ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพ ของคนผู้ไทกับกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ด.ต.ประจักษ์ จันทยุทธ,นายสุรศักดิ์ จ้องสละ และคณะ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : สุขภาพเป็นเป้าหมายสูงสุดของชีวิตและสังคม(ประเวศ วะสี. 2536:53) เป็นพื้นฐานแห่งชีวิตเป็นสิ่งที่มนุษย์ทุกคนปรารถนาและคาดหวังให้ตนเองมีสุขภาพดี ประชาชนที่มีคุณภาพจึงควรมีสุขภาพที่แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งทางร่างกาย จิตใจ อารมณ์ จิตวิญญาณ และมีสุขภาวะทางปัญญานอกจากนี้ยังเป็นผู้มีความรู้ ความคิดอย่างมีเหตุผล รวมทั้งมีการตัดสินใจที่เหมาะสม สามารถเป็นที่พึ่งพิงของบุคคลในครอบครัวและชุมชนได้ จึงต้องเป็นบุคคลที่มีจิตสำนึก(ประเวศ วะสี. 2541:24) โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างหลักประกันให้ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงการบริการด้านสุขภาพเพียงอย่างเดียว คงไม่เพียงพอที่จะทำให้ประชาชนทุกคนมี “สุขภาพดี” หรือ “สุขภาวะ” ซึ่งเป็นเป้าหมายสูงสุดของระบบสุขภาพได้ การที่ประชาชนจะมีสุขภาพดีได้นั้นประชาชนจะต้องสามารถพึ่งตนเองทางด้านสุขภาพได้มากขึ้น สามารถเข้ามามีส่วนร่วมดูแลและบริหารจัดการระบบสุขภาพได้โดยถือว่า “สุขภาพเป็นเรื่องของประชาชนทุกคนและเพื่อประชาชนทุกคน ทั้งหมดจะทำให้ระบบเน้นที่การ “สร้าง” สุขภาพมากกว่าการ”ซ่อม” สุขภาพ(กระทรวงสาธารณสุข. 2544:11) ในปัจจุบันนี้พบว่าคนไทยมีการศึกษาสูงขึ้นและสุขภาพอนามัยโดยรวมดีขึ้นระดับหนึ่ง แต่อัตราการเจ็บป่วยและตายด้วยโรคที่เกิดจากพฤติกรรมยังเป็นปัญหาด้านสุขภาพ (กรมควบคุมโรคติดต่อ. สำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก. 2544:3) ซึ่งสาเหตุที่แท้จริงของการป่วยและการตายเหล่านี้เกิดจากปัจจัยทางด้าน สังคม สิ่งแวดล้อมและพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่ถูกต้องเป็นส่วนใหญ่โดยเฉพาะพฤติกรรมเสี่ยงร่วมที่สำคัญ 6 กลุ่ม คือ 1.) พฤติกรรมการบริโภคอาหาร บุหรี่ สุรา สารเสพย์ติด 2.) พฤติกรรมความปลอดภัย 3.) พฤติกรรมการออกกำลังกาย 4.) พฤติกรรมทางเพศสัมพันธ์ 5.) ความเครียดและ 6.) พฤติกรรมในการดูแลและฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม (กองสุขศึกษา. 2541:11) และนี้เป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้คนไทยต้องเผชิญ โดยเฉพาะโรคเรื้อรังที่ยอดฮิต เช่น เบาหวาน ไต มะเร็ง ตับ จังหวัดกาฬสินธุ์มีการศึกษาพบว่า ประชาชนเป็นโรคเบาหวาน อันดับหนึ่งของประเทศคิดเป็นร้อยละ 59.30 ต่อแสนประชากร และโรคไตเป็นอันดับสองของประเทศ ซึ่งการแพทย์สมัยใหม่ ก็ไม่อาจที่จะรักษาโรคเหล่านี้ให้หายขาดได้ เพียงแต่ชะลออาการให้อยู่ได้นานเท่านั้น ซึ่งต้องอาศัยศาสตร์ทางการแพทย์ที่หลากหลายมาช่วยกัน(คัดลอกจากชุดโครงการวิจัยสุขภาพคนผู้ไท: ต.ค 2553) ดังจะเห็นได้จากปัจจุบันได้มีการนำวิธีการบำบัดรักษาโดยวิธีทางธรรมชาติมากขึ้น ตลอดจนมีการรณรงค์ให้ประชาชนบริโภคอาหารที่ปลอดสารพิษ มีการปลูกพืชผักสวนครัวและสมุนไพร จากการศึกษาดังกล่าวจึงทำให้ได้แนวคิดว่าควรที่จะมีการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์เพื่อที่จะทำให้ประชาชนในชุมชนลดอัตราการเจ็บป่วยให้น้อยลง และดูแลสุขภาพของตนเองอย่างถูกวิธี 1.2 สภาพปัญหา ตำบลมหาไชย ในเขตการปกครององค์การบริหารส่วนตำบลมหาไชย ครอบคลุมเขตรับผิดชอบ 10 หมู่บ้านมีจำนวนประชากรประมาณ 4,570 คน บ้านมหาไชยเป็นหนึ่งในเขตการปกครองขององค์การบริหารส่วนตำบลมหาไชย โดยแบ่งเป็น 2 หมู่บ้าน ซึ่ง หมู่ที่ 2 มีประชากรจำนวน 511 คน และหมู่ที่ 3 มีจำนวนประชากร จำนวน 501 คน และสถานการณ์ด้านสุขภาพสถานการณ์โรคเบาหวานความดันโลหิตสูงในตำบลมหาไชยมีผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมด 150 คน คิดเป็นอัตราป่วย 2,953 คน ต่อประชากรแสนคน จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 130 คน คิดเป็นอัตราป่วย 2,560 คน ต่อประชากรแสนคน และจากกิจกรรมคัดกรองคัดกรองความเสี่ยงเบาหวานความดัน ประจำปี 2553 พบกลุ่มเสี่ยงต่อโรคเบาหวานความดันทั้งหมด 596 คน และพบผู้ป่วยโรคเบาหวานรายใหม่ 9 คน ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายใหม่ 5 คน สำหรับในบ้านมหาไชย ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ก็มีผู้ป่วยโรคเบาหวานทั้งหมด 30 คน คิดเป็นร้อยละ 20 ของประชากรที่เป็นโรคเบาหวานในตำบลทั้งหมด โรคความดันโลหิตสูง 34 คน คิดเป็นร้อยละ 26.15 ของประชากรที่เป็นโรคความดันโลหิตสูงในตำบลทั้งหมด(ข้อมูลการคัดกรองผู้ป่วยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาไชย. ต.ค.2553) ซึ่งถือว่าบ้านมหาไชยมีจำนวนประชาชนที่เป็นโรคในกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวาน มาเป็นอันดับสองของตำบล และประชาชนที่เป็นโรคในกลุ่มเสี่ยงต่อการเป็นโรคความดันโลหิตสูง มาเป็นอันดับที่หนึ่งของตำบล ซึ่งการเจ็บป่วยเหล่านี้ถ้าไม่มีการดูแลรักษาและหาวิธีการในการแก้ไขปัญหาแล้วจะเป็นปัญหาของชุมชนต่อไป จากการจัดเวทีพัฒนาโจทย์ยังพบอีกว่า ด้วยวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ชุมชนพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากขึ้น ตลาดค่อนข้างมีบทบาทสูง ดังนั้นวิถีการผลิตและการกินของชาวบ้านก็เปลี่ยนแปลงไปด้วย มีการใช้เคมีมากขึ้น ผู้ใหญ่บ้านหมู่3 เล่าให้ฟังว่า ชาวบ้านใกล้เคียงมักมาเช่าที่ปลูกอ้อย เมื่อถึงน่าเก็บเกี่ยวจะเผาอ้อยทำให้ฝุ่นและขี้เถ้าปลิวเข้าหมู่บ้านทำให้บางครั้งชาวบ้านไม่ได้นอนและมีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคตับมากขึ้น และจากการตรวจเลือดหาสารเคมี พบว่า ร้อยละ 80 ของประชาชนอยู่ในระดับเสี่ยง ซึ่งทำให้คาดการณ์ได้ว่าอนาคตข้างหน้าชาวบ้านจะเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยอย่างรุนแรง จากการดำเนินงานของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมหาไชย พยายามที่จะรณรงค์และจัดกิจกรรมโครงการเกี่ยวกับการส่งเสริม เพื่อให้ชุมชนลดพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อความเจ็บป่วยจากโรคต่างๆทั้ง อสม. ก็ช่วยกันรับผิดชอบและเฝ้าระวังโรคให้กับครอบครัวที่ตนดูแล ผลปรากฏว่า สามารถทำได้ในระยะเวลาหนึ่งที่โครงการดำเนินงาน แต่หลังจากดำเนินงานเสร็จ ชุมชนก็ไม่ทำต่อ จึงวิเคราะห์กันว่ามีสาเหตุมาจากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น ภาวะเศรษฐกิจที่เร่งรีบ ความไม่ตระหนักต่อความเจ็บป่วย และสำคัญคือชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมน้อย โดยเฉพาะ การร่วมคิด วิเคราะห์และเรียนรู้ข้อมูล ความรู้ต่างๆ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรม ดังนั้น ทีมวิจัยจึงมองว่าถ้ามีการสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันน่าจะเป็นประเด็นสำคัญที่จะทำให้ชุมชนลดภาวะความเสี่ยงต่อความเจ็บป่วยของตนเองลงได้ เบญจมาศ นันติวิราช (2542) ได้ทำการศึกษากระบวนการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของชุมชนบ้านแม่ฮักพัฒนา พบว่า ชุมชนใดก็ตามที่มีกระบวนการพึ่งพาตนเองด้านสุขภาพของชุมชนแบบองค์รวม และมีการเรียนรู้แบบร่วมมือ โดยมีการเรียนรู้สำหรับตนเองและช่วยเหลือสมาชิกในกลุ่ม ให้เกิดการเรียนรู้ด้วย ซึ่งการเรียนรู้ดังกล่าวเป็นการเรียนรู้ในชุมชนที่มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกันทำให้เกิดการเรียนรู้ เกิดความรู้สึกที่ผูกพันและใส่ใจผู้อื่น ยอมรับความแตกต่าง และนำสิ่งที่ดีๆของผู้อื่นมาผสมผสานแลกเปลี่ยนกัน สิ่งสำคัญ คือการสร้างความร่วมมือท่ามกลางสังคมที่มีความแตกต่างทั้งวิธีคิด ประสบการณ์ และความเชื่อของผู้คนที่อยู่ปะปนกัน ก่อให้เกิดคือ การพึ่งตนเอง และความพอเพียง จึงเป็นสองสิ่งที่พึงมีพึงเกิดขึ้นในสังคมต้องสร้างให้เกิดจิตสำนึก ทั้งในระดับครอบครัว ระดับชุมชน และระดับประเทศ จึงมีพลังเพียงพอที่จะขับเคลื่อน ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมในทิศทางที่มั่นคง ความพยายามที่จะพอเพียง จะนำไปสู่การใช้ทรัพยากรที่เหมาะสมเหลือเวลาในการสร้างความสัมพันธ์ และการเรียนรู้ความจริงที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดปัญญาและเป็นคนที่มีศักยภาพเกิดบรรยากาศของการเรียนรู้ และพร้อมที่จะถ่ายทอดให้กับอนุชนรุ่นต่อมา ลดช่องว่างระหว่างวัย และมีการสืบทอดเจตนารมณ์ ความคิด ความฝัน สานต่อกันไปอย่างต่อเนื่อง ความพอเพียงไม่ได้ปฏิเสธการเรียนรู้ระบบ ตรงกันข้ามย่อมต้องมีการเรียนรู้เท่าทันในสิ่งต่าง ๆ ในวัฒนธรรมเศรษฐกิจของการแข่งขันเสรีเช่นนี้ ความฉับไวในข้อมูลข่าวสารรู้จักเลือกหยิบสิ่งที่ดีและเกิดประโยชน์ตามภาวการณ์ จึงเป็นเป้าหมายหลักของความพอเพียงในโลกของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ ดังนั้น ชุมชนต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ชัดเจนและปฏิบัติได้จึงจะนำไปสู่ความเป็นชุมชนที่เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ ส่งผลให้ชุมชนมีทางเลือกซึ่งเป็นจุดแข็งของชุมชนในการแก้ปัญหาสุขภาพอนามัยของชุมชนเองได้อย่างยั่งยืน 1.3 ปัญหานำวิจัย จากสภาพปัญหาที่พบทำให้ คณะกรรมการในการศึกษาครั้งนี้ โดยการนำของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลมหาไชยร่วมกับผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลมหาไชย จัดประชุมเพื่อปรึกษาหารือ ร่วมกันในการหาทางออกและแก้ไขปัญหาดังกล่าว และเพื่อที่จะค้นหาความจริงเกี่ยวกับการเรียนรู้ด้านสุขภาพของประชาชนที่เกิดขึ้น ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและทำความเข้าใจถึงกระบวนการเรียนรู้ในแต่ละองค์ประกอบที่เปลี่ยนแปลงไปของประชาชนแต่ละกลุ่ม ในการป้องกันโรคและการเสริมสร้างสุขภาพของบ้านมหาไชย และศึกษาถึงเงื่อนไขปัจจัยต่างๆที่ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ด้านสุขภาพของประชาชน เนื่องจากว่าการป้องกันโรคและการเสริมสร้างสุขภาพอนามัยเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนและชุมชนทำได้ด้วยตนเอง เป็นการป้องกันปัญหาการเจ็บป่วยไม่ให้เกิดขึ้นกับตนเองและชุมชน ซึ่งจะเห็นได้ว่าชุมชนบ้านมหาไชยเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทดั้งเดิม มีจุดเด่นในเรื่องประเพณีวัฒนธรรมโดยเฉพาะวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับการดูแลสุขภาพ เช่น มีหมอพื้นบ้านต่างๆ เช่น หมอเหยา หมอสมุนไพร หรือวัฒนธรรมการกิน ที่คนผู้ไทเองมีพฤติกรรมการกินผักค่อนข้างมาก สังเกตได้จากอาหารพื้นบ้านประเภทยำและตำ เช่น แกงผักหรือ ยำต่างๆ เช่น ยำเห็ด ยำใบมะม่วง ตำยอดงิ้ว ยำดอกติ้ว เป็นต้น ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านี้ถือว่าเป็นข้อดีที่สามารถนำมาจัดกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยภูมิปัญญาหรือวัฒนธรรมท้องถิ่น เข้ามาเชื่อมสัมพันธ์ เพราะโดยพื้นฐานความเจ็บป่วยก็มาจากพฤติกรรมการกินการอยู่เป็นสำคัญ ดังนั้นผู้ศึกษาจึงได้ ศึกษาการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีสุขภาวะที่ดี  
วัตถุประสงค์ : 1.6.1 เพื่อศึกษาสภาพปัญหาและสถานการณ์ความเจ็บป่วยของคนในตำบลมหาไชย 1.6.2 เพื่อศึกษาภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไท 1.6.3 เพื่อนำภูมิปัญญาคนผู้ไทมาประยุกต์ใช้ในการดูแลสุขภาพคนกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง 1.6.4 เพื่อพัฒนารูปแบบการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาคนผู้ไทกับกลุ่มผู้ป่วยเรื้อรัง อันนำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง  
กลุ่มเป้าหมาย : ครอบครัวชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วย 57 ราย ครอบครัวทั้ง 2 หมู่บ้าน คือ หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 จำนวน 214 ครอบครัวบ้านมหาไชย ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์  
เครื่องมือ : บริบทชุมชน - แผนที่เดินดิน - เอกสารข้อมูลเดิม - สัมภาษณ์ผู้นำ ผู้นำ ข้อมูลมือสอง พัฒนาชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน สถานการณ์ - การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสอบถาม - แบบตรวจสารเคมีฆ่าแมลงในเลือด - กลุ่มผู้ป่วย 57 คน - กลุ่มเสี่ยง 88 ราย แบบสอบถาม ข้อมูลสารเคมีในเลือดจาก รพ.สต. ภูมิปัญญา - การสัมภาษณ์โดยใช้แบบสัมภาษณ์ - การใช้เส้นประวัติศาสตร์ชุมชน ผู้รู้ ปราชญ์ หมอพื้นบ้าน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.10.1 ประชุมทีมวิจัยเพื่อสร้างความเข้าใจร่วมกัน 1.10.2 สร้างเครื่องมือในการเก็บข้อมูลบ้านมหาไชย 1.10.3 เก็บข้อมูล โดยกลุ่ม (focus group) หรือเวทีให้ข้อมูล 1.10.4 รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูล 1.10.5 เวทีคืนข้อมูลสู่ชุมชน 1.10.6 ศึกษาเรียนรู้การดูแลสุขภาพในชุมชน 1.10.7 สรุปผลการศึกษาและวางแผนการพัฒนา 1.10.8 สรุปผลการวิจัย 1.10.9 นำเสนอผลการวิจัยต่อชุมชน 1.10.10 จัดทำรายงานผลการวิจัย  
     
ผลการศึกษา : บ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และบ้านมหาไชย หมู่ที่ 3 ก่อตั้งขึ้นเมื่อราวปีพุทธศักราช 2365 อยู่ในพื้นที่ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีจำนวนครัวเรือน 211 ครัวเรือน ประชากรชาย 450 คน ประชากรหญิง 454 คน รวมประชากรทั้งหมด 904 คน ลักษณะภูมิประเทศของบ้านมหาไชยมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ราบ จึงเป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเพาะปลูกทำนาเป็นส่วนใหญ่มีน้ำมากในฤดูฝนและน้ำน้อยในช่วงฤดูแล้ง สภาพภูมิอากาศ บ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และบ้านมหาไชย หมู่ที่ 3 ฤดูเหมือนกับหมู่บ้านอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ภาคอีสาน คือ ฤดูร้อน ฤดูหนาว และฤดูฝน ในฤดูฝนหากมีปริมาณน้ำมากก็จะท่วมพื้นที่การเกษตรและบ้านเรือนที่อยู่ติดลำคลอง แต่ในช่วงฤดูแล้งน้ำก็จะน้อยจนเกือบไม่พอใช้ ลักษณะถนนหนทางภายในชุมชนสะอาดและสะดวก ส่วนใหญ่เป็นถนนลาดยางและคอนกรีตแต่ละซอยจะมีขนาดไม่เท่ากัน แต่รถสามารถเดินทางเข้าออกได้สะดวก ส่วนใหญ่คนในชุมชนจะใช้รถจักรยานยนต์และการเดินเท้าในการสัญจร ซึ่งถนนสายหลักที่เดินทางเข้าสู่อำเภอสมเด็จและจังหวัดกาฬสินธุ์ มีจำนวน 2 เส้นทาง ความเป็นอยู่ของคนผู้ไท(ผู้ไท) ในชุมชน ส่วนใหญ่มีภูมิลำเนาอยู่ที่เดียวกัน มีลักษณะความเป็นอยู่ที่ไม่แตกต่างกัน มีครอบครัวเป็นครอบครัวที่อยู่กันแบบเครือญาติ พึ่งพาอาศัยกัน และคนในชุมชนรู้จักกันหมดทุกครัวเรือน การประกอบอาชีพส่วนใหญ่จะเป็น การรับจ้าง เกษตรกรรม เมื่อมีเวลาว่าง จะมีการรวมกลุ่มของคนในชุมชนในการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น กลุ่มจักสานผักตบชวา การปลูกผักปลอดสารพิษ เลี้ยงปลา เป็นต้น ลักษณะของคนในชุมชนในเรื่องความเชื่อ และสิ่งศักดิ์สิทธิ มีการตั้งศาลพระภูมิไว้เป็นที่ปกปักรักษาครอบครัวของตนเอง ทางด้านโอกาสทางการศึกษา ชาวบ้านได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านวัฒนธรรมประเพณีและความเชื่อเป็นเหมือนกับคนผู้ไททั่วไป เป็นกลุ่มที่มีความขยัน และอดออมเป็นพิเศษ และมีวัฒนธรรมในเรื่องการถักทอเสื้อผ้าเด่นชัด จึงปรากฎเสื้อผ้าชนิดต่างๆ ทั้งฝ้าฝ้าย ผ้าไหมในกลุ่มชาวผู้ไท(ผู้ไท) โดยเฉพาะผ้าแพรวานับว่ามีวัฒนธรรมเรื่องเสื้อผ้าเด่นชัดมาก วิถีชีวิตในเรื่องของการบริโภคอาหาร ที่จากแต่ก่อนได้จากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ในปัจจุบันก็ลดน้อยลง แหล่งที่มาของอาหารก็กลายเป็นจากร้านค้า ตลาด ที่มาจากการเลี้ยงไว้เพื่อการค้าและที่เพาะปลูกด้วยสารเคมีเพื่อให้ได้สินค้าที่ดูภายนอกน่ารับประทานน่าซื้อ การรักษาโรคเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมากที่รักษาเองกับหมอพื้นบ้าน ภายหลังก็หันมารักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่รักษากับหมอพื้นบ้านเช่นเดิม การเกษตรก็มีการใช้สารเคมีเพิ่มขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่มากและทันต่อความต้องการต่อผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ก็เกิดขึ้นหลังจากที่มีความเจริญทางด้านคมนาคม ไฟฟ้าเข้ามาในหมู่บ้าน ข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยของบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ที่มีอยู่เดิม พบว่า โรคที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเป็นโรคที่เกิดขึ้นตามฤดูกาล เช่น โรคไข้หวัด ปวดเมื่อยจากการทำงาน และอีกส่วนหนึ่งเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม โดยการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทในปัจจุบันจะเน้นการพึ่งตนเองเป็นหลักก่อน จากนั้นจะเป็นการรักษาโดยแพทย์ในโรงพยาบาลชุมชน เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในสถานบริการ ส่วนหนึ่งที่รักษากับแพทย์หรือรับประทานยาแล้วไม่ดีขึ้น เป็นๆ หายๆ ก็จะรักษาโดยหมอพื้นบ้าน และจากฐานข้อมูลโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านมหาไชยปี 2555 สถานการณโรคไม่ติดต่อในตำบลมหาไชย ในปี 2555 พบว่า มีประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง 440 คน ผู้ป่วยเบาหวาน 153 คน อัตราป่วย 3,271.33 คน ต่อประชากรแสน จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 109 คน อัตราป่วย 2,330.55 คน ต่อประชากรแสนคน และเฉพาะบ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ในปี 2555 พบว่า มีประชากรกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง 88 คน ผู้ป่วยเบาหวาน 31 คน อัตราป่วย 3,271.33 คน ต่อประชากรแสน จำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง 26 คน อัตราป่วย 2,330.55 คน ต่อประชากรแสนคน เพื่อให้ทราบสถานการณ์การเจ็บป่วยมากยิ่งขึ้น ทีมวิจัยจึงได้จัดทำแบบสอบถาม เก็บข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยเพิ่มเติมด้วย จากการศึกษาการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทกับผู้ป่วยเรื้อรัง ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ ที่ศึกษาในประเด็นสภาพปัญหาด้านการดูแลสุขภาพของผู้ป่วยเรื้อรัง ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพ การประยุกต์ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ได้มาเพื่อดูแลสุขภาพคนผู้ไท โดยเก็บข้อมูลจากผู้นำชุมชน ปราชญ์ชาวบ้าน กลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ในบ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ตำบลมหาไชย อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ และได้นำเสนอผลการศึกษา ดังต่อไปนี้ กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงส่วนมากเป็นเพศชาย อายุอยู่ระหว่าง 50 – 60 ปี สถานภาพสมรส จบระดับชั้นประถมศึกษา อาชีพเกษตรกรรม รายได้น้อยกว่า 5,000 บาท ลักษณะของการเกิดโรค พบว่า กลุ่มเสี่ยงเป็นกลุ่มเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง และกลุ่มผู้ป่วยส่วนมากป่วยเป็นโรคเบาหวาน ที่มีระยะของการเจ็บป่วยน้อยกว่า 5 ปี โดยมีข้อสังเกตว่าในลักษณะของครอบครัวกลุ่มผู้ป่วยนี้ส่วนมากมีพ่อแม่และพี่น้อง(สายตรง) ที่เจ็บป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จากข้อมูลทั่วไปของกลุ่มเป้าหมายที่ทีมวิจัยเก็บข้อมูลแล้ว ทีมวิจัยจึงต้องการทราบปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เกิดโรค ได้ผลสรุปดังนี้ การรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพส่วนมาก พบว่า กลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยง ส่วนมากรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพจาก อสม. เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และรับรู้ข่าวสารด้านสุขภาพจากโทรทัศน์ วิทยุ เสียงตามสายในหมู่บ้าน ข่าวสารที่ได้รับนั้นเป็นความรู้ในเรื่องของการบริโภคอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา โดยรับรู้ข้อมูลข่าวสารเฉลี่ย 3-4 ครั้งต่อเดือน ลักษณะของการรับรู้ข้อมูลข่าวสารสุขภาพนี้ จึงบ่งบอกถึงสาเหตุจากความเชื่อและพฤติกรรมเมื่อเกิดการเจ็บป่วย สาเหตุของการเจ็บป่วย จากการศึกษาพบว่า การเจ็บป่วยจากความเชื่อมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 ความเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการผิดผี เวรกรรม ลักษณะที่ 2 ความเชื่อว่าการเจ็บป่วยเกิดจากกรรมพันธุ์ การกินอาหาร เชื้อโรค อากาศเปลี่ยนแปลง ความเสื่อมทรุดโทรมของร่างกาย ทำงานหนักพักผ่อนน้อย เครียด กลุ่มตัวอย่างเชื่อว่าเมื่อการเจ็บป่วยต้องบำบัดรักษาอยู่ 2 ลักษณะ คือ ลักษณะที่ 1 บำบัดรักษาโดยพบเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและแพทย์ หลีกเลี่ยงอาหารหวาน มัน เค็ม เผ็ด กินผักปลอดสารพิษ ลักษณะที่ 2 บำบัดรักษาโดยฟังธรรม ใช้สมุนไพร หมอพื้นบ้าน หมอผี ทีมวิจัยมีข้อสังเกตว่า การที่เชื่อว่าโรคเกิดจากการกินอาหาร อาจเนื่องมาจากการรับรู้ข่าวสารของกลุ่มเป้าหมายส่วนใหญ่รับรู้จากบุคลากรสาธารณสุข ส่วนความเชื่อผิดผี กรรม เป็นความเชื่อที่มีอยู่เดิมที่มีผลต่อการรักษา ที่กลุ่มเป้าหมายต้องไปรักษากับหมอพื้นบ้านพร้อมกับไปรักษาที่สถานบริการสาธารณสุขด้วย เพื่อศึกษาพฤติกรรมเหล่านี้ว่าก่อให้เกิดโรคหรือไม่ ทีมวิจัยจึงได้ศึกษาพฤติกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค จึงได้ศึกษา พฤติกรรมของประชากรในงานบุญประเพณี พฤติกรรมการบริโภคอาหาร พฤติกรรมด้านการออกกำลังกาย พฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพตนเอง พฤติกรรมการจัดการกับความเครียด เพื่อให้เห็นว่าข้อมูลเหล่านี้ส่งผลต่อการเจ็บป่วยของประชาชนในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 อย่างไร ได้ผลสรุปพฤติกรรมของประชากรในงานบุญประเพณี ว่าในงานมักมีการบริการเครื่องดื่มประเภท น้ำอัดลม เหล้า เบียร์ อาหารประเภทก้อย ลาบ ต้ม แกง ผัด ทอด โดยในงานบุญประเพณีส่วนมาก มีการทะเลาะวิวาท เมาอาละวาด และการพนัน โดยทีมวิจัยมีข้อสังเกตจากการลงพื้นที่ว่า ชุมชนไม่ค่อยอยากจัดงานบุญประเพณีเท่าไร เนื่องจากแต่ละครั้งมีการทะเลาะวิวาทและเมาอาละวาด ในเรื่องของพฤติกรรมการบริโภคอาหาร กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการบริโภคอยู่ 2 ลักษณะใหญ่ๆ ลักษณะที่ 1 การรับประทานทานอาหาร แบ่งเป็น 4 ประเภท ประเภทที่ 1 อาหารประเภทเครื่องดื่ม เช่น ชา กาแฟ น้ำหวาน นม เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประเภทที่ 2 อาหารประเภทรสหวาน เช่น ขนม ผลไม้รสหวาน กล้วยบวชชี บัวลอย ลอดช่อง ประเภทที่ 3 อาหารประเภทของคาว เช่น ผัด แกง ทอด อาหารหมัก/ดอง และประเภทที่ 4 อาหารประเภทเครื่องปรุงรส เช่น ผงชูรส รสดี ซึ่งทีมวิจัยพบว่าในลักษณะการบริโภคอาหารของประชาชนในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ไม่แตกต่างจากที่อื่น แต่ที่สังเกตคือในเรื่องของเครื่องดื่มจะไม่ค่อยมีการดื่ม และเรื่องอาหารประเภทรสหวาน ไม่ค่อยมีการรับประทาน ยกเว้นเมื่อมีงานบุญประเพณี จะมีการดื่มและทำอาหารรสหวานบริการแขกที่ร่วมงานแทบทุกครั้ง ในการบริโภคอาหารที่ไม่เหมาะสมที่ไม่เหมาะสม คือ การเติมผงชูรส รสดี ซอสปรุงรสบ่อยครั้งในการประกอบอาหาร ลักษณะที่ 2 การประกอบอาหาร แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 ทำเองหาวัตถุดิบเอง ประเภทที่ 2 ซื้อสำเร็จเป็นถุง และประเภทที่ 3 ซื้อวัตถุดิบมาทำเอง โดยส่วนมากทำอาหารรับประทานเอง แหล่งวัตถุดิบที่มาประกอบอาหารส่วนมากมาจากแหล่งธรรมชาติ จากข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคอาหาร ทีมวิจัยพบว่า สาเหตุของการเกิดโรคของประชาชนบ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ไม่น่าจะเกิดจากการรับประทานอาหารที่มีรสชาติ หวาน มัน เค็ม เพราะจากการสำรวจพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายส่วนมากมีพฤติกรรมที่ดีอยู่แล้ว แต่สาเหตุการเกิดโรคที่เห็นได้ชัดเจน คือ เครื่องปรุงรส ผงชูรส รสดี เพราะการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม(จากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป และจากเครื่องปรุงรส ซึ่งนิยมกันมาก ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ กะปิ และซอสปรุงรสต่างๆ) จะทำให้ไตทำงานหนัก ในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุล ซึ่งหากขับออกได้ไม่หมด โซเดียมจะคั่งและดึงน้ำไว้ในร่างกาย ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เกิดปัญหาหลอดเลือดใหญ่เล็กทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเรื้อรังอื่นๆ อีกสาเหตุหนึ่งที่ทีมวิจัยพบ คือ จากการปนเปื้อนของสารเคมี เพราะจากการสังเกตและลงพื้นที่ของทีมวิจัย พบว่า แหล่งวัตถุจากธรรมชาติที่ประชาชนบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ส่วนมากเป็นแหล่งที่ใกล้กับ ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชถูกออกแบบมาให้ใช้กำจัดพืชหรือสัตว์หรือแมลงที่เป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ สารเคมีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ เพื่อกำจัดแมลงกำจัดวัชพืชหรือกำจัดเชื้อรา ที่ปลูกผักใช้ในครัวเรือนไว้รับประทานเองก็มีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงด้วย ซึ่งอยากจะขอเรียกกลุ่มสารเคมีนี้โดยรวมตามที่เราเข้าใจง่าย ๆ ว่ายาฆ่าแมลง ยาฆ่าแมลงจะถูกดูดซึมโดยทางผิวหนัง การกิน และการหายใจ ยาฆ่าแมลงสามารถแพร่ไปตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า พื้นดินหรือบ่อน้ำ การสะสมของยาฆ่าแมลงในร่างกายของเรา ยาฆ่าแมลงจะถูกสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน เนื่องจากโมเลกุลของยาฆ่าแมลงนี้เป็นสารพิษ ร่างกายจะนำไขมันไปล้อมสารพิษไว้ และเก็บไว้ในเซลล์ไขมัน เพื่อไม่ให้ออกมาทำอันตรายต่อร่างกาย ระบบร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง เหล่านี้โดยตรงได้แก่ ตับ ไต และระบบประสาท ผลจากการได้รับยาฆ่าแมลง ได้แก่ โรคมะเร็ง โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว พันธุกรรมบกพร่อง เป็นหมัน ตับถูกทำลาย โรคผิดปกติของต่อมไทรอยด์ โรคเบาหวาน โรคไต ในเรื่องของพฤติกรรมการออกกำลังกาย ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มเป้าหมายไม่ค่อยออกกำลังกายเพราะตามหลักแล้วการออกกำลังกาย คือ การออกแรงหรือออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา ระดับปานกลาง (เช่น เดิน วิ่ง รู้สึกเหนื่อยพอประมาณ หายใจแรงขึ้นกว่าปกติเล็กน้อยแต่ยังสามารถพูดคุยกับคนข้างเคียงได้จนจบประโยค) อย่างน้อย 30 นาที ซึ่งกลุ่มเป้าหมายโดยส่วนมากคิดว่าการทำงานบ้านเป็นการออกกำลังกาย เพราะว่ากิจกรรมงานบ้านที่กลุ่มเป้าหมายทำเป็นงานบ้านที่มีระดับใช้พลังงานน้อย เช่น กวาดบ้าน ถูบ้านรีดผ้า ชักผ้า ล้างจาน ฯลฯ เป็นการออกกำลังที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการเคลื่อนที่จากที่หนึ่งไปที่ หนึ่ง เหล่านี้ทำให้ข้อต่อและกล้ามเนื้อเฉพาะที่ได้รับประโยชน์มากที่สุด แต่ประโยชน์ที่เกิดกับระบบหายใจและหัวใจจะไม่ชัดเจน การทำงานบ้านหลาย ๆ อย่างที่ต่อเนื่องผสมผสาน เช่น รีดผ้า 50 นาที กวาดบ้าน 30 นาที หรือการเช็ดถูบ้าน 52 นาที เป็นต้น จึงถือเป็นการออกกำลังกาย โดยส่วนมากกลุ่มเป้าหมายกล่าวถึงเหตุผลของการออกกำลังกายว่าทำให้ร่างกายแข็งแรง เพื่อต่อสู้กับโรคประจำตัว โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่เป็นอยู่ และยังเชื่อว่าจะทำให้ตนเองรับประทานอาหารได้อร่อย นอนหลับดี สดชื่น ในเรื่องของพฤติกรรมด้านการดูแลสุขภาพตนเอง กลุ่มเป้าหมายมีการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 คือ เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะเข้ารับบริการกับสถานบริการสาธารณสุข โดยส่วนมากเลือกรับบริการที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล สุขศาลาในหมู่บ้าน ถ้าอาการยังไม่ดีขึ้นก็จะเข้ารับบริการในโรงพยาบาลชุมชน และมีส่วนหนึ่งที่เข้ารับบริการในคลินิกเอกชนเพราะไม่ต้องการรอคิวพบแพทย์ที่โรงพยาบาลชุมชน เนื่องจากมีขั้นตอนและระยะเวลาในการรอรับบริการนาน การดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วย ลักษณะที่ 2 คือ เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะพบหมอพื้นบ้าน หมอสมุนไพร หมอผี พิธีกรรม ซึงเป็นวิถีดังเดิมของหมู่บ้าน โดยการรักษาในลักษณะนี้มักทำควบคู่ไปกับการรักษากับหมอแผนปัจจุบัน หรือ ผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย เป็นเรื้อรัง หาสาเหตุไม่ได้ ก็จะรักษาโดยลักษณะนี้ และในเรื่องของพฤติกรรมการจัดการกับความเครียด กลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการจัดการกับความเครียด อยู่ 3 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 คือ การจัดการความเครียดด้วยตนเอง แบ่งเป็น 5 ประเภท คือ ประเภทที่ 1 การจัดการโดยการอาศัยหลักศาสนา เช่น ฟังธรรม นั่งสมาธิ ทำบุญ ประเภทที่ 2 การจัดการความเครียดโดยอาศัยความบันเทิง เช่น ดูหนัง ฟังเพลง ประเภทที่ 3 คือ การจัดการความเครียดโดยการทำกิจกรรมเสริม เช่น ปลูกต้นไม้ ทำกิจกรรมกับครอบครัว และ ประเภทที่ 4 คือ การการจัดการความเครียดโดยการออกกำลังกาย ลักษณะที่ 2 คือ การควบคุมอารมณ์ โดยการหาที่ปรึกษาเพื่อพูดคุย พบว่า กลุ่มเป้าหมายส่วนมากจะระบายกับคนในครอบครัวมากกว่าคนอื่น แสดงให้เห็นว่า บ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ยังมีความสัมพันธ์แบบเครือญาติที่ดี อย่างไรก็ตามการเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มยังมีน้อย กล่าวโดยสรุปกลุ่มเป้าหมายมีพฤติกรรมการผ่อนคลายความเครียดที่ดี โดยการปรึกษาพูดคุยกับสมาชิกในครอบครัว เพื่อนบ้าน ดูหนัง ฟังเพลง และโดยการสวดมนต์ ไหว้พระ กล่าวโดยสรุป สถานการณ์การเจ็บป่วยของประชาชนบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ที่เป็นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง จำนวน 50 คน และกลุ่มเสี่ยงโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง 83 คน พบว่า สาเหตุการเจ็บป่วยของกล่มนี้ จากที่ทีมวิจัยสำรวจข้อมูลได้ ประเด็นแรกน่าจะเกิดจากกรรมพันธุ์ เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยและกลุ่มเสี่ยงส่วนมากมี พ่อ แม่ และพี่น้องสายตรง ป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ประเด็นที่สองคือ เครื่องปรุงรส ผงชูรส รสดี เพราะการรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของโซเดียม(จากการกินอาหารในแต่ละมื้อโดยไม่รู้ตัว ซึ่งมักอยู่ในอาหารแปรรูป และจากเครื่องปรุงรส ซึ่งนิยมกันมาก ได้แก่ น้ำปลา ซีอิ้วขาว เกลือ กะปิ และซอสปรุงรสต่างๆ) จะทำให้ไตทำงานหนัก ในการขับโซเดียมส่วนเกินออกทางปัสสาวะ เพื่อรักษาสมดุล ซึ่งหากขับออกได้ไม่หมด โซเดียมจะคั่งและดึงน้ำไว้ในร่างกาย ส่งผลให้หัวใจทำงานหนัก เกิดปัญหาหลอดเลือดใหญ่เล็กทั่วร่างกายปรับตัวหนาและแข็งตามมา ทำให้เกิดโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคเรื้อรังอื่นๆ ประเด็นที่สาม คือ จากการปนเปื้อนของสารเคมี เพราะจากการสังเกตและลงพื้นที่ของทีมวิจัย พบว่า แหล่งวัตถุจากธรรมชาติที่ประชาชนบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ส่วนมากเป็นแหล่งที่ใกล้กับ ไร่อ้อย ไร่มันสำปะหลังที่มีการใช้สารเคมีในปริมาณที่สูงมาก ซึ่งสารเคมีที่ใช้กำจัดศัตรูพืชถูกออกแบบมาให้ใช้กำจัดพืชหรือสัตว์หรือแมลงที่เป็นภัยต่อพืชที่เราต้องการ สารเคมีเหล่านี้ถูกนำมาใช้ เพื่อกำจัดแมลงกำจัดวัชพืชหรือกำจัดเชื้อรา ที่ปลูกผักใช้ในครัวเรือนไว้รับประทานเองก็มีการใช้สารเคมีฆ่าแมลงด้วย ซึ่งอยากจะขอเรียกกลุ่มสารเคมีนี้โดยรวมตามที่เราเข้าใจง่าย ๆ ว่ายาฆ่าแมลง ยาฆ่าแมลงจะถูกดูดซึมโดยทางผิวหนัง การกิน และการหายใจ ยาฆ่าแมลงสามารถแพร่ไปตามที่ต่าง ๆ ในบริเวณใกล้เคียงไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้า พื้นดินหรือบ่อน้ำ การสะสมของยาฆ่าแมลงในร่างกายของเรา ยาฆ่าแมลงจะถูกสะสมไว้ในเซลล์ไขมัน เนื่องจากโมเลกุลของยาฆ่าแมลงนี้เป็นสารพิษ ร่างกายจะนำไขมันไปล้อมสารพิษไว้ และเก็บไว้ในเซลล์ไขมัน เพื่อไม่ให้ออกมาทำอันตรายต่อร่างกาย ระบบร่างกายที่ได้รับผลกระทบจากยาฆ่าแมลง เหล่านี้โดยตรงได้แก่ ตับ ไต และประเด็นที่สี่ คือ ขาดการออกกำลังกาย โดยถ้าประชาชนในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ยังมีพฤติกรรมการใช้เครื่องปรุงรส และสารเคมีฆ่าแมลงในปริมาณอยู่ โดยขาดการออกกำลังกาย ประกอบกับมีญาติสายตรงป่วยเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงอยู่แล้ว ประชาชนในพื้นที่ก็จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง กลุ่มป่วยอยู่แล้วอาจไม่สามารถรักษาระดับน้ำตาลในเลือดและความดันโลหิตสูงได้ เกิดภาวะแทรกซ้อนอย่างอื่นตามมา กลุ่มที่เสี่ยงอยู่แล้ว ก็จะกลายเป็นกลุ่มผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงต่อไปในอนาคต จากที่เก็บข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยของบ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 พบว่า กลุ่มเป้าหมาย มีการดูแลสุขภาพตนเองเมื่อเจ็บป่วยอยู่ 2 ลักษณะ ลักษณะที่ 1 คือ เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะเข้ารับบริการกับสถานบริการสาธารณสุข และลักษณะที่ 2 คือ เมื่อเจ็บป่วยแล้วจะพบหมอพื้นบ้าน หมอสมุนไพร หมอผี พิธีกรรม ซึงเป็นวิถีดังเดิมของหมู่บ้าน โดยการรักษาในลักษณะนี้มักทำควบคู่ไปกับการรักษากับหมอแผนปัจจุบัน หรือ ผู้ป่วยที่รักษาไม่หาย เป็นเรื้อรัง หาสาเหตุไม่ได้ ก็จะรักษาโดยลักษณะนี้ ทีมวิจัยจึงได้สำรวจข้อมูลการใช้ภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทที่เหลืออยู่ โดยทางทีมวิจัยได้ศึกษาข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยในอดีตก่อน พบว่าตั้งแต่การก่อตั้งหมู่บ้านมีโรคอหิวาตกโรค โรคพิษสุนัขบ้าที่ระบาดในสัตว์ การระบาดของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เช่น โรคซิฟิลิส หรือชาวบ้านเรียกว่า โรคหนองใน โรคแม่จ้าง แต่ไม่ปรากฏมีผู้เสียชีวิต เมื่อเกิดโรคชาวบ้านมักจะรักษากับหมอพื้นบ้านโดยใช้ยาสมุนไพรที่หาได้จากคำแนะนำของหมอพื้นบ้านมารักษาเอง ต่อมาก็มีการตั้งโรงพยาบาลอำเภอสมเด็จขึ้น สมัยนี้เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นชาวบ้านบางส่วนก็จะเหมารถเครื่องสี่ล้อเข้าไปในตัวอำเภอสมเด็จ จากนั้นมีการตั้งสถานีอนามัยขึ้นในตำบลมหาไชย ทางเจ้าหน้าที่สาธารณสุขก็ได้รณรงค์สร้างส้วมเพราะสมัยแต่ก่อนไม่มีส้วมซึมใช้เหมือนในปัจจุบัน ทำให้เกิดโรคระบาดได้ง่าย เช่นโรคอุจจาระร่วง มีการฉีดวัคซีนป้องกันโรคฝีดาษ พร้อมๆกันนั้นก็ได้เริ่มมีการคัดกรองโรคเบาหวานความดันโลหิตสูง ซึ่งสมัยนั้นยังพบผู้ป่วยโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่มากนั้น การคลอดที่แต่ก่อนคลอดเองหรือคลอดกับหมอตำแยในหมู่บ้าน ก็มีบางส่วนเริ่มหันมาคลอดกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขมากขึ้น โดยให้เจ้าหน้าที่ทำคลอดที่บ้านหรือสถานีอนามัย วิถีชีวิตทั้งในเรื่องของการบริโภคอาหาร ที่จากแต่ก่อนได้จากแหล่งอาหารตามธรรมชาติ ในปัจจุบันก็ลดน้อยลง แหล่งที่มาของอาหารก็กลายเป็นจากร้านค้า ตลาด ที่มาจากการเลี้ยงไว้เพื่อการค้าและที่เพาะปลูกด้วยสารเคมีเพื่อให้ได้สินค้าที่ดูภายนอกน่ารับประทานน่าซื้อ การรักษาโรคเปลี่ยนแปลงจากอดีตเป็นอย่างมากที่รักษาเองกับหมอพื้นบ้าน ภายหลังก็หันมารักษากับแพทย์แผนปัจจุบัน แต่ก็ยังมีส่วนหนึ่งที่รักษากับหมอพื้นบ้านเช่นเดิม เพื่อให้ได้ข้อมูลที่เด่นชัดขึ้น และหาข้อมูลภูมิปัญญาท้องถิ่นใดบ้างที่สามารถจัดการกับโรคเรื้อรังได้ ทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่นบ้านมหาไชย ได้ทำการสำรวจข้อมูลภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทที่ยังหลงเหลืออยู่ในหมู่บ้านโดยละเอียด ทั้งด้านพิธีกรรม ความเชื่อ การใช้สมุนไพร อาหารพื้นบ้าน ผักพื้นบ้าน การปฏิบัติตัวเมื่อเจ็บป่วย โดยการจัดเวทีเก็บข้อมูล ประวัติศาสตร์ชุมชน หมอพิธีกรรม สมุนไพร ผักพื้นบ้าน อาหารพื้นบ้าน โดยการสัมภาษณ์ในกลุ่มผู้รู้ ปราชญ์ชาวบ้าน หมอพื้นบ้าน ผู้นำชุมชน จำนวน 30 คน ได้ผลสรุปดังนี้ ภูมิปัญญาด้านการดูแลสุขภาพของคนผู้ไท แม้ว่าในปัจจุบัน คนผู้ไทในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 จะพึ่งหมอแผนปัจจุบัน แต่ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพของคนผู้ไทในบ้านมหาไชยก็ยังมีหลงเหลืออยู่ ไม่ว่าจะเป็นพิธีกรรม ยาสมุนไพร การปฏิบัติตัว หรืออาหารการกิน ยกตัวอย่างเช่น ผักสมุนไพรของคนผู้ไท บ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ที่มีสรรพคุณในการรักษาและควบคุมความรุนแรงของโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ผักสมุนไพรเหล่านี้ได้แก่ ตำลึง ชะพลู กระเทียม มะระขี้นก แมงลัก กระเพรา กระถิน ผักบุ้ง มะแว้งเครือ เตยหอม ว่านหางจระเข้ เป็นต้น ซึ่งคนในชุมชนใช้ประกอบอาหารเป็นประจำอยู่แล้ว ในเรื่องของสภาพจิตใจที่มีผลต่อระดับความดันโลหิตสูง ประชาชนก็ใช้พิธีกรรมเพื่อเป็นสิ่งยึดเหนี่ยวและจรรโลงจิตใจ และในเรื่องของสารเคมีตกค้างในร่างกาย ผัก สมุนไพร ที่มีสรรพคุณในการขับสารเคมีออกจากร่างกาย ได้แก่ ใบเตย รางจืด หญ้านางแดง เป็นต้น พิธีกรรมและยาสมุนไพรของคนผู้ไท บ้านมหาไชยหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 จะมีหมอพื้นบ้านเป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ การดูแลสุขภาพซับซ้อนมากกว่าการดูแลสุขภาพตนเองของชาวบ้าน เพราะได้รับการถ่ายทอดความรู้ และประสบการณ์จากบรรพบุรุษ หรือไปขอศึกษาจากหมอที่มีความสามารถแล้วนำมาสั่งสมประสบการณ์เพิ่มเติมมากขึ้น เป็นการสะสมความสามารถเพื่อพึ่งตนเอง และเป็นที่พึ่งของคนในชุมชนใกล้เคียง หมอพื้นบ้านไม่ได้ศึกษาทฤษฎีการแพทย์ใด ๆ อย่างเป็นระบบ แต่อาศัยการสังเกตและจดจำจากการบอกกล่าว ขีดความสามารถจึงจำกัดอยู่ในขอบเขตที่ตนรู้ โดยสามารถพลิกแพลงหรือปรับได้อย่างจำกัด ส่วนมาก มีความชำนาญในการใช้ตำรับยาสมุนไพรไม่กี่ตำรับ อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันพบว่า องค์ความรู้ภูมิปัญญาส่วนมากมักเป็นทักษะและประสบการณ์ที่สะสมอยู่กับหมอยาผู้นั้นเอง ไม่มีการขีดเขียนบันทึกเป็นตำรา สำหรับหมอพื้นบ้านที่สะสมความรู้ในรูปของตำราก็พบว่า ตำราเหล่านี้อยู่ในสภาพที่เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย หรือมีการชำรุดสูญหายไปแล้ว ส่วนมากยังไม่มีศิษย์หรือผู้สืบทอดความรู้ต่อ สภาพที่ดำรงอยู่ดังนี้บ่งบอกแนวโน้มที่น่าเป็นห่วงในการสืบต่อความรู้ของหมอพื้นบ้าน ลักษณะเด่นของการหมอพื้นบ้านคนผู้ไท 1.ฐานการดูแลส่งเสริมสุขภาพมีความแนบแน่นอยู่กับประชาชน และ ชาวบ้าน ทุกกระบวนการของการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ล้วนเกิดขึ้นท่ามกลางความเป็นจริงและสอดคล้องกับการดำรงชีวิตของชาวบ้าน 2.เป็นระบบการดูแลสุขภาพที่มีกระบวนการทางสังคมรองรับ มิใช่เป็นความรู้ที่อยู่ ลอย ๆ หรืออยู่ในตำราแต่เป็นความรู้ที่อยู่ใน “คน” แล้วกลายมาเป็นคำแนะนำชักชวนให้ปฏิบัติ 3.การถ่ายทอดความรู้ไม่มุ่งเรื่องผลประโยชน์ แต่เป็นไปตามธรรมชาติด้วยเจตนาดี จึงทำให้สามารถตอบสนองต่อความพึงพอใจของประชาชนได้ โรคและอาการที่หมอพื้นบ้านรักษานั้นอาจจำแนกได้เป็น 3 กลุ่ม คือ 1.กลุ่มอาการเรื้อรัง ได้แก่ เบาหวาน โรคกระเพาะ ริดสีดวงทวาร ริดสีดวงจมูก มะเร็ง อัมพาต แผลเรื้อรัง ฯลฯ รักษาโดยใช้สูตรยาสมุนไพร เช่น สมุนไพรที่ใช้สลายนิ้ว มีกาฝากมะนาว ลูกมะนาว เปลือกหอยหมากเบี้ย 2.กลุ่มโรคพื้นบ้าน มีอาการและโรคที่แตกต่างกันหลากหลาย และอยากที่จะทำความเข้าใจโดยการเทียบเคียงกับโรคสมัยใหม่ ตัวอย่างเช่น ลมผิดเดือน ผิดสำแดง ตาน ซาง ไข้หมากไม้ ผิดจบูร ทำมะลา ประดง เป็นต้น รักษาโดยใช้สูตรยาสมุนไพร เช่น สมุนไพรที่ใช้รักษาไข้หมากไม้ มีรากขนุน รากพวงพี แก่นคำเม็ก 3.กลุ่มอาการที่เกี่ยวกับไสยศาสตร์ ได้แก่ อาการที่มีสาเหตุจากผี พลังอำนาจที่มองไม่เห็น เช่น เด็กร้อง ผีเข้า ถูกคุณไสย ตัวอย่าง เช่น พิธีเหยา รำภูไท หมอหักไม้ หมอสูตรขวัญ เป็นต้น ผักพื้นบ้าน และเมนูอาหารของคนผู้ไท เป็นสิ่งแสดงถึงวัฒนธรรมการกินของคนผู้ไท ซึ่งการประกอบอาหารโดยส่วนมากจะเป็นประเภท ลวก แกง อ่อม นึ่ง หรือรับประทานสด อาหารมักจะมีรสเผ็ด รสเค็ม รสเปรี้ยว และใช้ "ข้าวเบือ" ที่ใช้ข้าวเหนียวมาแช่น้ำ แล้วป่นใส่ในอาหารเพิ่มรสชาติ อย่างแกงหน่อไม้ หรือแกงอ่อมต่างๆ อาหารและผักพื้นบ้านคนผู้ไท ได้สะท้อนให้เห็นถึงความฉลาดของภูมิปัญญาพื้นบ้านในการที่นำมาส่งเสริมสุขภาพมีความสมบูรณ์ แข็งแรง ซึ่งมาจากการเรียนรู้ตามธรรมชาติ เก็บสั่งสมเป็นประสบการณ์และถ่ายทอดมาหลายชั่วอายุ นับเป็นความสามารถของคนไทยที่นำสิ่งที่ได้จากธรรมชาติมาดัดแปลงเป็นอาหารเพื่อสุขภาพได้อย่างเหมาะสม นอกจากนั้นอาหารพื้นบ้านยังสะท้อนถึงการอยู่รวมกันของคนกับธรรมชาติที่มีความเคารพ มีการตอบแทนคุณ สะท้อนถึงความเรียบง่ายในการดำรงชีวิตที่เน้นการพึ่งตนเอง ไม่เบียดเบียนและทำลายธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่มีคุณค่าต่อการนำไปประยุกต์ในการส่งเสริมสุขภาพของบุคคลทุกระดับ สรุปจากที่ทีมวิจัยสำรวจ เก็บข้อมูลสถานการณ์การเจ็บป่วยของคนผู้ไทในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ที่พบว่าการเจ็บป่วยเกิดจากการขาดการออกกำลังกาย การใช้เครื่องปรุงรสเป็นประจำ ส่วนในเรื่องของอาหารปัญหาไม่ได้มาจากรสชาติอาหาร เพราะส่วนมากบริโภคอาหารที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคน้อยอยู่แล้ว แต่น่าจะมาจากการปนเปื้อนสารเคมีในวัตถุดิบที่ใช้ในการประกอบอาหาร จริงอยู่ว่าเป็นที่รับประทานส่วนมากเป็นผัก สมุนไพร อาหารพื้นบ้าน แต่ก็ไม่ปลอดภัย สอดคล้องกับข้อมูลที่มีอยู่เดิมว่า ประชาชนในบ้านมหาไชย หมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 มีระดับสารเคมีในเลือดในระดับเสี่ยงและไม่ปลอดภัยสูงมากกว่า ร้อยละ 60 และภูมิปัญญาที่น่าจะสามารถนำมาใช้ลดความเสี่ยงได้ น่าจะเป็นผักสมุนไพรพื้นบ้าน เช่น หญ้านางแดง ใบเตย ตำลึง และอาหารพื้นบ้านอื่นๆ เพียงแต่ต้องลดการปนเปื้อนของสารเคมีโดยการส่งเสริมการปลูกผัก สมุนไพรใช้ในครัวเรือนโดยไม่ใช้สารเคมี และ “ข้าวเบือ” ที่คนในชุมชนใช้ประกอบอาหารเป็นประจำในอดีต ก็น่าจะใช้แทนเครื่องปรุงรสในสมัยปัจจุบัน ส่วนในเรื่องของพิธีกรรม ความเชื่อก็สิ่งที่ดีอยู่แล้วในชุมชนที่สามารถรักษาโรคทางด้านจิตใจของคนในชุมชนได้ โดยมีหมอพื้นบ้านเข้ามามีบทบาทในการรักษาและให้คำแนะนำแก่คนในชุมชน เพื่อให้ได้รูปแบบการใช้ภูมิปัญญาในการดูแลสุขภาพคนผู้ไทที่เห็นชัดยิ่งขึ้น สอดคล้องกับวิถีชีวิต ความเป็นอยู่แบบคนผู้ไทของบ้านมหาไชย พร้อมทั้งได้แนวทางที่จะสามารถประยุกต์ใช้ ดังนี้ 1.ประยุกต์การอาศัยภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีอยู่ในชุมชน เช่น น้ำสมุนไพร ในการดูแลสุขภาพ ปรับใช้ในตำบลมหาไชยโดยการทำผงนัวสมุนไพรที่มีอยู่ในท้องถิ่น ก็จะเป็นการลดใช้เครื่องปรุงรสในครัวเรือนด้วย เน้นการปลูกผัก สมุนไพรพื้นบ้านที่ปลอดสารพิษไว้กินเองก็จะเป็นการแก้ไข้ปัญหาสารเคมีตกค้างในกระแสเลือดของคนผู้ไทบ้านมหาไชยได้ 2.ประยุกต์การออกกำลังกายแบบรำภูไท ซึ่งมีจังหวะที่ทุกเพศ ทุกวัย สามารถทำได้ โดยในบ้านมหาไชยเอง คนผู้ไทในบ้านมหาไชยก็ยังมีการรำผู้ไทในพิธีสำคัญอยู่ 3.ประยุกต์การสร้างกระแสสังคม ปรับใช้ในตำบลมหาไชยโดยการสร้างกระแส/รื้อพื้นวัฒนธรรมผู้ไทโดยการจัดมหกรรมของดีคนผู้ไท 4.ประยุกต์ใช้กระบวนการประชาคม การมีส่วนร่วมในการตัดสินใจของชุมชน โดยการส่งเสริมการงดเหล้าในงานศพ งานบุญ ให้ใช้น้ำสมุนไพรแทน ก็จะเป็นการลดปัญหาการมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในงานประเพณี ทีมวิจัยเพื่อท้องถิ่นบ้านมหาไชย ไ  
ข้อเสนอแนะ : 1. ในการดำเนินวิจัยในครั้งนี้ ทีมวิจัยพบว่า การดำเนินงานที่เจ้าของโครงการกระทำเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถทำให้เกิดการดำเนินกิจกรรมที่ยั่งยืนได้ รูปแบบกิจกรรมต้องออกมาจากชุมชน เป็นสิ่งที่ชุมชนต้องการจริง โดยสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชุมชน และอาศัยการมีการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วย 2. เรื่องบทบาทหน้าที่ของคนในทีมวิจัย ซึ่งทีมวิจัยแต่ละคนก็สะท้อนออกมาตามหน้าที่ที่ตนเองในรับ ซึ่งอาจจะแตกต่างกันตามอิริยาบถของแต่ละกิจกรรม เช่น เก็บข้อมูล เฝ้าดูพฤติกรรมกลุ่มเป้าหมายในในการดูแลสุขภาพ จัดกิจกรรมส่งเสริมให้กลุ่มเป้าหมายได้มีส่วนร่วมในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ประสานงาน แจ้งข้อมูลความก้าวหน้าของงานวิจัยต่อชุมชน นำเสนอการดำเนินงานในเวทีที่ สกว.จัด บันทึกการประชุม เจาะเลือดกลุ่มผู้ป่วยก่อนและหลังการวิจัย จัดทำน้ำสมุนไพรเสริฟ์เมื่อมีการอบรม วิเคราะห์สถานการณ์สุขภาพ เบิก-ถอน เงิน จัดทำบัญชีรายรับรายจ่าย 3. เรื่องความเข้าใจในงานวิจัยที่ทำในปัจจุบัน คือ เรื่องประวัติศาสตร์ชุมชน การดูแลสุขภาพของคนผู้ไทในอดีต ความรู้เรื่องสมุนไพร การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมด้านอาหาร การป้องกันการเจ็บป่วย การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมขณะเจ็บป่วย การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพ การประยุกต์ดัดแปลงสมุนไพร(ผงนัว) ต้องการให้มีการใช้สมุนไพร วิธีการดูแลผู้ป่วยโรคอื่นๆ เพื่อลดการใช้ยาแผนปัจจุบัน การกระตุ้นให้คนออกกำลังกายและตระหนักถึงความสำคัญของการออกกำลังกาย และทำให้ทราบสภาพปัญหาสุขภาพของคนผู้ไท 4. เรื่องผลจากการดำเนินงานวิจัย ทำให้นักวิจัยใจเย็นมากขึ้น รู้จักรับฟังความคิดเห็นของคนอื่น รู้จักนิสัยใจคอของทีมวิจัย รู้จักเปิดเผย พฤติกรรมการกินของทีมวิจัยดีขึ้น มีความรู้ในเรื่องของน้ำสมุนไพร และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมมากขึ้น เข้าใจทักษะการเขียน กล้าแสองออก เป็นงานวิจัยที่เป็นประโยชน์ต่อทีมวิจัยเองและคนในชุมชน การที่งานจะสำเร็จต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของชุมชน รู้จักวิธีคิดเป็นขั้นตอนมีระบบ เชื่อมประสานงานกับแกนนำวิจัยไปพัฒนาชุมชนได้ดีขึ้น รู้จักเทคนิคการเข้าถึงชุมชน การทำงานร่วมกันกับชุมชน สบายใจมากขึ้น ได้รับความไว้วางใจมากยิ่ง ให้ความสำคัญกับการทำงานเป็นทีมมากยิ่งขึ้น ปรับพฤติกรรมการบริโภค ปลูกผักสวนครัวไว้รับประทานเอง รู้ข้อมูลของชุมชนเพิ่มมากขึ้น รู้เสียสละ รู้สามัคคี เคารพการตัดสินใจของผู้อื่น ข้อเสนอแนะในงานวิจัย ข้อเสนอแนะต่อทีมงาน 1.ทีมวิจัยหลายคนขาดความพร้อมทางด้านความรู้ เวลา จึงไม่สามารถเข้าร่วมกิจกรรมได้ตลอด ทำให้ขาดความต่อเนื่อง ดังนั้นจึงควรมีค่าตอบแทนในบางครั้งเพื่อเป็นการกระตุ้นทีมให้เข้าร่วมในกิจกรรม 2.ทีมวิจัยขาดเทคนิคในการกระตุ้นกลุ่มเป้าหมายให้เข้าร่วมกิจกรรมได้ครบทุกกิจกรรม ดังนั้นทีมวิจัยควรเป็นแบบอย่างในการทำกิจกรรมเสียก่อน เพื่อกลุ่มเป้าหมายได้เห็นว่ากิจกรรมที่ทำนั้นเกิดประโยชน์ต่อตนเองอย่างไร ข้อเสนอแนะต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 1.อปท.ควรมีการสนับสนุนงบประมาณกิจกรรมให้ต่อเนื่อง และขยายผลการดำเนินงานไปยังพื้นที่อื่นในตำบลมหาไชย 2.รพ.สต. ควรมีการต่อยอดองค์ความรู้ในการดำเนินงาน เช่น นำองค์ความรู้ที่ได้ไปใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหมู่บ้านอื่นๆ เพื่อดูผลลัพธ์ที่ได้จากการดำเนินงานว่าสอดคล้องกับผลที่ได้ หรือปรับเปลี่ยน เพิ่มเติมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ข้อเสนอแนะต่อนโยบาย การส่งเสริม สนับสนุนให้มีงานวิจัยในชุมชน เป็นเรื่องที่มีประโยชน์ทั้งตัวทีมวิจัยและชุมชนที่ดำเนินงาน ทำให้ชุมชนได้มีโอกาสพัฒนาตนเอง โดยคงวิถีชีวิตแบบเดิมไว้  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ