ประเภทบทความ/งานวิจัย : เรื่องเล่า สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : โครงการอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่มีสารเคมีในเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย ปีงบประมาณ 2559
ผู้แต่ง : นางยุพิน สุ่มมาตย์ 5-3612-90004-09-5 ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ปี 2558 เครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ได้ทำการเก็บตัวอย่างผักเพื่อตรวจหาปริมาณสารพิษตกค้าง และได้ทำการแถลงผลการเฝ้าระวังการตรวจสอบสารเคมีกำจัดศัตรูพืชปนเปื้อนในผัก ประจำปี 2558 จากตัวอย่างผักที่คนไทยนิยมบริโภคมากที่สุด 10 ชนิด พบปริมาณสารพิษตกค้างเกินมาตรฐานในผัก แสดงให้เห็นว่าเกษตรกรไทยใช้สารเคมีจำนวนมากในแปลงเกษตรของตน ซึ่งจากข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติสำรวจภาวการณ์ทำงานของประชากรไทย ปี 2557 พบว่า ประเทศไทยมีผู้มีงานทำ 38.4 ล้านคน เป็นผู้ที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีประกันทางสังคมจากการทำงาน หรือเรียกว่าเป็นแรงงานนอกระบบถึง 22.1 ล้านคน คิดเป็น 57.6% ของแรงงานทั้งหมด และเมื่อตรวจสอบลึกลงไปพบว่า แรงงานนอกระบบมากกว่าครึ่งหนึ่งทำงานในภาคเกษตรกรรม เมื่อพิจารณาถึงปัญหาความไม่ปลอดภัยในการทำงาน พบว่าแรงงานนอกระบบ ส่วนใหญ่ได้รับสารเคมีเป็นพิษมากที่สุดถึง 62.7% สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขได้จัดระบบเฝ้าระวังผลกระทบไว้ทั้งหมด 3 ด้าน ได้แก่ ระบบเฝ้าระวังโรค การประเมินความเสี่ยง และการประเมินพฤติกรรม เป็นต้น ซึ่งระบบเฝ้าระวังผลกระทบของกรมควบคุมโรคสามารถทำงานได้เพียง 2 ด้าน คือ ระบบเฝ้าระวังโรค และการประเมินความเสี่ยง ซึ่งจากการคัดกรองความเสี่ยงนั้น พบว่า กลุ่มเกษตรกรเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงสุด โดยวัดจากผลการตรวจเลือด ด้านของระบบเฝ้าระวังโรคนั้น เมื่อดูข้อมูลจากการตรวจทั้งประเทศโดยบุคลากรสาธารณสุขประจำโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีการดำเนินงานตรวจเลือด หรือกิจกรรมต่างๆ ทางการเกษตร โดยแต่ละปีจะทำการตรวจเกษตรกร จำนวน 200,000-500,000 ราย จึงถือเป็นข้อมูลที่มีความหนักแน่นทางวิชาการ จากข้อมูลตั้งแต่ปี 2546-2555 พบว่ามีผู้ป่วยที่ได้รับพิษจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชเฉลี่ยปีละ 1,734 ราย สำหรับผลการตรวจปี 2555 ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 244,822 ราย พบเกษตรกรที่มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 75,749 ราย คิดเป็น 30.94% ขณะที่ปี 2556 ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 314,805 ราย ในจำนวนนี้พบผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัยจำนวน 96,227 ราย คิดเป็น 30.54% และในปี 2557 ที่ได้ทำการตรวจเกษตรกรไปทั้งสิ้น 317,051 ราย พบว่าในจำนวนนี้ 107,820 ราย มีผลตรวจเลือดอยู่ในระดับไม่ปลอดภัย นั่นหมายถึงจำนวน 34% หรือ 1/3 ของเกษตรกรมีความไม่ปลอดภัยจากการใช้สารเคมีในงานเกษตรกรรม บ่งบอกว่าทิศทางความเสี่ยงของเกษตรกรที่มีการสัมผัสมากที่สุดนั้นยังไม่ได้ลดลง จึงเป็นสิ่งที่ต้องมาดูว่ากระบวนการต่างๆ ที่หน่วยงานจะต้องจัดการนั้นเป็นอย่างไร แม้แต่ละหน่วยงานจะมีแนวทางในการเฝ้าระวังเรื่องสารเคมีตกค้างในพืช แต่ความเสี่ยงของเกษตรกรในปี 2558 ยังไม่แน่ใจว่าจะมีทิศทางอย่างไร แต่จากผลในปี 2557 ชี้ชัดว่าแนวโน้มยังไม่ได้ลดลง แต่กลับเพิ่มขึ้นจากปี 2555 และ 2556 ปัญหาการใช้สารเคมีในการเกษตรของประชาชนชาวจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า จากผลการตรวจสารเคมีฆ่าแมลงในเลือดประชาชน ในปี 2556 ทุกตำบลๆ ละ 2 หมู่บ้านทุกอำเภอในจังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 342 ชุมชน จำนวน 25,841 คน พบว่าไม่ปลอดภัยถึงร้อยละ 62 และพบว่ามีบางอำเภอ ไม่ปลอดภัยมากที่สุดถึงร้อยละ 91 สถานการณ์อำเภอห้วยผึ้ง พบว่าตำบลนิคมห้วยผึ้ง พบระดับเสี่ยงสูงสุด ร้อยละ 59 ไม่ปลอดภัย ร้อยละ 33 จากสถานการณ์ดังกล่าว ลำพังเพียงหน่วยงานสาธารณสุขกับอาสาสมัครสาธารณสุขในชุมชน จึงไม่อาจจะรับมือกับสถานการณ์ปัญหาดังกล่าวได้ ดังนั้น องค์การบริหารตำบลนิคมห้วยผึ้งและคณะกรรมการประสานงานสาธารณสุขอำเภอห้วยผึ้ง (คปสอ.ห้วยผึ้ง) จึงได้จัดทำโครงการรณรงค์ลดการใช้สารเคมีและมีพฤติกรรมเสี่ยงต่อสุขภาพที่เหมาะสม ปีงบประมาณ 2559 เพื่อให้ประชาชนเกิดความปลอดภัยด้านสุขภาพ การประกอบอาชีพ การเสริมสร้างทักษะ องค์ความรู้ ด้านสุขภาพในการประกอบอาชีพที่เหมาะสม สามารถจัดการสภาพแวดล้อมภายในชุมชนให้เอื้อต่อการมีสุขภาพดีแบบพอเพียงและยังยืน สร้างการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และเพื่อตอบสนองยุทธศาสตร์จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมุ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตแบบพอเพียง มีความสมดุลพอดี และมุ่งให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้องร้อยละ 80 2. เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่มีระดับสารเคมีในเลือดในระดับเสี่ยง และไม่ปลอดภัยลดลงร้อยละ 10 3. เพื่อให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยด้านสุขภาพจากการได้รับสารเคมีกำจัดศัตรูพืช 4. เพื่อสร้างเสริมองค์ความรู้ ทักษะ ความตระหนักด้านสุขภาพ  
กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง ในเขตพื้นที่รับผิดชอบจำนวน 9 หมู่บ้าน ที่มีอาชีพเกษตรกร อายุระหว่าง 15-60 ปี จำนวน 100 คน  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ : งานเกษตรกรปลอดโรค ผู้บริโภคปลอดภัย 1. จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการภาคีเครือข่ายดำเนินงานเฝ้าระวังการใช้สารเคมีในชุมชน 2. จัดอบรมภาคีเครือข่าย วางแผนการดำเนินงาน และพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่าย 3. จัดให้มีศูนย์ปฏิบัติการระดับชุมชน 4. จัดทำฐานข้อมูลสถานการณ์การใช้สารเคมี 5. จัดทำแผนบูรณาการส่งเสริมการใช้สารชีวภัณฑ์เพื่อลดการใช้สารเคมีในการทำเกษตร 6. จัดทำแผนบูรณาการการดำเนินงานเฝ้าระวังสารฆ่าแมลงในผักสด 7. สร้างภาคีเครือข่ายและพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายในระดับชุมชน 8. เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสุขภาพจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ดังนี้ 8.1 ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้ผ่านหอกระจายข่าวหมู่บ้าน 8.2 ผู้นำชุมชน/อสม. ให้ความรู้ผ่านทางหอกระจายข่าวหมู่บ้าน (แจ้งข่าวร้ายกระจายข่าวดี) 9. จัดการอบรมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเกษตรกรกลุ่มเสี่ยงที่มีสารเคมีในเลือดอยู่ในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัย 10. ตรวจปริมาณสารเคมีในเลือดเกษตรกรซ้ำในกลุ่มตรวจไม่ปลอดภัย และเสี่ยง เพื่อสะท้อนผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อม ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในชุมชน  
     
ผลการศึกษา : 1. ชุมชนผ่านเกณฑ์ปัจจัยพื้นฐานที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี 2. ภาคีเครือข่ายมีข้อมูลสถานการณ์เพื่อเฝ้าระวังการใช้สารเคมีในชุมชน 3. ชุมชนมีแผนงานเฝ้าระวังความปลอดภัยด้านสุขภาพจากสารเคมีในเลือดของประชาชน 4. ภาคีเครือข่ายระดับชุมชนมีส่วนร่วมในการจัดการด้านพฤติกรรมสุขภาพและการใช้สารเคมีในชุมชน 5. ชุมชนมีความปลอดภัยจากสารเคมีที่เกิดจากกระบวนการผลิตและที่ตกค้างในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)