ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การประยุกต์ใช้แพทย์ทางเลือกในการดูแลสุขภาพ ผู้ป่วยโรคเบาหวานความดันโลหิตสูงที่มารับบริการในโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สายรุ้ง วงศ์ศิริ,สุมาต พินิจ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : จากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสังคมวัฒนธรรมและเศรษฐกิจทำให้วิถีการดำเนินชีวิตของคนไทยเปลี่ยนไปต้องใช้ชีวิตแบบรีบเร่งแข่งขันกันทำมาหากินต้องเผชิญกับความเครียดรับประทานอาหารแบบเร่งด่วนขาดการออกกำลังกายไม่มีเวลาดูแลสุขภาพของตนเองจนก่อให้เกิดโรคตามมาจากเดิมจะป่วยด้วยโรคติดต่อแต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนมาป่วยด้วยโรคไม่ติดต่อเรื้อรังแทนซึ่งได้แก่โรคเบาหวานโรคความดันโลหิตสูงโรคหลอดเลือดหัวใจและสมองซึ่งโรคต่างๆเหล่านี้ต้องใช้ต้นทุนในการรักษาพยาบาลสูงมาก องค์การอนามัยโลกรายงานว่าทั่วโลกมีผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมากถึงพันล้านคนซึ่งสองในสามของจำนวนนี้อยู่ในประเทศกำลังพัฒนาโดยประชากรวัยผู้ใหญ่ทั่วโลก 1 ใน 3 คนมีภาวะความดันโลหิตสูงและประชากรวัยผู้ใหญ่ในเขตเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก็พบมี 1 คนใน 3 คนทีมีภาวะความดันโลหิตสูงเช่นกันและได้คาดการณ์ว่าในปีพ.ศ.2568 (ค.ศ. 2025) ประชากรทั่วโลกจะป่วยเป็นโรคความดันโลหิตสูง 1.56 พันล้านคนโดยโรคความดันโลหิตสูงเป็น 1 ในสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและยังเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตเกือบร้อยละ 50ด้วยโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและโรคหัวใจ สถานการณ์โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงในประเทศไทยพบว่าเป็นโรคเรื้อรังอันดับต้นของประเทศที่ส่งผลกระทบต่อตัวผู้ป่วยและครอบครัวต้องใช้งบประมาณสูงเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาพยาบาลอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เริ่มค้นพบว่าป่วยเป็นเบาหวาน ความดันจนกระทั่งเสียชีวิตจากข้อมูลสถิติสาธารณสุขในช่วง10ปีที่ผ่านมาพบว่ามีอัตราป่วยและอัตราตายในผู้ป่วยโรคเบาหวานสูงขึ้นโดยอัตราตายของโรคเบาหวานต่อแสนประชากรเท่ากับ12.3และอัตราป่วยเฉพาะผู้ป่วยในต่อแสนประชากรเท่ากับ444.6 (ไม่รวมข้อมูลจากผู้ใช้บริการในสถานบริการเอกชนต่างๆ) และพบอัตราผู้ป่วยมากที่สุดในภาคกลางรองลงมาคือ ภาคตะวันออกและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นภัยเงียบที่ส่งผลกระทบทำให้เกิดความพิการ และตายก่อนวัยอันควร มีสาเหตุจากปัจจัยเสี่ยงหลายปัจจัย ที่เกิดจากพฤติกรรม วิถีชีวิต สิ่งแวดล้อม และพันธุกรรม ได้แก่การบริโภคอาหารที่ไม่ได้สัดส่วน การขาดการออกกำลังกาย ภาวะน้ำหนักเกินและอ้วน การสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เกิน ความเครียดเรื้อรัง ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวส่วนใหญ่เป็นอิทธิพลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบทุนนิยม ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ และสังคมที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาทางด้านวัตถุ ทำให้ค่านิยม วัฒนธรรม วิถีชีวิตของคนไทยเปลี่ยนแปลงไป ส่วนสถานการณ์ปัญหาโรคเรื้อรังไม่ติดต่อ โดยเฉพาะโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูงของจังหวัดกาฬสินธุ์ได้ดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เป้าหมายเน้นหนักในกลุ่มประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ครอบคลุมประชากรทั้งกลุ่มปกติ กลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในปี 2557 พบว่าอัตราการคัดกรองเบาหวาน ในกลุ่มประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไป ร้อยละ 86.79 ผลการคัดกรองแยกเป็นกลุ่มปกติร้อยละ 89.91กลุ่มเสี่ยงร้อยละ 7.33 และกลุ่มสงสัยรายใหม่ร้อยละ 2.76 ประชากรกลุ่มเสี่ยงได้รับการปรับเลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ 39.79 ตามปัญหาสุขภาพในพื้นที่ร่วมกับใช้หลัก 3อ. 2ส. หลังได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นกลุ่มปกติ ร้อยละ30.82 และการคัดกรองความดันโลหิตสูงในกลุ่มประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไปร้อยละ 76.88 จากการคัดกรองแยกแยกเป็นกลุ่มปกติร้อยละ 77.25พบกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 21.17 และสงสัยรายใหม่ร้อยละ 1.58 กลุ่มเสี่ยงได้รับการปรับเลี่ยนพฤติกรรมร้อยละ22.43 หลังได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยงเปลี่ยนเป็นกลุ่มปกติ ร้อยละ37.04อัตราความชุกของผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดสมอง จากปี 2552 - 2554 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปี2554-2557 อัตราความชุกมีการชะลอเนื่องจาก (สรุปผลการดำเนินงานตามแผนการตรวจราชการ ฯจังหวัดกาฬสินธุ์, 2558) ส่วนสถานการณ์โรคเบาหวานและความดันโลหิตสูงของอำเภอสมเด็จ พบว่าประชากรอายุ 35 ปีขึ้นไปได้รับการคัดกรองร้อยละ 85.61 และ 88.65 เป็นกลุ่มเสี่ยงร้อยละ 7.25 และ 7.89 กลุ่มเสี่ยงได้รับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ร้อยละ61.55 และ 27.84 กลุ่มเสี่ยงเบาหวานป่วยเป็นเบาหวานรายใหม่ร้อยละ 0.33 ผู้ป่วยเบาหวานมีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 12.83 แยกเป็นแทรกซ้อนทางตา, เท้า, ไต,มีแผลที่เท้าร้อยละ 2.11, 8.49,4.34 และ 0.9 ตามลำดับ ส่วนผู้ป่วยความดันโลหิตสูงพบว่ามีภาวะแทรกซ้อน ร้อยละ 2.58 แยกเป็นภาวะแทรกซ้อนทางไต, หลอดเลือดหัวใจ และหลอดเลือดสมอง ร้อยละ 0.28, 0.56 และ 1.03 ตามลำดับ จากปัญหาดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติฉบับที่ 11 ที่ได้มุ่งเน้นระบบสุขภาพแบบพอเพียงส่งเสริมการดูแลสุขภาพด้วยตนเองโดยใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นเช่นการบำบัดรักษาความเจ็บป่วยด้วยการแพทย์แผนไทยซึ่งการแพทย์แผนไทยเป็นกรรมวิธีทางภูมิปัญญาที่อิงความเป็นธรรมชาติ และสอดคล้องกับวิถีชีวิตของคนไทยอีกทั้งยังเป็นการรักษาความเจ็บป่วยแบบองค์รวมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งด้านสุขภาพที่ประชาชนสามารถดูแลป้องกันตัวเองได้ทั้งด้านการส่งเสริมสุขภาพการป้องกันโรคการรักษาพยาบาลการฟื้นฟูสมรรถภาพ และการเฝ้าระวังโรคในการบำบัดรักษาโรคด้วยการแพทย์แผนไทยได้ใช้วิธีการอย่างหลากหลาย เพื่อให้ได้ผลการรักษาทั้งทางร่างกายและจิตใจเช่นการใช้ธรรมชาติบำบัดการใช้สมุนไพรในท้องถิ่นการใช้พิธีกรรมความเชื่อ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทาน การดื่มน้ำ เป็นต้น แพทย์ทางเลือกเป็นอีกทางหนึ่งที่ให้การดูแลสุขภาพในผู้ป่วยโรคเรื้อรังควบคู่ไปกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ให้มีประสิทธิภาพในการรักษาความเจ็บป่วยและเป็นการลดการใช้ยาแผนปัจจุบันที่มากเกินความจำเป็นในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง รวมทั้งผู้ป่วยสามารถนำกลับไปปฏิบัติใช้ที่บ้านเพื่อดูแลสุขภาพตนเองได้ โดยหน่วยงานสาธารณสุขได้มีการดูแลเชิงรุกถึงระดับชุมชน สุขศาลา และมีนักจัดการแกนนำสุขภาพ อสม.เชี่ยวชาญในการดูแลเบาหวาน ความดันโลหิตสูงครอบคลุมทุกพื้นที่ อัตราอุบัติการณ์ของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือด และหลอดเลือดสมอง มีแนวโน้มลดลง ในปี 2555 – 2557 ก็ตาม แต่ยังพบว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของผู้ป่วยยังขาดความต่อเนื่อง และยั่งยืน เนื่องจากกิจกรรมส่วนใหญ่จะดำเนินการโดยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โดยการนัดผู้ป่วยเข้ารับการตรวจรักษา และอบรมเพิ่มเติม ซึ่งมักเป็นการอบรมในระยะเวลาสั้นและไม่ต่อเนื่อง ผู้ป่วยส่วนใหญ่ขาดความตระหนักในการดูแลสุขภาพของตนเอง ไม่ค่อยให้ความใส่ใจในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพของตนเอง เช่น การรับประทานอาหารที่ไม่ถูกกับโรค การขาดการออกกำลังกาย ตลอดจนการปฏิบัติตัวอื่นๆ ที่ ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถควบคุมโรคของตนเองได้ดีพอส่งผลให้อาการของโรคเลวลง ผู้ป่วยต้องคอยพึ่งพิงการดูแลจากบุคลากรสาธารณสุขเป็นส่วนใหญ่ บางส่วนเกิดภาวะแทรกซ้อนหรือบางรายถึงแก่ชีวิตส่งผลกระทบต่อภาระค่าใช้จ่าย และคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวดังนั้น อำเภอสมเด็จจึงมีแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบการจัดบริการเพื่อส่งเสริมการดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน และความดันโลหิตสูง โดยให้แพทย์ทางเลือกที่หลากหลาย สามารถใช้วัสดุและทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เน้นความสะดวก ประหยัด ทำง่าย เหมาะสมกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชน ควบคู่กับการรับบริการจากสถานบริการของรัฐเน้นการส่งเสริมและสร้างสมรรถนะให้ผู้ป่วยสามารถบำบัดโรคและดูแลสุขภาพด้วยการพึ่งตนเองให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพที่ดี ลดภาวะแทรกซ้อนของโรค และมีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาดัชนีมวลกายของผู้ป่วยก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนด ในการดูแลสุขภาพ 2. เพื่อศึกษาสมรรถภาพทางกายก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนด ในการดูแลสุขภาพ 3.เพื่อศึกษาประเภทของแพทย์ทางเลือกที่ผู้ป่วยเลือกใช้ในการดูแลสุขภาพของของตนเอง 4.เพื่อศึกษาระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานก่อน – หลังหลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนดในการดูแลสุขภาพ โดยใช้โมเดลปิงปองจราจร 7 สี 5.เพื่อศึกษาระดับความดันโลหิตของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนดในการดูแลสุขภาพ โดยใช้โมเดลปิงปองจราจร 7 สี  
กลุ่มเป้าหมาย : 5.1 กลุ่มเป้าหมาย กลุ่มเป้าหมายได้แก่ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ที่มารับบริการในคลินิกโรคเรื้อรังในพื้นที่เขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทุกแห่ง อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 260 คน 5.2 พื้นที่ดำเนินการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านพื้นที่รับผิดชอบของสำนักงานสาธารณสุขอำเภอสมเด็จ อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 9 แห่ง  
เครื่องมือ : สอบสอบถาม ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 แบบบันทึกการตรวจสุขภาพและการทดสอบสมรรถภาพร่างกาย ส่วนที่ 3 แบบบันทึกประจำวันการปฏิบัติกิจกรรมแพทย์ทางเลือกของผู้ป่วยที่บ้าน  
ขั้นตอนการดำเนินการ :  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาจะเห็นได้ว่าแพทย์ทางเลือกเป็นวิธีการที่เหมาะสมในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวานและผู้ป่วยความดันโลหิตสูงได้เนื่องจากซึ่งเป็นวิธีการที่สามารถใช้วัสดุและทรัพยากรที่มีในพื้นที่ เน้นความสะดวก ประหยัด เหมาะสมกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชน สามารถยืดระยะเวลาการเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ โดยดัชนีมวลกายก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนด ในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมเปลี่ยนแปลงลดลง ร้อยละ 0.14 สมรรถภาพทางกายก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนดในการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมผ่านเกณฑ์ที่กำหนดเพิ่มขึ้น จากร้อยละ 41.15 เป็น 70.77 ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนดในการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมโดยมีระดับสีเขียวเข้มเพิ่มขึ้น จำนวน 3 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.15 ผู้ป่วยมีการเปลี่ยนแปลงระดับความดันโลหิตก่อน – หลังการใช้แพทย์ทางเลือกที่กำหนดในการดูแลสุขภาพ ของผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรม จำนวน 3 คน คิดเป็น ร้อยละ 1.15 และประเภทของแพทย์ทางเลือกที่เหมาะสมกับบริบทและผู้ป่วยเลือกใช้ในการดูแลสุขภาพของของตนเองมากที่สุด ได้แก่ การดื่มน้ำยานางวันละ 1 แก้ว  
ข้อเสนอแนะ : ระยะเวลาของการวัดผลหลังการดำเนินกิจกรรมแค่ 2 เดือน จึงยังคงไม่พบการเปลี่ยนแปลงมากนัก ควรเพิ่มระยะเวลาในการวัดผลออกไปอย่างน้อย6 เดือนขึ้นไป นอกจากนั้นยังพบปัญหาว่ากลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ มีปัญหาทางสายตาและการอ่าน ทำให้มีความยากลำบากในการจดบันทึกจึงควรพัฒนาเครื่องมือให้เหมาะสมกับผู้สูงอายุโดยอาจใช้รูปภาพแทน และเพิ่มแรงจูงใจในการเข้าร่วมกิจกรรม, การส่งเสริมให้ปลูกย่านางและสมุนไพรอื่นที่ใช้ทำน้ำสมุนไพรฤทธิ์เย็น(น้ำย่านาง/น้ำคลอโรฟิลล์สด) เพื่อใช้ในครัวเรือน และหน่วยงานสาธารณสุขควรพัฒนาศักยภาพของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขรวมถึงอสม.ให้สามารถจัดกิจกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการขยายความครอบคลุมไปสู่กลุ่มเสี่ยงในชุมชนต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ