ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : นายฐานุพงศ์ รุ่งศรีอมรรัชต์ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธ์ุ ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ตามแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ - ๒๕๕๔) กำหนดเป้าหมายการพัฒนาระบบสุขภาพที่มุ่งสู่ระบบสุขภาพพอเพียง โดยมุ่งจัดการระบบสุขภาพที่สมดุลและยั่งยืน สร้างเสริมสุขภาพเชิงรุกที่สามารถสร้างปัจจัยพื้นฐานของการมีสุขภาพดี จัดระบบบริการสุขภาพและการแพทย์ที่มีประสิทธิภาพ จัดระบบการสร้างภูมิคุ้มกันและความพร้อมรองรับ เพื่อลดผลกระทบจากโรคและภัยคุกคามสุขภาพได้อย่างทันการณ์ มีทางเลือกสุขภาพที่หลากหลายผสมผสานกับภูมิปัญญาไทยและสากล สังคมที่ไม่ทอดทิ้งคนทุกข์ยากและผู้ด้อยโอกาส เคารพในคุณค่าและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์๑ รัฐบาลได้ให้ความสำคัญและความจำเป็นในการแก้ปัญหาการระบาดของโรคติดต่อเป็นอย่างดี กระทรวงสาธารณสุขจึงได้กำหนดแนวทางปฏิบัติในการควบคุมโรคติดต่อไว้ ๕ ประการ ดังนี้ ๑) การประสานความร่วมมือระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค ๒) การส่งเสริมสนับสนุนให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง ๓) การสนับสนุนวัคซีนป้องกันโรค ๔) การพัฒนาระบบและบริหารบุคลากร เพื่อค้นคว้าหาองค์ความรู้และเทคโนโลยีใหม่ในการควบคุมโรค และ ๕) การพัฒนาปรับปรุงระบบตรวจจับความผิดปกติของคนและสัตว์ที่ผ่านเข้าออกประเทศ โรคไข้เลือดออก (Dengue Hemorrhagic Fever) เป็นโรคติดต่อเชื้อไวรัสเดงกี่ที่พบเมื่อประมาณ ๕๐ ปีที่แล้ว โดยครั้งแรกมีการระบาดที่ประเทศฟิลิปปินส์ เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๔๗๙ ต่อมามีการระบาดที่ประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๑ โรคไข้เลือดออกส่วนใหญ่จะเป็นในเด็กอายุน้อยกว่า ๑๕ ปี และอาจมีความรุนแรง มีภาวะช็อกเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้๒ กระทรวงสาธารณสุข ได้กำหนดเป้าหมายการทำงานควบคุมโรคไข้เลือดออก สำหรับเจ้าหน้าที่สาธารณสุข โดยกำหนดอัตราป่วยโรคไข้เลือดออก ไม่เกิน ๕๐ รายต่อแสนประชากร ๑คณะกรรมการอำนวยการจัดทำแผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ.๒๕๕๐ -๒๕๕๔), แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ในช่วงแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ ๑๐ (พ.ศ. ๒๕๕๐ -๒๕๕๔), (ม.ป.ท., ม.ป.ป.), หน้า ๖. ๒สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข, แนวทางการพยาบาลผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก, (กรุงเทพฯ : ส.พิจิตรการพิมพ์, ๒๕๕๑), หน้า ๑๓. จากรายงานข้อมูลผู้ป่วย ของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ วันที่ ๒ กันยายน ๒๕๕๘ พบว่า จังหวัดกาฬสินธุ์มีป่วยผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกปี ๒๕๕๗ เท่ากับ ๘๙.๖๓ รายต่อแสนประชากร๓ ซึ่งสูงกว่าอัตราป่วยที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดไว้ ทำให้ทราบว่าสถานการณ์โรคไข้เลือดออกในจังหวัดกาฬสินธุ์ ยังมีผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง และอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอำเภอที่มีการระบาดของโรคไข้เลือดออกอย่างต่อเนื่อง จากข้อมูลทางระบาดวิทยาของอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ย้อนหลัง ๕ ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๗ พบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจำนวน ๙, ๑, ๑๐, ๒๗ และ ๓ ราย ตามลำดับ คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร เท่ากับ ๒๙.๓๕, ๓.๒๖, ๓๒.๖๒, ๘๘.๐๖ และ ๙.๗๘ ตามลำดับ ส่วนในเขตพื้นที่ของตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๕๓-๒๕๕๗ พบว่า มีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออก จำนวน ๒, ๐, ๑, ๒ และ ๐ ราย ตามลำดับ คิดเป็นอัตราป่วยต่อแสนประชากร เท่ากับ ๕๑.๒๒,๐, ๒๕.๖๑,๕๑.๒๒ และ ๐ ตามลำดับ๔ ถึงแม้จำนวนผู้ป่วยจะน้อยแต่เมื่อเทียบกับความรุนแรงของโรคแล้ว โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่อที่ร้ายแรงและแพร่กระจายเชื้อโรคได้อย่างรวดเร็ว สามารถทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้ ถ้าหากไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องและทันเวลา เพื่อเป็นการควบคุมโรคไข้เลือดออกให้แก่ประชาชนในเขตพื้นที่ตำบลไค้นุ่นอำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไค้นุ่นเป็นหน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรงในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรคให้แก่ประชาชน ได้ตระหนักถึงปัญหาของโรคไข้เลือดออกดังกล่าว จึงได้เตรียมความพร้อมทุกด้าน เพื่อควบคุมโรคไข้เลือดออกให้กับประชาชนตามมาตรการของกระทรวงสาธารณสุข โดยมีการเตรียมความพร้อมในด้านการป้องกันโรคต่างๆให้กับบุคลากรในหน่วยงาน เช่น การเข้าร่วมประชุม/อบรม เกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออกให้กับประชาชน เป็นต้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้การอบรมเกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออกของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ซึ่งถือเป็นกำลังสำคัญของกระทรวงสาธารณสุข เพราะเป็นผู้นำในการดำเนินงานพัฒนาสุขภาพและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในหมู่บ้านและชุมชน อีกทั้งเป็นผู้นำในการเปลี่ยนแปลง (Change Agents) พฤติกรรมสุขภาพของประชาชนในชุมชน ให้มีสุขภาพอนามัยและคุณภาพชีวิตที่ดี รู้จักป้องกันตัวเองให้พ้นจากโรคต่างๆ เช่น โรคไข้เลือดออก เป็นต้น๕  
วัตถุประสงค์ : วัตถุประสงค์ของการวิจัย ๑ เพื่อศึกษาความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ๒ เพื่อเปรียบเทียบความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชนที่มี เพศ อายุ และระดับการศึกษาต่างกัน ๓ เพื่อศึกษาข้อเสนอแนะของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง ๑. ประชากร (Population) ได้แก่ หัวหน้าครัวเรือนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไค้นุ่นตำบล ไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๗ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๒ บ้านอุปรี หมู่ที่ ๓ บ้านค่ายบุรี หมู่ที่ ๖ บ้านไค้นุ่นหมู่ที่ ๘ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๑ และบ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๒ จำนวน ๗๘๗ คน (๗๘๗ หลังคาเรือน) ๒ กลุ่มตัวอย่าง(Sample) ได้แก่ หัวหน้าครัวเรือนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไค้นุ่น ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๗ หมู่บ้าน ได้แก่ หมู่ที่ ๑ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๒ บ้านอุปรี หมู่ที่ ๓ บ้านค่ายบุรี หมู่ที่ ๖ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๘ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๑ และบ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๒ ซึ่งกำหนดกลุ่มตัวอย่างโดยการคำนวณจากสูตร ทาโร ยามาเน่ (Taro Yamane) ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๖๖ คน n กำหนดให้ n = กลุ่มตัวอย่าง N = จำนวนประชากร e = ค่าความคลาดเคลื่อนในการสุ่มตัวอย่างในสถิติให้เป็น .๐๕ แทนค่าในสูตร n = ๒๖๖ ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน ๒๖๖ คน  
เครื่องมือ : การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยใช้เครื่องมือในการเก็บรวมรวมข้อมูลเป็นแบบสอบถาม จำนวน ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑ แบบสอบถามเกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถามได้แก่ เพศ อายุ และระดับการศึกษา เป็นแบบตรวจสอบรายการ (Checklist) ตอนที่ ๒ แบบสอบถามเกี่ยวกับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ซึ่งมี ๕ ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท(Likert) โดยแบ่งระดับความคิดเห็นเป็น ๕ ระดับ คือ มากที่สุด มาก ปานกลาง น้อย และน้อยที่สุด ตามลำดับ คำถามประกอบด้วย ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ และด้านเคมีภาพ จำนวน ๓๐ ข้อ ดังนี้ ด้านกายภาพจำนวน ๑๑ ข้อ ด้านชีวภาพ จำนวน ๙ ข้อ และด้านเคมีภาพ จำนวน ๑๐ ข้อ ตอนที่ ๓ แบบสอบถามปลายเปิดเกี่ยวกับข้อเสนอแนะความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๓ ด้าน ได้แก่ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ และด้านเคมีภาพ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ผู้วิจัยดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูล จากหัวหน้าครัวเรือนที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไค้นุ่น ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๗ หมู่บ้านได้แก่บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๒ บ้านอุปรี หมู่ที่ ๓ บ้านค่ายบุรี หมู่ที่ ๖ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๘ บ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๑ และบ้านไค้นุ่น หมู่ที่ ๑๒ จำนวน ๒๖๖ ตัวอย่าง และดำเนินการเก็บรวบรวมข้อมูลด้วยตัวของผู้วิจัยเองได้แบบสอบถามคืนมาทั้งหมด ๒๖๖ ชุด คิดเป็น ๑๐๐% การวิเคราะห์ข้อมูล การวิจัยครั้งนี้ผู้วิจัยดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลตามขั้นตอน ดังนี้ ๑ วิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัจจัยส่วนบุคคลของผู้ตอบแบบสอบถาม โดยใช้สถิติพื้นฐาน ได้แก่ การแจกแจงความถี่(Frequency) และร้อยละ(Percentage)๕ ๒ นำแบบสอบถามมาตรวจให้คะแนนตามเกณฑ์การประเมินระดับความความคิดเห็นแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) มี ๕ ระดับ ตามแบบของ ลิเคิร์ท (Likert) ดังนี้ ระดับความคิดเห็นมากที่สุด กำหนดให้ ๕ คะแนน ระดับความคิดเห็นมาก กำหนดให้ ๔ คะแนน ระดับความคิดเห็นปานกลาง กำหนดให้ ๓ คะแนน ระดับความคิดเห็นน้อย กำหนดให้ ๒ คะแนน ระดับความคิดเห็นน้อยที่สุด กำหนดให้ ๑ คะแนน ๓ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้จากแบบสอบถามด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โดยใช้โปรแกรมสำเร็จรูป เพื่อหาค่าเฉลี่ย (Mean) และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) ๔ นำผลการวิเคราะห์ที่ได้ไปเปรียบเทียบกับเกณฑ์การแปลความหมายค่าเฉลี่ย เพื่อหาค่าระดับความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งโดยภาพรวมและรายด้าน ตามเกณฑ์การประเมินแบบมาตราส่วนประมาณค่า (Rating Scale) ซึ่งมี ๕ ระดับ ตามแบบของลิเคิร์ท (Likert) สถิติที่ใช้ในการวิจัย สถิติที่ใช้หาคุณภาพของเครื่องมือการวิจัย ๑) วิเคราะห์หาค่าอำนาจจำแนกแบบสอบถามเป็นรายข้อ โดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน (Pearson‘s Correlation Coefficient ) ๒) หาความเชื่อมั่นแบบสอบถามทั้งฉบับโดยใช้ค่าสัมประสิทธิ์อัลฟา(Alpha-Coefficient) ตามวิธีของครอนบาค (Cronbach) สถิติพื้นฐาน ๑) ความถี่ (Frequency) ๒) ร้อยละ (Percentage) ๓) ค่าเฉลี่ย (Mean) ๔) ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน (Standard Deviation) สถิติที่ใช้ในการเปรียบเทียบข้อมูล ๑) เปรียบเทียบความแตกต่างด้านเพศของกลุ่มตัวอย่างโดยใช้สถิติทดสอบ t–test (Dependent Samples) ๒) วิเคราะห์ความแปรปรวนด้วยสถิติทดสอบ F-test (One - Way ANOVA)  
     
ผลการศึกษา : จากสรุปผลการวิจัยเรื่อง พฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ใน ๓ ด้าน คือ ด้านกายภาพ ด้านชีวภาพ และด้านเคมีภาพ สามารถนำมาอภิปรายผลได้ดังนี้ ๑๒.๑ ผลการวิเคราะห์ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า โรคไข้เลือดออกเป็นโรคติดต่ออันตรายที่กระทรวงสาธารณสุข มีนโยบายให้เฝ้าระวังเป็นพิเศษ และเป็นหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ที่ต้องดำเนินการควบคุมอยู่เป็นประจำ เพื่อตัดวงจรของยุงลาย จึงมีผลการดำเนินงานโดยรวมอยู่ในระดับมาก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ สมทรง พุ่มประเสริฐ ได้ทำการศึกษาเรื่อง พฤติกรรมเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในจังหวัดปทุมธานี พบว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มีการปฏิบัติเกี่ยวกับการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในระดับดี สอดคล้องกับงานวิจัยของ อดุลย์ วรรณชาติ ได้ทำการศึกษาเรื่อง การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก : ศึกษากรณี อำเภอเขมราฐ จังหวัดอุบลราชธานี พบว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกในระดับสูง ปัจจัยที่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกได้แก่ การสนับสนุน อายุ ระยะเวลา อาชีพ ส่วนปัจจัยที่ไม่มีผลต่อการมีส่วนร่วมในการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออก ได้แก่ เพศ ระดับการศึกษา และสถานภาพสมรส และสอดคล้องกับงานวิจัยของ วัฒนา ทิพอุดร์ ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติ และการปฏิบัติงาน ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก ตำบลเมืองโดน อำเภอประทาย จังหวัดนครราชสีมา พบว่า การปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออก มีระดับการปฏิบัติระดับสูง ร้อยละ ๘๖.๐๔ แต่ไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ บัณฑิต แมลจิตร ได้ทำการศึกษาเรื่อง การรับรู้บทบาทหน้าที่และการปฏิบัติงานตามบทบาทหน้าที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในงานสาธารณสุขมูลฐานอำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร พบว่า การปฏิบัติตามบทบาทหน้าที่ในการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการกำจัดแหล่งเพราะพันธุ์ยุงลาย มีการปฏิบัติในระดับปานกลาง ไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ วราภรณ์ สระมัจฉา ได้ทำการศึกษาเรื่อง ปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินงาน สาธารณสุขมูลฐานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลขนุนหวาน อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า การปฏิบัติงานตามบทบาทที่ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) บทบาทที่ปฏิบัติงานปานกลาง ได้แก่ งานโภชนาการ งานสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมและน้ำสะอาด งานอนามัยแม่และเด็กและวางแผนครอบครัว งานป้องกันและควบคุมโรคติดต่อในท้องถิ่น ไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ ประโยชน์ ฉวีจันทร์ ได้ทำการศึกษาเรื่อง ปัจจัยที่มีผลต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคไข้เลือดออกของแกนนำสาธารณสุข (อาสาสมัครสาธารณสุข) อำเภอหนองขาหย่าง จังหวัดอุทัยธานี ผลการวิจัยพบว่า แกนนำสาธารณสุขมีพฤติกรรมการควบคุมป้องกันโรคไข้เลือดออกได้ถูกต้องการอยู่ในระดับปานกลางร้อยละ ๔๕.๓๐ และ ระดับสูงร้อยละ ๔๒.๑๐ ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการป้องกันควบคุมโรคไข้เลือดออกของแกนนำสาธารณสุข ได้แก่ ความรู้ เจตคติ การได้รับการอบรมเรื่องโรคไข้เลือดออก การได้รับคำสั่ง/ชักชวนให้ร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับโรคไข้เลือด การยอมรับ การให้ความร่วมมือจากชุมชน และการมีผู้ป่วยไข้เลือดออกในครอบครัวหรือในหมู่บ้าน และไม่สอดคล้องกับงานวิจัยของ ประยงค์ พาพลงาม ได้ทำการศึกษาเรื่อง ความรู้ ทัศนคติและการปฏิบัติเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลก้านเหลือง อำเภอแวงน้อย จังหวัดขอนแก่น พบว่า การปฏิบัติงานเกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) มีระดับการปฏิบัติในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านเกี่ยวกับ ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ สามารถนำมาอภิปรายได้ดังนี้ ๑) ด้านกายภาพ ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ด้านกายภาพ โดยรวมอยู่ในระดับมากที่สุด โดยข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นสูงสุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำให้ประชาชนในหมู่บ้าน ทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำ เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปแนะนำประชาชนเรื่องการควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำ เพื่อป้องกันยุงลายเข้าไปวางไข่ เพราะเป็นวิธีการควบคุมโรคไข้เลือดออก ที่สะดวก ปลอดภัย ง่ายต่อการปฏิบัติไม่ต้องมีเสียค่าใช้จ่าย และที่สำคัญที่สุดคือปลอดภัยจากการใช้สารเคมี จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นต่ำที่สุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำประชาชนในหมู่บ้านใช้กระชอนช้อนลูกน้ำ เพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลาย ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ไม่คุ้นเคยกับการแนะนำประชาชนเรื่องการใช้กระชอนช้อนลูกน้ำเพราะว่า ส่วนมากจะแนะนำการควบคุมโรคไข้เลือดออก โดยการปล่อยปลาหางนกยูงหรือปลากัดลงในภาชนะเก็บน้ำเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย หรือแนะนำการทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย จากเหตุผลดังกล่าวจึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นต่ำสุด ๒) ด้านชีวภาพ ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นสูงสุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ได้ให้ความรู้กับประชาชนในหมู่บ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาหางนกยูงหรือปลากัดเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า การกำจัดลูกน้ำยุงลายด้วยการใช้ปลาหางนกยูงหรือปลากัด เป็นวิธีการที่ง่าย สะดวก ประหยัดงบประมาณและปลอดภัยไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพเพราะไม่ต้องใช้สารเคมีหรือทรายอะเบท จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นต่ำที่สุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ความรู้กับประชาชนในหมู่บ้าน ทางหอกระจายข่าวเกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออก ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ไม่ได้ให้ความรู้ทางหอกระจายข่าวมากนัก เพราะว่า ส่วนใหญ่ในหมู่บ้านจะมีหอกระจายประจำหมู่บ้านอยู่เพียง ๑ แห่ง คืออยู่ที่ที่ทำการผู้ใหญ่บ้านหรืออยู่ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าไปใช้หอกระจายข่าวประจำหมู่บ้านไม่สะดวก ส่วนใหญ่จะคุ้นเคยกับการให้ความรู้โดยการพูดคุยกับประชาชนเป็นรายบุคคลหรือรายกลุ่ม เพราะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) คนหนึ่ง จะรับผิดชอบหลังคาเรือนประมาณ ๑๐-๑๕ หลังคาเรือน จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นต่ำสุด ๓) ด้านเคมีภาพ ผลการวิจัยพบว่า ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยรวมอยู่ในระดับมาก โดยข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นสูงสุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) นำทรายอะเบทไปให้ประชาชนในหมู่บ้านเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จะนำทรายอะเบทที่ได้รับการสนับสนุนจากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านไค้นุ่นและจากองค์การบริหารส่วนตำบลไค้นุ่น ไปให้ประชาชน เพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกๆปีโดยเฉพาะในฤดูฝน จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นสูงสุด ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงาน ของสำนักงานควบคุมโรคไข้เลือดออก กรมควบคุมโรคติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข สำหรับข้อที่ประชาชนมีความคิดเห็นต่ำที่สุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำประชาชนในหมู่บ้านใช้ยาฉีดพ่นกำจัดยุงลาย ที่เป็นเช่นนี้อภิปรายได้ว่า การใช้ยาฉีดพ่นกำจัดยุงลาย เป็นวิธีการกำจัดยุงลายตัวแก่ ถึงจะได้ผลรวดเร็วแต่มีผลข้างเคียงเรื่องสารเคมี มีข้อปฏิบัติที่ยุ่งยากและมีอันตรายต่อผู้ใช้ จึงทำให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ไม่แนะนำการใช้สารเคมีฉีดพ่นกำจัดยุงลายในยามปกติ เว้นแต่ในกรณีที่มีการระบาดหรือมีผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกในหมู่บ้าน จึงจะแนะนำประชาชนให้ใช้สารเคมีฉีดพ่นกำจัดยุงลาย เพราะสามารถกำจัดยุงลายได้รวดเร็ว ทันเวลา เหมาะกับการใช้เพื่อการควบคุมโรคไข้เลือดออกในระยะที่มีการระบาดของโรคมากกว่า จากเหตุผลดังกล่าว จึงทำให้ข้อนี้ได้รับความคิดเห็นต่ำสุด  
ข้อเสนอแนะ : ๑.ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ผลจากการวิจัย พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชนโดยรวมมีความคิดเห็นอยู่ในระดับมาก ดังนั้น จึงควรรักษาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อและพัฒนาขยายผลสู่พื้นที่อื่นต่อไป ส่วนด้านที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ ด้านชีวภาพ จึงควรส่งเสริมการปฏิบัติงานในด้านนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากที่สุด ๑) ด้านกายภาพ พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ข้อ ๒ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำให้ประชาชนในหมู่บ้านทำความสะอาดภาชนะเก็บน้ำ เพื่อป้องกันยุงลายวางไข่ มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ดังนั้น จึงควรมีรักษาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อในข้อนี้ ให้อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ได้มีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ของประชาชน ข้อ ๑๑ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)แนะนำประชาชนในหมู่บ้านใช้กระชอนช้อนลูกน้ำเพื่อลดจำนวนลูกน้ำยุงลาย มีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด จึงควรส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในข้อนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากที่สุด ๒) ด้านชีวภาพ พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ข้อ ๓ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ให้ความรู้กับประชาชนในหมู่บ้านเกี่ยวกับการเลี้ยงปลาหางนกยูงหรือปลากัดเพื่อกินลูกน้ำยุงลาย มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ดังนั้น จึงควรส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในข้อนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อ ของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ข้อ ๕ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ให้ความรู้กับประชาชนในหมู่บ้านทางหอกระจายข่าวเกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออก มีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด จึงควรส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในข้อนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากและมากที่สุด ๓) ด้านเคมีภาพ พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ข้อ ๑ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) นำทรายอะเบท ไปให้ประชาชนในหมู่บ้านเพื่อกำจัดลูกน้ำยุงลาย มีระดับค่าเฉลี่ยสูงสุด ดังนั้น จึงควรส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในข้อนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากที่สุด ส่วนความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ข้อ ๓ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) แนะนำประชาชนในหมู่บ้านใช้ยาฉีดพ่นกำจัด มีระดับค่าเฉลี่ยต่ำสุด ดังนั้น จึงควรส่งเสริมและพัฒนาการปฏิบัติงานในข้อนี้ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อพัฒนาระดับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ให้ถึงระดับมากและมากที่สุด ๒ ข้อเสนอแนะในการวิจัยครั้งต่อไป ๑) ผลจากการวิจัย พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน ด้านชีวภาพ มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด ดังนั้น ควรมีการวิจัยเชิงคุณภาพ(Qualitative Research) เพื่อศึกษาสภาพปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข เกี่ยวกับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ในด้านนี้ให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อไป ๒) ผลจากการวิจัย พบว่า ความคิดเห็นที่มีต่อพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) ตำบลไค้นุ่น อำเภอห้วยผึ้ง จังหวัดกาฬสินธุ์ ของประชาชน รายข้อ พบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยต่ำสุด คือ อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ให้ความรู้กับประชาชนในหมู่บ้านทางหอกระจายข่าวเกี่ยวกับการควบคุมโรคไข้เลือดออก ดังนั้น ควรมีการวิจัยเชิงคุณภาพ (Qualitative Research) เพื่อศึกษาสภาพ ปัญหา สาเหตุ และแนวทางแก้ไข เกี่ยวกับพฤติกรรมการควบคุมโรคติดต่อของอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.)ในด้านนี้ ให้มีประสิทธิภาพและประโยชน์สูงสุดต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)