ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำโครงร่าง
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนารูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น โรงพยาบาลหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : สุนันต์ทา พิลุน ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : วัยรุ่นเป็นช่วงวัยของการเปลี่ยนแปลงในทุกด้าน โดยเฉพาะการมีพัฒนาการทางเพศ มีความต้องการ ทางเพศ และเริ่มมีเพศสัมพันธ์ เมื่อมีการยอมรับการมีเพศสัมพันธ์จึงนำไปสู่ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ซึ่งการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นนับเป็นปัญหาที่สำคัญสำหรับทุกประเทศทั่วโลก จากรายงานขององค์การอนามัยโลก พบว่า ปัจจุบันมีวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี ได้กลายเป็นหญิงตั้งครรภ์ ในแต่ละปีมีหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นประมาณ 16 ล้านคน ที่มีการคลอดบุตร คิดเป็นร้อยละ 11 ของการคลอดทั่วโลก (WHO, 2010) และอัตราเกิดมีชีพเฉลี่ยทั่วโลกในมารดาอายุ 15-19 ปี ปี 2549 - 2553 อยู่ที่ 48.9 ต่อประชากรหญิงในกลุ่มอายุเดียวกัน 1,000 คน (UN, 2008) สถานการณ์ของประเทศไทยพบว่า ในรอบ 10 ปีหลัง อัตราคลอดโดยหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีแนวโน้มสูงขึ้นจาก 31.1 ต่อประชากรหญิงอายุ 15-19 ปีหนึ่งพันคน ในปี พ.ศ. 2543 ขึ้นมาสูงถึง 53.8 ในปี พ.ศ. 2555 และลดลงเล็กน้อยเหลือ 51.2 ในปี พ.ศ. 2556 (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2557) และในปี 2550 พบว่า มีอัตราการตั้งครรภ์วัยรุ่นสูงเป็นอันดับหนึ่งในทวีปเอเชีย (สุพร อภินันทเวช, 2553) อัตราการตั้งครรภ์และการคลอดในหญิงตั้งครรภ์อายุ 15-19 ปี คิดเป็นร้อยละ 53.6 ในปี 2554 และร้อยละ 53.8 ในปี 2555 โดยถ้าคิดเป็นจำนวนแล้วจะพบว่า มีหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี ถึงปีละกว่า 120,000 คน ในจำนวนนี้ 3,000 คนเป็นมารดาที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปี ซึ่งเป็นวัยที่ยังไม่พร้อมในทุกด้านในการที่จะเป็นมารดา (สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์, 2555) สำหรับอำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ พบว่า มีอัตราการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นอายุระหว่าง 15-19 ปี ในปี พ.ศ. 2557 และ2558 คิดเป็นร้อยละ 21.01 และ 20.53 และอัตราการคลอดบุตรวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 22.25 และ 32.99 ตามลำดับ เมื่อพิจารณาจากสถิติดังกล่าว พบว่า อัตราการตั้งครรภ์และการคลอดในวัยรุ่นอยู่ในระดับสูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับสถิติขององค์การอนามัยโลกที่กำหนดไว้ ไม่ให้เกินร้อยละ 10 และการตั้งครรภ์วัยรุ่นนี้ส่วนใหญ่เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ สอดคล้องกับการศึกษาของศรุตยา รองเลื่อน และคณะปี 2555 พบว่า ร้อยละ 94.1 เป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์ในวัยรุ่น การตั้งครรภ์ไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์ที่ไม่พึงประสงค์ เป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้ตั้งใจ ไม่ได้มีการวางแผน ที่จะให้เกิดการตั้งครรภ์มาก่อน มักจะมีความรู้สึกสองฝักสองฝ่ายระหว่างความต้องการมีบุตรและความไม่ต้องการมีบุตร (May, 1994) อีกทั้งเมื่อรับรู้ว่าตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจมักจะไม่ยอมรับการตั้งครรภ์ บุตรในครรภ์ และการปรับบทบาทการเป็นมารดาที่ดี ซึ่งการดำเนินชีวิตของหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์นั้นต้องพบเจอกับปัญหา และอุปสรรคต่าง ๆ ที่เข้ามารุมเร้าอยู่ตลอดเวลาทั้งอุปสรรคในด้านของการเรียน เวลา และการเงิน บางรายจึงตัดสินใจทำแท้งผิดกฎหมาย ก่อให้เกิดอันตรายถึงแก่ชีวิตจากการตกเลือดหรือการติดเชื้อได้ ดังจะเห็นได้จาก ข้อมูลจากการสำรวจสถานการทำแท้งของวัยรุ่นในประเทศไทยของสุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ (2549) พบว่า มีวัยรุ่นที่ ทำแท้งปีละ 300,000 คน หรือจำนวน 1,000 คน ต่อวัน และมีหญิงที่เข้ารับการรักษาภาวะแทรกซ้อนจากการทำแท้งในโรงพยาบาลของรัฐจำนวน 787 แห่ง จากจำนวนหญิงที่ทำแท้งทั้งหมด 45,990 ราย อัตราการทำแท้งเท่ากับ 19.54 ต่อเด็กเกิดมีชีพ 1,000 ราย ในจำนวนนี้มีเด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี คิดเป็นร้อยละ 45 การทำแท้งในเด็กวัยรุ่นที่ไม่มีความรู้ด้านสุขภาพจะเห็นได้จากการที่วัยรุ่นมีการซื้อยามากินเองจากร้านขายยาหรือจากการสั่งซื้อทางอินเตอร์เนท (Internet) วัยรุ่นบางรายตัดสินใจไปทำแท้งกับหมอเถื่อน (สหภาพ พูลเกสร, 2544) หากเป็นการตั้งครรภ์ที่มีการดำเนินต่อไปมีโอกาสเกิดปัญหาสุขภาพ เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่มีการเจริญเติบโตทางด้านร่างกายยังไม่เต็มที่ทำให้เกิดอันตรายได้ทั้งในระยะตั้งครรภ์ ระยะคลอด และระยะหลังคลอด โดยในระยะตั้งครรภ์ทำให้เกิดภาวะโลหิตจางและมีภาวะความดันโลหิตสูงระหว่างตั้งครรภ์มากเป็น 3.5 เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ มีอายุมากกว่า 20 ปี (สุวชัย อินทรประเสริฐและสุรศักดิ์ ฐานีพานิชสกุล, 2539) ระยะคลอดก็จะทำให้เกิดปัญหาคลอดก่อนกำหนด ศีรษะทารกไม่ได้สัดส่วนกับเชิงกราน และระยะหลังคลอดวัยรุ่นก็จะเสี่ยงต่อการตกเลือดได้ง่าย และยังส่งผลกระทบต่อทารกทำให้เด็กมีน้ำหนักตัวน้อย มีความพิการสูง และมีปัญหาพัฒนาการล่าช้า (ประทุม ยนต์เจริญล้ำ และคณะ, 2547) และอาจทำให้มีปัญหาสัมพันธภาพระหว่างมารดากับบุตร เช่น เด็กไม่ได้รับความรัก ความสนใจจากมารดา เด็กอาจถูกทอดทิ้ง และถูกทำร้ายได้ (Logan, 2007) เนื่องจากพัฒนาการทางด้านจิตใจและอารมณ์ของวัยรุ่นหญิงตอนต้นที่ยังไม่สมบูรณ์ และยังส่งผลผลกระทบต่อจิตใจ ครอบครัวโดยเกิดความรู้สึกกลัว รู้สึกผิด วิตกกังวล โกรธ และอับอาย หากถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ ถูกทอดทิ้ง หรือไม่ได้รับการยอมรับจากบิดามารดาอาจทำให้วัยรุ่นหญิงรู้สึกไร้คุณค่า และคิดฆ่าตัวตายได้ (Clark et al., 2001 อ้างถึงใน เยาวลักษณ์ เสรีเสถียร, 2543) สำหรับปัจจัยด้านเศรษฐกิจและสังคม เมื่อมีการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเกิดขึ้นแล้วมักมีผลกระทบต่อเนื่องไปถึงการศึกษาเล่าเรียน ต้องออกจากโรงเรียน ถูกประณามจากสังคม บางรายต้องยุติการเรียนไป ซึ่งหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นจะมีโอกาสูงที่จะหยุดการศึกษากลางคันหรือเรียนไม่จบ เนื่องจากในหลาย ๆประเทศการตั้งครรภ์ในขณะที่เป็นนักเรียนยังไม่เป็นที่ยอมรับเป็นเรื่องน่าอับอาย ทำให้หญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ถูกบังคับทั้งทางตรงหรือทางอ้อมให้ออกจากโรงเรียน ซึ่งมีการออกจากโรงเรียนกลางคันสูงถึงร้อยละ30 (The National Campaign, 2012) ทำให้ด้อยโอกาสในการเลือกหางานทำเป็นอุปสรรคต่อการหาเลี้ยงชีพของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น ไม่มีอาชีพ ขาดรายได้หรือต้องทำงานที่มีรายได้ต่ำ ส่งผลต่อเศรษฐกิจของครอบครัวเกิดเป็นปัญหาครอบครัวและสังคมในเวลาต่อมา วัยรุ่นบางรายไม่ตระหนักว่าตั้งครรภ์ทำให้เข้ารับการดูแลในระยะตั้งครรภ์ล่าช้า และเมื่อวัยรุ่นตั้งครรภ์ก็จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านร่างกาย จิตใจ และอารมณ์มาก เกิดภาวะวิกฤติตามวุฒิภาวะ (Developmental Crisis) (Mercer, 1985) ซึ่งในภาวะวิกฤติดังกล่าวนี้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นจะรู้สึกขัดแย้งระหว่างความต้องการการเป็นอิสระกับความต้องการการพึ่งพาผู้อื่น ความขัดแย้งระหว่างบทบาทความเป็นวัยรุ่นกับการเป็นมารดา (Houston, 1984) ส่วนกรณีที่วัยรุ่นตัดสินใจดำรงการตั้งครรภ์ไว้ก็จะเกิดการยอมรับบุตรในครรภ์และรู้สึกว่าทารกในครรภ์นั้นเป็นส่วนหนึ่งของตนเกิดการดูแลเอาใจใส่ทารกในครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงการปฏิบัติตัวให้การดูแลปกป้องคุ้มครองทารกในครรภ์ ค้นหาความปลอดภัยเพื่อทารกในครรภ์และตนเอง แสวงหาความรู้ในการปฏิบัติตน การดูแลตนเองในระหว่างการตั้งครรภ์ นอกจากนี้ยังพบว่าการตั้งครรภ์ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงอารมณ์ร่วมด้วย (Emotional Change) มีการแสดงออกทางด้านอารมณ์ไม่คงที่ซึ่งเป็นผลมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย เช่น เกิดความกลัว ความวิตกกังวลเกี่ยวกับการตั้งครรภ์และการคลอด (May, 1994) ประกอบกับเมื่อมีการตั้งครรภ์ร่างกายย่อมมีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมน มีการหลั่งเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนมากขึ้นทำให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านอารมณ์ได้ง่ายร่วมกับภาพลักษณ์ (Body Image) และโดยทั่วไปแล้วหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมักจะถูกทอดทิ้งจากสังคม กลุ่มเพื่อน เนื่องจากการตั้งครรภ์เป็นเสมือนความรับผิดชอบของผู้ใหญ่ ซึ่งกลุ่มเพื่อนวัยเดียวกันอาจจะไม่เข้าใจ ประกอบกับการไม่ได้รับการยอมรับจากครอบครัว บิดามารดาทั้งของตนเองและของคู่ครอง ทำให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นรู้สึกเหมือนถูกทอดทิ้ง ว้าเหว่ โดดเดี่ยว และไม่เป็นที่ยอมรับจากสังคม (Arthur, 2007) หญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์มีความต้องการที่จะได้รับการยอมรับจากกลุ่มเพื่อน เนื่องจากวัยรุ่นเป็นวัยที่ให้ความสำคัญกับกลุ่มเพื่อนมาก ดังนั้นแม้จะมีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นก็ยังต้องการการยอมรับจากกลุ่มเพื่อนของตนเอง (Howie & Carlisle, 2005) ซึ่งถ้าหากหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นสามารถเผชิญกับปัญหาและได้รับการตอบสนองต่อความต้องการที่ถูกต้องและเหมาะสม ก็จะทำให้หญิงตั้งครรภ์นั้นยอมรับการตั้งครรภ์ เกิดความรับผิดชอบ ยอมรับบทบาทการเป็นมารดา (Spear, 2004) ส่งผลให้การตั้งครรภ์ดำเนินต่อไปอย่างราบรื่น ตรงกันข้ามหากหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นไม่สามารถเผชิญกับปัญหาและได้รับการตอบสนองตามความต้องการอย่างไม่เหมาะสม ก็จะส่งผลให้เกิดการไม่ยอมรับในการตั้งครรภ์และบทบาทการเป็นมารดา ส่งผลกระทบต่อการตั้งครรภ์และการสร้างสัมพันธภาพระหว่างมารดาและทารกในอนาคตได้ จากผลกระทบด้านต่างๆ ที่เกิดขึ้นทำให้เห็นว่าหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นควรได้รับการดูแลในระหว่างตั้งครรภ์และการคลอดอย่างดีที่สุดและต่อเนื่อง เพื่อเป็นการป้องกันช่วยลดภาวะเสี่ยงและผลกระทบดังที่กล่าวมาได้ สำหรับรูปแบบการให้บริการหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น โรงพยาบาลหนองกุงศรีเป็นไปตามระบบการดำเนินงานอนามัยแม่และเด็กสำหรับหญิงตั้งครรภ์ทั่วไป ซึ่งด้วยความเป็นวัยรุ่นและเป็นการตั้งครรภ์ที่ไม่ได้รับการยอมรับ จึงทำให้หญิงตั้งครรภ์อับอาย ไม่กล้ามาฝากท้อง ยังมีความต้องการความเป็นส่วนตัว และรักษาความลับในการฝากครรภ์และการดูแลมากกว่าปกติ ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาการพัฒนารูปแบบการให้บริการหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นที่ มารับบริการในโรงพยาบาลทั้งที่มีการตั้งครรภ์พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์ เพื่อให้หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่เหมาะสมอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อน ในระหว่างการตั้งครรภ์ รวมทั้งไม่ให้เกิดการตั้งครรภ์ซ้ำ และบุคลากรสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล สถานบริการสาธารณสุขทุกระดับสามารถใช้เป็นรูปแบบในการจัดบริการหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นให้ได้รับการดูแลที่มีคุณภาพตามมาตรฐานต่อไป  
วัตถุประสงค์ : 1. เพื่อพัฒนารูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น โรงพยาบาลหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อประเมินผลของการพัฒนารูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น โรงพยาบาลหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : หญิงตั้งครรภ์วัยรุ่นอายุน้อยกว่า 20 ปี ที่มีการตั้งครรภ์พึงประสงค์และไม่พึงประสงค์มารับบริการที่คลินิกฝากครรภ์และคลินิกวัยรุ่นที่โรงพยาบาลหนองกุงศรี มีภูมิลำเนาในเขตอำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ทั้งเพศชายและเพศหญิง มีความสมัครใจและยินดีให้ความร่วมมือในการศึกษา  
เครื่องมือ : แบบประเมินสุขภาพหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น แบบประเมินความพึงพอใจของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น  
ขั้นตอนการดำเนินการ : มีขั้นตอนการดำเนินงานดังนี้ ระยะที่ 1 ขั้นตอนการเตรียมการ ศึกษาสถานการณ์และปัญหา เก็บข้อมูล/วิเคราะห์ข้อมูล ประกอบด้วย 1.1. ศึกษาปัญหาและความต้องการของหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น 1.2 ศึกษาระบบบริการ/ แนวทางการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น ปัญหาความต้องการของบุคลากรผู้ให้บริการ 1.3 วางแผนพัฒนา ระยะที่ 2 ขั้นตอนดำเนินการ 2.1จัดประชุมเพื่อวางแผนรูปแบบการดูแล 2.2 พัฒนาทีมการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น 2.3 รูปแบบของการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น 2.4 นำรูปแบบการดูแลหญิงตั้งครรภ์วัยรุ่น การลงมือปฏิบัติ (Acting) ระยะที่ 3 ขั้นตอนการประเมินผล การวิเคราะห์และถอดบทเรียนจากกระบวนการพัฒนา  
     
ผลการศึกษา :  
ข้อเสนอแนะ :  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ