ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง แผนกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : โศรดา ชุมนุ้ย ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ในปัจจุบันมีความเจริญก้าวหน้าทางด้านการแพทย์ เทคโนโลยี เครื่องมือ อุปกรณ์ทางการแพทย์ที่สูงขึ้นสามารถช่วยพยุงชีวิตของผู้ป่วยได้มากขึ้นก็ตาม แต่ในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรังผู้ป่วยมีอาการของโรคในระยะลุกลามที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ ส่งผลให้การทำงานของอวัยวะและระบบการทำงานต่างๆของร่างกายทำหน้าที่ผิดปกติจนกระทั่งผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายของชีวิต จากสถิติกระทรวงสาธารณสุข (2557) พบว่าสาเหตุการตายต่อแสนประชากรลำดับ 1 ถึง 3 ได้แก่ มะเร็งทุกชนิด ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง และกลุ่มโรคหัวใจ พ.ศ.2556-2557 มีอัตราการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ กลุ่มมะเร็ง107.88,120.71และ128.84 ความดันโลหิตสูงและโรคหลอดเลือดสมอง 35.7,37.43,47.96 และกลุ่มโรคหัวใจ 32.98,38.06,38.48 ต่อแสนประชากร ตามลำดับ สาเหตุจากการเจ็บป่วยส่วนใหญ่ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง จึงทำให้ผู้ป่วยเข้าสู่ระยะการดูแลแบบประคับประคองเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยดูแลรักษาแบบประคับประคองเป็นผู้ป่วยที่หมดหวังจะหายจากโรค เป็นความเจ็บป่วยที่ไม่มีทางรักษาให้หายได้ด้วยวิธีการใดๆ มีชีวิตอยู่ระหว่างความเป็นกับความตาย ซึ่งถือเป็นภาวะวิกฤตที่สุดของชีวิต ผู้ป่วยต้องเผชิญกับการเจ็บป่วยที่รุนแรงหมดหวังในการรักษาและเผชิญกับความตายก่อให้เกิดความรู้สึกการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ สำหรับด้านร่างกาย ผู้ป่วยดูแลรักษาแบบประคับประคองมักพบปัญหาเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆของร่างกายเสื่อมโทรมลงจนกระทั่งล้มเหลวในที่สุดก่อให้เกิดความเจ็บปวด ความไม่สุขสบาย ส่งผลให้เกิดความทุกข์ทรมานและนอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยมีอาการอ่อนเพลีย เบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน (สถาพร ลีลานันทกิจ, 2551) ปากและในตาแห้ง หายใจเหนื่อยหอบ มีอาการทางระบบประสาท มึนงงสับสน ระดับความรู้สึกตัวลดลง ความสามารถในการทำกิจวัตรประจำวันลดลงหรือไม่ได้เลย ด้านจิตใจ ผู้ป่วยระยะท้ายดูแลแบบประคับประคอง จะมีความวิตกกังวล ซึมเศร้า ปฏิเสธความจริง รู้สึกหมดคุณค่าในการอยู่ร่วมกับผู้อื่น รวมถึงความคิดอยากฆ่าตัวตาย ด้านสังคม ผู้ป่วยระยะท้าย จะรู้สึกหวั่นไหว ท้อแท้ กลัวการทอดทิ้งอยู่อย่างโดดเดี่ยวกลัวเป็นภาระต่อคนอื่น( อุมาภรณ์ ไพศาลสุทธิเดช,2548) อยากพบคนที่รักหรือคนพิเศษเพื่อบอกลา ขอโทษหรืออโหสิกรรมต่อกันเป็นครั้งสุดท้าย นอกจากนี้การเจ็บป่วยที่ยาวนานทำให้สูญเสียรายได้ ประกอบกับการใช้จ่ายในการเดินทางที่มากขึ้น และด้านจิตวิญญาณ หลังจากที่ได้รับรู้ว่าความตายกำลังจะมาถึงทำให้ไม่มีความหวังในการดำเนินชีวิตต่อไป ไม่สามารถทำสิ่งที่ค้างคาใจให้สำเร็จได้ ไม่มีโอกาสกล่าวขอโทษหรืออโหสิกรรมต่อการกระทำที่ผิดพลาดในอดีต ( ทัสนีย์ ทองประทีป,2549) ผู้ป่วยบางรายจะยึดติดสิ่งที่ดี ด้านศาสนา ความดีที่เคยปฏิบัติ เช่น การทำบุญ ทำทาน การปฏิบัติธรรม ดังนั้นจะเห็นว่าญาติผู้ป่วยที่ใกล้จะหมดลมหายใจจะขอปฏิบัติกิจทางศาสนา เช่น การสวดมนต์ เพราะมีความเชื่อว่าการฟังธรรมจะทำให้ผู้นั้นตายดี จากที่กล่าวมาข้างต้นได้สะท้อนให้เห็นว่าผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัวต้องการบริการสุขภาพที่ตอบสนองความต้องการที่ครอบคลุมทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ มุ่งเน้นให้ผู้ป่วยมีความสุขสบาย ลดความทุกข์ทรมานจากการปวด เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยและครอบครัวได้ใช้ชีวิตในช่วงเวลาที่เหลืออยู่อย่างมีคุณภาพชีวิตที่ดีที่สุด ปราศจากความเจ็บปวดและทุกข์ทรมาน ผ่านวาระสุดท้ายของชีวิตอย่างสงบสุขท่ามกลางบุคคลที่รักและมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ โดยยึดถือตามความเชื่อทางศาสนา วัฒนธรรมประเพณีของผู้ป่วย ครอบครัวและชุมชนเพื่อให้ครอบครัวสามารถเผชิญภาวะใกล้ตายและความโศกเศร้าจากการสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ (สถาพร ลีลานันทกิจ, 2551) เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองจะแตกต่างจากการดูแลผู้ป่วยทั่วไป เป้าหมายมิใช่มุ่งรักษาโรคให้หายขาด แต่เป็นการอยู่กับโรคที่รักษาไม่หายซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มักมีปัญหายุ่งยากซับซ้อน ดังนั้นพยาบาลนับเป็นแกนหลักสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายเนื่องจากลักษณะงานมีความใกล้ชิดกับผู้ป่วยโดยลักษณะวิชาชีพที่ให้ความสำคัญในการดูแลมากกว่าการรักษา( ประเสริฐ เลิศสงวนสินชัย,2552) เมื่อการรักษาเพื่อให้หายขาดไม่สามารถเป็นไปได้ พยาบาลสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายและครอบครัวโดยเน้นการดูแลผู้ป่วยให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ตั้งแต่รู้ว่าผลของการรักษาโรคไม่หายขาดจนถึงช่วงสุดท้ายของชีวิต ซึ่งการตอบสนองที่ครอบคลุมองค์รวม โดยเน้นให้ความสำคัญกับผู้ป่วยและครอบครัวเป็นหลักมาใช้ในการประเมิน วางแผนการให้การพยาบาลและติดตามผลอย่างต่อเนื่อง โดยคำนึงอยู่เสมอว่าแผนการดูแลผู้ป่วยมีเป้าหมายเพื่อหยุดยั้งความทุกข์ทรมาน ช่วยคงความหวังต่างๆของผู้ป่วยที่เกิดขึ้นทุกวันอย่างต่อเนื่อง ให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองยังมีคุณค่าและสามารถดำรงไว้ซึ่งความเป็นตัวของตัวเอง นอกจากการดูแลผู้ป่วยแล้วการดูแลครอบครัวผู้ป่วยระยะสุดท้ายยังเป็นสิ่งสำคัญเช่นเดียวกันเนื่องจากครอบครัวผู้ป่วยจะมีความรู้สึกสูญเสีย กลัวผู้ป่วยมีความทุกข์ ทรมานเมื่อระยะสุดท้ายมาถึง พยาบาลจำเป็นจะต้องเตรียมครอบครัวก่อนผู้ป่วยเข้าสู่ระยะสุดท้ายและให้กำลังใจในการดำเนินชีวิตต่อไป แม้หลังผู้ป่วยจากไปแล้ว นโยบายการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองของกระทรวงสาธารณสุขได้ให้ความสำคัญกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคองและถือเป็นแนวปฏิบัติหลักประการหนึ่งของแผน ประกอบด้วย แนวทางด้านกำลังคน สถานที่ในการรักษา การให้ยาแก้ปวดที่ครอบคลุม ตลอดจนการวางแผนระบบการให้บริการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายโดยมีแผนที่จะมีศูนย์รับผู้ป่วยระยะสุดท้ายดูแลแบบประคับประคองทุกจังหวัด กำหนดให้โรงพยาบาลทุกระดับมีหน่วยดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทุกแห่งและให้การรักษาตามอาการเพื่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย มีระบบส่งต่อผู้ป่วยเพื่อไปดูแลต่อเนื่องได้ มีพยาบาลตามเยี่ยมบ้านตามความจำเป็นและถ้าผู้ป่วยมีอาการมากจะส่งมารักษาที่โรงพยาบาล โรงพยาบาลร่องคำเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง จากประสบการณ์การปฏิบัติงานของผู้วิจัยในตึกผู้ป่วยใน พบว่าผู้ป่วยที่รับเข้าดูแลรักษาแบบประคับประคองที่เข้ารับการรักษาที่ตึกผู้ป่วยใน พ.ศ.2556 จำนวน 20 คน / 25 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 1.81 ปี พ.ศ.2557 จำนวน 28 คน/ 33 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ1.63 ปี พ.ศ.2558 จำนวน 33 คน/ 46 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 2.72 (สถิติผู้ป่วยในโรงพยาบาลร่องคำ พ.ศ.2556-2558 ) แสดงให้เห็นว่าผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่รับเข้าดูแลรักษาแบบประคับประคองในแต่ละปีที่เข้ารับการรักษาที่ ตึกผู้ป่วยใน มีจำนวนเพิ่มขึ้น จากการสังเกตการณ์ปฏิบัติงาน การดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประครองที่ผ่านมา พบว่า เกณฑ์การรับผู้ป่วยระยะท้ายเข้าดูแลแบบประคับประคองไม่ชัดเจน เมื่อแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยระยะท้ายที่ต้องรับเข้าดูแลแบบประคับประคอง แนวทางการประเมินผู้ป่วยเพื่อการดูแลก็ไม่เป็นแนวทางเดียว ไม่ชัดเจน ได้แก่ ด้านร่างกาย พบว่าแนวทางการประเมินผู้ป่วยที่รับเข้าดูแลแบบประคับประครองยังไม่ชัดเจนส่งผลให้การ การประเมิน อาการผู้ป่วยไม่ครอบคลุม การปฏิบัติการพยาบาลในบางกิจกรรมยังปฏิบัติหลากหลายไม่เป็นแนวเดียวกัน ด้านจิตใจ การประเมินผู้ป่วยและการให้การช่วยเหลือผู้ป่วยเกี่ยวกับความวิตกกังวลยังขาดความต่อเนื่องและครอบคลุมผู้ป่วยทุกราย ด้านสังคม มีการประเมินผู้ป่วยทางด้านสังคมไม่ครอบคลุม เช่น บทบาทของผู้ป่วยในครอบครัว ความรักความผูกพันของผู้ป่วยกับสมาชิกในครอบครัว การประเมินผู้ดูแล (Care giver) ที่อยู่อาศัยและสิ่งแวดล้อมเครือข่ายทางสังคมและการสนับสนุนทางสังคม ความต้องการของครอบครัว ด้านจิตวิญญาณ การสนองตอบความเชื่อของญาติผู้ป่วยยังไม่ครอบคลุม สรุปว่ารูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยระยะแบบประคับประคองของหน่วยงานยังไม่ครอบคลุม มีการปฏิบัติที่หลากหลายไม่เป็นแนวเดียวกัน การดูแลไม่ครอบคลุมองค์รวม ดังนั้นผู้วิจัยจึงได้พัฒนารูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ครอบคลุมด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณที่ครอบคลุมปัญหาที่เกิดขึ้นมาใช้ และศึกษาผลการใช้รูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง เป็นการยกระดับการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามนโยบายการการดูแลผู้ป่วยแบบแบบประคับประคองครอบคลุมองค์รวมของกลุ่มการพยาบาล และนโยบายของโรงพยาบาล ถูกต้องในเรื่องการรับประทานอาหาร การดูแลสุขภาพทั่วไป และการปฏิบัติตัวเมื่อเกิดภาวะแทรกซ้อน แสดงให้เห็นว่า การเตรียมความพร้อมผู้ป่วยและผู้ดูแลก่อนจำหน่ายยังไม่ดีพอ ผู้วิจัยจึงสนใจที่จะนำแนวคิดการวางแผนการจำหน่ายผู้ป่วยมาใช้เป็นรูปแบบการวางแผนจำหน่ายผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อสามารถตอบสนองความต้องการของผู้ป่วย และครอบครัวได้ทั้งขณะอยู่โรงพยาบาลและเมื่อกลับไปอยู่บ้าน ป้องกันการกลับมารักษาซ้ำในโรงพยาบาลอันเป็นหนทางหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพบริการและประกันคุณภาพการพยาบาลผู้ป่วยใน  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง 2.เพื่อศึกษาผลลัพธ์การใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ 3. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 4. เพื่อศึกษาความพึงพอใจของพยาบาลวิชาชีพต่อการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากร คือ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์การวินิจฉัยว่าเป็นผู้ป่วยที่ต้องรับเข้าดูแลแบบประคับประคอง รับการรักษาที่ผู้ป่วยใน ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยแลและพยาบาล ตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ กลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์รับเข้าดูแลแบบประคับประคองและญาติผู้ดูแลผู้ป่วย ที่เข้ารับการรักษาที่ตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ ระหว่างเดือนตุลาคม พ.ศ.2558 ถึงเดือนเมษายน พ.ศ.2559 ทุกคน ใช้ผลงานเฉลี่ยย้อนหลัง 3 ปี ได้กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 27 คน ญาติผู้ดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองทุกคน พยาบาลวิชาชีพตึกผู้ป่วยใน จำนวน 6 คน  
เครื่องมือ : 1.แบบประเมินผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 2.แบบประเมินความพึงพอใจของญาติผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง 3.แบบประเมินความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การวิจัยและพัฒนารูปแบบการดูแลรักษาผู้ป่วยแบบประคับประคอง ผู้วิจัยได้แบ่งขั้นตอนการดำเนินการวิจัยออกเป็น 3 ขั้นตอน ดังนี้ ขั้นตอนที่ 1 ขั้นเตรียมการ 1. ศึกษาปัญหาการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์เดิมของการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ โดยการสังเกตการณ์ปฏิบัติงาน การบันทึกเวชระเบียนผู้ป่วยระยะท้าย สัมภาษณ์ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนาการ นักกายภาพบำบัดที่มีหน้าที่ดูแลรักษาผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง ญาติและผู้ป่วยระยะท้ายที่เข้ารับการรักษาในตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ 2. ทบทวนวรรณกรรมและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง 3. เสนอปัญหาและแนวคิดการพัฒนาการดูแล ผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองต่อคณะกรรมการทีมนำคลินิก ประกอบด้วย แพทย์ พยาบาล เภสัชกร โภชนาการ นักกายภาพบำบัด เพื่อจัดทำแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง 4. สร้างรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายแบบประคับประคอง ที่ครอบคลุม ทางด้านร่างกาย จิตใจ สังคมและจิตวิญญาณ ตามกรอบแนวคิดของ ของ Sundok ‘s Palliative Care Model ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาแบบประคับประคอง โรงพยาบาลสงฆ์ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (2551) แนวคิดการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของนวลจันทร์ ขันธุแสง (2554) และให้พยาบาลมีส่วนร่วมในการเสนอกิจกรรมตามบริบทของหน่วยงาน 5. นำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่จัดทำขึ้นเสนอผู้ทรงคุณวุฒิตรวจสอบความตรงตามเนื้อหา 6. ปรับแก้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ ขั้นตอนที่ 2 การดำเนินการ 1. ประชุมชี้แจงการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองกับพยาบาล 2. พยาบาลปฏิบัติตามรูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง 3. มีการประชุมติดตามการปฏิบัติตามแนวทางการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองทุกเดือนเพื่อปรับปรุงแนวทางการดูแลให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจ ปฏิบัติได้ง่าย เป็นแนวทางเดียวกัน 4. จัดทำเป็นแนวทางปฏิบัติการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง 5. ประเมินผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยประเมินในวันรับใหม่และช่วง 3 วันมา 6. ประเมินความพึงพอใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยประเมินในวันก่อนจำหน่ายผู้ป่วย 7. ประเมินความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง โดยประเมินจากพยาบาลที่ใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในการดูแลผู้ป่วย 3 เวรขึ้นไป ขั้นตอนที่ 3 การประเมินผล ประเมินผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วย ความพึงพอใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองและความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะแบบประคับประคอง วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้นำมาคิดค่าเฉลี่ยและร้อยละ  
     
ผลการศึกษา : ด้านผลลัพธ์ คะแนนรวมโดยเฉลี่ยทั้ง 27 ราย พบว่า คะแนนปัญหาความต้องการ ทั้งด้านร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยและญาติ มีคะแนนเฉลี่ยโดยรวมลดลง หลังจาก admit 3 วัน แสดงว่าผู้ป่วยและครอบครัวได้รับการดูแลที่ตอบสนองต่อปัญหา/ความต้องการและมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น ด้านความพึงพอใจของญาติผู้ดูแลผู้ป่วยต่อการปฏิบัติการพยาบาลโดยใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคอง พบว่า ภาพรวมระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.42 ร้อยละ88.37 ) เมื่อพิจารณารายด้านพบว่า ด้านที่มีระดับความพึงพอใจมากที่สุดคือด้านจิตใจ ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมากที่สุด (ค่าเฉลี่ย 4.61 ร้อยละ92.29) และด้านที่พึงพอใจน้อยที่สุดคือด้านจิตวิญญาณ ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมาก (ค่าเฉลี่ย 4.09 ร้อยละ81.92) เมื่อพิจารณารายข้อระดับความพึงพอใจญาติผู้ดูแลผู้ป่วยพบว่า ข้อที่มีค่าเฉลี่ยสูงสุดคือท่านพึงพอใจที่พยาบาลเอาใจใส่ผู้ป่วยเป็นอย่างดีและพึงพอใจที่พยาบาลปฏิบัติต่อผู้ป่วยอย่างให้เกียรติ เช่นใช้สรรพนามเรียกอย่างเหมาะสม ใช้คำที่สุภาพ ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมากที่สุด ( ค่าเฉลี่ย 4.72 ร้อยละ94.81) ส่วนข้อที่มีคะแนนความพึงพอใจน้อยที่สุดคือ ท่านพึงพอใจที่ผู้ป่วยได้รับการอภัย / อโหสิกรรมความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมาก ( ค่าเฉลี่ย 4.00 ร้อยละ80) ด้านความพึงพอใจของพยาบาลต่อการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองโดยรวม อยู่ในระดับมาก ( ค่าเฉลี่ย 3.97 ร้อยละ79.33) เมื่อพิจารณารายข้อ พบว่า พยาบาลมีความพึงพอใจรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่สามารถนำไปใช้ได้ตามสภาพจริงในหน่วยงาน พึงพอใจรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่สอดคล้องกับนโยบายของกลุ่มการพยาบาล พึงพอใจรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่สามารถนำไปใช้โดยไม่เพิ่มภาระงาน และพึงพอใจรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่นำไปเป็นแนวทางในการประกันคุณภาพแบบองค์รวมได้ ระดับความพึงพอใจอยู่ที่ระดับมาก(ค่าเฉลี่ย 4.0 ร้อยละ 80) และน้อยที่สุดคือ พึงพอใจรูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองที่ให้การดูแลครอบคลุมองค์รวม ( ค่าเฉลี่ย 3.83 ร้อยละ 76.67) ผลการวิจัยครั้งนี้แสดงให้เห็นว่า ทีมสหวิชาชีพควรตระหนักและเห็นความสำคัญในการนำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองสู่การปฏิบัติอย่างครอบคลุมและต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยระยะท้ายให้ได้รับการดูแลที่ครอบคลุมปัญหาให้ผู้ป่วยสามารถผ่านวาระสุดท้ายอย่างสงบ สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และญาติเผชิญภาวะใกล้ตายและความโศกเศร้าจากการสูญเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
ข้อเสนอแนะ : ข้อเสนอแนะด้านการปฏิบัติการพยาบาล 1. นำรูปแบบการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายแบบประคับประคองใช้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในชุมชนและตึกผู้ป่วยใน โรงพยาบาลร่องคำ ให้มีการนิเทศติดตาม ประเมินผลและปรับปรุงเป็นระยะ เพื่อให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น 2. ควรมีการประเมินผลลัพธ์การดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในทุกหน่วยงานที่มีการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย 3. ควรมีการประเมินผู้ป่วยให้ครอบคลุมองค์รวมทุกด้าน กาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ในกลุ่มผู้ป่วยอื่น ข้อเสนอแนะด้านการทำวิจัยต่อไป ควรมีการประเมินผลการใช้รูปแบบการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคองในชุมชน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ