ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ในเขตรับผิดชอบโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง ตำบลภูดิน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง ตำบลภูดิน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคเบาหวานเป็นโรคเรื้อรังโรคหนึ่งที่มีความสำคัญมากทางระบาดวิทยา และก่อให้เกิดปัญหาทางสาธารณสุขทั้งทางด้านสุขภาพ สังคมและเศรษฐกิจ ปัจจุบันพบว่าอัตราความชุกของโรคเบาหวานมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี อันสืบเนื่องมาจากโรคเบาหวานเป็นโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้และมีผลกระทบต่อการทำงานของอวัยวะทุกระบบในร่างกายของผู้ป่วย และยังถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้ (วัลลา ตันตโยทัย และอดิสัย สงดี, 2543 : 254) องค์การอนามัยโลกคาดการณ์ว่าในปี พ.ศ. 2568 จะมีผู้ป่วยเบาหวานทั่วโลกประมาณ 324 ล้านคน ( Kapustin, 2005 ) จาการศึกษาวิจัยของ Bchir, Roglic, Green, Sicree and King (2004) เรื่อง Global Prevalence of Diabetes Estimate for the Year 2000 and Projection for 2003 พบว่าประชากรทั่วโลกเป็นเบาหวานประมาณ ร้อยละ 2.8 จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น เป็น ร้อยละ 4.4 ในปี ค.ศ. 2030 พบว่าเพศชายมากกว่าเพศหญิง สำหรับประเทศสหรัฐอเมริกา มี 18.2 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 6.3 และเป็นสาเหตุ การตายอันดับที่ 7 แต่ละปี มีผู้เป็นเบาหวานรายใหม่ 1.3 ล้านคน พบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 ร้อยละ 95 (Ulchaker, 2008 ) ในประเทศไทยมีอัตราผู้ป่วยเบาหวานเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา มีผู้ป่วยเบาหวานรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 2 เท่า และพบว่าเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 มากที่สุด (ทิปทัศน์ ชุณหสวัสดิกุล. 2552 ; ในวิจิตรา กุสุมภ์, 2553 : 339) จากข้อมูลของสหพันธ์เบาหวานนานาชาติ (International Diabetes Federation) ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศ คาดการณ์ผู้ป่วยเบาหวานที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปี ทั่วโลก ว่ามีจำนวน 285 ล้านคน ในปี 2553 และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 438 ล้านคน ในอีก 20 ปีข้างหน้า ในจำนวนนี้ประมาณ 4 ใน 5 เป็นชาวเอเชีย เฉพาะภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้น คาดว่า จะเพิ่มจาก 58.7 ล้านคน ในปี 2553 ไปถึง 101 ล้านคน ในปี 2573 เรียกว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 72 เพียงเท่านี้ก็น่าจะเห็นได้ชัดเจนแล้วว่า เบาหวานเป็นเรื่องหนักหนาเพียงใด สำนักระบาดวิทยา กระทรวงสาธารณสุข ได้ติดตามเฝ้าระวังปัญหาการเจ็บป่วยของคนไทยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 โรค ได้แก่ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจขาดเลือดโรคหลอดเลือดสมอง และโรคเรื้อรังระบบทางเดินหายใจการเฝ้าระวังตลอดปี 2551 พบว่า เฉพาะผู้ป่วยโรคเบาหวานที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจาก 44 จังหวัด ทั่วประเทศที่ส่งรายงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 645,620 ราย และยังพบว่าผู้หญิงป่วยเป็นเบาหวานและความดันโลหิตสูงมากกว่าผู้ชายเกือบ 2 เท่า ในคนกลุ่มวัยทำงานอายุน้อยกว่า 40 ปีมีแนวโน้ม ป่วยจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากขึ้นข้อมูลจากสำนักระบาดวิทยายังแสดงให้เห็นว่า สัดส่วนผู้ป่วยเบาหวานที่เป็นผู้หญิงนั้นมีมากกว่าผู้ชายถึง 2 เท่า นั่นคือ ประมาณร้อยละ 67 เมื่อเทียบกับร้อยละ 33 ในผู้ป่วยชาย ในจำนวนผู้ป่วยเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ เกือบครึ่งหนึ่งเป็นผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และประมาณเกือบร้อยละ 30 เป็นผู้ที่มีอายุระหว่าง 50-59 ปี ภาพรวมของสถานการณ์เบาหวานในประเทศไทยเมื่อเปรียบเทียบข้อมูลทุก 10 ปี คือตัวเลขปี 2529, 2539 และ2549 ยิ่งตอกย้ำให้เห็นว่าเบาหวานไม่ใช่เป็นเรื่องเบาๆ และหวานๆ เลย นั่นคือ อัตราการเข้ารักษาในโรงพยาบาลประมาณ 33 ต่อประชากรแสนคน ในปี 2529 เพิ่มเป็น 100 ในปี 2539 และพุ่งสูงถึง 586.8 ในอีก 10 ปีต่อมา ที่น่าตกใจก็คือ ผู้ป่วยเบาหวานที่ไม่เคยได้รับการวินิจฉัยนั้นมีจำนวนสูงถึงร้อยละ 65 ในผู้ชาย และร้อยละ 49 ในผู้หญิง ตัวเลขที่กล่าวมาทั้งหมดข้างต้นจึงเรียกได้ว่าเป็นเพียงส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้นเอง (ชื่นฤทัย กาญจนะจิตรา และคณะ, 2553:50 – 51) จากรายงานสถานการณ์ผู้ป่วยโรคเบาหวานของจังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่าผู้ป่วยมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี และจากข้อมูลผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง ปี 2556 – 2558 มีผู้ป่วย จำนวน 154 ,161 ,186 ราย คิดเป็นอัตราป่วย ต่อแสนประชากร 2,685.26 , 2,763.95, 3,154.68 ตามลำดับ(สรุปผลการปฏิบัติงานประจำปี รพ.สต..เหล่าหลวง, 2559) จากข้อมูลข้างต้นพบว่า ผู้ป่วยโรคเบาหวานในเขตโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง มีอัตราป่วยสูงกว่าอัตราป่วยในภาพรวมของระดับอำเภอ ถึงแม้ว่าโรคเบาหวานส่วนใหญ่ไม่ทำให้สูญเสียชีวิตทันที แต่ทำให้คุณภาพชีวิตลดลง เกิดความสูญเสียทั้งทางด้านสังคม และเศรษฐกิจอย่างมหาศาล และเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคตามมา ทำให้เกิดข้อจำกัดด้านความสามารถหรือมีความพิการหรือเสียชีวิตก่อนเวลาอันควร อันจะนำมาซึ่งค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาโรคเบาหวานและภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ซึ่งเป็นภาระอย่างมากต่อครอบครัวและประเทศ และเป็นภาระหนักของระบบสาธารณสุข จากการศึกษาของ ปนัดดา เพชรคำ และปรเมษฐ์ กิ่งโก้ ( 2548 : 2-3 ) พบว่า ปัญหาของผู้ป่วยโรคเบาหวานของจังหวัดในเขตตรวจราชการที่ 11 ( มุกดาหาร นครพนม กาฬสินธุ์ และสกลนคร) ที่พบมากได้แก่ ผู้ป่วยเบาหวานไม่ให้ความร่วมมือและไม่เห็นความสำคัญของการตรวจคัดกรอง เบาหวาน การไม่ให้ความสนใจในการรับฟังความรู้เรื่องโรคเบาหวาน จากเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ประชาชนกลุ่มเสี่ยงบางรายที่สงสัยว่าเป็นเบาหวานไม่กล้ามาตรวจเพราะกลัวจะพบว่าตนเองเป็นโรคเบาหวาน การย้ายถิ่นฐานทำกินตามฤดูกาลของผู้ป่วยเบาหวานการไม่ไปพบแพทย์ตามนัด การขาดความรู้เรื่องการใช้ยารักษาโรคเบาหวานโดยการปรับขนาดการใช้ยาเอง การกินยาไม่สม่ำเสมอและการใช้ยาสมุนไพร ผู้สูงอายุที่ป่วยเป็นเบาหวานที่อยู่ที่บ้านขาดการดูแล และมีพฤติกรรมการปฏิบัติตนที่ไม่ถูกต้อง เช่นการรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย เป็นต้น จากสถานการณ์ข้างต้นที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า แนวโน้มของโรคเบาหวานจะมีความรุนแรงมากขึ้นทุกปี หากผู้ป่วยโรคเบาหวานขาดการตระหนักในการดูแลสุขภาพตนเองที่ถูกต้องรวมทั้งการไม่ปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข เช่น การรับประทานอาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน การมาพบแพทย์ตามนัด จึงอาจกล่าวได้ว่าประสิทธิภาพของการรักษาโรคเบาหวานนั้น ขึ้นอยู่กับการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยลดความรุนแรงและภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ Orem (1991) กล่าวว่าการดูแลตนเองเป็นรูปแบบหนึ่งของการกระทำอย่างจงใจและมีเป้าหมาย ซึ่งเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อรักษาไว้ซึ่งชีวิต สุขภาพ และสวัสดีภาพ ทั้งในภาวะปกติและขณะเจ็บป่วย เมื่อเกิดการเจ็บป่วยขึ้นผู้ป่วยโรคเบาหวานจึงต้องปฏิบัติกิจกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการดูแลตนเองที่จำเป็น และการที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานจะมีการปฏิบัติกิจกรรมการดูแลตนเองได้ดีหรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับความสามารถในการดูแลตนเองของผู้ป่วย (Self-care agency) และความสามารถในการดูแลตนเองของแต่ละบุคคลย่อมแตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน (Basic condition factor) ของแต่ละบุคคล ความสามารถในการดูแลตนเองที่แตกต่างกัน ย่อมจะส่งผลต่อพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวานที่แตกต่างกัน ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาถึงพฤติกรรมการดูแลตนเองชนิดไม่พึ่งอินซูลิน ในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง ตำบลภูดิน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยประยุกต์แนวคิดการดูแลตนเองที่จำเป็น (Self-care requisites : SCR ) ของ Orem (Orem, 2001 : 47-49) เพื่อให้ทราบข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญ และแนวทางในการส่งเสริมพฤติกรรมการดูแลสุขภาพตนเองของผู้ป่วยโรคเบาหวานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น อีกทั้งได้ทราบถึงพฤติกรรมที่ควรสนับสนุน ส่งเสริม หรือพฤติกรรมที่ควรปรับแก้ ให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยพื้นที่ ใช้เป็นแนวทาง การพัฒนาความรู้ ทัศนคติและพฤติกรรมการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดของประชาชนและผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดไม่พึ่งอินซูลินที่มารับบริการในเขตรับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าหลวง ให้สามารถดูแลตนเองให้มากขึ้นอย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสนับสนุนและให้กำลังใจแก่ผู้ป่วยในการดูแลตนเอง จนผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้ใกล้เคียงสภาพปกติมากที่สุด ไม่เกิดภาวะแทรกซ้อน ลดภาวะพึ่งพิง มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองที่จำเป็นโดยทั่วไปของผู้ป่วยเบาหวาน 2. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองตามระยะพัฒนาการของผู้ป่วยเบาหวาน 3. เพื่อศึกษาพฤติกรรมการดูแลตนเองเมื่อมีปัญหาทางด้านสุขภาพของผู้ป่วยเบาหวาน 4. เพื่อศึกษาปัจจัยพื้นฐานมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการดูแลตนเองของผู้ป่วยเบาหวาน  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ป่วยเบาหวานประเภทที่ 2 ที่ได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์แล้ว และมารับบริการในพื้นที่รับผิดชอบของโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพเหล่าหลวง ตำบลภูดิน อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน 85 คน  
เครื่องมือ :  
ขั้นตอนการดำเนินการ :  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ