ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ถั่วเขียวนวดมือ สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูง
ผู้แต่ง : โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซง ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 (2555 – 2559) มีการนำแนวคิด “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”มาใช้ในการดำเนินงานการดูแลสุขภาพของประชาชน โดยกำหนดให้การแพทย์แผนไทย เป็นทางเลือกหนึ่งในการดูแลและส่งเสริมสุขภาพของประชาชน ดังนั้นจึงมีการสนับสนุนให้โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพระดับตำบลได้จัดให้บริการด้านการแพทย์แผนไทย การแพทย์ทางเลือกให้กับประชาชนในเขตรับผิดชอบ ให้สามารถพึ่งตนเองได้และประหยัดงบประมาณในการใช้ยาแผนปัจจุบัน วิถีชุมชนและภูมิปัญญาสุขภาพท้องถิ่นเป็นสิ่งที่มีคุณค่าเป็นภูมิปัญญาที่สังคมไทยต้องช่วยกันสืบสาน การนำภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาใช้เป็นการสร้างทางเลือกด้านการดูแลสุขภาพ เน้นการพัฒนาศักยภาพเพื่อการพึ่งตนเองได้ในด้านสุขภาพด้วยการส่งเสริมสมุนไพร การแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก จึงนับว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นและได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน มีการศึกษาวิจัยครั้งสำคัญที่ยืนยันถึงประสิทธิภาพของการนวดไทย ซึ่งดำเนินการโดยโครงการฟื้นฟูการนวดไทย มูลนิธิสาธารณสุขกับการพัฒนาและคณะ ร่วมกับโรงพยาบาลของรัฐ 6 แห่ง เมื่อปี 2531 สรุปได้ว่า การนวดไทยสามารถช่วยลดอาการปวดกล้ามเนื้อ อาการปวดที่เกิดจากการไหลเวียนเลือดไม่ดี และอาการปวดที่เกิดจากการยึดของพังผืด ซึ่งให้ผลค่อนข้างดี โดยไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิกายและชีพจรก่อนและหลังการนวด(ประโยชน์ บุญสินสุข และคณะ ,2531) การนวดมือเป็นการดูแลสุขภาพ ช่วยลดความเครียด คลายความปวดเมื่อย และกระตุ้นการทำงานของอวัยวะต่างๆได้อีกวิธีหนึ่งซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซง ได้ให้บริการผู้ป่วยเรื้อรัง ในการตรวจรักษาและรับยาใน รพ.สต. เพื่อลดความแออัดของผู้ป่วยเรื้อรังในโรงพยาบาลชุมชน สะดวกต่อการเดินทางของผู้ป่วย และการรอรับยาของผู้ป่วยเรื้อรังต้องใช้เวลา 30-40 นาที โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซงจึงตระหนักว่าระหว่างที่ผู้ป่วยเรื้อรังนั่งรอรับบริการ ควรจะมีกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อตัวผู้ป่วยจึงได้จัดทำกิจกรรมสำหรับผู้ป่วย คือ ถั่วเขียวนวดมือ เพื่อเป็นการผ่อนคลายความตึงเครียดระหว่างรอคอยและยังสามารถกระตุ้นการไหลเวียนเลือดได้  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อให้ผู้ป่วยเรื้อรังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซงมีความพึงพอใจต่อการเข้ารับบริการ 2. เพื่อให้ผู้ป่วยเรื้อรังของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซงได้ใช้เวลาว่างขณะรอรับบริการให้เกิด ประโยชน์สูงสุด พร้อมทั้งคลายความกังวลขณะนั่งรอรับบริการ 3. เพื่อให้ผู้ป่วยเรื้อรังที่มารับบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซง ได้เสริมสร้างความแข็งแรงของมือ ลดการ ปวดเมื่อยมือ เพิ่มการไหลเวียนของโลหิตและช่วยเพิ่มแรงบีบมือ จากการบริหารมือโดยนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” 4. เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้มารับบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซงได้นำนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ไปประยุกต์ใช้และปฏิบัติต่อเนื่องที่บ้าน  
กลุ่มเป้าหมาย : เพื่อให้ผู้ป่วยเรื้อรังพึงพอใจกับการใช้นวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซง และสามารถนำนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ไปประยุกต์ใช้ที่บ้านได้  
เครื่องมือ : การประเมินความพึงพอใจในการใช้นวัตกรรมถั่วเขียวนวดมือ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : Plan 1 - วางแผนศึกษาข้อมูลโดยหาข้อมูลที่เกี่ยวกับการออกกำลังเพื่อเพิ่มแรงบีบมือ - ศึกษาหาวัตถุดิบในการสร้างนวัตกรรม ที่เหมาะสมในการนวดมือ - ออกแบบนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” สำหรับผู้ป่วยเรื้อรัง - นำเสนอ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซง Do 1 - ประชุมชี้แจงเจ้าหน้าที่ ผู้เกี่ยวข้องกับแนวทางดำเนินงาน และวัตถุประสงค์ของการจัดทำ นวัตกรรม - ดำเนินการเตรียมอุปกรณ์ “ถั่วเขียวนวดมือ” ได้แก่ เมล็ดถั่วเขียว ถุงเท้าขนาดต่างๆ กรรไกร ด้าย เข็มเย็บผ้า - จัดทำนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ตามที่ได้ออกแบบไว้ ดังนี้ 1. นำเมล็ดถั่วเขียวใส่ในถุงเท้าให้ได้ขนาดพอดีสำหรับการออกกำลังมือ 2. เย็บปิดรอบถุงเท้าเพื่อป้องกันเมล็ดถั่วเขียวออกจากปากถุง 3. ตัดบริเวณเหนือรอยเย็บ โดยเหลือขอบถุงเท้าให้สวยงาม 4. เย็บขอบถุงเท้าที่เหลือ 5.ตกแต่งให้สวยงาม - ให้ผู้มารอรับบริการทดลองใช้โดยปฏิบัติอย่างน้อยครั้งละ 5 นาที - ทำแบบทดสอบพึงพอใจในการใช้นวัตกรรม (แบบทดสอบหลังให้บริการ) - ดำเนินการสร้างนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” Check 1 - ให้ผู้มารับบริการของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านหนองแซงได้ใช้นวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ระหว่างรอรับบริการ โดยใช้เวลาอย่างน้อย 5 นาที - สังเกตการใช้นวัตกรรมของผู้มารับบริการ - เผยแพร่เพื่อนำไปประยุกต์ใช้ที่บ้าน Action 1 - การผลิตนวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ในแต่ละชิ้นต้องใช้ความปราณีตในการตัดเย็บทำให้ใช้เวลาในการผลิตประมาณ 10 นาที ซึ่งทำให้ผู้ประดิษฐ์เกิดความเมื่อล้า - นวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” เมื่อใช้ไปสักระยะจะเปื้อนได้ง่าย จำเป็นจะต้องนำมาถอด ซัก แล้วผลิตใหม่ ทำให้เสียเวลาในการผลิตซ้ำอีกครั้ง ดังนั้นจึงได้มีการปรับปรุง แก้ไข นวัตกรรม “ถั่วเขียวนวดมือ” ให้มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น  
     
ผลการศึกษา : นวัตกรรมมีการใช้วัสดุอุปกรณ์ในการจัดทำเหมาะสม มีคะแนนค่าเฉลี่ย 2.90 อยู่ในระดับ มาก คิดเป็นร้อยละ 10.0 รองลงมาประโยชน์ของนวัตกรรมในการผ่อนคลาย และลดการปวดเมื่อย มีคะแนนค่าเฉลี่ย 2.86 คิดเป็นร้อยละ 13.3  
ข้อเสนอแนะ : 1. สามารถประยุกต์ใช้กับถั่วชนิดอื่นๆได้ 2. ควรเพิ่มกลิ่นที่มีความสดชื่นลงในนวัตกรรม 3. ควรทำท่ากายบริหารอย่างอื่นเพิ่มเติมควบคู่ไปกับการใช้นวัตกรรม“ถั่วเขียวนวดมือ”เช่น การทำท่ากายบริหารฤาษีดัดตน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)