ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ผลการประยุกต์ใช้การจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน (IVM) ในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : กฤตเมธ อัตภูมิ, วิชัย ขันผนึก ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : รคไข้เลือดออก เป็นปัญหาทางด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเขตร้อนและกึ่งร้อน องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าประชากรในพื้นที่ดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 2,500 ล้านคน แต่ละปีมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกประมาณ 50 ล้านคน ร้อยละ 75 อยู่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก [1] ประเทศไทย มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2501 [2] ตั้งแต่ปี 2537-2556 พบว่า ปี 2556 มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกมากที่สุด มีอัตราป่วยเท่ากับ 234.81/แสนประชากร และอัตราป่วยตายเท่ากับร้อยละ 0.09 ซึ่งรูปแบบการระบาดของโรคไข้เลือดออกไม่แน่นอน อาจจะระบาดแบบปีแบบปีเว้นปีหรือ 2 ปี เว้น 1 ปี ขึ้นอยู่กับปัจจัยและสภาพแวดล้อมในช่วงเวลาดังกล่าว การระบาดของโรคไข้เลือดออกของอำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างปี 2554-2558 มีอัตราป่วยโรคไข้เลือดออก 27.23, 108.91, 330.62, 86.66 และ 443.42 ตามลำดับ ปี 2558 ในช่วงเดือนเมษายน-กรกฎาคม ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน 44 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 406.27/100,000 ปชก. ซึ่งเป็นการระบาดสูงสุดเมื่อเทียบกับค่ามัธยฐานย้อนหลัง 5 ปี [3] การดำเนินการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกยังไม่ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมาย เนื่องจากเป็นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกเพียงฝ่ายเดียว ประชาชนขาดความตระหนัก และความร่วมมือในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก [4] มาตรการสำคัญที่นำมาใช้ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกควรเน้นที่ 2 มาตรการ คือ มาตรการ ที่ 1 การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม [5] และมาตรการที่ 2 การมีส่วนร่วมของชุมชน [6] มีรายงานการวิจัยหลายงานที่ได้นำแนวทางดังกล่าวมาประยุกต์ในการศึกษาวิจัย โดยใช้ทฤษฎีทางสุขศึกษาและพฤติกรรมหรือใช้ทฤษฎีการมีส่วนร่วมในการจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออก [7] [8] [9] ซึ่งส่วนใหญ่มักจะแยกส่วนหรือมีบางงานวิจัยที่นำมาประยุกต์เป็นตัวแบบร่วมกัน เพื่อศึกษาประสิทธิผลของตัวแบบที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นมาโดยวัดผลก่อนและหลังการวิจัย ทำให้ผลที่ได้ยังไม่ชัดเจน เนื่องจากประสิทธิผลของตัวแบบดังกล่าวเป็นเพียงระยะเวลาสั้นๆ หรือผลต่างจากการกระตุ้นให้เกิดความตระหนักในช่วงมีกิจกรรม แต่ไม่สามารถบอกได้ถึงความยั่งยืนของตัวแบบหรือรูปแบบกิจกรรมในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกได้อย่างชัดเจน  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการประยุกต์ใช้การจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน (IVM) ในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่างเลือกแบบเจาะจง 2 หมู่บ้าน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสืนธุ์ โดยเป็นพื้นที่ที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกสูงที่สุด ระหว่างเดือนเมษายน – ตุลาคม 2558 แล้วใช้วิธีการสุ่มอย่างง่าย (Simple Random Sampling) โดยการจับสลาก ได้กลุ่มทดลอง 120 ครัวเรือน และกลุ่มเปรียบเทียบ 116 ครัวเรือน  
เครื่องมือ : แบบสอบถามความรู้เรื่องโรคไข้เลือดออก การรับรู้โอกาสเสี่ยงและความรุนแรงต่อโรคไข้เลือดออก พฤติกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก และแบบสำรวจภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลาย  
ขั้นตอนการดำเนินการ : กลุ่มทดลองได้รับการประยุกต์ใช้การจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน (IVM) ในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก ซึ่งประกอบด้วย การสร้างความร่วมมือจากภาคีเครือข่าย การวิเคราะห์ปัญหาและสถานการณ์การวางแผนและดำเนินการ การระดมทรัพยากร การประเมินผลการป้องกันและควบคุมโรค กลุ่มเปรียบเทียบดำเนินการควบคุมการระบาดของโรคไข้เลือดออกด้วยวิธีปกติ คือ การให้ความรู้และการควบคุมโรค และประเมินผลตามปกติ  
     
ผลการศึกษา : ก่อนได้รับโปรแกรมการประยุกต์ใช้การจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน (IVM) ในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก พบว่า สัดส่วนของจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลายทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน หลังจากการได้รับโปรแกรมการประยุกต์ใช้การจัดการพาหะนำโรคแบบผสมผสาน (IVM) ในการป้องกันและควบคุมการระบาดโรคไข้เลือดออก เดือน 1 เดือนที่ 2 เดือนที่ 3 และเดือนที่ 6 พบว่า ทั้งสองกลุ่มแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ โดยค่าสัดส่วนของจำนวนภาชนะที่พบลูกน้ำยุงลายของกลุ่มทดลองน้อยกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ 13.42 (95% CI=-16.46 to -10.38), 13.05 (95% CI=-16.62 to -9.98) 6.01 (95% CI=-8.63 to -3.39) และ 4.27 (-8.40 to -0.14) ตามลำดับ อัตราป่วยโรคไข้เลือดออกก่อนการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีอัตราป่วย 147.73/100,000 ปชก. และ 156.97/100,000 ปชก. ตามลำดับ หลังการทดลอง ระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มเปรียบเทียบมีอัตราป่วย 9.23/100,000 ปชก. และ 92.34/100,000 ปชก. ตามลำดับ  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : รางวัลนำเสนองานวิจัยดีเด่น ระดับ ระดับจังหวัด  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับโครงร่าง