ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ประสิทธิผลของการพอกเข่าด้วยสมุนไพรเถาเอ็นอ่อนและหญ้าขัดมอน ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม
ผู้แต่ง : สราวุธ แสงก่ำ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ปัจจุบันการดูแลสุขภาพด้วยภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย ทั้งการนวดไทย การใช้สมุนไพรเพื่อใช้เป็นยา อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพรเพื่อสุขภาพอื่น ๆ กำลังได้รับความนิยม และได้รับการยอมรับทั้งจากภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชนทั่วไป ดังนั้น เพื่อพัฒนาระบบการดูแลสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย งานแพทย์ แผนไทย โรงพยาบาลห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ได้นำเอาภูมิปัญญาดั้งเดิม สมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดและเพื่อตอบสนองแผนยุทธศาสตร์ของกระทรวงสาธารณสุข จึงได้คิดจัดทำแผ่นพอกสมุนไพรสำเร็จรูป โดยได้นำเอาสมุนไพรที่มีท้องถิ่นซึ่งสามารถหาได้ง่าย นำมาบดรวมกันทำเป็นแผ่นพอกสมุนไพร ซึ่งมีสรรพคุณช่วยลดอาการปวดบวม อาการอักเสบของข้อกระดูก เพื่อเป็นแนวทางในการรักษาทางการแพทย์แผนไทยด้วยวิธีอื่นและง่ายต่อการนำไปใช้กับผู้ป่วย มีกรรมวิธีการทำที่ง่ายประชาชนนำไปทำใช้ได้เอง เพื่อให้ประชาชนมีการดูแลรักษาอาการเจ็บป่วยโดยพึ่งตนเองได้อีกทางหนึ่งด้วย  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิผลของสมุนไพรเถาเอ็นอ่อนและหญ้าขัดมอน ในผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มารับบริการในคลินิกแพทย์แผนไทยโรงพยาบาลห้วยเม็ก จำนวน 50 คน  
เครื่องมือ : สเกลวัดระดับความเจ็บปวด (VAS) แบบสอบถามความพึงพอใจ  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษานี้เป็นการศึกษาขั้นคลินิก ศึกษาในผู้มารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาล ห้วยเม็ก จังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 2560 – 30 เมษายน 2560 โดยศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้มารับบริการที่คลินิกแพทย์แผนไทยที่มีอาการปวดข้อกระดูก คัดเลือกโดยวิธีการสุ่มแบบเป็นระบบ จำนวน 50 ราย โดยการนำเอาสมุนไพรที่มีในท้องถิ่นมาตากแห้งแล้วบดรวมกันเป็นผงแล้วผสมด้วยน้ำมันไพล มีขั้นตอนในการผสมสมุนไพรและรักษา ดังนี้ 1. เตรียมสมุนไพร และส่วนประกอบ นำสมุนไพรทั้ง 2 ชนิด ได้แก่ ขัดมอน, เถาเอ็นอ่อน, และส่วนประกอบ 3 ชนิดได้แก่ แป้งข้าวเจ้า, แป้งข้าวหมาก, น้ำมันไพล 2. การทำแผ่นพอกสมุนไพร นำขัดมอนและ เถาเอ็นอ่อน ไปล้างน้ำให้สะอาด ตากให้แห้ง จากนั้นนำมาบดเป็นผงผสมแป้งข้าวจ้าว, แป้งข้าวหมาก และน้ำมันไพล คลุกเคล้าให้เข้ากัน นำสมุนไพรที่ได้มาผสมเทใส่ผ้าก๊อซ ขนาด 8x8 เซนติเมตร รีดให้เป็นแผ่นแบน วางแผ่นพลาสติกประกบทั้งสองด้าน ใส่ซองซิลปิดปากถุงให้สนิทเพื่อเตรียมใช้งานต่อไป 3. การรักษาผู้ป่วยด้วยแผ่นพอกสมุนไพร จัดให้บริการพอกสมุนไพรสำหรับผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม มีขั้นตอนดังนี้ 3.1 ซักประวัติการเจ็บป่วย 3.2 วัดระดับความเจ็บปวดของผู้ป่วยก่อนรับการรักษาด้วยการพอกยาโดยใช้สเกลวัดระดับความเจ็บปวด (VAS) 3.3 นวดคลึงบริเวณที่มีอาการปวด 3.4 นำแผ่นพอกสมุนไพรพอกเข่าให้ผู้ป่วยที่มารับบริการ 3.5 วัดระดับความเจ็บปวดของผู้ป่วยหลังรับการรักษาด้วยการพอกแผ่นพอกสมุนไพรโดยใช้สเกลวัดระดับความเจ็บปวด (VAS) 3.6 ให้ผู้รับบริการประเมินแบบความพึงพอใจต่อการรักษาอาการปวดด้วยการพอกแผ่นพอกสมุนไพร 3.7 ประเมินผลการรักษาเป็นรายบุคคล การศึกษาครั้งนี้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าเฉลี่ย ความถี่ และร้อยละ และเปรียบเทียบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยคะแนน VAS score ด้วยสถิติ Independent t-test  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาการพอกแผ่นพอกสมุนไพรกลุ่มตัวอย่าง 50 ราย พบว่า กลุ่มตัวอย่างจำนวน 44 ราย มีอาการบวมลดลงอย่างเห็นได้ชัด และอีก 6 รายมีอาการบวมลดลงเล็กน้อยแทบจะไม่ได้เห็นความแตกต่างของก่อนและหลังรับการรักษาโดยวิธีพอกเข่าด้วยแผ่นพอกเข่าสมุนไพร โดยจากการศึกษาได้ทำการวัดระดับความเจ็บปวด VAS พบว่า ค่าเฉลี่ยของคะแนน VAS หลังการพอกสมุนไพรลดลงจากก่อนพอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ลดลง 3.2 คะแนน) และมีความพึงพอใจในระดับดี-ดีมาก ร้อยละ 95  
ข้อเสนอแนะ : 1. จากการศึกษานี้ได้ใช้รักษาผู้ป่วยและประเมินอาการก่อนและหลังการรักษาในการพอกด้วยแผ่นพอกสมุนไพรเพียงครั้งเดียว เพื่อจะให้ได้ผลดียิ่งขึ้นควรมีการติดตามและรักษาผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง 2. ควรนำสมุนไพรที่ได้ไปทดสอบทางห้องปฏิบัติการเพื่อหาปริมาณสารที่ออกฤทธิ์ในการรักษา  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ