ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Hypoglycemia , Hyperglycemia อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : รัศมี ลือฉาย ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังที่มีอุบัติการณ์เพิ่มขึ้น เป็นภัยเงียบที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยโดยไม่รู้ตัวและยังมีภาวะแทรกซ้อนที่อันตราย เป็นปัญหาอันดับที่ 1 ของอำเภอร่องคำ จากสถานการณ์โรคเบาหวานของอำเภอร่องคำ ปี 2555 – 2557 พบว่ามีผู้ป่วยเบาหวานจำนวน 754 , 845 และ 890 รายตามลำดับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และเป็นโรคที่เข้ารับการรักษา 1 ใน 5 อันดับโรคแรกของหอผู้ป่วยในของโรงพยาบาลร่องคำ อัตราการนอนโรงพยาบาลร้อยละ 5.70 , 6.04 และ 6.41 ตามลำดับ และมีผู้ป่วยเบาหวานที่นอนรักษาในโรงพยาบาลร่องคำด้วยภาวะHypoglycemia , Hyperglycemia คิดเป็นร้อยละ 86.05 , 86.28 และ 85.97 ตามลำดับ นอกจากนั้นยังมีอัตราการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วันของผู้ป่วยเบาหวาน ร้อยละ 5.41 , 6.82 และ 6.12 ตามลำดับ ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาที่มากขึ้นตามไปด้วย ที่ผ่านมาอำเภอร่องคำได้ดำเนินการหลายกิจกรรมเพื่อป้องกันและลดความรุนแรงจากภาวะแทรกซ้อนเฉียบพลัน Hypoglycemia , Hyperglycemia แต่ผู้ป่วยเบาหวานยังเกิดภาวะแทรกซ้อนจนต้องเข้ามานอนรักษาในโรงพยาบาล และมีจำนวนวันนอนที่นาน 5.8 วัน นอกจากนั้นอัตราการ Re – admit ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งการดูแลตามปกติไม่สามารถทำให้ผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมได้ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะHypoglycemia , Hyperglycemia อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยใช้ทฤษฏีการจัดการรายกรณีมาเป็นทฤษฎีหลักในการออกแบบกิจกรรมให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาของกลุ่มเป้าหมาย มาใช้ในการศึกษาวิจัยครั้งนี้  
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะHypoglycemia , Hyperglycemia และศึกษาผลของการใช้รูปแบบฯต่อจำนวนวันนอน อัตราการการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน ความพึงพอใจของทีมสุขภาพและผู้ป่วยเบาหวานหลังการใช้รูปแบบฯ  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่างประกอบด้วย 1) ทีมสุขภาพที่ให้การดูแลผู้ป่วยเบาหวาน จำนวน 20 คน 2) ผู้ป่วยเบาหวานที่Admitด้วยHypoglycemia , Hyperglycemia จำนวน 49 ราย คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ดำเนินการในเดือนตุลาคม 2557-กรกฎาคม 2558  
เครื่องมือ : 1) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แนวทางการสนทนากลุ่ม แบบบันทึกจำนวนวันนอน การกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน แบบสอบถามความพึงพอใจต่อรูปแบบฯสำหรับทีมสุขภาพ วิเคราะห์ความเชื่อมั่นได้เท่ากับ 0.88 และแบบสอบถามความพึงพอใจต่อรูปแบบฯสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน วิเคราะห์ความเชื่อมั่นได้เท่ากับ 0.90 2) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย คือ รูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะHypoglycemia , Hyperglycemia  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1) สร้างรูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Hypoglycemia , Hyperglycemia โดยการสนทนากลุ่มระหว่างทีมสุขภาพ เพื่อประเมินความต้องการจำเป็นของการพัฒนารูปแบบฯ การวางแผนออกแบบรูปแบบฯ และสอบถามความพึงพอใจต่อความต้องการพัฒนารูปแบบฯ 2) ดำเนินการตามรูปแบบ ประกอบด้วย กำหนดบทบาทของทีมการดูแลให้ชัดเจน กำหนดแบบแผนการดูแลผู้ป่วย กำหนดมาตรฐานการดูแล การประสานงานการดูแลระหว่างทีมสุขภาพเพื่อความต่อเนื่องทั้งในขณะที่นอนโรงพยาบาลเชื่อมโยงการดูแลต่อเนื่องถึงชุมชน และการประเมินประสิทธิภาพของการดูแล 3) สนทนากลุ่มระหว่างทีมสุขภาพ เพื่อปรับปรุงแผนการดูแล (clinical pathway) และพัฒนารูปแบบฯต่อไป  
     
ผลการศึกษา : 1. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Hypoglycemia , Hyperglycemia มีจำนวนวันนอนเฉลี่ย 5.8 วัน หลังการพัฒนารูปแบบฯมีจำนวนวันนอนเฉลี่ย 3.4 วัน 2. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯ ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Hypoglycemia,Hyperglycemia มีอัตราการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน ร้อยละ 6.12 หลังการพัฒนารูปแบบฯไม่มีการกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน 3. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯทีมสุขภาพมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ร้อยละ 71.64 หลังการพัฒนารูปแบบฯมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 90.41 และก่อนการพัฒนารูปแบบฯผู้ป่วยเบาหวานมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ร้อยละ 80.34 หลังการพัฒนารูปแบบฯมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 93.65  
ข้อเสนอแนะ : : รูปแบบการจัดการรายกรณีในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะHypoglycemia , Hyperglycemia มีผลลัพธ์การดูแลที่ดี เนื่องจากรูปแบบการจัดการรายกรณีฯที่พัฒนาขึ้น ทีมสุขภาพมีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล ร่วมประเมินผล มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมสุขภาพตามสมรรถนะของแต่ละวิชาชีพ กำหนดแบบแผนการดูแลผู้ป่วยร่วมกัน ได้แก่ การคัดเลือกผู้ป่วยที่ควรใช้การจัดการรายกรณี การประเมินผู้ป่วย การวางแผนกำหนดเป้าหมายร่วมกันโดยใช้แผนการดูแล(Clinical pathway) มีการกำหนดมาตรฐานการดูแลโดยใช้แนวทางเวชปฏิบัติสำหรับโรคเบาหวาน 2557 มีการวางแผนการจำหน่าย (Discharge plan) มีการนำข้อมูลของผู้ป่วยมาPre – Post conference เพื่อวางแผนการดูแลร่วมกัน มีการจัดการเป็นรายCase และมีการดำเนินงานที่ประสานเชื่อมโยงถึงชุมชน ตลอดจนอสม.เชี่ยวชาญมีบทบาทในการดูแลผู้ป่วย จึงสามารถพัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะ Hypoglycemia , Hyperglycemiaได้ตามมาตรฐานนำไปใช้ดูแลผู้ป่วยได้จริงและก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ดี จนส่งผลให้จำนวนวันนอนลดลง ไม่มีกลับเข้ามานอนรับการรักษาซ้ำภายใน 28 วัน ตลอดจนทีมสุขภาพและผู้ป่วยเบาหวานมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯเพิ่มขึ้น ข้อเสนอแนะเพื่อนำผลการวิจัยไปใช้ สามารถนำรูปแบบการจัดการรายกรณีฯที่ได้พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ใช้ในการดูแลผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะHypoglycemia ,Hyperglycemiaในอำเภอร่องคำได้ และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดการการดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังอื่นๆ ในพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกับอำเภอร่องคำ ข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยครั้งต่อไป ควรศึกษาเชิงทดลองเพื่อติดตามประสิทธิผลของการจัดการรายกรณีในระยะยาว เช่น จำนวนวันนอน การกลับมารักษาซ้ำภายใน 28 วัน และค่าใช้จ่ายในการรักษา เป็นต้น และควรศึกษาประสิทธิผลของการนำระบบการจัดการรายกรณีไปใช้ในการดูแลผู้ป่วยกลุ่มโรคเรื้อรังอื่นๆ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ