ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิง กระบวนการสนทนากลุ่มเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานในเขตพื้นที่ให้บริการสุขศาลา เทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นายศุภศิลป์ ดีรักษา ,นางสาวเลยนภา โคตรแสนเมือง ,นายเฉลิมพล โพธิสาวัง ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์ของผู้ป่วยเบาหวานของจังหวัดกาฬสินธุ์มีแนวโน้มสูงขึ้น จากข้อมูลปี พ.ศ.2553-2557 พบว่าอัตราตายของโรคเบาหวานเท่ากับ 10.19, 10.84, 11.87, 12.01 และ 12.08 ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ (สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค, 2559) ในส่วนของข้อมูลจำนวนผู้ป่วยโรงพยาบาลท่าคันโทที่ได้รับการวินิจฉัยโดยแพทย์ ในปี พ.ศ. 2554-2558 มีจำนวนผู้ป่วย 919, 975, 987, 1,036 และ 998 คิดเป็นอัตราป่วย 246.34, 261.35, 264.57, 277.70 และ 285.12 ต่อประชากรหมื่นคนตามลำดับ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงของอัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ป่วยเบาหวาน (สุกัณ คันทะสอน, 2559) จากรายงานการสำรวจพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานอำเภอท่าคันโท ประจำปี พ.ศ.2558 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานส่วนใหญ่ มีพฤติกรรมด้านการไม่ออกกำลังกาย ร้อยละ 50 การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม ร้อยละ 45 มีภาวะเครียด ร้อยละ 5 การรับประทานยาไม่ถูกต้อง ร้อยละ 25 และ พฤติกรรมการดูแลสุขภาพช่องปากไม่เหมาะสม ร้อยละ 84.20 (สุกัณ คันทะสอน, 2559) ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว ส่งผลให้เกิดการภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ที่บั่นทอนและทำลายสุขภาพผู้ป่วย ภาวะแทรกซ้อนเหล่านี้ ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของหลอดเลือด การเสื่อมของจอตา การเสื่อมของไต การเสื่อมหน้าที่ของประสาทส่วนปลายและระบบประสาทอัตโนมัติ การผิดปกติของการควบคุมการขับถ่าย การหมดความรู้สึกทางเพศ ความอ่อนแอของภูมิต้านทานโรค และภาวะดังกล่าวส่งผลให้ผู้ป่วยเบาหวานเกิดความเบื่อหน่ายท้อแท้ เนื่องจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ต้องดูแลและรักษาตลอดชีวิต ส่งผลกระทบต่อครอบครัว เศรษฐกิจ และต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลการดูแลผู้ป่วย (เทพ หิมะทองคำ, 2547) จากการตามรอยคุณภาพของคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลท่าคันโท พบว่า ผู้ป่วยเบาหวานยังมีความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองอยู่ในระดับที่ต่ำ เนื่องจากยังมองว่าเป็นเรื่องที่ไม่จำเป็น และไม่ได้ส่งผลต่อสภาวะของโรคเบาหวานที่ตนเองเป็นอยู่ นอกจากนี้ผู้ป่วยเบาหวานยังมีพฤติกรรมหลากหลายความเชื่อและความเข้าใจตนเอง โดยความเชื่อเรื่องการปฏิบัติตัวที่เป็นประโยชน์ต่อการรักษา มีผลโดยตรงต่อพฤติกรรมการควบคุมเบาหวาน จากข้อมูลดังกล่าว เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานได้ ได้นำแนวคิดทฤษฎีการดูแลตนเอง (Self – Care Theory) ของ Orem (2001 อ้างใน พร้อมจิตร ห่อนบุญเหิม, 2553) ซึ่งเป็นทฤษฎีทางการเรียนรู้ด้านพฤติกรรม เป็นผลจากการพัฒนามาตั้งแต่วัยเด็กและค่อยๆพัฒนาเต็มที่ในวัยผู้ใหญ่ เพื่อที่จะสามารถดูแลตนเองได้อย่างสมบูรณ์ สอดคล้องกับการศึกษาของอังศินันท์ อินทรกำแหงและคณะ (2554) ที่นำทฤษฎีการดูแลตนเองมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในกลุ่มโรคเมตาบอลิก ด้วยแนวคิด 3 Self and Promise และทฤษฎีการดูแลตนเองยังสามารถนำมาใช้ในการเสริมสร้างพลังเกี่ยวกับการดูแลตนเองในผู้ป่วยเบาหวาน ดังการศึกษาของชัยนิตย์ อินทร์งาม (2553) นอกจากนี้ผู้วิจัยยังได้ศึกษาทฤษฎีการกำกับตนเองของ Bandura (1986 อ้างใน สมโภชน์ เอี่ยมสุภาษิต, 2553) ซึ่งอธิบายไว้ว่าพฤติกรรมของมนุษย์เรานั้นไม่ได้เป็นผลพวงมาจากการเสริมแรงและการลงโทษจากภายนอกเพียงอย่างเดียว หากแต่ว่ามนุษย์เราสามารถกระทำบางอย่างเพื่อควบคุมความคิด ความรู้สึก และการกระทำของตนเอง ด้วยผลกรรมที่เขาหามาเองเพื่อสำหรับตัวเขา ดังผลการศึกษาของ สุรีพร แสงสุวรรณ (2554) ที่นำมาใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในผู้ป่วยเบาหวานซึ่งพบว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ทฤษฎีการการกำกับตนเองยังนำไปใช้ในการควบคุมกำกับการออกกำลังกายและการควบคุมอาหารต่อการควบคุมน้ำหนักของผู้ใหญ่ที่มีน้ำหนักมาตรฐานเกิน ดังการศึกษาของ จินตนา มะโนน้อม (2552) จากการดำเนินงานที่ผ่านมาของคลินิกเบาหวาน โดยทีมสหวิชาชีพ โรงพยาบาลท่าคันโท มีการให้สุขศึกษาแก่ผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการ และร่วมให้ความรู้ด้านทันตสุขภาพรายกลุ่มเฉพาะในช่วงที่รณรงค์เกี่ยวกับโรคเบาหวานทั้งในโรงพยาบาลและชุมชน ซึ่งกระบวนการดังกล่าวไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาด้านพฤติกรรมของผู้ป่วยเบาหวานได้ และจากข้อมูลรายงานดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาด้านสุขภาพผู้ป่วยเบาหวานยังอยู่ในระดับที่สูง รวมทั้งความรู้ การรับรู้ และพฤติกรรมในการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้จำนวนของผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากผู้ป่วยเบาหวานมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ซึ่งในปัจจุบันโรงพยาบาลท่าคันโทเน้นการให้บริการเชิงรุก โดยกลุ่มสหวิชาชีพ ซึ่งสอดรับกับนโยบายของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ที่จัดตั้งให้มีหน่วยบริการปฐมภูมิในชุมชน ที่เรียกว่า “สุขศาลา” เพื่อให้เป็นสถานที่ให้บริการเบื้องต้นแก่ผู้ป่วย รวมทั้งเป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมเพื่อส่งเสริม ป้องกัน และฟื้นฟูสุขภาพแก่ประชาชนในเขตพื้นที่ เป็นสถานบริการใกล้บ้านใกล้ใจและเป็นแหล่งข้อมูลข่าวสารด้านสาธารณสุขที่ใกล้ชิดกับประชาชนและผู้ป่วยอีกด้วย ดังนั้น ผู้วิจัยจึงมีแนวคิดในการประยุกต์ใช้โปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิงกระบวนการสนทนากลุ่มเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ป่วยเบาหวานมีความรู้ความเข้าใจ มีทัศคติที่ดี และมีพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลตนเองอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ยังสามารถให้คำแนะนำผู้อื่นและเป็นต้นแบบให้กับบุคคลทั่วไปทั้งในครอบครัวและชุมชนได้ พร้อมทั้งนำไปสู่คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นต่อไป  
วัตถุประสงค์ : ความมุ่งหมายทั่วไป เพื่อศึกษาผลของโปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิง กระบวนการสนทนากลุ่มเพื่อควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวานในเขตพื้นที่ให้บริการสุขศาลา เทศบาลตำบลท่าคันโท อำเภอท่าคันโท จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. ความมุ่งหมายเฉพาะ 2.1 เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของ ความรู้โรคเบาหวาน การรับรู้ความสามารถในการดูแลตนเอง และพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้โปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิงกระบวนการสนทนากลุ่ม ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ของกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ 2.2 เพื่อเปรียบเทียบคะแนนเฉลี่ยของ ความรู้โรคเบาหวาน การรับรู้ความสามารถในการดูแลตนเอง และพฤติกรรมการปฏิบัติในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน โดยใช้โปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิงกระบวนการสนทนากลุ่ม ระหว่างกลุ่มทดลองกับกลุ่มเปรียบเทียบ ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง 2.3 เพื่อเปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยเบาหวาน จากพฤติกรรมการดูแลตนเอง โดยใช้โปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองด้วยการเรียนรู้เชิงกระบวนการสนทนากลุ่ม ก่อนการทดลองและหลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบ  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรในการวิจัยครั้งนี้เป็นกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ที่รับการรักษาที่สุขศาลาเทศบาล  
เครื่องมือ : 1. เครื่องมือที่ใช้ในการทดลอง 1.1 แผนการดำเนินกิจกรรมการตามโปรแกรมการดูแลตนเองและการกำกับตนเองเพื่อควบคุมระดับน้ำตาใน เลือดของผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 3 ครั้ง 1.2 สมุดบันทึกสุขภาพประจำตัวการดูแลตนเองสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน 1.3 แบบบันทึกออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยเบาหวาน ติดตามความก้าวหน้าการดูแลตนเองและการบันทึกการกำกับ ตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน และการให้คำแนะนำเพิ่มเติม 2. เครื่องมือเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย 2.1 แบบบันทึกระดับน้ำตาลในเลือดผู้ป่วยเบาหวาน 2.2 แบบสอบถามผู้ป่วยเบาหวาน  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1. ระยะเตรียมการ ผู้วิจัยเตรียมก่อนการวิจัย 2. ระยะทดลอง 3. การเก็บรวมรวมข้อมูล 4. การจัดกระทำกับข้อมูลและการวิเคราะห์ข้อมูล  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง