ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพมาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ชนิดที่ 2 ในเครือข่ายบริการปฐมภูมิเขตอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์.
ผู้แต่ง : สมดี โคตตาแสง,และคณะ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นภาพตัวแทนของความน่าสะพรึงกลัวที่เกิดขึ้นในโลกยุคใหม่ กำลังท้าทายระบบการแพทย์ทุกมิติ (โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ และคณะ, 2550) โรคเบาหวานจัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ง่าย เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญทั่วโลก (WHO, 2012) ผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จะเพิ่มเป็น 300 ล้านคน ในปี พ.ศ. 2568 (Zimmet P, Alberti KG, Shaw J, 2001) และคาดว่าจะมากเป็นสองเท่า ในปี 2573 (WHO, 2008) โรคเบาหวาน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนไทยในแต่ละปี มากถึง 106,076 คน (6) ซึ่ง 1 ใน 4 ของจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งหมดมากกว่าร้อยละ 30 เป็นการเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี (วิชัย เอกพลากรม, 2553) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่สามารถควบคุมน้ำตาลได้มีเพียงร้อยละ 28.5 มีภาวะแทรกซ้อนทางตาร้อยละ 8.4 แทรกซ้อนทางไตร้อยละ 18.7 และพบแผลที่เท้าร้อยละ 2.1 ถูกตัดนิ้วเท้าและขา ร้อยละ 0.3 (กระทรวงสาธารณสุข, 2556) อีก 10 ปีข้างหน้ารัฐต้องใช้งบประมาณดูแลสุขภาพประมาณ 1.5 ล้านล้านบาท และในจำนวนนี้ 1 ใน 5 จะต้องหมดไปกับการฟอกเลือดจากอาการไตวายเพียงอย่างเดียว (สำนักอนามัยสิ่งแวดล้อม กระทรวงสาธารณสุข, 2556) หากไม่ดำเนินการใดๆ ในสิ้นปี พ.ศ. 2560 อาจจะต้องใช้งบประมาณถึงกว่า 17,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลต้องรับภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ (กระทรวงสาธารณสุข, 2556) และอีก 15 ปี อาจสูงถึง 1 ใน 3 ส่วนของค่าใช้จ่ายรักษาสุขภาพ ตามโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร และคณะ, 2548) อำเภอห้วยเม็ก มีจำนวนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนรักษา ปี 2555 – 2557 ดังนี้ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน จำนวน 1,741 ราย 1,834 ราย และ 1,846 ราย ตามลำดับ คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากรได้ 3,541.3, 3,630.3 และ 3,650.5 ผลการควบคุมน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยภาพรวมได้ต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน กล่าวคือ ร้อย 28.1 (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์, 2556) มูลค่าการใช้ยาในการรักษาผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี กล่าวคือ ในปี 2555-2556 พบว่า มูลค่าการใช้ยาในผู้ป่วยเบาหวานทั้งปีเฉพาะผู้ป่วยนอกภาพรวม พบว่า 162,096.8 บาท และ 2,176,873.4 บาท คิดเป็นร้อยละ 32.2 และ 49.3 พบว่ามี 2 ใน 3 ส่วนเมื่อเทียบภาพรวมค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยนอกที่มาบริการตรวจรักษาโรคในโรงพยาบาลทุกโรค ซึ่งเป็นปัญหาของโรงพยาบาลห้วยเม็ก และเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ จากการวิเคราะห์ พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลได้ ที่สำคัญแนวทางการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน ยังไม่มีความเชื่อมโยงบูรณาการเชิงระบบร่วมกัน ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องให้การดูแลรักษาพยาบาลมีคุณภาพได้มาตรฐานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อป้องกันหรือชะลอไม่ให้ผู้ป่วยเกิดภาวะแทรกซ้อนที่เป็นภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วย ญาติและเครือข่ายหน่วยบริการปฐมภูมิ (โรงพยาบาลห้วยเม็ก, 2557) เครือข่ายสุขภาพปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก ยึดแนวทางการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรัง (Chronic Care Model: CCM) โดยให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานจัดบริการตั้งแต่ในระดับชุมชน ซึ่งได้พัฒนาขึ้นมาจากการวิจัยของ Edward H Wagner (Rothman. & Wagner, 1999) เน้นไปที่การจัดการระบบ เชื่อมโยงหน่วยบริการ และส่งเสริมประสิทธิภาพของบริการสุขภาพปฐมภูมิ (Medical Management Intervention) การทำงานเชิงรุกอย่างมีส่วนร่วมกับชุมชน (Community Intervention) (สงวน นิตยารัมภ์พงศ์, 2548) จากการทบทวนวรรณกรรมและการศึกษางานวิจัยที่เกี่ยวข้อง พบว่า มีระบบบริการ ระบบฐานข้อมูลที่ดี มีการเชื่อมโยงและใช้ประโยชน์จากทรัพยากรที่อยู่ในชุมชน สนับสนุนการดูแลตนเองของผู้ป่วย ประสิทธิผลการพัฒนาระบบบริการงานผู้ป่วยนอกและหน่วยบริการปฐมภูมิเครือข่ายดีขึ้น แต่ยังไม่มีการศึกษาโดยมี อสม.ร่วมให้บริการในระดับชุมชน และการจัดการโรคเบาหวานรูปแบบการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังจัดบริการที่เครือข่ายบริการสุขภาพระดับอำเภอ เพื่อให้สามารถอธิบายสถานการณ์การจัดการโรคเบาหวานในเครือข่ายบริการปฐมภูมิ ทราบปัจจัยที่มีความสัมพันธ์มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน เปรียบเทียบการจัดบริการในชุมชนกับการจัดบริการในหน่วยบริการของกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานตามเกณฑ์มาตรฐานการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวาน และทราบปัญหาอุปสรรคการดำเนินงาน จึงทำให้ผู้วิจัยทำการศึกษาในครั้งนี้ จักได้เป็นข้อเสนอแนะในการปรับปรุงพัฒนาคุณภาพการดูแลผู้ป่วยเบาหวานให้ดียิ่งขึ้นต่อไป  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ทั่วไป เพื่อศึกษาลักษณะทางประชากร คุณลักษณะส่วนบุคคล และกระบวนการจัดการที่มีผลต่อการดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในเครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็กของผู้ป่วยและทีมสุขภาพ เขตอำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ วัตถุประสงค์เฉพาะ 1.เพื่อศึกษาการจัดการที่มีผลต่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของทีมสุขภาพเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 2.เพื่อศึกษาการจัดบริการที่มีผลต่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของผู้ป่วยเบาหวานที่ขึ้นทะเบียนรักษาในเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 3.เพื่อศึกษาการจัดบริการที่มีผลต่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของทีมสุขภาพที่ให้บริการในเครือข่ายระบบบริการสุขภาพปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 4.เพื่อศึกษาเปรียบเทียบการจัดบริการที่มีผลต่อดูแลผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ของผู้ป่วยเบาหวานที่จัดบริการในชุมชนกับจัดบริการที่หน่วยบริการสุขภาพปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก ในจังหวัดกาฬสินธุ์ 5.เพื่อศึกษาปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ในการดำเนินงานของคณะกรรมการการพัฒนาเครือข่ายระบบบริการสุขภาพระดับอำเภอ ในจังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในเครือข่ายบริการปฐมภูมิอำเภอห้วยเม็ก จำนวน 2,194 คน และทีมสุขภาพ จำนวน 105 คน สุมตัวอย่างแบบชั้นภูมิ แล้วสุ่มอย่างง่าย จับออกแต่ล่ะกลุ่มประชากร ได้กลุ่มผู้ป่วย จำนวน 330 ตัวอย่าง ทีมสุภาพ 105 ตัวอย่าง กลุ่มตัวอย่างสนทนากลุ่ม 18 ตัวอย่าง  
เครื่องมือ : แบบสอบถาม มี 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 แบบสอบถามตามเกณฑ์การประเมินการดูแลของผู้ป่วยโรคเบาหวาน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 5 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ลักษณะทางประชากรทั่วไป ส่วนที่ 2 ข้อมูลพฤติกรรมการดูแลภาวะสุขภาพผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนที่ 3 ข้อมูลการจัดให้บริการการดูแลโรคเบาหวาน ส่วนที่ 4 ข้อมูลผลการดูแลตามมาตรฐานคลินิกการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนที่ 5 เป็นคำถามปลายเปิดเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ ชุดที่ 2 แบบสอบถามประเมินรูปแบบการดูแลโรคเรื้อรังของทีมสุขภาพ ให้บริการผู้ป่วยเบาหวาน (ปัทมา โกมุทบุตร, 2551) ประกอบด้วย 4 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 ลักษณะส่วนบุคคล ส่วนที่ 2 ข้อมูลการผลประเมินคุณภาพการจัดการโรคเรื้อรัง คำถามเป็นแบบประเมินค่า (Rating Scale) มีคำตอบให้เลือก 5 ระดับ มี 4 ตอน ส่วนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับข้อมูลมาตรฐานคลินิกการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังในการดูแลผู้ป่วยเบาหวาน ส่วนที่ 4 ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหา อุปสรรค และข้อเสนอแนะ การตรวจสอบคุณภาพเครื่องมือ การตรวจสอบด้านความตรงของเนื้อหา (Content Validity) โดยนำแบบสอบถามเสนอให้ผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 3 ท่าน ตรวจสอบ และได้รับการแก้ไขปรับปรุง ไปทดลองใช้ (Try out) กับกลุ่มตัวอย่างที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มตัวอย่างที่จะทำการศึกษา จำนวน 30 คน อำเภอหนองกุงศรี ในจังหวัดกาฬสินธุ์ การทดสอบความเที่ยงของเครื่องมือ (Reliability) หาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาช (Cronbach’s Alpha Coefficient) ได้ค่าความเที่ยงเท่ากับ 0.87  
ขั้นตอนการดำเนินการ : เป็นการศึกษาวิจัยเชิงพรรณนาแบบภาคตัดขวาง (Cross–sectional Descriptive Research) และใช้ข้อมูลเชิงคุณภาพตรวจสอบยืนยัน จากการสนทนากลุ่ม (Focus Group) เก็บข้อมูลโดยผู้ร่วมวิจัยใช้แบบสอบถามและการสนทนากลุ่ม หลังจากได้รับอนุมัติจริยธรรม เก็บข้อมูลระหว่าง 1-31 ธันวาคม 2558  
     
ผลการศึกษา : ได้รับอนุมัติจริยธรรม รหัสใบอนุมัติ HEB -01PuH-5902-027 และผลการทดสอบความเที่ยงของเครื่องมือหาค่าสัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาชได้ 0.87 ได้รับแบบสอบถามตอบกลับ ผู้ป่วยครบทุกตัวอย่าง ทีมสุขภาพ จำนวน 98 จากทั้งหมด 105 คิดเป็นร้อยละ 93.3 ผลการศึกษาพบว่า คุณลักษณะส่วนบุคคลของผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ขึ้นทะเบียนรักษาในหน่วยบริการอำเภอห้วยเม็ก เพศหญิงเป็นส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ของผู้ป่วยทั้งหมด หรือหญิงมากกว่าชาย 2 เท่า เกินครึ่งของผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดเป็นประชากรกลุ่มผู้สูงอายุ มีรายได้น้อยกว่า 5,000 บาท/เดือน ยังไม่สามารถควบคุมน้ำตาลในเลือดได้ตามเกณฑ์ โดยประมาณ 2 ใน 3 ส่วนของผู้ป่วยทั้งหมดมีการรักษาเบาหวานและโรคอื่นร่วม ทีมสุขภาพ พบว่า สัดส่วนของบุคลากรเกินครึ่งของทั้งหมด ได้แก่ ช่วงอายุน้อยกว่า 30 ปี ตำแหน่งพยาบาลวิชาชีพรวมกับนักวิชาการสาธารณสุข, และสถานภาพสมรสโสด ค่อนทีมสุขภาพมีการศึกษาในระดับปริญญาตรีและระดับปริญญาโทหรือสูงกว่ารวมกัน แต่ขณะเดียวกันกลับพบว่า ไม่เคยผ่านการอบรมรับความรู้เกี่ยวการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไม่ได้ร่วมเป็นคณะกรรมการดำเนินงานควบคุมโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ประสบการณ์ในการทำงาน มีน้อยกว่า 5 ปี เกินครึ่งของทีมสุขภาพ การจัดการในหน่วยบริการเครือข่ายปฐมภูมิไม่มีปัจจัยที่มีผลกับผลการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ อำเภอห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ และไม่มีตัวแปรที่สามารถทำนายผลได้ แต่ให้บริการในชุมชนพบว่า ปัจจัยบริการมีผลกับคุณภาพมาตรฐานการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ ได้แก่ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกายเฉพาะโรคเบาหวาน การจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันของผู้ป่วยเบาหวาน การจัดแผนการรักษาสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วย ให้บริการที่หน่วยบริการ พบว่า ปัจจัยบริการที่มีผลกับคุณภาพมาตรฐานการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ ของผู้ป่วยโรคเบาหวาน ได้แก่ การมีส่วนร่วมของผู้ป่วยในการวางแผนการรักษา ผู้ป่วยได้รับคำแนะนำสุขศึกษา ผลการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ ให้บริการที่หน่วยบริการเครือข่ายปฐมภูมิ มีผลที่ดีกว่าบริการในชุมชนอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ p-value <0.001 (95% CI =1.87 - 2.60)  
ข้อเสนอแนะ : 1.ข้อเสนอแนะจากผลการวิจัย (1) ด้านการสานประโยชน์ ทรัยพากร และชุมชน จากการศึกษาพบว่าการสานประโยชน์กับทรัพยากรของชุมชน เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นไปตามการหลักการการมีส่วนร่วม (WHO,1991) หน่วยบริการควรเน้นการแก้ไขปัญหาด้วยวิถีชุมชน ด้วยอาศัยทุนในชุมชน ขับเคลื่อนในชุมชนร่วมส่งเสริมกระตุ้นสร้างจิตสำนึกในชุมชน เพื่อนำสู่การแก้ไขปัญหาร่วมกัน (2) ด้านการสนับสนุนการดูแลตนเอง จากการศึกษาให้บริการในชุมชน พบว่า ปัจจัยบริการมีผลกับผลการดูแลตามเกณฑ์มาตรฐานงานควบคุมโรคไม่ติดต่อ ของผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 หน่วยบริการสุขภาพ จำเป็นต้องปรับแผนการปฏิบัติใหม่ การให้คำแนะนำเกี่ยวกับอาหารและการออกกำลังกายเฉพาะโรคเบาหวาน การจัดตั้งกลุ่มช่วยเหลือกันของผู้ป่วยเบาหวาน การจัดแผนการรักษาสอดคล้องกับชีวิตประจำวันของผู้ป่วย (3) ด้านหน่วยงานบริการสุขภาพ จากการศึกษาพบว่า หน่วยงานบริการสุขภาพ เพื่อสนับสนุนการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 เพราะหน่วยบริการสุขภาพจำเป็นต้องออกแบบบริการใหม่ กล่าวคือ การนำวิธีคิดและวิธีปฏิบัติในกระบวนการออกแบบมาช่วยพัฒนารูปแบบบริการจัดบริการ ที่จะสามารถสร้างประโยชน์ได้สูงสุด ใช้งานได้สะดวกที่สุด อาทิ การมีส่วนของผู้ป่วยในการวางแผนการรักษา ผู้ป่วยควรได้รับคำแนะนำสุขศึกษา หน่วยบริการจึงควรนำไปปรับใช้เพื่อประโยชน์ราชการและผู้ป่วยโรคเบาหวาน 2.ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป (1) ควรส่งเสริมการนำการแพทย์แผนไทย สอดคล้องวิถีชีวิต เพื่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการดำรงชีวิต มีพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ชะลอภาวะเสื่อมของร่างกาย มิให้เกิดโรคในกลุ่มเสี่ยงจะดีกว่าปล่อยให้มีภาวะการเจ็บป่วย (2) การพัฒนาการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) หลังจากทำวิจัยแล้วควรนำงานวิจัยไปพัฒนาเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR: Participatory action research) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลาอย่างน้อย 3-5 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืน อย่างไรก็ดีการนำต้นแบบนี้ไปประยุกต์ใช้เต็มรูปอาจเป็นเรื่องยากและใช้เวลานานสักระยะ ผู้วิจัยมีความคิดเห็นสอดคล้องกับ วิโรจน์ เจียมจรัสรังษี (2551) มีข้อเสนอแนะว่า การพัฒนาต้นแบบนี้ควรดำเนินการทีละขั้นตอนอย่างค่อยเป็นค่อยไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)