ประเภทบทความ/งานวิจัย : เรื่องเล่า สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา: กรณีศึกษาการป้องกันโรคไข้เลือดออก ชุมชนบ้านจาน ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : เจนณรงค์ ละอองศรี ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : สถานการณ์ไข้เลือดออกในตำบลโนนนาจานในระหว่างปี พ.ศ. 2556 - 2558 พบว่า มีผู้ป่วย 10 ราย 8 รายและ 16 ราย ตามลำดับ ซึ่งในปี พ.ศ.2558 มีอัตราป่วยด้วยโรคไข้เลือดออกสูงเป็นอันดับที่ 1 จากทั้งหมด 5 ตำบล ในเขตอำเภอนาคู จังหวัดกาฬสินธุ์ ยังไม่พบผู้ป่วยเสียชีวิตและจากรายงานทางระบาดวิทยา รพ.สต.โนนนาจาน ปี 2558 พบว่า กลุ่มอายุที่ป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกมากที่สุด คือ เด็กอายุ 10 - 14 ปี แต่ปัจจุบันก็พบในผู้ใหญ่มากขึ้น ผู้ป่วยอายุมากที่สุดที่พบคือ 59 ปี จากการศึกษาสถานการณ์ไข้เลือดออกในชุมชนบ้านจานหมู่ที่ 1 และ 9 พบว่า มีผู้ป่วยรวมกันทั้ง 2 หมู่บ้าน จำนวน 6 คน ส่วนใหญ่มีอายุ 12 – 18 ปี จากการสัมภาษณ์ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข อสม.และ ปราชญ์ชาวบ้านพบว่าโรคไข้เลือดออกในชุมชนบ้านจาน เริ่มพบมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระยะเวลาของการระบาดจะเกิดขึ้นปีเว้นปี ปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดในชุมชน คือ การมีแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายที่มากขึ้นจากการสังเกตพบว่าคนในชุมชนบ้านจานส่วนใหญ่มีการสำรองน้ำไว้อุปโภค บริโภค แต่ไม่มีการปกปิดภาชนะเก็บน้ำเหมือนแต่ก่อน ขาดการจัดเก็บและทำลายขยะมูลฝอยในชุมชนที่เหมาะสม การที่ชุมชนมองว่าการจัดการปัญหาโรคไข้เลือดออกเป็นบทบาทหน้าที่ของ อสม.และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ก่อให้เกิดความเสี่ยงสูงที่จะทำให้เกิดการระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ซึ่งกลุ่มที่เสี่ยงต่อการเจ็บป่วยและเสียชีวิตมากที่สุดก็คือกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นลูกหลานของคนในชุมชนนั่นเอง ที่น่าสังเกตคือในปี พ.ศ.2558 นี้คือ อากาศร้อนค่อนข้างร้อนมาก บวกกับฤดูฝน เกิดภาวะฝนทิ้งช่วง ฝนตกๆ หยุดๆ ทำให้เกิดภาชนะที่มีน้ำขัง กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย จึงเอื้อต่อการเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของยุงลาย โดยเฉพาะในเขตที่มีชุมชนแออัด มีคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะเกิดการแพร่ระบาดก็ยิ่งเพิ่มมากขึ้น การเลือกใช้รูปแบบการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชนมีหลากหลายแนวคิดที่มีประสิทธิภาพเช่น การมีส่วนร่วมของชุมชน มีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำให้เกิดรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน (ไชยรัตน์ เอกอุ่น, 2557) การใช้กระบวนการการมีส่วนร่วมของชุมชนตามกระบวนการ คือ การเตรียมการ การดำเนินการ และการประเมินผลการดำเนินงาน ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมมีส่วนร่วม ในการร่วมคิดตั้งแต่เริ่ม การจัดลำดับความสำคัญ การหาแนวทางการแก้ไขปัญหาตั้งแต่เริ่มกระบวนการ จนจบมีผลทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในการควบคุมโรคไข้เลือดออก ทำให้เกิดรูปแบบที่เหมาะสมกับบริบทของชุมชน (นันท์ธร กิจไธสง, 2553) ซึ่งบทความนี้ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดการเสริมสร้างพลังอำนาจมาใช้ในกลุ่มเด็กจิตอาสาในการป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยดึงเอาทุนทางสังคมที่ทุกชุมชนมีอยู่แล้ว นั่นคือศักยภาพในกลุ่มเด็กจิตอาสา ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านการแก้ไขปัญหาสุขภาพในชุมชน ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาเหล่านี้ยังขาดโอกาสในการที่จะมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชน ขาดโอกาสในการแสดงออกถึงศักยภาพที่พวกเขามีและสามารถทำได้เช่น การจัดการปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมด้วยการกำจัดหรือคัดแยกขยะที่มีอยู่ในชุมชน การทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย การเพาะขยายพันธุ์ปลากินลูกน้ำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่พวกเขาสามารถทำได้ด้วยตนเอง คนในชุมชนจึงควรที่สนับสนุนและร่วมกันปลูกฝังแนวคิดจิตอาสาที่สร้างสรรค์สังคม จัดกระบวนการเรียนรู้ที่เหมาะสมและเปิดโอกาสให้กลุ่มเด็กจิตอาสา มีเวทีในการแสดงออกถึงพลังในตัวของพวกเขา  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยมีกลุ่มเด็กจิตอาสาเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนกิจกรรม 2. เพื่อให้เสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสาในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน  
กลุ่มเป้าหมาย : อสม.น้อย จำนวน 43 คน  
เครื่องมือ : โปรแกรมการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในกลุ่มเด็กจิตอาสา แบบทดสอบความรู้ แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้างในการสนทนากลุ่ม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา : กรณีศึกษาการป้องกันโรคไข้เลือดออก ชุมชนบ้านจาน ต.โนนนาจาน อ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ เป็นการนำเสนอกรณีศึกษา ที่ใช้กระบวนการปฏิบัติงานของการพยาบาลอนามัยชุมชน ในการแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออก โดยมีกลุ่มเด็กจิตอาสาเป็นแกนนำในการดำเนินงานขับเคลื่อนกิจกรรม โดยมีขั้นตอนดังนี้ กิจกรรมครั้งที่ 1 การค้นพบสภาพการณ์จริง (Discovering Reality) เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อทำความเข้าใจข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาความรุนแรงและสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออกในชุมชน ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1) สร้างสัมพันธภาพ โดยเริ่มด้วยการแนะนำตนเองของผู้ศึกษาและอธิบายวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรม จากนั้นร่วมทำกิจกรรมสันทนาการ ละลายพฤติกรรม เพื่อสร้างสัมพันธภาพกับเพื่อนต่างชุมชนและสร้างบรรยากาศแห่งการเรียนรู้ร่วมกัน 2) ทำแบบทดสอบความรู้ก่อนเรียนแบบเลือกตอบจำนวนข้อคำถาม 20 ข้อ 3) ชมคลิปการ์ตูนอนิเมชั่นซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับสถานการณ์ของโรคไข้เลือดออกในประเทศไทย ความหมาย สาเหตุการเกิดโรคไข้เลือดออก วงจรชีวิตของยุงลาย และการป้องกันโรคไข้เลือดออกโดยใช้หลัก 5ป.1ข. 4) เกมส์จับคู่ รู้ทันไข้เลือดออก เป็นการทดสอบความรู้ที่ อสม.น้อยได้รับจากการชมคลิปการ์ตูนอนิเมชั่น ผ่านการตอบคำถามโดยการจับคู่คำตอบที่เป็นรูปภาพกับคำถามให้ถูกต้องในเวลาที่จำกัด กิจกรรมครั้งที่ 2 การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Reflection) เป็นการดำเนินกิจกรรมเพื่อให้ อสม.น้อยประเมินความสามารถในการป้องกันโรคไข้เลือดออกของตนเอง ได้รับทราบข้อจำกัดของตนเอง ซึ่งกิจกรรมเน้นไปที่การสำรวจและทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เป็นการจัดการปัญหาสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในชุมชนและการตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมกับตนเอง โดยให้ อสม.น้อย พิจารณาเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมสำหรับตนเอง(Taking Charge) ในครั้งนี้ประกอบด้วย 3 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1) อสม.น้อยสุดซ่า ไล่ล่าลูกน้ำ เป็นกิจกรรมเตรียมความพร้อมและลงมือปฏิบัติ ในการออกสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่จริงคือภายในบริเวณวัดโพธิ์ศรีเพื่อให้เกิดการสะท้อนคิดจากการปฏิบัติจริง โดยก่อนการลงมือปฏิบัติจะเป็นการสาธิตวิธีการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ลักษณะของลูกน้ำยุงลายตามวงจรชีวิตของยุง การใช้อุปกรณ์ต่างๆเช่น ไฟฉาย การจดบันทึก พร้อมทั้งมีแม่ อสม.คู่หูคอยเป็นพี่เลี้ยงช่วยแนะนำเทคนิคและวิธีการสำรวจที่มีประสิทธิภาพ จากนั้นร่วมกันสรุปผลการปฏิบัติ ปัญหาและอุปสรรคที่เกิดขึ้นจากการสำรวจลูกน้ำ พร้อมร่วมกันหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น จากนั้นนำเสนอผลการปฏิบัติทีละกลุ่ม 2) ซุปเปอร์ฮีโร่ในดวงใจ โดยการให้ อสม.น้อย แบ่งกลุ่มย่อยเป็น 2 กลุ่ม แล้วให้แต่ละกลุ่มเลือกซุปเปอร์ฮีโร่ที่กลุ่มตนเองชื่นชอบมา 1 คนแล้ววาดรูปตามจินตนาการและสมมุติบทบาทว่าพลังพิเศษในเหล่าซุปเปอร์ฮีโร่เหล่านั้นสามารถนำมาช่วยเหลือ อสม.น้อยในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชนได้อย่างไรบ้าง แต่ในความเป็นจริงเราไม่มีพลังวิเศษเหมือนซุปเปอร์ฮีโร่เหล่านั้น แล้วเราจะมีวิธีการป้องกันไม่ไห้เกิดโรคไข้เลือดออกในชุมชนของเราได้อย่างไรโดยให้ อสม.น้อยระดมสมองภายในกลุ่มร่วมกับ แม่อสม.ทั้ง 2 หมู่บ้าน แล้ววาดรูปตัวแทนกลุ่มของตนเองและถ่ายทอดวิธีการที่กลุ่มได้ร่วมกันกำหนดบทบาทของตนเองในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน พร้อมนำเสนอเพื่อนๆ และสรุปความเหมือนและความแตกต่างในแต่ละกลุ่ม 3) ภูมิปัญญาพื้นบ้านต้านไข้เลือดออก เป็นการนำเสนอวิธีการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลายโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้าน ใช้ทุนที่มีอยู่แล้วในสังคมให้คุ้มค่า ลด ละ เลิก การใช้สารเคมี เป็นการเสนอทางเลือกให้แก่ อสม.น้อยในการป้องกันและกำจัดลูกน้ำยุงลาย เช่น การใช้ปูนแดง การใช้มะกรูด การใช้ปี๊บดักยุง การใช้ปลากินลูกน้ำ ซึ่ง อสม.น้อยส่วนใหญ่ยังไม่มีประสบการณ์ในการใช้กลวิธีในการกำจัดลูกน้ำยุงลายที่หลากหลาย ผู้ศึกษาและแม่อสม.จึงได้ระดมกลวิธีต่างๆนำเสนอให้ อสม.น้อยได้เลือกใช้ตามที่เขาถนัดและสามารถทำได้ โดยทุกคนจะมีแม่ อสม.คอยสนับสนุนเป็นพี่เลี้ยงให้อย่างต่อเนื่อง โดยฝากไว้เป็นการบ้านให้ อสม.น้อยกลับไปคิดว่าจะเลือกใช้วิธีใดเป็นหลักหรือมีวิธีอื่นที่แปลกไปจากนี้ก็สามารถนำมาแลกเปลี่ยนเพื่อนๆในครั้งต่อไป กิจกรรมครั้งที่ 3 การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ(Critical Reflection) และการตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติด้วยตนเอง(Taking Charge) เพื่อควบคุมและป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออกในชุมชน ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 1 กิจกรรม ย่อยได้แก่ 1) ตามรอยไข้เลือดออก เป็นการออกไปสำรวจลูกน้ำยุงลายในสถานที่จริงจำนวน 5 หลังและเยี่ยมบ้านผู้ป่วยที่เป็นไข้เลือดออกในปีนี้ 1 ราย เพื่อให้ อสม.น้อยเกิดการตระหนักรู้ในการจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมเพื่อป้องกันการเกิดโรคไข้เลือดออก โดยผู้ศึกษาได้จัดวงเสวนาเล็กๆ ในบริเวณบ้านของผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออก กระตุ้นให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเจ้าบ้านที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกกับกลุ่ม อสม.น้อยและแม่ อสม.คู่หู ในการถ่ายทอดประสบการณ์การป่วยเป็นไข้เลือดออก พร้อมร่วมกันคิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุของการเจ็บป่วยในครั้งนี้ และสุดท้ายคือการสำรวจลูกน้ำยุงลายในบริเวณบ้านหลังดังกล่าว 2) อสม.น้อย ลุย ลุย ลุย หลังจาก อสม.น้อย ออกสำรวจลูกน้ำยุงลายกับแม่ อสม.แล้ว จัดกระบวนการสนทนากลุ่ม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ที่ได้จากการออกปฏิบัติงานจริงในชุมชน โดยใช้หลักความเสมอภาคเท่าเทียมกัน ผู้ศึกษาเป็นผู้กระตุ้นและอำนวยความสะดวกในการสนทนากลุ่ม โดยเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างค่าดัชนีลูกน้ำยุงลายกับการเกิดโรคไข้เลือดออก กระตุ้นให้ อสม.น้อยได้คิดวิเคราะห์ถึงสาเหตุที่แท้จริงและแนวทางในการป้องกันและแก้ไขปัญหาโรคไข้เลือดออกในชุมชน ก่อให้เกิดความตระหนักในการปกป้องคนในครอบครัว เกิดพลังอำนาจในการป้องกันปัญหาโรคไข้เลือดออกต่อไป กิจกรรมครั้งที่ 4 การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง (Holding on) ในขั้นตอนนี้ประกอบด้วย 2 กิจกรรมย่อย ได้แก่ 1) ติดตามและประเมินผล การปฏิบัติของ อสม.น้อยในการป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชน โดยมีการสังเกตจากการฝึกปฏิบัติในสถานการณ์จริง โดยการออกสำรวจค่าความชุกของลูกน้ำยุงลายในชุมชนร่วมกันระหว่าง อสม.น้อยและ แม่อสม.ที่เป็นคู่หูกัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ พร้อมทั้งมีช่องทางติดตามโดยใช้เบอร์โทรศัพท์ของ อสม.น้อยและ แม่อสม.คู่หู เพื่อโทรติดตามสอบถามถึงการปฏิบัติของอสม.น้อยในการสำรวจลูกน้ำยุงลาย และการเลือกใช้วิธีการในการกำจัดลูกน้ำยุงลายเพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกในบ้านของอสม.น้อยเอง หากอสม.น้อยสามารถปฏิบัติได้เหมาะสมก็มีการปั๊มดาวลงในสมุดประจำตัวให้และมอบของที่ระลึกในตอนยุติโปรแกรมเพื่อเป็นกำลังใจและแรงกระตุ้นในการดำเนิน งานสำหรับเด็ก ในทางตรงข้ามหากปฏิบัติได้ไม่เหมาะสมก็จะไม่ว่ากล่าว แต่จะพูดให้กำลังใจและให้คำแนะนำเพิ่มเติมโดยแม่อสม.คู่หู ซึ่งขั้นตอนนี้เป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ผู้ศึกษาจะต้องดึงความร่วมมือจากแม่อสม.คู่หูในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องในชุมชนเพื่อความต่อเนื่องในการดำเนินงานและเกิดความยั่งยืนต่อไป 2) สัญญาใจ ยุติโปรแกรมการเสริมสร้างพลังอำนาจ โดยสรุปและเน้นจุดสำคัญ ๆ ให้แก่อสม.น้อยและ แม่อสมคู่หู เพื่อให้อสม.น้อยสามารถนำองค์ความรู้และทักษะกลับไปปฏิบัติที่บ้านและในชุมชนได้อย่างเหมาะสมต่อไป พร้อมกันนี้ได้มอบให้แม่อสมรับอสม.น้อยที่ผ่านการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมและป้องโรคไข้เลือดออกลงไปปฏิบัติงานร่วมกันในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกในชุมชนและมอบเกียรติบัตรเชิดชูการทำความดีเพื่อบ้านเกิดต่อไป  
     
ผลการศึกษา : การศึกษาครั้งนี้ เป็นการศึกษาถึงการเสริมสร้างพลังอำนาจกลุ่มเด็กจิตอาสา กรณีศึกษาการป้องกันโรคไข้เลือดออก ชุมชนบ้านจานอ.นาคู จ.กาฬสินธุ์ ซึ่งผู้ศึกษาได้นำการเสริมสร้างพลังอำนาจ(Empowerment) ของ กิ๊บสัน (Gibson, 1995) มาเป็นเทคนิคในการกระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ การแสดงความคิดเห็น การเรียนรู้โดยผ่านประสบการณ์ตรงจากสถานการณ์จริงที่พบเจอในชุมชน เป็นเวลา 5 สัปดาห์ ผู้ศึกษาขอเสนอผลการศึกษาโดยแบ่งเนื้อหาของผลการศึกษาออกเป็น 2 ส่วนคือการประเมินผลเชิงกระบวนการและการประเมิลผลลัพธ์ ดังนี้ 1) ผลของการเสริมสร้างพลังอำนาจผ่านกระบวนการดำเนินงานในแต่ละกิจกรรม ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อช่วยให้เกิดการเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ พบว่า ขั้นตอนที่ 1 การค้นพบสถานการณ์จริง (Discovering Reality) กลุ่ม อสม.น้อยที่เข้าร่วมกิจกรรมได้ทำความรู้จักผู้ศึกษาและเพื่อนๆต่างชุมชนจากกิจกรรมสันทนาการ ได้รับรู้กับสถานการณ์โรคไข้เลือดออกที่เกิดขึ้นในระดับประเทศ วงจรชีวิตลูกน้ำยุงลาย และการทำ 5ป. 1ข. เพื่อป้องกันโรคไข้เลือดออกผ่านการชมการ์ตูนอนิเมชั่น ทำให้อสม.น้อยได้ทราบถึงสาเหตุและวิธีป้องกันโรคไข้เลือดออก พร้อมกันนี้ยังพบว่า อสม.น้อยได้มีโอกาสค้นพบสถานการณ์จริงจากการลงไปสำรวจลูกน้ำในบ้านของคนในชุมชนซึ่งมีทั้งบ้านของตนเอง บ้านของญาติพี่น้อง และบ้านเพื่อน อสม.น้อยด้วยกัน ทำให้ทราบว่าบ้านที่สำรวจ 15 หลังคาเรือนพบลูกน้ำยุงลายถึง 10 หลังคาเรือน ทำให้ อสม.น้อยทราบว่าตนเองและคนในชุมชนทุกคนเสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคไข้เลือดออกได้ หากไม่รีบกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย ขั้นตอนที่ 2 การสะท้อนคิดอย่างมีวิจารณญาณ (Critical Reflection) กลุ่มอสม.น้อยได้ทำกิจกรรมการสำรวจลูกน้ำยุงลาย ผ่านกิจกรรม อสม.น้อยสุดซ่า ไล่ล่าลูกน้ำ โดยหลังจากที่ได้รับคำแนะนำถึงเทคนิควิธีการสำรวจลูกน้ำ และเรียนรู้ประสบการณ์จาก แม่อสม.แล้วลงมือฝึกปฏิบัติโดยการแบ่งกลุ่มเป็น 3 กลุ่ม ออกสำรวจลูกน้ำภายในบริเวณวัดซึ่งมีการจำลองเหตุการณ์คือจัดให้มีภาชนะที่มีลูกน้ำในบริเวณที่กำหนด ผลปรากฏว่า กลุ่ม อสม.น้อยทุกกลุ่มตื่นเต้นและให้ความสนใจในการสำรวจ ในแต่ละกลุ่มสามารถเตรียมอุปกรณ์และใช้ไฟฉายในการส่องหาลูกน้ำได้อย่างคล่องแคล่ว แต่สิ่งที่เป็นปัญหาและอุปสรรคจากการสำรวจของแต่ละกลุ่มคือประสบการณ์ในการสำรวจ เช่นบางภาชนะมีเศษใบไม้อยู่ ทำให้ลูกน้ำสามารถหลบซ่อนได้ บางภาชนะมีตะไคร่น้ำและลูกน้ำเกาะอยู่นิ่งๆที่ขอบภาชนะ ถ้าไม่เคาะลูกน้ำก็ไม่แสดงตัวออกมา ทำให้ อสม.น้อยสำรวจไม่พบเช่นเดียวกัน แนวทางแก้ไขที่ทั้ง 3 กลุ่มเสนอคือ ต้องใช้ไฟฉายส่องในทุกภาชนะที่สำรวจ ร่วมกับการใช้มือหรือไม้เคาะภาชนะ ถ้าพบลูกน้ำก็ทำการกำจัดโดยการคว่ำภาชนะ นอกจากนี้ อสม.น้อยยังได้มีโอกาสค้นพบสถานการณ์จริงจากการลงไปสำรวจลูกน้ำในบ้านของผู้ที่เคยป่วยเป็นไข้เลือดออกในกิจกรรมครั้งที่ 3 ตามรอยไข้เลือดออก เพราะสาเหตุของการป่วยเป็นไข้เลือดออกของเจ้าของบ้านหลังนี้เกิดจากการไม่ดูแลสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อมในบริเวณบ้าน ปล่อยให้มีแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายคือ ล้อรถยนต์จำนวน 4 วง ซึ่งตั้งทิ้งไว้ที่หน้าบ้านและมีน้ำขัง แต่ตอนนี้ได้นำล้อรถยนต์เหล่านั้นมาบรรจุดินปลูกผัก ปลูกดอกไม้แทน ซึ่งภาพเหล่านี้ทำให้ อสม.น้อยเกิดการคิดเชื่อมโยงถึงวิธีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการระบาดของโรคไข้เลือดออกที่มีสาเหตุมาจากสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการระบาดของโรคในชุมชน เกิดการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง กลายเป็นการเรียนรู้ที่ติดตัว อสม.น้อยต่อไป ขั้นตอนที่ 3 การตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติด้วยตนเอง (Taking Charge) หลังจากที่ อสม.น้อยได้เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงแล้ว นำเข้าสู่การค้นหาแนวทางในการแก้ไขปัญหา ซึ่งในกลุ่ม อสม.น้อยยังไม่มีประสบการณ์ในการกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายที่ชัดเจน แต่ผลจากการสนทนากลุ่มทำให้ทราบว่าชุมชนมีจุดแข็งที่เป็นทรัพยาการในชุมชนคือ อสม.น้อยในแต่ละกลุ่มจะมีเด็กผู้ชายที่ชอบเลี้ยงปลากัด ซึ่งอาหารปลากัดที่ดีที่สุดคือลูกน้ำของยุงทุกชนิด ประกอบกับเด็กๆทุกคนชอบเลี้ยงปลาสวยงาม จึงก่อให้เกิดธนาคารปลากินลูกน้ำขึ้นทั้ง 2 ชุมชน ซึ่งเป้าหมายของธนาคารปลากินลูกน้ำคือการเป็นแหล่งรวบรวมและเพาะพันธุ์ปลา เพื่อใช้ในการกำจัดลูกน้ำในชุมชน โดยมี อสม.น้อยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนและมีบ้านของแม่ อสม.ตั้งเป็นธนาคาร คอยดูแลการแจกจ่ายปลากินลูกน้ำให้กับ อสม.น้อยและคนในชุมชน นอกจากนี้ผู้ศึกษาและแม่อสม.ยังได้นำเสนอวิธีการป้องกันและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลายโดยใช้ภูมิปัญญาพื้นบ้านในรูปแบบต่างๆ เช่น การใช้ปูนแดง การใช้มะกรูด การใช้ปี๊บดักยุง การจัดการสุขาภิบาลสิ่งแวดล้อม เพื่อนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของ อสม.น้อยแต่ละคน ทั้งนี้ผู้ศึกษาสังเกตว่าเมื่อมีการตัดสินใจเลือกวิธีปฏิบัติที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการของกลุ่มเป้าหมายแล้ว ก็จะทำให้จะทำให้เกิดการคงไว้ซึ่งการกระทำนั้นๆ ต่อไป ขั้นตอนที่ 4 การคงไว้ซึ่งการปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพ (Holding on) เป็นขั้นตอนสุดท้ายของกลุ่ม อสม.น้อยที่จะสร้างความมั่นใจให้กับตนเอง รวมถึงการปฏิบัติกิจกรรมการป้องกันและควบคุมโรคไข้เลือดออกในชุมชนด้วยความสุขและความเต็มใจที่จะทำกิจกรรมนั้น ซึ่งผลปรากฏว่า หลังการทำกิจกรรมในครั้งที่ 2 เหล่าน้องๆ อสม.น้อยก็กลับไปดูแลบ้านของตนเองเป็นอันดับแรก โดยการค้นหาปลากินลูกน้ำจากเพื่อนๆและแม่ อสม. นำมาปล่อยลงในภาชนะที่มีน้ำขังที่บ้านของตนเองเช่น โอ่งน้ำในห้องน้ำ อ่างบัวหน้าบ้าน มีการดูแลความสะอาดภายในบ้านช่วยคุณแม่ การกำจัดขยะรอบๆบริเวณบ้านของตนเอง จนเกิดความมั่นใจว่าบ้านของตนเองปลอดลูกน้ำยุงลาย เพื่อที่จะให้เพื่อนๆเข้ามาสำรวจลูกน้ำในกิจกรรม ตามรอยไข้เลือดออกในครั้งที่ 3 ซึ่งจากการปฏิบัติการของ อสม.นี้ได้รับคำชื่นชมจากพ่อแม่ผู้ปกครองอย่างมาก ที่เห็นบุตรหลานของตนเองมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น และอยากให้ลูกหลานทุกคนเป็นเด็กดี คอยช่วยเหลือชุมชนต่อไปในอนาคต 1) ผลลัพธ์ของการเสริมสร้างพลังอำนาจ ด้านความรู้ เมื่อพิจารณาระดับความรู้เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกของ อสม.น้อย จากคะแนนเต็ม 20 คะแนน พบว่าก่อนการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก อสม.น้อยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 44.4) ได้คะแนนต่ำกว่า 10 คะแนน และร้อยละ 37.8 มีคะแนนอยู่ในระหว่าง 11-15 คะแนน มีเพียง ร้อยละ 17.8 เท่านั้น ที่มีคะแนนมากกว่า15 คะแนนขึ้นไป หลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการป้องกันโรคไข้เลือดออกพบว่า อสม.น้อยมีความรู้เกี่ยวกับการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออกดีขึ้น โดยเกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46.6) มีคะแนนมากกว่า 15 คะแนนขึ้นไป ร้อยละ 35.6 มีคะแนนอยู่ในระหว่าง 11-15 คะแนน และร้อยละ 8.9 มีคะแนนต่ำกว่า 10 คะแนน โดยก่อนและหลังการเสริมสร้างพลังอำนาจในการควบคุมและป้องกันโรคไข้เลือดออก อสม.น้อยมีคะแนนความรู้เฉลี่ย 10.93 และ 17.18 คะแนน ตามลำดับ  
ข้อเสนอแนะ : 1. ควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข่าวสารความรู้เกี่ยวกับโรคไข้เลือดออกอย่างเต็มรูปแบบทั้งในด้านข้อมูลของความรุนแรง, วิธีการติดต่อ, โอกาสเสี่ยง, ผลดีของการป้องกันโรค รวมทั้งให้ข้อมูลเกี่ยวกับเครื่องมือที่ใช้ในการป้องกันโรคไข้เลือดออก เช่น ทรายอะเบท ว่ามีอันตรายหรือไม่ต่อคน ฆ่าลูกน้ำยุงลายได้อย่างไร ต้องใส่ปริมาณเท่าไรต่อปริมาณน้ำจำนวนเท่าไร เป็นต้นเพื่อให้ประชาชนมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้ประชาชนมีพฤติกรรมการป้องกันโรคที่ถูกต้องได้ 2. ควรมีการสำรวจความต้องการของประชาชนในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก แล้วนำมาพิจารณาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้นต่อไป 3. จากการศึกษาครั้งนี้พบว่า ปัญหาที่ทำให้การรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออกยังเกิดจากสภาพสิ่งแวดล้อม เช่น ท่อระบายน้ำตัน ทำให้มีน้ำนิ่งและใส, ป่าข้างทาง เศษขยะจากการรวบรวมไว้ในร้านขายของเก่าในชุมชน เป็นต้น ซึ่ง อสม.น้อย ไม่สามารถเข้าไปดูแลได้ ทำให้ยุงลายเพิ่มจำนวนจากบริเวณเหล่านี้เป็นอย่างมาก ดังนั้นจึงเป็นปัญหาที่ต้องได้รับความร่วมมือจากทาง อบต.ในการเข้ามาดูแล 4. หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น องค์กรปกครองท้องถิ่นในพื้นที่ ควรให้การสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินการป้องกันโรคไข้เลือดออกในพื้นที่อย่างเต็มที่ และเปิดโอกาสให้ อสม.น้อย เข้าไปมีส่วนร่วมในการดำเนินการดังกล่าว 5. เจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ควรเข้าถึงพื้นที่อย่างจริงจังและต่อเนื่อง ในการป้องกันควบคุมโรค สำหรับการเฝ้าระวังนั้นควรติดตามควบคุมการดำเนินงานของ อสม.น้อย ในพื้นที่ ให้สามารถดำเนินการเฝ้าระวังได้อย่างมีประสิทธิภาพ 6. เพื่อให้การดำเนินงานของ อสม.น้อยมีความต่อเนื่อง ควรมีการจัดเวทีแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จาก อสม.น้อยและแม่ อสม. จากรุ่นสู่รุ่นต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)