ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : เก็บข้อมูล
   บทความ/วิจัย เรื่อง : พัฒนารูปแบบการนิเทศทางการพยาบาล กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสหัสขันธ์
ผู้แต่ง : นัยนา กล้าขยัน ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : หน่วยงานบริการด้านสุขภาพโดยเฉพาะโรงพยาบาลได้ดำเนินการพัฒนาคุณภาพบริการและงานของตนให้เกิดคุณภาพและความปลอดภัยของผู้ป่วย องค์กรพยาบาลถือว่าเป็นองค์กรที่สำคัญ พยาบาลทุกคนต้องมีหน้าที่ปฏิบัติภารกิจหลักของพยาบาล ผู้บริหารทางการพยาบาลทุกระดับจะต้องมีหน้าที่ทำให้บุคลากรในทีมการพยาบาลเป็นผู้ที่มีความรู้ ความเข้าใจในงาน สามารถนิเทศ ควบคุม กำกับ ให้ได้คุณภาพตามเป้าหมาย การนิเทศการพยาบาล (Nursing Supervision) ถือว่าเป็นการติดตามควบคุมกำกับและช่วยเหลือผู้ปฏิบัติที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาคน และพัฒนางาน (สุพิศ กิตติรัชดา และวารี วณิชปัญจพล, 2551) สภาการพยาบาลได้กำหนดให้องค์กรพยาบาลมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลโดยมีการควบคุมกำกับและประเมินผลงานบุคลากรให้มีประสิทธิภาพ โดยผ่านเกณฑ์การประเมินมาตรฐานบริการพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิของสภาการพยาบาลขั้นต่ำระดับ 3 (สภาการพยาบาล, 2555) ประกอบกับมาตรฐานการรับรองคุณภาพโรงพยาบาลกำหนดให้องค์กรพยาบาลมีการกำกับดูแลวิชาชีพพยาบาลด้านบริหาร และปฏิบัติการพยาบาลที่มีคุณภาพสูงเพื่อบรรลุพันธกิจขององค์กร (สถาบันรับรองคุณภาพสถานพยาบาล, 2558) แนวคิดการนิเทศเพื่อความเป็นเลิศทางการพยาบาลส่วนใหญ่ประยุกต์ใช้รูปแบบนิเทศของพรอคเตอร์(Proctor, 2001) ประกอบด้วยการนิเทศตามแบบแผนซึ่งมุ่งเน้นการพัฒนาความรู้และทักษะในการปฏิบัติการพยาบาล การนิเทศตามมาตรฐานมุ่งเน้นการปฏิบัติตามมาตรฐาน และการนิเทศตามหลักสมานฉันท์มุ่งเน้นการสร้างเสริมความรู้สึกและทัศนคติต่อการนิเทศ (เผอิญ ณ พัทลุง, 2559) และกระบวนการนิเทศของสุพิศ กิตติรัชดา และวารี วณิชปัญจพล (2551) ประกอบด้วย 1) หลักการ เป้าหมายของการนิเทศ 2) หน้าที่ความรับผิดชอบ บทบาทคุณสมบัติและสมรรถนะของผู้นิเทศทางการพยาบาล 3) กระบวนการนิเทศทางการพยาบาล กิจกรรมการนิเทศและวิธีการนิเทศ 4) การวางแผนนิเทศการพยาบาลเครื่องมือนิเทศทางการพยาบาล และ 5) ผลลัพธ์การนิเทศทางการพยาบาล กลุ่มการพยาบาลโรงพยาบาลสหัสขันธ์ รับผิดชอบการให้บริการพยาบาลที่มีคุณภาพและความปลอดภัย ตามมาตรฐานและจริยธรรมวิชาชีพ การนิเทศเป็นบทบาทหนึ่งที่สำคัญ จากผลการดำเนินการที่ผ่านมาพบปัญหาเกี่ยวกับการนิเทศทางการพยาบาล ได้แก่ เป้าหมายการนิเทศไม่ชัดเจน ความรู้และทักษะของผู้นิเทศยังไม่เพียงพอ การประเมินผลการนิเทศไม่ชัดเจน ไม่มีแบบบันทึกการนิเทศ สัมพันธภาพระหว่างผู้นิเทศและผู้ถูกนิเทศไม่ดีเท่าที่ควร ส่งผลให้ผลลัพธ์ไม่บรรลุตามเป้าหมาย ได้แก่ การเกิดอุบัติเหตุกับบุคลากรทางการพยาบาลเพิ่มมากขึ้น การบันทึกทางการพยาบาลยังไม่ครอบคลุมในประเด็นปัญหาผู้ป่วยแม้ว่าภาพรวมในการบันทึก Nurse note จะเท่ากับร้อยละ 90.5 จากการสุ่มตรวจสอบของสปสช.ในปี 2559 ก็ตาม อุบัติการณ์การประเมินและการประเมินซ้ำในผู้ป่วยที่เป็นเข็มมุ่งของโรงพยาบาลยังเป็นปัญหา ผู้วิจัยตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้น จึงได้ดำเนินการศึกษาเพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศทางการพยาบาลของกลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสหัสขันธ์ และศึกษาประสิทธิผลรูปแบบที่พัฒนาขึ้น  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อพัฒนารูปแบบการนิเทศทางการพยาบาล กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. ศึกษาประสิทธิผลของการใช้รูปแบบการนิเทศทางการพยาบาล โดย 2.1 เปรียบเทียบความรู้ของผู้นิเทศก่อนและหลังการใช้รูปแบบ 2.2 เปรียบเทียบความพึงพอใจของผู้รับการนิเทศก่อนและหลังการใช้รูปแบบ 2.3 ประเมินความครบถ้วนของการบันทึกทางการพยาบาลของผู้รับการนิเทศ  
กลุ่มเป้าหมาย : ประชากรที่ศึกษา ประกอบด้วย กลุ่มผู้นิเทศงาน เป็นพยาบาลวิชาชีพในตำแหน่งหัวหน้างาน จำนวน 6 คน และผู้ช่วยหัวหน้างาน จำนวน 4 คน รวม 10 คน ศึกษาในประชากรทั้งหมด กลุ่มผู้รับการนิเทศ เป็นพยาบาลวิชาชีพประจำการทั้งสิ้น 18 คน ศึกษาในประชากรทั้งหมด แฟ้มเวชระเบียน ในงานผู้ป่วยอุบัติเหตุฉุกเฉิน งานผู้ป่วยใน งานผู้ป่วยนอก งานห้องคลอด ใน 1 เดือนแรก นำมาสุ่มอย่างง่าย ด้วยการจับฉลาก ก่อนการพัฒนา จำนวนหน่วยงานละ 30 แฟ้ม รวม 120 แฟ้ม และ เดือนหลังการพัฒนาจำนวน หน่วยงานละ 30 แฟ้ม รวม 120 แฟ้ม  
เครื่องมือ : 1. แบบประเมินความรู้ผู้นิเทศทางการพยาบาล 2. แบบประเมินความพึงพอใจของผู้รับนิเทศทางการพยาบาล 3. แบบประเมินความครบถ้วนของการบันทึกทางการพยาบาล  
ขั้นตอนการดำเนินการ : มีขั้นตอนการดำเนินการวิจัยและเก็บรวบรวมข้อมูล 1. ขั้นตอนการพัฒนารูปแบบการนิเทศทางการพยาบาล 1.1 ศึกษาแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 1.2 ศึกษาสภาพปัญหาและความต้องการการนิเทศทางการพยาบาล โดยการสนทนากลุ่ม ในประเด็น 1) หลักการ และเป้าหมายของการนิเทศทางการพยาบาล 2) หน้าที่ความรับผิดชอบบทบาทคุณสมบัติและสมรรถนะของผู้นิเทศทางการพยาบาล 3) กระบวนการนิเทศทางการพยาบาล 4) การวางแผนนิเทศทางการพยาบาลและเครื่องมือนิเทศทางการพยาบาล 5) ผลลัพธ์การนิเทศทางการพยาบาล 2. นำข้อมูลจากปัญหาและความต้องการการนิเทศทางการพยาบาล และแนวคิดทฤษฎีที่ศึกษามาวิเคราะห์และร่างรูปแบบการนิเทศทางการพยาบาล 3. นำรูปแบบไปทดลองใช้ มีขั้นตอน ดังนี้ 3.1 พัฒนาศักยภาพผู้นิเทศทางการพยาบาล โดยการให้ความรู้เรื่องการนิเทศทางการพยาบาล 3.2 สื่อสาร สร้างความเข้าใจรูปแบบการนิเทศที่กำหนดขึ้น และร่วมกำหนดแนวทางการนิเทศ การบันทึกทางการพยาบาล การนิเทศทางคลินิกในประเด็นที่เป็นความเสี่ยงของหน่วยงาน 4. ดำเนินการนิเทศตามรูปแบบการนิเทศในระยะเวลา 1 เดือน ติดตาม สังเกต ประชุม และแก้ไขปัญหาให้ข้อเสนอแนะ 2 ครั้ง ในระยะเวลา 1 เดือน 5. สะท้อนผลการปฏิบัติการของรูปแบบ ร่วมกันปรับปรุงรูปแบบ และสรุปรูปแบบใหม่ภายหลังการพัฒนาและปรับปรุง  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ