ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : รัศมี ลือฉาย ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : ในระดับนโยบายช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามที่จะทำให้โรงพยาบาลและสถานบริการที่อยู่ในชุมชนเข้มแข็งมากขึ้น จากการตรวจเยี่ยมโรงพยาบาลหลายแห่งของผู้บริหารระดับสูงในกระทรวงสาธารณสุขพบว่าจังหวัดต่างๆ มีผู้ป่วยมารับบริการจำนวนมากทั้งผู้ป่วยนอกและผู้ป่วยใน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะในโรงพยาบาลขนาดใหญ่ ผู้ป่วยต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง เสียเวลารอแพทย์ตรวจเป็นเวลานาน แต่แพทย์ต้องรีบตรวจโดยใช้เวลาให้น้อยที่สุด เพราะผู้ป่วยมีจำนวนมาก ทำให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น ความไม่พึงพอใจการให้บริการ การ ข้อร้องเรียนต่างๆ ซึ่งผู้ป่วยที่มารับบริการที่โรงพยาบาลนั้น ส่วนใหญ่เป็นการเจ็บป่วยด้วยโรคทั่วไปที่ไม่ซับซ้อน สามารถรักษาที่สถานีอนามัย หรือศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้บ้าน และส่วนหนึ่งสามารถดูแลตนเองที่บ้านได้ โรงพยาบาลร่องคำ เป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 30 เตียง โดยมีเขตความรับผิดชอบ 3 ตำบล 40 หมู่บ้าน 3,431 หลังคาเรือน มีประชากรทั้งหมด 16,391 คน ให้บริการทั้งในด้านการส่งเสริมสุขภาพ การป้องกันโรค การรักษาพยาบาล และการฟื้นฟูสภาพ ภายใต้วิสัยทัศน์ของโรงพยาบาล คือ “โรงพยาบาลร่องคำ บริการมีคุณภาพ บริหารจัดการดี ภาคีเครือข่ายมีส่วนร่วม ประชาชนสุขภาพดี เจ้าหน้าที่มีความสุข” จากการสำรวจข้อมูลพบว่า โรคที่เป็นปัญหาสาธารณสุขอันดับที่ 1 ของอำเภอร่องคำ คือ โรคเบาหวาน รองลงมา คือ โรคความดันโลหิตสูง ผู้รับบริการที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลร่องคำ อันดับที่ 1 คือ โรคเบาหวาน รองลงมา คือ โรคความดันโลหิตสูง เช่นเดียวกัน จากสถานการณ์ของโรงพยาบาลร่องคำ เมื่อ ปี 2557 พบว่า ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงที่เข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล เฉลี่ย 120 – 150 คนต่อวัน ทำให้เกิดความแออัดในโรงพยาบาล คลินิกโรคเรื้อรังเบาหวาน ความดันโลหิตสูงอยู่ร่วมกับผู้ป่วยตรวจโรคทั่วไป ทำให้รอนาน ระยะเวลารอคอย 2 ชั่วโมง 37 นาทีต่อคน ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงไม่สะดวกในการเดินทางเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาล เนื่องจากมีข้อจำกัดในเรื่องค่าใช้จ่าย ญาติที่พามา และสภาพร่างกายไม่เอื้อ ทำให้ได้รับการรักษาไม่ต่อเนื่อง มีอัตราการขาดนัด ร้อยละ 17.24 และจากการประเมินความพึงพอใจต่อการบริการของผู้รับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาล โดยใช้แบบสอบถาม OP Voice ของสำนักการพยาบาล พบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการบริการอยู่ในระดับพอใช้ คิดเป็น ร้อยละ 82.74 ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจที่จะพัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อนำผลการศึกษาไปใช้ในการพัฒนาคุณภาพบริการ ซึ่งจะส่งผลให้ผู้รับบริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ และพึงพอใจในบริการต่อไป  
วัตถุประสงค์ : เพื่อพัฒนารูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง อำเภอ ร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ และศึกษาผลของการใช้รูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง ต่อระยะเวลารอคอย อัตราการขาดนัด และความพึงพอใจต่อการบริการหลังการใช้รูปแบบฯ  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง คือ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และโรคความดันโลหิตสูงที่มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลร่องคำ โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลสามัคคี โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเหล่าอ้อย และสุขศาลา 4 แห่ง จำนวน 1,208 คน เลือกกลุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง ระยะเวลาในการศึกษา คือ เดือนตุลาคม 2557 ถึงเดือนกันยายน 2558  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ได้แก่ 1) เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล ประกอบด้วย แบบสอบถามความพึงพอใจต่อการบริการแผนกผู้ป่วยนอก ที่สำนักการพยาบาลได้พัฒนาขึ้นในปี พ.ศ. 2547 วิเคราะห์ความเชื่อมั่นโดยใช้หาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่าตามวิธีของครอนบาค ได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ 0.89 2) เครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินงานวิจัย คือ รูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : วิธีดำเนินการ 1) จัดประชุมทีมสหวิชาชีพ และอสม.เพื่อพัฒนารูปแบบฯโดยการสนทนากลุ่ม 2) กำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมการดูแล 3) จัดคลินิกโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเคลื่อนที่ 4) จัดกิจกรรมรอตรวจโดยทีมโดยทีมสหวิชาชีพและอสม. 5) Pre - Post conference ทีมผู้ให้การบริการ ก่อนและหลังให้บริการในแต่ละวัน  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษา 1. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีอัตราการขาดนัด ร้อยละ 17.24 หลังการพัฒนารูปแบบฯไม่มีผู้ขาดนัด 2. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูง มีระยะเวลารอคอย 2 ชั่วโมง 37 นาที หลังการพัฒนารูปแบบฯมีระยะเวลารอคอย 1 ชั่วโมง 44 นาที 3. ก่อนการพัฒนารูปแบบฯ ผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ร้อยละ 82.74 หลังการพัฒนารูปแบบฯมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯ ร้อยละ 93.35  
ข้อเสนอแนะ : สรุปวิจารณ์และข้อเสนอแนะ : รูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูง มีผลลัพธ์การดูแลที่ดี เนื่องจากรูปแบบที่พัฒนาขึ้นทีมสหวิชาชีพและอสม.มีส่วนร่วมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผล ร่วมประเมินผล มีการกำหนดบทบาทหน้าที่ของทีมสุขภาพชัดเจน มีการจัดคลินิกโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูงเคลื่อนที่โดยทีมสหวิชาชีพ “ได้พบหมอ รอไม่นาน อยู่ใกล้ไกลได้ยาเดียวกัน” และมีกิจกรรมรอตรวจ ตลอดจนมีการ Pre - Post conference ทีมผู้ดูแลทุกครั้ง จนส่งผลให้ไม่มีผู้ขาดนัด ระยะเวลารอคอยลดลง และผู้ป่วยเบาหวาน ความดันโลหิตสูงมีความพึงพอใจต่อรูปแบบฯเพิ่มขึ้น นอกจากนั้นยังลดความแออัดในโรงพยาบาล และลดข้อร้องเรียน ข้อเสนอแนะ สามารถนำรูปแบบการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงที่ได้พัฒนาขึ้นไปประยุกต์ใช้ในการจัดบริการดูแลผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคความดันโลหิตสูงในอำเภอร่องคำได้ และสามารถนำไปใช้เป็นแนวทางในการจัดบริการการดูแล ในพื้นที่ที่มีบริบทใกล้เคียงกับอำเภอร่องคำ  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ