ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : วิเคราะห์ข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ประมวล สะภา ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคมาลาเรียยังคงเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของโลกอีกโรคหนึ่ง ซึ่งโรคมาลาเรียเป็นโรคที่พบมาเป็นเวลานาน ซึ่งส่วนใหญ่มีการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียตามแนวบริเวณที่เป็นป่าเขาและมีแหล่งน้ำ โดยมียุงก้นปล่อง ซึ่งเป็นพาหะนำโรคมาลาเรีย ในปี 2013 มีผู้ที่ป่วยด้วยโรคมาลาเรียประมาณ 198,000,000 คน และเสียชีวิตด้วยโรคมาลาเรียประมาณ 584,000 คน โดยส่วนใหญ่แล้วพบผู้ป่วยในแถบทวีปแอฟริกา โดยในปี 2014 องค์กรอนามัยโลก ประมาณการณ์ว่ามีผู้ที่มีความเสี่ยงต่อการที่จะได้รับเชื้อมาลาเรียถึง 3,300,000,000 คน(1) และสำหรับในประเทศไทยนั้น โรคมาลาเรียก็ยังคงเป็นโรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญอีกโรคหนึ่ง ซึ่งยังเป็นปัญหาสำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการระบาดของโรคมาลาเรีย ถึงแม้ว่าโรคมาลาเรียจะไม่ได้เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตในอันดับต้น ๆ ของประเทศไทยก็ตาม แต่ก็ยังไม่สามารถที่จะกวาดล้างให้โรคมาลาเรียหมดไปได้ ซึ่งในประเทศไทยใน พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วย 16,196 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 25.20 ต่อประชากรแสนคน และมีผู้เสียชีวิต 17 ราย อัตราตาย 0.027 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยภาคใต้ มีอัตราป่วยสูงสุด 54.84 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคเหนือ 46.94 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง 16.55 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10.23 ต่อประชากรแสนคน(2) ส่วนใน พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วยโรคมาลาเรีย จำนวน 14,740 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 22.81 ต่อประชากรแสนคน มีผู้เสียชีวิต 6 ราย อัตราตาย 0.01 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยภาคใต้ ซึ่งมีอัตราป่วยสูงที่สุด 88.13 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคเหนือ พบอัตราป่วย 30.40 ต่อประชากรแสนคน ภาคกลาง พบอัตราป่วย 8.36 ต่อประชากรแสนคน และภาคตะวันออกเฉียงเหนืออัตราป่วย 5.96 ต่อประชากรแสนคน(3) และใน พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย 11,140 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 17.28 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 3 รายโดยพบผู้ป่วยภาคใต้ ที่มีอัตราป่วยสูงที่สุด คิดเป็นอัตราป่วย 41.25 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราป่วย 17.84 ต่อประชากรแสนคน ภาคเหนือ อัตราป่วย 16.71 ต่อประชากรแสนคน และภาคกลาง 7.12 ต่อประชากรแสนคน(4) ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วโรคมาลาเรีย มีอยู่ทั้งหมด 5 ชนิด แต่ที่สามารถพบได้บ่อย ๆ ในประเทศไทยและพื้นที่ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คือ Plasmodium falciparum และ Plasmodium vivax เป็นส่วนใหญ่(5) ซึ่งกระทรวงสาธารณสุขร่วมกับองค์กรมาลาเรียนานาชาติ ได้ร่วมกันกำหนดแนวทางนโยบายและทิศทางในการแก้ไขปัญหาโรคมาลาเรียทั่วโลกเพื่อกวาดล้างโรคมาลาเรียให้หมดไปจากโลกภายใน พ.ศ. 2583 และในส่วนของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงพบว่า มีอัตราป่วยของโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งพบจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรีย ในเขตบริการสุขภาพที่ 7 และ 8 (ทั้งหมด 11 จังหวัด) ในปี พ.ศ. 2555 พบผู้ป่วย จำนวน 766 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 7.17 ต่อประชากรแสนคน ผู้เสียชีวิตจำนวน 2 ราย และพบอัตราป่วยตาย 0.26 ต่อประชากรแสนคน พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ คิดเป็นอัตราป่วย 49.46 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ จังหวัดสกลนคร คิดเป็นอัตราป่วย 17.11 ต่อประชากรแสนคน ส่วนใน พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วย 197 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 1.90 ต่อประชากรแสนคน เสียชีวิต 1 ราย อัตราป่วยตาย 0.50 ต่อประชากรแสนคน โดยพบผู้ป่วยสูงที่สุด คือจังหวัดกาฬสินธุ์ อัตราป่วย 5.81 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือจังหวัดนครพนม คิดเป็นอัตราป่วย 4.86 ต่อประชากรแสนคน และใน พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย 66 ราย คิดเป็น อัตราป่วย 0.68 ต่อประชากรแสนคน ไม่พบผู้ที่เสียชีวิต โดยพบผู้ป่วยสูงที่สุด คือจังหวัดอุดรธานี คิดเป็นอัตราป่วย 3.50 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ จังหวัดกาฬสินธุ์ คิดเป็น อัตราป่วย 3.35 ต่อประชากรแสนคน(6) จากสถานการณ์ของโรคมาลาเรีย จะพบได้ว่าในเขตพื้นที่ของจังหวัดกาฬสินธุ์ มีการระบาดของโรคมาลาเรียเป็นอันดับต้น ๆ ของทุกปีในช่วง พ.ศ. 2555-2557 ซึ่งปัจจัยการแพร่กระจายของเชื้อมาลาเรียยังอาจจะเกี่ยวข้องกับการเข้าไปบุกรุกป่าไม้ ภูเขา ทั้งเพื่อทำการเกษตรและหาของป่าอีกทั้งยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่อาจเกี่ยวข้องกับการติดเชื้อมาลาเรีย เช่น การเข้าไปนอนพักค้างคืนในพื้นที่ที่มีการระบาดของโรค การไม่ใช้อุปกรณ์ในการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด สภาพแวดล้อม สถานที่ทำงาน ที่อยู่อาศัย อยู่ใกล้บริเวณภูเขาหรือป่าที่มียุงก้นปล่องหนาแน่น เป็นต้น จึงอาจทำให้มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียทำให้มีโอกาสติดเชื้อมาลาเรียสูงซึ่งจะส่งผลกะทบ ต่อทั้งทางร่างกาย จิตใจ รวมถึงผลกระทบต่อเศรษฐกิจของครัวเรือน รวมทั้งค่ารักษาพยาบาล เป็นต้น ส่วนจำนวนผู้ป่วยโรคมาลาเรียในเขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งหมด 18 อำเภอ ในพ.ศ. 2555 พบผู้ป่วย 484 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 49.46 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ อำเภอสมเด็จ อัตราป่วย 475.12 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอคำม่วง อัตราป่วย 321.06 ต่อประชากรแสนคน ใน พ.ศ. 2556 พบผู้ป่วย 57 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 5.81 ต่อประชากรแสนคน และไม่มีผู้ที่เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ อำเภอสมเด็จ อัตราป่วย 56.56 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอคำม่วง อัตราป่วย 29.00 ต่อประชากรแสนคน และ พ.ศ. 2557 พบผู้ป่วย 12 ราย อัตราป่วย 3.35 ต่อประชากรแสนคน ไม่มีผู้เสียชีวิต พบผู้ป่วยสูงที่สุด คือ อำเภอสมเด็จ อัตราป่วย 5.96 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา คือ อำเภอกุฉินารายณ์ อัตราป่วย 4.87 ต่อประชากรแสนคน(6) จะเห็นได้ว่าในอำเภอสมเด็จ จะพบว่ามีอัตราป่วยสูงที่สุดเป็นอันดับต้น ๆ ในแต่ละปี ซึ่งเขตที่ตั้ง สภาพภูมิอากาศและสภาวะสิ่งแวดล้อมของอำเภอสมเด็จอยู่ติดกับบริเวณแนวเทือกเขาภูพาน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธ์ยุงพาหะและการแพร่เชื้อมาลาเรีย ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่เอื้อต่อการติดเชื้อของโรคมาลาเรียและประชาชนบางส่วนมีการเข้าไปประกอบอาชีพในป่าไม้ หรือภูเขา เป็นประจำ อีกทั้งบ้านเรือนที่อยู่ อาศัย ของประชาชนส่วนใหญ่ก็อาศัยอยู่ตามแนวเทือกเขาภูพาน ในการดำเนินงานควบคุม ป้องกัน โรคมาลาเรียในที่ผ่านมา ได้มีการดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่องแต่การระบาดของโรคมาลาเรียยังมีอยู่ ซึ่งสาเหตุอาจเนื่องมาจากปัจจัยต่าง ๆ ที่ส่งผลให้มีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ซึ่งหากทราบปัจจัยต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียก็จะสามารถนำข้อมูลจากการศึกษาไปใช้เป็นข้อมูลแนวทางการป้องกัน ควบคุมโรค ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ จากเหตุผลดังกล่าว ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ในเขตอำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อใช้เป็นข้อมูลแนวทางในการวางแผนลดอัตราป่วยของโรคมาลาเรียและการวางแผนในการควบคุม ป้องกันโรคอย่างเหมาะสมต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อหาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มผู้ป่วย 1 ราย ต่อกลุ่มเปรียบเทียบ 2 ราย กลุ่มผู้ป่วย (Case) คือ ผู้ป่วยด้วยโรคมาลาเรียที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์ในช่วง พ.ศ. 2555 – 2557 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ กลุ่มเปรียบเทียบ (Control) คือ ผู้ป่วยในสถานพยาบาลที่ไม่ได้ป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับผู้ป่วย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ เป็นแบบสัมภาษณ์ ตามกรอบแนวคิดที่ได้จากการทบทวนงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง ซึ่งลักษณะของแบบสัมภาษณ์แบ่งเป็น 3 ส่วน ดังนี้ ส่วนที่ 1 ปัจจัยส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ปัจจัยด้านพฤติกรรม ส่วนที่ 3 ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.สร้างเคื่องมือและทดสอบคุณภาพ 2. คัดเลือกกลุ่มเป้าหมาย และประสานงานเพื่อลงพื้นที่เก็บข้อมูล 3. เก็บและวิเคราะห์ข้อมูล 4. จัดทำรายงานฉบับมบูรณ์  
     
ผลการศึกษา : ผลการวิจัยที่ได้จากการวิเคราะห์ถดถอยพหุลอจีสติก แบบมีเงื่อนไข (Multiple conditional logistic regression) สามารถอภิปรายผลการวิจัยในส่วนผลการศึกษา “ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยด้วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์” ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้ 1. พฤติกรรมการใช้มุ้ง การนอนในมุ้งทุกชนิดที่ไม่ขาดหรือชำรุดมีการเก็บขอบชายมุ้งให้ดี มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 (P-value=0.005) ผู้ที่ ไม่ปฏิบัติเลย/บางครั้ง มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย มากกว่าผู้ปฏิบัติเป็นประจำ เป็น 9.17 เท่า 95% CI = 1.96-48.15 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ มยุรี วรรณไกรโรจน์ (2537) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการปฏิบัติ ในการป้องกันโรคมาลาเรียของชาวบ้าน บ้านจ้อง ตำบลโป่งผา อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พบว่า ส่วนใหญ่มีการนอนในมุ้ง เป็นประจำ ในการป้องกันโรคมาลาเรีย ร้อยละ 85.4 รัศมี ศรีชื่น (2548) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อมาลาเรีย ในพื้นที่ชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ จังหวัดระนอง, ประยุทธ สุดาทิพย์ (2541) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการป่วยเป็นไข้มาลาเรียชนิดพลาสโมเดียมฟัลซิปารัมซ้ำในผู้ป่วยมาลาเรียที่มารับการรักษา ณ มาลาเรียคลินิก จังหวัดกาญจนบุรี, ไพบูลย์ เอี่ยมขำ (2543) ซึ่งทำการศึกษาพฤติกรรมการใช้มุ้งชุบสารเคมีกับการติดเชื้อมาลาเรีย อำเภอปากท่อ จังหวัดราชบุรี และการศึกษาของ จตุพร พงศ์ศิริ (2551) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงที่มีความสัมพันธ์กับการติดเชื้อไข้มาลาเรียของประชาชนในชุมชนพื้นที่ ชายแดนไทย – พม่า อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้มุ้งกางนอนเป็นประจำมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เป็น 1.289 , 1.72, 12, 0.63 เท่าตามลำดับ 2.1.2 พฤติกรรมการใช้มุ้ง การเข้าไปพักค้างแรมหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้มาลาเรีย มีการใช้มุ้งกางนอน (ทุกชนิดที่ไม่ขาดหรือชำรุด) มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 (P-value<0.001) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเลย/บางครั้ง มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย มากกว่าผู้ปฏิบัติเป็นประจำ เป็น 15.88 เท่า 95% CI = 3.71-67.93 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ รัศมี ศรีชื่น (2548) พบว่า ผู้ที่เคยเข้าไปพักค้างนอกพื้นที่อาศัย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมาลาเรียมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยเข้าไปพักค้างคืนนอกพื้นที่อาศัย เป็น 3.738 เท่า การศึกษาของ จตุพร พงศ์ศิริ (2551) พบว่า ผู้ที่เคยเดินทางไปพักค้างแรมนอกพื้นที่อาศัย จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย เป็น 2.11 เท่า อาจเนื่องมาจากประชาชนที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคมาลาเรียส่วนใหญ่มีการเข้าไปพักค้างแรมหรืออาศัยบนภูเขาตามแนวเทือกเขาภูพาน เพื่อเข้าไปประกอบอาชีพต่าง ๆ อีกทั้งยังขาดการป้องกันตนเองในการป้องกันยุงกัดและส่วนใหญ่เมื่อเข้าไปพักค้างแรมในพื้นที่เสี่ยงแล้วไม่มีการใช้มุ้งกางนอนเพื่อป้องกันยุงกัด ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคมาลาเรียได้ 2.1.3 การป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด การทายาป้องกันยุงกัด มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 (P-value<0.001) ผู้ที่ไม่ปฏิบัติเลย/บางครั้ง มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อมาลาเรีย มากกว่าผู้ปฏิบัติเป็นประจำ เป็น 6.50 เท่า 95% CI = 2.67-15.74 ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาของ รัศมี ศรีชื่น (2548) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อมาลาเรียในพื้นที่ชายแดนไทย – สหภาพเมียนมาร์ จังหวัดระนอง พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้ยาทากันยุง จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เป็น 0.816 เท่าการศึกษาของ ประยุทธ สุดาทิพย์ (2541) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการป่วยเป็นไข้มาลาเรียชนิดพลาสโมเดียมฟัลซิปารัมซ้ำในผู้ป่วยมาลาเรียที่มารับการรักษา ณ มาลาเรียคลินิก จังหวัดกาญจนบุรี พบว่า ผู้ที่ไม่ใช้ยาทากันยุงเมื่อไปค้างคืนในป่า มีอัตราเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคมาลาเรีย เป็น 3.58 เท่า ส่วนการศึกษาของ ไพฑูรย์ มุสิกรัตน์ (2554) ซึ่งทำการศึกษาปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันโรคมาลาเรียของประชาชนตามแนวชายแดนไทย – กัมพูชา อำเภอบ่อไร่ จังหวัดตราด พบว่าประชาชนส่วนใหญ่ ทายากันยุงก่อนเข้าไปในป่าและสวน ร้อยละ 97.3  
ข้อเสนอแนะ : จากผลการศึกษา ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับการป่วยโรคมาลาเรีย ระหว่าง พ.ศ. 2555 – 2557 อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ควรมีการวางแผนการป้องกัน ควบคุม การติดเชื้อมาลาเรียในกลุ่มที่เคยเข้าไปพักค้างแรมหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้มาลาเรีย เนื่องจากกลุ่มที่เคยเข้าไปพักค้างแรมหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้มาลาเรียนี้ พบอัตราเสี่ยงต่อการป่วยโรคมาลาเรียสูง ซึ่งหากมีการติดเชื้อมาลาเรียกลับเข้ามาในพื้นที่หรือหมู่บ้านก็จะส่งผลให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของโรคมาลาเรียเพิ่มขึ้น จึงควรมีการเฝ้าระวัง มีการตรวจคัดกรองผู้ที่เข้าไปพักค้างแรมหรืออาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อไข้มาลาเรียอย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกัน ควบคุมโรค และให้การรักษาอย่างทันท่วงที และช่วยลดหรือตัดวงจรการแพร่เชื้อได้ นอกจากนี้ ลักษณะปัจจัยส่วนบุคคล พฤติกรรมการป้องกันโรคมาลาเรีย ทั้งด้านพฤติกรรมการใช้มุ้ง ด้านการป้องกันตนเองไม่ให้ยุงกัด ด้านการพ่นสารเคมีชนิดมีฤทธิ์ตกค้าง และปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าพฤติกรรมการป้องกันโรคมาลาเรียที่ถูกต้องนั้น ยังมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคมาลาเรีย จึงควรมีการสนับสนุน ส่งเสริมให้ประชาชน มีความรู้ในการป้องกันตนเองจากโรคมาลาเรียอย่างถูกต้อง และต่อเนื่อง ข้อเสนอแนะในการศึกษาครั้งต่อไป ควรมีการศึกษาปัจจัยเสี่ยงของการป่วยโรคมาลาเรียในพื้นที่อื่น ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับการศึกษาครั้งนี้ ซึ่งจะทำให้สามารถเข้าใจและทราบสาเหตุของการป่วยในประชาชนได้ถูกต้อง ควรมีการศึกษาแบบ systematic review เพื่อศึกษาหาปัจจัยต่าง ๆ ที่มีผลต่อการป่วยโรคมาลาเรีย ซึ่งจะส่งผลทำให้ทราบสาเหตุต่อการป่วยโรคมาลาเรีย และหาแนวทางในการป้องกัน ควบคุมโรคที่มีประสิทธิภาพต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ