ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : บัตรสีเตือนภัย ห่างไกลสารพิษ
ผู้แต่ง : เสาวนีย์ บุตรวงษ์ และคณะ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : จากรายงานขององค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ เมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๓ พบว่า ในโลกมีสารเคมีที่มนุษย์ผลิตขึ้นมากกว่า ๖ ล้านชนิด ประมาณร้อยละ๑๐ ของจำนวนสารเคมีทั้งหมดเป็นสารเคมีที่ถูกใช้ในชีวิตประจำวัน มีสารเคมีที่เกิดขึ้นใหม่ปี ละ ๑,๐๐๐ ชนิด ในจำนวนนี้เป็นยาฆ่าเชื้อรา มากกว่า ๒๕๐ ชนิด ยาฆ่าหญ้ามากกว่า ๑๕๐ ชนิด ในประเทศไทยมีพื้นที่ทำการเกษตรกรรมอันดับที่ ๔๘ ของโลก แต่ใช้ยาฆ่าแมลงมากเป็นอันดับที่ ๕ ของโลก ใช้ยาฆ่าหญ้าอันดับ ๔ ของโลก และใช้ฮอร์โมนอันดับ ๔ ของโลก มีผู้ป่วยเนื่องจากสารเคมีปีละ ๗๕๐,๐๐๐ คน ในจำนวนนี้เสียชีวิตปีละ ๕๐,๐๐๐ คน สาเหตุมาจากการใช้สารเคมีทำให้ภูมิต้านทานในร่างกายลดลง มีสารเคมีตกค้างในร่างกาย ก่อให้เกิดโรคมะเร็ง (องค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ อ้างถึงในพิพัฒน์ ชนาเทพาพรและคณะ,๒๕๔๗) ในปี พ.ศ.๒๕๔๔-๒๕๔๕ คนไทยเสียชีวิตด้วยสาเหตุจากโรคมะเร็ง มากเป็นอันดับหนึ่ง สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากร่างกายได้รับสารพิษ ซึ่งส่วนใหญ่ปนเปื้อนมากับอาหารและจากการใช้สารเคมีทางการเกษตรปัจจุบันเกษตรกรไทย ยังคงนิยมใช้สารเคมีทางการเกษตรอย่างแพร่หลาย (กมล เลิศรัตน์และคณะ,๒๕๔๔ และพิพัฒน์ ชนาเทพาพรและคณะ,๒๕๔๗) ปัจจุบันสารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืช ได้เข้ามามี บทบาทอย่างยิ่งในการรักษาและเพิ่มผลผลิตทางเกษตรกรรม เนื่องจากประเทศไทยอยู่ในระหว่างการพัฒนาในทุก ๆ ด้าน ทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง ทางการเมือง ด้วยเหตุนี้เกษตรกรของประเทศจึงมีความจำเป็นที่จะต้องแสวงหาวิธีการที่จะทำให้ผลผลิตทางการเกษตรสูงขึ้นทุกวิถีทาง สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชจึงถูกเกษตรกรนำมาใช้โดยไม่จำกัดขอบเขต ทั้งในรูปของปริมาณการใช้ การซื้อหาที่ทำได้อย่างเสรี การนำสารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืชมาใช้นั้น หากมีการใช้อย่างไม่ถูกต้องแล้วจะก่อให้เกิดโทษต่อผู้ใช้ ผู้บริโภค และสิ่งแวดล้อม ต่าง ๆโดยพบว่ามีผู้ป่วยอันเกิดจากการแพ้สารเคมีป้องกันและกำจัดแมลงศัตรูพืช โดยเฉพาะเกษตรกร มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จากการรายงานการเฝ้าระวังโรค (รง. ๕๐๖) สำนักระบาดวิทยา ปี พ.ศ. ๒๕๔๕ พบว่า ผู้ป่วยโรคพิษสารกำจัดศัตรูพืชจำนวน ๒,๕๗๑ ราย คิดเป็นอัตราป่วย ๔.๑๑ ต่อประชากรแสนคน จำแนกเป็นเพศชาย ๑,๕๐๖ ราย เพศหญิง ๑,๐๖๕ ราย ในจำนวนผู้ป่วยทั้งหมดมีผู้เสียชีวิต ๑๑ ราย คิดเป็นอัตราตาย ๐.๐๒ ต่อประชากรแสนคน และอัตราป่วยตายร้อยละ ๐.๔ สถานการณ์การใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชของจังหวัดกาฬสินธุ์พบว่า ในปี พ.ศ. ๒๕๔๙ จากข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้สำรวจพบว่า ปริมาณสารเคมีที่จำหน่ายในจังหวัดกาฬสินธุ์ มีไม่ต่ำกว่า ๑๐,๐๐๐ ลิตรต่อปี มีจำนวนชนิดมากกว่า ๑๐ ชนิด สารเคมีที่ใช้มากที่สุด คือ พาราควอท ไดคลอไรด์ (Paraquat dichloride) ซึ่งเป็นยาฆ่าหญ้า รองลงมาคือสารเคมีกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต(Organophosphate) และกลุ่มคาร์บาเมต(Carbamate) ซึ่งใช้ในกลุ่มเกษตรกรที่ปลูกไม้ผล ได้แก่ มะม่วงมหาชนก พุทธทรา และพืชล้มลุกเช่น แตงโม แตงกวา พืชผักต่างๆ อันตรายจากสารเคมีในเลือดเกษตรกรสามารถเฝ้าระวังอันตรายได้โดยการตรวจหาเอนไซม์ โคลีนเอสเตอรเรส จากการดำเนินการตรวจหาสารเคมีในเลือดเกษตรกร ในปี พ.ศ.๒๕๕๓-๒๕๕๔ พบว่ามีเกษตรกรที่ตรวจพบระดับเสียงและไม่ปลอดภัยมีจำนวนคิดเป็นร้อยละ ๔๕.๗๗ และ ๕๕.๓๓ ตามลำดับ ซึ่งเมื่อเทียบกับระดับประเทศที่มีความเสี่ยงและไม่ปลอดภัยคิดเป็นร้อยละ ๓๐.๕๔และ๓๔ ตามลำดับ สถานการณ์ระดับสารเคมีในเลือดเกษตรกรของอำเภอหนองกุงศรี พบว่า ในปี ๒๕๕๔-๒๕๕๗ ระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยมีจำนวนร้อยละ๖๗.๘๐,๗๒.๔๐และ๖๔.๗๓ พบว่าเกษตรกรมีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงในกลุ่มออร์แกโนฟอสเฟต จำนวนมากที่สุด ในการกำจัดหนอนและแมลงศัตรูพืชในพืชผักที่ปลูกขายส่งตลาดและพืชเศรษฐกิจ เช่น มะม่วง อ้อย เป็นต้น โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลห้วยยางดงได้ดำเนินการตรวจเฝ้าระวังสารเคมีในเลือดเกษตรกรตั้งแต่ปี ๒๕๕๖-๒๕๕๗ พบว่ามีระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยคิดเป็นร้อยละ๖๘.๐๒ และ ๖๗.๖๖ ตามลำดับ จากการดำเนินงานพบว่าการเข้าถึงกิจกรรมการขับสารพิษในกลุ่มเสี่ยงและไม่ปลอดภัยในปี ๒๕๕๖ พบว่ามีความครอบคลุมร้อยละ ๓๒.๐๙ และในปี๒๕๕๗ ร้อยละ ๒๙.๓๘ ซึ่งจากการสอบถามพบว่าประชาชนขาดความตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมีในเลือดเกษตรกร เนื่องจากสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติไม่เกิดผลข้างเคียงหรือแสดงอาการเจ็บป่วยกระทันหันประกอบกับขาดทางเลือกในการใช้สารกำจัดศัตรูพืชแทนการใช้ยาฆ่าแมลงจึงไม่สามารถที่จะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีกำจัดศัตรูพืชได้ จากสภาพปัญหาดังกล่าว โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านห้วยยางดง จึงได้หาแนวทางและกระบวนการที่จะนำมาใช้ในการแก้ไขปัญหา โดยใช้“บัตรสีเตือนภัย ห่างไกลสารพิษ” โดยมีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรที่ตรวจเลือดที่เป็นกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มไม่ปลอดภัยได้รับรู้ข้อมูลสถานะสุขภาพความเสี่ยงด้านสารเคมีตกค้างในกระแสเลือด เกิดความรู้เรื่องอันตรายจากสารเคมีในเลือดเกษตรกร ตลอดจนทราบแนวทางการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในระดับบุคคล เกิดความตระหนักนำมาสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์เพื่อให้ปลอดภัยจากสารเคมีในเลือดเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป  
วัตถุประสงค์ : ๑. เพื่อประเมินและเฝ้าระวังสภาวะสุขภาพจากสารเคมี ในประชาชนอายุ ๑๕-๖๐ ปี ๒. เพื่อให้เกษตรกรกลุ่มเสี่ยงและไม่ปลอดภัยเกิดความตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมีในเลือด เกษตรกร ๓. เพื่อให้กลุ่มเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยงสูงเกิดกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์และ เข้าสู่กระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดสารเคมีในเลือดเกษตรกร  
กลุ่มเป้าหมาย : เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง อายุ ๑๕ –๖๐ ปี ในเขตรับผิดชอบ  
เครื่องมือ : แบบคัดกรอง โดยใช้กระดาษทดสอบเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ๑. เตรียมข้อมูลสถานะสุขภาพ กลุ่มเป้าหมายในการคัดกรอง เกษตรกรกลุ่มเสี่ยง อายุ ๑๕ –๖๐ ปี ๒.ประชาสัมพันธ์ทางหอกระจายข่าวให้กลุ่มเป้าหมายทราบ พร้อมนัด วัน เวลาและสถานที่ในการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในกลุ่มเสี่ยง ๓. เตรียมเครื่องมือและอุปกรณ์ในการตรวจคัดกรองการตรวจเลือด โดยใช้กระดาษทดสอบเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรส ๔. ดำเนินการตรวจหาสารเคมีกำจัดศัตรูพืชตกค้างในกลุ่มเกษตรกร ๕. จำแนกประชาชนที่ผลการตรวจพบระดับสารเคมีในเลือด ออกเป็น ๔ ระดับประกอบด้วย - ระดับไม่ปลอดภัย ระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดต่ำกว่า ๗๕ หน่วยต่อมิลลิลิตร - ระดับเสี่ยง ระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ ๗๕ หน่วยต่อมิลลิลิตร - ระดับปลอดภัย ระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ ๘๗.๕หน่วยต่อมิลลิลิตร - ระดับปกติ ระดับเอ็นไซม์โคลีนเอสเตอเรสในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ ๑๐๐ หน่วยต่อมิลลิลิตร ๖. แจ้งผลการตรวจ และให้คำแนะนำด้วยบัตรสีเตือนภัยห่างไกลสารเคมี โดยแบ่งเป็น ๔ สี ดังนี้ - ระดับไม่ปลอดภัย แจ้งผลด้วยบัตรสี แดง - ระดับเสี่ยง แจ้งผลด้วยบัตรสี เหลือง - ระดับปลอดภัย แจ้งผลด้วยบัตรสี เขียว - ระดับปกติ แจ้งผลด้วยบัตรสี ขาว ในกลุ่มที่ได้รับบัตรสีแดงและสีเหลืองจะได้รับคู่มือสำหรับการล้างพิษในประชาชนและเข้าสู่กระบวนการขับสารพิษ ๒ วิธีคือ - การอบสมุนไพร อบสมุนไพรติดต่อกัน ๓ วันติดต่อกันแต่ละครั้งอบนาน ๓๐ นาที - การรับประทานชาชงรางจืด โดยทานชารางจืดวันละ๑ครั้งในตอนเช้าครั้งละ ๕ กรัมติดต่อกัน ๒ สัปดาห์ ๘. ติดตามและประเมินผลการดำเนินงาน  
     
ผลการศึกษา : จากผลการดำเนินงานพบว่าก่อนที่จะมีการนำนวัตกรรมบัตรสีเตือนภัยห่างไกลจากสารเคมีมาใช้พบว่า พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยเข้าสู่กระบวนการขับพิษ เพียงร้อยละ ๒๗.๑๔ แต่หลังจากที่มีการใช้บัตรสีเตือนภัย ห่างไกลสารเคมีในเลือดเกษตรกรมาใช้ พบว่ามีกลุ่มเสี่ยงและกลุ่มที่ไม่ปลอดภัยเข้าสู่กระบวนการขับพิษ คิดเป็นร้อยละ๙๓.๑๗ เพิ่มขึ้นร้อยละ ๖๖.๐๓ จะเห็นได้ว่ากลุ่มที่ใช้บัตรสีมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นมากกว่ากลุ่มไม่ใช้บัตรสี อันเนื่องมาจาก กลุ่มที่ใช้บัตรสี มีส่วนร่วมในการร่วมกิจกรรมมากกว่าตลอดจนกลุ่มมีการรับรู้สภาวะสุขภาพของตนเอง มีความรู้เรื่องสารเคมี รับรู้โทษและภัยจากสารเคมี ตระหนักถึงการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพจากการใช้สีในการเตือนระดับของอันตราย แสดงให้เห็นว่าบัตรสีเตือนภัยห่างไกลสารพิษ ทำให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายจากสารเคมีในเลือดเกษตรกรมีความสนใจที่จะทำให้ตัวเองปลอดภัยจากสารเคมีในเลือดเกษตรกร เหมือนกับบุคคลอื่น ทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและเข้าร่วมกิจกรรมการขับสารพิษอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ มากกว่ากลุ่มไม่ใช้บัตรสี  
ข้อเสนอแนะ : ๑.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานของภาคีเครือข่ายด้านสุขภาพ โดยเฉพาะภาคประชาชนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ๒.รูปแบบการดำเนินงานควรเน้นหนักในส่วนของกระบวนการทำงานและแนวทางการปฏิบัติที่หลากหลาย เพื่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทุกขั้นตอนจะต้องเน้นการมีส่วนร่วมของชุมชน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง