละ 16.67 สถานการณ์การทำงานในปัจจุบันพบว่าเกษตรกรส่วนใหญ่ทำการเพาะปลูกเองส่วนใหญ่เป็นผู้ฉีดพ่น ร้อยละ 50 เป็นผู้ผสมสารเคมี ร้อยละ 36.11 และอยู่ในบริเวณที่มีการฉีดพ่น ร้อยละ 13.89 การสำรวจสุขภาพ พบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่ ปวดหลัง และระคายเคืองตา แสบตา รองลงมาคือ เมื่อยล้า ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มือ แขน ขา และมีผื่นคันตามผิวหนัง จำนวนสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่เกษตรกรใช้ (ชื่อการค้า) ต่ำสุด คือ 14 ชนิด สูงสุด 4 ชนิด เฉลี่ย 2 ชนิด เกษตรกรส่วนใหญ่ใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืช 2 ชนิด รองลงมาคือ ใช้ 3 ชนิด ใช้ 1 ชนิด และใช้ 4 ชนิด กลุ่มสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่ใช้ พบว่า กลุ่มที่มีการใช้สูงสุด คือ กรัมม๊อกโซน และ ราวอัพ เกษตรกรส่วนใหญ่มีพฤติกรรมระดับดี ขึ้นหลังการศึกษาความเสี่ยงที่เกิดขึ้น ได้แก่ การจัดเก็บสารพิษและอุปกรณ์ ส่วนใหญ่ ไม่มีที่เก็บเคมีกำจัดศัตรูพืชโดยเฉพาะ รองลงมาคือ ไม่ล้างภาชนะบรรจุที่หมดแล้วให้สะอาดก่อนนำไปกำจัด และ การไม่ล้างทำความสะอาดอุปกรณ์หลังการหลังการใช้งาน ความเสี่ยงที่เกิดขึ้นการจัดเก็บสารเคมีและอุปกรณ์ป้องกันสารเคมีและการแต่งกาย พบว่าสูงสุดไม่สวมเครื่องแต่งกายหรืออุปกรณ์ป้องกันตามที่ฉลากระบุ รองลงมาคือ ไม่สวมถุงมือป้องกันที่เหมาะสมขณะทำงานกับสารเคมี อภิปรายผลการศึกษา 1. ความรู้ในเรื่องการใช้สารเคมีทางการเกษตร ของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี แต่เมื่อพิจารณาดูรายละเอียด ของประเด็นความรู้ที่มีผู้ตอบผิดมาก ในเรื่อง ผลกระทบของสารเคมีที่มีต่อสุขภาพในระยะสั้นและระยะยาว การใช้สารเคมีหลาย ๆ ชนิดรวมกัน การเข้าสู่ร่างกายของสารเคมี เป็นสิ่งที่น่าคำนึงถึงในการให้สุขศึกษาแก่กลุ่มเกษตรกร 2. พฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตร ของเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยู่ในระดับดี เพราะส่วนใหญ่สัมผัสหลังการฉีดพ่น 3. ผลการตรวจเลือดหาระดับสารเคมีตกค้างในเลือดของเกษตรกร พบว่า ส่วนใหญ่มีสารเคมีตกค้างในเลือดในระดับความเสี่ยงเฉลี่ย ร้อยละ 13.88 เมื่อพิจารณาการเปรียบเทียบกับผลการศึกษาในด้านความรู้และพฤติกรรมของเกษตรกร พบว่าไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งเป็นประเด็นที่ผู้ศึกษาให้ความสนใจที่จะดำเนินการศึกษาในขั้นต่อไป ประกอบกับผลการศึกษาในครั้งนี้พบว่าเกษตรกรกลุ่มตัวอย่างมีการใช้สารเคมีในกลุ่มพาราควอท (กำจัดวัชพืช)มากกว่ากลุ่ม ออร์แกโนฟอสเฟต (กำจัดแมลง) ซึ่งการตรวจเลือดโดยการตรวจหาเอนไซม์โคลีนเอสเตอเรสโดยใช้กระดาษทดสอบพิเศษจะตรวจได้เฉพาะการใช้สารเคมีในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟตและกลุ่มคาร์บาเมตเท่านั้นและจะส่งเสริมการใช้เกษตรอินทรีย์ เพื่อเป็นทางเลือกแก่เกษตรกรยุคต่อไป  
ข้อเสนอแนะ : 1. ควรมีการศึกษาวิจัยในพื้นที่อื่นๆที่อยู่ในพื้นที่เดียวกันเพื่อเปรียบเทียบผลที่ได้ว่ามีความสอดคล้องกันหรือไม่และจำนวนกลุ่มตัวอย่างที่สามารถเป็นตัวแทนของชุมชนในระดับตำบลหรืออำเภอ เพื่อการนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ในด้านอื่นๆต่อไป 2. ในการศึกษาครั้งต่อไปหรือการพัฒนาต่อยอดจากการศึกษานี้ ควรมีการศึกษาในประเด็นความสัมพันธ์ของความรู้ พฤติกรรมการใช้สารเคมีและผลการตรวจเลือดหาสารเคมีตกค้าง 3. ในการพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มเกษตรกรควรมีการนำประเด็นคำถามในการสอบถามด้านความรู้และพฤติกรรมการใช้สารเคมีทางการเกษตรไปใช้เป็นหัวข้อในการให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรด้วย เพื่อให้การดำเนินงานด้านสุขศึกษาได้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเกษตรกรมากที่สุด  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ