|
ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย |
สถานะ : จัดทำรายงาน |
บทความ/วิจัย เรื่อง : การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ผู้แต่ง : |
นายไพรัตน์ ห้วยทราย นักวิชาการสาธารณสุข ชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคำบง อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ |
ปี : 2559 |
|
|
|
หลักการและเหตุผล : |
ไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่มียุงลายเป็นพาหะ มีความรุนแรงและเป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศ สามารถเกิดขึ้นได้ตลอดทั้งปีทุกภาคของประเทศไทย การเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากร การขยายตัวของชุมชนเมือง และการคมนาคมที่สะดวกขึ้น ทำให้การแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโรคไข้เลือดออกเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว โดยสถานการณ์ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปี 2556 พบอัตราป่วย 62.0, 73.8, 74.8, 104.2 และ 142.2 ต่อประชากรแสนคน (สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์. 2557:3)
กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดกลยุทธ์เพื่อการควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างยั่งยืนโดยเน้นกิจกรรมพัฒนากระบวนการมีส่วนร่วมของเครือข่าย และชุมชนในการป้องกันควบคุมโรค โดยสิ่งที่สำคัญในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกคือการมีส่วนร่วมของประชาชน การสร้างจิตสำนึกให้เกิดความตระหนักในการกำจัดลูกน้ำยุงลายและการควบคุมแหล่งเพาะพันธ์ยุงลาย จัดการสิ่งแวดล้อมไม่ให้เอื้อต่อการเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย(กรมควบคุมโรค. 2553:3) สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 หมวดที่ 5 ว่าด้วยแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ส่วนที่ 10 แนวนโยบายด้านการมีส่วนร่วมของประชาชน มาตรา 87 กำหนดให้รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมของประชาชนในชุมชน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11ที่มีพันธกิจสร้างสังคมเป็นธรรมและเป็นสังคมที่มีคุณภาพ ทุกคนมีความมั่นคงในชีวิต ได้รับความคุ้มครองทางสังคมที่มีคุณภาพอย่างทั่วถึงและเท่าเทียม มีโอกาส เข้าถึงทรัพยากรและกระบวนการยุติธรรมอย่างเสมอภาค ทุกภาคส่วนได้รับการเสริมพลังให้สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนา ภายใต้ระบบบริหารจัดการภาครัฐที่โปร่งใส เป็นธรรม ดังนั้นประชาชนจึงเป็นกลไกสำคัญในการนำนโยบายไปสู่การปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย
อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอที่มีการเกิดโรคไข้เลือดออกอยู่ในอัตราที่ค่อนข้างสูงตั้งแต่
ปี 2552 จนถึงปี 2556 พบอัตราป่วย 147.2, 121.5, 205.5, 239.7 , และ108.0 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ(สำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์. 2556:3) โดยในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกนั้น พบว่าประชาชนมีระดับการมีส่วนร่วมน้อยโดยเฉพาะ การมีส่วนร่วมในการวางแผน และการมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกขึ้นในพื้นที่ได้ หากประชาชนยังขาดความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคอย่างจริงจัง เพี่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในพื้นที่ ผู้วิจัยจึงได้นำแนวคิดการมีส่วนร่วมของโคเฮนและอัฟฮอพ (Cohen and Uphoff. 1980) แนวคิดการมีส่วนร่วมของกฤช ตะภา (2553 :18) และทฤษฎีการกระทำด้วยเหตุผลของอัจเซน และฟิสเบน (Ajzen and Fishbein. 1980) เพื่อหาระดับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน หาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยลักษณะทางประชากรและสังคม ปัจจัยความรู้เรื่องไข้เลือดออก ปัจจัยการสนับสนุน
ทางสังคม และปัจจัยอิทธิพลทางสังคมว่ามีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกหรือไม่ อย่างไรเพื่อจะนำผลการวิจัยไปวางแผนหาแนวทางส่งเสริม สนับสนุนการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนให้ได้ผลดียิ่งขึ้นไป
|
|
วัตถุประสงค์ : |
1. เพื่อศึกษาระดับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน
2. เพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคล ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การสนับสนุนทางสังคม และอิทธิพลทางสังคม กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน
|
|
กลุ่มเป้าหมาย : |
ประชากรในการศึกษาครั้งนี้ เป็นตัวแทนครัวเรือนในอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 7,027 คน และหากลุ่มตัวอย่างโดยใช้สูตรการหาขนาดตัวอย่างในกรณีทราบขนาดประชากร (Danniel, 1978 อ้างถึงในอารีย์ เชื้อสาวะถี, 2546:27)โดยได้ขนาดกลุ่มตัวอย่างจำนวน 240 คน เก็บรวบรวมข้อมูลจากตัวแทนครัวเรือนในอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงวันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2558 |
|
เครื่องมือ : |
เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวมรวมข้อมูลในครั้งนี้เป็นแบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้น โดยสังเคราะห์จากเอกสาร แนวคิด และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง แบ่งออกเป็น 5 ตอนดังนี้
ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับคุณลักษณะส่วนบุคคล
ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก
ตอนที่ 3 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการเข้าร่วมกิจกรรมป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือด เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale)
ตอนที่ 4 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการได้รับอิทธิพลทางสังคมในการเข้าร่วมกิจกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale)
ตอนที่ 5 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating scale)
นำแบบสอบถามไปหาความตรงของเนื้อหาจากผู้เชี่ยวชาญและคำนวณหาค่าความเชื่อมั่นของแบบสอบถามด้านการสนับสนุนทางสังคม อิทธิพลทางสังคมและการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้วิธีการคำนวณค่าสัมประสิทธิ์ของคอนบาร์ค (Cronbach,s Alpha Coefficient) ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.85 , 0.81 และ 0.96 ตามลำดับ
|
|
ขั้นตอนการดำเนินการ : |
1. ผู้วิจัยประสานงานสำนักงานสาธารณสุขอำเภอห้วยผึ้ง โรงพยาบาลห้วยผึ้งในการทำวิจัยและเก็บรวมรวมข้อมูล
2. อบรมผู้ช่วยนักวิจัยในการเก็บข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่าง โดยคัดเลือกจากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ในหมู่บ้านที่ได้รับการสุ่มตัวอย่าง
3. ดำเนินการเก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่าง โดยผู้ช่วยนักวิจัยที่ได้รับคัดเลือกและผ่านการอบรม
4. ผู้ช่วยนักวิจัยดำเนินการเก็บข้อมูลจนครบตามจำนวนชุดข้อมูลที่ได้รับการสุ่มในแต่ละหมู่บ้าน จำนวน 30 หมู่บ้าน 240 ชุด
5. ตรวจสอบความครบถ้วน ถูกต้องแล้วนำไปลงรหัส เพื่อนำไปบันทึกข้อมูลและวิเคราะห์ข้อมูลต่อไป
การวิเคราะห์ข้อมูลและการแปลผลข้อมูล
วิเคราะห์ข้อมูลด้วยวิธีทางสถิติ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป ดังนี้
1. วิเคราะห์คุณลักษณะส่วนบุคคล, ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก, การสนับสนุนทางสังคม, อิทธิพลทางสังคม และการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ใช้สถิติการแจกแจงความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน
2. วิเคราะห์ความสัมพันธ์คุณลักษณะส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ใช้สถิติไค-สแควร์
3. วิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่าง การสนับสนุนทางสังคม อิทธิพลทางสังคมกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยใช้สถิติค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน การแปลผลระดับของความสัมพันธ์ (r) อิงเกณฑ์ของ Hinkle D. E.(1998:118) ดังนี้
r มีค่า 0.90 – 1.00 เท่ากับ มีความสัมพันธ์กันสูงมาก
r มีค่า 0.70 – 0.90 เท่ากับ มีความสัมพันธ์กันระดับสูง
r มีค่า 0.50 – 0.70 เท่ากับ มีความสัมพันธ์กันระดับปานกลาง
r มีค่า 0.30 – 0.50 เท่ากับ มีความสัมพันธ์กันระดับต่ำ
r มีค่า 0.00 – 0.30 เท่ากับ มีความสัมพันธ์กันระดับต่ำมาก
|
|
|
|
|
ผลการศึกษา : |
การศึกษาการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าคุณลักษณะส่วนบุคคลของประชาชนมีรายละเอียดดังนี้ เพศ ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิง คิดเป็นร้อยละ 70.84 อายุ อยู่ในกลุ่มอายุ 41 – 50 ปี จำนวนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 34.58 กลุ่มอายุ 18 – 20 ปี มีจำนวนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 1.67 การศึกษา ส่วนใหญ่จบชั้นประถมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 45.42 ไม่ได้เรียนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 2.50 สถานภาพสมรส มีสถานภาพสมรสคู่มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 76.25 โสดน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 5.84 อาชีพ มีอาชีพเกษตรกรรม/รับจ้างมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ76.66 อาชีพค้าขายน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 5.00 รายได้ มีรายได้ไม่เกิน 5,000บาทต่อเดือนมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 47.08 มีรายได้10,00 - 20,000 บาทต่อเดือนน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 10.00 ระยะเวลาที่อาศัยในชุมชน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชน 21 ปีขึ้นไปมากที่สุด คิดเป็น 87.50 อาศัยอยู่ในชุมชนน้อยกว่าหรือเท่ากับ 10 ปีน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 2.92 ตำแหน่งทางสังคม ส่วนใหญ่ไม่มีตำแหน่งทางสังคมมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 72.92 เป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านน้อยที่สุด คิดเป็นร้อยละ 10.83 มีความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับต่ำ คิดเป็นร้อยละ 52.92 ได้รับการสนับสนุนทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง และได้รับอิทธิพลทางสังคมอยู่ในระดับปานกลาง
โดยระดับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน สามารถแสดงรายละเอียดได้ดังตารางที่ 1
ตารางที่ 1 ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และระดับของการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค
ไข้เลือดออกของประชาชน อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ขั้นตอนการมีส่วนร่วมในการป้องกัน
และควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน
S.D. แปลผล
1. การค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหา
2. การตัดสินใจและวางแผนดำเนินการ
3. การดำเนินงานตามแผน
4. การติดตาม และประเมินผล 2.90
2.66
3.19
2.77 0.23
0.19
0.30
0.35 ปานกลาง
ปานกลาง
สูง
ปานกลาง
ภาพรวมการมีส่วนร่วมในการป้องกัน
และควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน 2.94 0.34 ปานกลาง
จากตารางที่ 1 พบว่าส่วนใหญ่ประชาชนอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.94 , S.D. = 0.34) โดยเมื่อพิจารณาในรายขั้นตอนพบว่าประชาชนมีส่วนร่วมในขั้นตอนการดำเนินงานตามแผน อยู่ในระดับสูง ( = 3.19 , S.D. = 0.30) ขั้นตอน
การค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.90 , S.D. = 0.23) ขั้นตอนการติดตาม และประเมินผลอยู่ในระดับปานกลาง ( = 2.77 , S.D. = 0.35) และขั้นตอนการตัดสินใจและวางแผนดำเนินการ
อยู่ในระดับปานกลาง( = 2.66 , S.D. = 0.19) ตามลำดับ
ความสัมพันธ์ระหว่างลักษณะส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน แสดงละเอียดดังตารางที่ 2
ตารางที่ 2 ความสัมพันธ์ระหว่างระหว่างลักษณะส่วนบุคคลกับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรค
ไข้เลือดออกของประชาชน
คุณลักษณะส่วนบุคคล 2
ระดับนัยสำคัญ
เพศ
อายุ
ระดับการศึกษาสูงสุด
สถานภาพสมรส
อาชีพ
รายได้ต่อเดือน
ระยะเวลาที่อาศัยในชุมชน
ตำแหน่งทางสังคม 1.24
8.33
9.43
7.68
8.77
15.27
14.01
17.02 0.54
0.60
0.15
0.26
0.19
0.02*
0.01*
0.00*
* มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05
จากตารางที่ 2 พบว่ารายได้ต่อเดือน ระยะเวลาที่อาศัยในชุมชน และตำแหน่งทางสังคม มีความสัมพันธ์
กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 ในขณะที่ เพศ อายุ ระดับการศึกษาสูงสุด สถานภาพสมรส และอาชีพ ไม่มีความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การสนับสนุนทางสังคม และอิทธิพลทางสังคม
กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน แสดงรายละเอียดดังตารางที่ 3
ตารางที่ 3 ความสัมพันธ์ระหว่างความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การสนับสนุนทางสังคม และอิทธิพลทางสังคม
กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน
ตัวแปร ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์เพียร์สัน (r) ระดับนัยสำคัญ ระดับความสัมพันธ์
ความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก
การสนับสนุนทางสังคม
อิทธิพลทางสังคม 0.90
0.50**
0.22** .15
< .01
< .01 ไม่มีความสัมพันธ์
ปานกลาง
ต่ำมาก
** มีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01
จากตารางที่ 3 พบว่าความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชนไม่มีความสัมพันธ์กัน ส่วนการสนับสนุนทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีความสัมพันธ์กันในระดับปานกลาง และอิทธิพลทางสังคมมีความสัมพันธ์กับการมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 โดยมีระดับความสัมพันธ์กันในระดับต่ำมาก
|
|
ข้อเสนอแนะ : |
ข้อเสนอแนะการนำผลการวิจัยไปใช้
1. จากผลการศึกษาที่พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีระดับความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งในส่วนของความรู้เบื้องต้น สาเหตุ อาการ การรักษาและการป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก ซึ่งจะทำให้ประชาชนมีพฤติกรรมการปฏิบัติตัวในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกที่ไม่ถูกต้อง เป็นสาเหตุให้ไม่สามารถป้องกันและควบคุมการเกิด การระบาดของโรคไข้เลือดออกได้ จึงควรมีกิจกรรมการให้สุขศึกษา ความรู้ที่ถูกต้องครอบคลุม ในประชาชนทุกกลุ่มอายุ โดยเพิ่มช่องทางสื่อ กิจกรรมในการประชาสัมพันธ์โดยเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วม เช่น การประกวดร้องเพลง หรือกลอนลำที่มีเนื้อหาเกี่ยวกันโรคไข้เลือดออก
2. จากผลการศึกษาที่พบว่า การได้รับการสนับสนุนทางสังคมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก
ทั้งในด้านสิ่งของและแรงงาน ด้านการยอมรับยกย่อง และด้านข้อมูลข่าวสาร โดยประชาชนได้รับการสนับสนุน
อยู่ในระดับปานกลางนั้น ซึ่งการรับการสนับสนุนด้านสิ่งของและแรงงาน ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของ น้ำยาเคมีกำจัดยุง ทรายทีมีฟอส น้ำมันเชื้อเพลิง ปลากินลูกน้ำ ตาข่ายปิดภาชนะเก็บกักน้ำ หรืออื่นๆ จะได้รับการสนับสนุนจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานราชการ จึงควรสนับสนุนสิ่งสนับสนุนต่างๆให้ทั่วถึงและครอบคลุมโดยจัดเตรียมให้พร้อมในช่วงเวลาที่ประชาชนต้องการ รวมทั้งการแนะนำวิธีการใช้ประโยชน์จากสิ่งสนับสนุนเหล่านั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์และคุ้มค่ามากที่สุด ด้านการยอมรับและยกย่อง ควรมีการจัดกิจกรรมประกาศเกียรติคุณ มอบสิ่งของ หรือเงินรางวัลแก่ผู้ที่มีผลงานหรือให้ความร่วมมือในการดำเนินกิจกรรมป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกอย่างสม่ำเสมอ และมีการกำหนด บังคับใช้ข้อห้ามหรือมาตรการทางสังคมกับบุคคลที่ฝ่าฝืนหรือไม่ให้ความร่วมมือ เพื่อเป็นการกระตุ้นประชาชนให้เข้ามามีส่วนร่วมมากยิ่งขึ้น ด้านข้อมูลข่าวสาร ควรมีการเพิ่มช่องทางการส่งข้อมูล ข่าวสาร ที่เหมาะสมให้ประชาชนเข้าถึงและครอบคลุม ในทุกกลุ่มอายุ เช่น สอดแทรกกิจกรรมต่างๆในที่ที่เป็นแหล่งชุมชนของประชาชน เช่น ในวัดโดยจัดในช่วงวันสำคัญทางศาสนา เพิ่มกิจกรรมการจัดนิทรรศการในโรงเรียน หรือในโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ เป็นต้น
3. จากผลการศึกษาที่พบว่า การได้รับอิทธิพลทางสังคมในการเข้าร่วมป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ทั้งจากคนในครอบครัว จากเพื่อนบ้าน จากอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือผู้นำชุมชนและจากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง จึงควรมีการเพิ่มบทบาทของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านหรือผู้นำชุมชนซึ่งเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก หรือพัฒนาชุมชนในด้านอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นแกนนำในหมู่บ้าน ที่ประชาชนให้ความนับถือให้มีบทบาทมากยิ่งขึ้น ทั้งในด้านการกระตุ้นให้ประชาชนสอดส่องดูแล ทำลายแหล่งเพาะพันธ์ลูกน้ำยุงลาย และรักษาความสะอาดสิ่งแวดล้อมรอบบริเวณชุมชน และที่อยู่อาศัย
4. จากผลการศึกษาพบว่า การมีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ซึ่งสามารถแยกการมีส่วนร่วมเป็นรายด้าน คือ การมีส่วนร่วมในการค้นหาปัญหา สาเหตุของปัญหาไข้เลือดออก การมีส่วนร่วมในการติดสินใจและวางแผนดำเนินการ การมีส่วนร่วมในการดำเนิน
การ และการมีส่วนร่วมในการติดตาม ประเมินผล โดยประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนร่วมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก อยู่ในระดับปานกลาง สามารถแยกเป็นรายด้าน ดังนี้
4.1 ด้านการค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในเรื่องการเสนอความคิดเห็นเรื่องไข้เลือดออกในที่ประชุมค่อนข้างน้อย เนื่องจากประชาชนบางส่วนปล่อยให้กิจกรรมดังกล่าวเป็นหน้าที่ของผู้ที่รับผิดชอบโดยตรง เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานราชการ และในการจัดประชุมรับฟังข้อเสนอแนะความคิดเห็นส่วนใหญ่จะดำเนินการในช่วงเวลาที่ประชาชนไม่สามารถเข้าร่วมได้ เนื่องจากติดภารกิจ จึงควรมีการสร้างความสำนึกและตระหนักแก่ประชาชนในการเข้าร่วมกิจกรรม เพื่อจะได้มีประเด็นในการดำเนินงานที่หลากหลาย และปรับช่วงเวลาในการจัดประชุมเสนอแนะ ความคิดเห็นให้สอดคล้องกับตารางปฏิทินของชุมชน เพื่อความสะดวกในการเข้าร่วมกิจกรรมของประชาชน
4.2 ด้านการตัดสินใจและวางแผนดำเนินงาน ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมตัดสินใจในการใช้งบประมาณในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชน ค่อนข้างน้อย เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสในการร่วมดำเนินกิจกรรมการเขียนแผนงาน/โครงการในการขอใช้งบประมาณ ซึ่งจะมีเพียงบางกลุ่มเท่านั้น เช่น อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน นักจัดการสุขภาพ ที่เป็นแกนหลักในการเขียนแผนงาน/โครงการ จึงควรเปิดโอกาสให้ทุกคนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน และกระตุ้นให้ประชาชนเข้าร่วมในกระบวนการจัดทำแผน ซึ่งในปัจจุบันมีช่องทาง และแหล่งงบประมาณต่างๆมากมายที่พร้อมจะสนับสนุนในการดำเนินงาน เช่น กองทุนสุขภาพประจำตำบล หรือ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างสุขภาพ (สสส.) เป็นต้น
4.3 การมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน เป็นขั้นตอนที่มีผลต่อประชาชนโดยตรง และประชาชนจะได้รับประโยชน์มากที่สุดจึงทำให้ประชาชนให้ความร่วมมือ และเข้ามามีส่วนร่วมค่อนข้างมากกว่าขั้นตอนอื่น จึงควรเพิ่มมาตรการ หรือกลวิธีให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ที่จะได้รับ เพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมให้มากยิ่งขึ้น
4.4 การมีส่วนร่วมในการติดตามประเมินผล มีประเด็นที่ประชาชนมีส่วนร่วมค่อนข้างน้อยในด้านนี้คือการเข้าร่วมประชุมประเมินผลการดำเนินงานควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ผู้นำชุมชนเป็นผู้ดำเนินการ อาจเป็นเพราะเห็นว่าตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในขั้นตอนดังกล่าว จึงควรหาวิธีการเพิ่มการมีส่วนร่วมเพื่อสะท้อนข้อมูล และผลการดำเนินงาน นำไปสู่การปรับปรุงกระบวนการดำเนินงานให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อเสนอแนะการวิจัยครั้งต่อไป
1. ควรศึกษาเปรียบเทียบพฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกของประชาชน ระหว่างพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกกับพื้นที่ที่ไม่มีการระบาดของโรค
2. ควรให้มีการศึกษาถึงประเด็นต่างๆในด้านการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการป้องกันและควบคุมโรคในรูปแบบอื่นๆ เช่นหารูปแบบการมีส่วนร่วมที่เน้นให้ประชาชน ภาคีเครือข่ายต่างๆ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น โรงเรียน กลุ่มเยาวชน เข้ามามีส่วนร่วมเพื่อการดำเนินกิจกรรมที่ยั่งยืน และเห็นชัดเจนเป็นรูปธรรม
3. ควรศึกษารูปแบบการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการมีส่วนร่วมของชุมชนโดยใช้รูปแบบการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Participatory Action Research) เพื่อหารูปแบบที่เหมาะสมกับการป้องกันและควบคุมโรคในชุมชน
|
|
|
|
|
รางวัลที่ได้รับ : |
ยังไม่ได้รับรางวัล |
|
|
|
|
|
ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)
|
|
|
|
|