ประเภทบทความ/งานวิจัย : CQI สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ธรรมนูญสุขภาพตำบล ชาวลำห้วยหลัวลดการกินปลาดิบ “เพื่อแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดี
ผู้แต่ง : ณิขปัชญา เรืองไชย ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคพยาธิใบไม้ตับเป็นปัญหาสำคัญในพื้นที่ภาตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดีและก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมากแก่คนอีสาน ทั้งในด้านแรงงาน เศรษฐกิจ และสังคม อันจะส่งผลต่อความมั่นคงของประเทศจำเป็นที่จะต้องแก้ไขปัญหาอย่างเร่งด่วนเพื่อให้คนอีสานได้เห็นความสำคัญของสุขภาพและความปลอดภัยของชีวิตมากกว่าประเพณีการบริโภคที่มีมายาวนานซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง สำหรับปัจจุบัน มีผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีรายใหม่เพิ่มมากขึ้น โดยพบว่ามีผู้เสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดีทั่วประเทศ จำนวน ๑๔,๓๑๔ ราย มากสุดเป็นภาคอีสาน ๗,๕๙๓ ราย พบมากในช่วงอายุ ๔๕-๕๕ ปี ซึ่งเป็นวัยทำงาน โดยเข้าใจผิดว่ากินอาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ ช่วยเพิ่มพลังให้ร่างกาย องค์การอนามัยโลกได้คาดว่าในปี ๒๕๖๓ ทั่วโลกจะมีคนเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งมากกว่า ๑๑ ล้านคน และจะเกิดขึ้นในประเทศกำลังพัฒนามากกว่า ๗ ล้านคน โรคมะเร็งเป็นสาเหตุการเสียชีวิตร้อยละ ๑๓ ของคนเสียชีวิตทั่วโลก มีผู้ป่วยมะเร็งมากกว่า ๑๘ ล้านคน และมีผู้ป่วยรายใหม่ประมาณ ๙ ล้านคนในทุกๆปี ทุกๆ ๖ วินาทีจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็ง ๑ คน ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยมะเร็งใหม่ของโรงพยาบาลศรีนครินทร์ มะเร็งที่พบมากที่สุดคือ มะเร็งตับและท่อน้ำดี และมีแนวโน้มพบมากขึ้นเรื่อยๆ โรคมะเร็งตับและท่อน้ำดี ทำให้มีผู้เสียชีวิตทั่วประเทศ ปีละ ประมาณ ๒๘,๐๐๐ คน หรือเฉลี่ยวันละ ๗๖ คน เสียค่าใช้จ่ายในการรักษาด้วยการผ่าตัดประมาณ ๘๐,๐๐๐ บาทต่อราย หรือ ๒๒,๔๐๐ ล้านบาทต่อปี ส่วนสถานการณ์โรคพยาธิใบไม้ตับทำให้เกิดโรคมะเร็งท่อน้ำดี ในจังหวัดกาฬสินธุ์ การวิเคราะห์ข้อมูลทางระบาดวิทยาเพื่อใช้ในการวางแผน ด้านการสาธารณสุข เพื่อลดอัตราความชุก และอัตราตายของโรคมะเร็งท่อน้ำดีในระยะยาวต่อไป โดยจากการศึกษา ในปี พ.ศ.๒๕๕๗ และ ปี พ.ศ.๒๕๕๘ พบว่า สถานการณ์ผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับในจังหวัดกาฬสินธุ์ ความชุก เท่ากับ ร้อยละ ๒๒ และ ร้อยละ ๑๕.๐๒ ตามลำดับ นั้นหมายถึงประชนชนบางกลุ่มยังมีพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่เหมาะสม และ ควรมีการ คัดกรอง ให้ความรู้ความเข้าใจ และปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต่อไป สำหรับตำบลลำห้วยหลัว มีสภาพแวดล้อมทางภูมิศาสตร์ ประกอบด้วย แม่น้ำ แหล่งน้ำ ลำห้วย เป็นแหล่งปลาน้ำจืด เป็นแหล่งอาหารของประชาชนตำบลลำห้วยหลัว จากการวิเคราะห์สถานการณ์ พบว่า ประชาชนเสียชีวิตจากโรคมะเร็งตับเป็นอันดับต้น ของสาเหตุการเสียชีวิต และผลการดำเนินงานที่ผ่านมาของตำบลลำห้วยหลัว จากการตรวจในเดือน กันยายน ๒๕๕๘ จำนวน ๙ หมู่บ้าน ๑,๑๘๖ หลังคาเรือน ประชากร ๕,๔๓๙ คน เป็นประชากรกลุ่มเป้าหมาย อายุ ๔๐ ปีขึ้นไป จำนวน ๒,๐๒๐ คน ตรวจคัดกรองด้วยวาจา ๑,๗๒๐ คน คิดเป็นร้อยละ ๘๕.๑๕ ตรวจพยาธิสำหรับผู้ที่มีความเสี่ยง ๒๓๔ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๓.๖๐ พบพยาธิ ๕๕ ราย คิดเป็นร้อยละ ๒๓.๕๐ พยาธิที่พบได้แก่ พยาธิใบไม้ตับ ๔๔ ราย คิดเป็นร้อยละ ๘๐ พยาธิใบไม้ลำไส้ทุกชนิด ๗ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑๒.๗๓ พยาธิตัวตืด ๓ รายคิดเป็นร้อยละ ๕.๔๕ พยาธิปากขอ ๑ ราย คิดเป็นร้อยละ ๑.๘๒ ดังนั้นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านบอน จึงจัดทำโครงการในการพัฒนารูปแบบการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ภายใต้การมีส่วนร่วมจากภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ โดยเน้นกระบวนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพในกลุ่มเสี่ยง และประชาชนทั่วไป เพื่อให้สามารถค้นหาและคัดกรองผู้ป่วยมะเร็งท่อน้ำดีในระยะเริ่มต้น และปรับเปลี่ยนพฤติกรรมกลุ่มเสี่ยง เพื่อให้การดูแลรักษามะเร็งตับและท่อน้ำดีที่รวดเร็ว อันส่งผลต่อการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ลดอัตราการเสียชีวิตด้วยมะเร็งตับและท่อน้ำดี เพิ่มโอกาสทางการรักษาแก่ผู้ป่วย ลดภาระค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลของประชาชนและภาครัฐ โดยใช้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรม เพื่อให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบติดดาวที่มีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพได้อย่างยั่งยืน  
วัตถุประสงค์ : เพื่อให้เกิดหมู่บ้านต้นแบบ โรงเรียนต้นแบบ และธรรมนูญสุขภาพตำบล ในการแก้ไขปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี  
กลุ่มเป้าหมาย : ๑. ตำบลลำห้วยหลัว อำเภอสมเด็จ จังหวัดกาฬสินธุ์ จำนวน ๙ หมู่บ้าน ๒. โรงเรียนบ้านค้อราษฎร์บำรุง ๑ แห่ง  
เครื่องมือ : ๘.๑ แบบคัดกรอง ด้วยวาจา(Verbal Screening) ซึ่งประกอบด้วย ๓ ส่วน คือ ส่วนที่ 1 ข้อมูลทั่วไป ส่วนที่ 2 ข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งท่อน้ำดี (CCA) ส่วนที่ 3 ข้อมูลความเสี่ยงการติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ (OV) ๘.๒ อุปกรณ์ในการตรวจอุจจาระจากกลุ่มตัวอย่าง โดยวิธี kato’s tick smear ๘.๒.๑ กล้องจุลทรรศน์ ๘.๒.๒ ตลับใส่อุจจาระ ๘.๒.๓ กระจกสไลด์ ๘.๒.๔ กระดาษแก้วเซลโลเฟน ๘.๒.๕ จุกยาง ๘.๒.๖ ไม้จิ้มฟัน วิธีคาโต้ ติ๊ค สเมียร์ (Kato’ thick smear) เป็นวิธีที่มีความแม่นยำสูง สามารถตรวจพบไข่พยาธิได้ถึงร้อยละ 80 โดยมีวิธีการตรวจดังนี้ คือ ๑.ตักอุจจาระประมาณ 60–70 มิลลิกรัม ใส่บนกระจกสไลด์ แล้วปิดด้วยแผ่นกระดาษแก้วเซลโลเฟน ๒.ใช้จุกยางกดลงบนกระดาษเซลโลเฟน บริเวณที่มีอุจจาระอยู่ เพื่อให้อุจจาระกระจายสม่ำเสมอและบางพอที่จะส่องตรวจได้ ๓.ทิ้งไว้ที่อุณหภูมิห้องประมาณ 1 ชั่วโมง หรือที่อุณหภูมิ 34–40 องศาเซลเซียส ประมาณ 20–30 นาที แล้วส่องตรวจดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ผลการตรวจจำแนกตามจำนวนไข่พยาธิในอุจจาระ ดังนี้ 1. การติดเชื้อน้อย ไม่รุนแรง (light) มีจำนวนไข่พยาธิ 1–999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม 2. การติดเชื้อปานกลาง (medium) มีจำนวนไข่พยาธิ 1,000–9,999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม 3. การติดเชื้อมาก (heavy) มีจำนวนไข่พยาธิ 10,000–29,999 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม 4. การติดเชื้อรุนแรงมาก (very heavy) มีจำนวนไข่พยาธิตั้งแต่ 30,000 ใบ/อุจจาระ 1 กรัม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ๑.จัดตั้งคณะทำงาน/ประชุมชี้แจงแนวทางการดำเนินงาน ๒.แต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่าย “ธรรมนูญสุขภาพตำบล” ๓.ประชาคมเพื่อจัดทำธรรมนูญสุขภาพตำบล การออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันและแก้ไขโรคพยาธิใบไม้ในตับ และมะเร็งท่อน้ำดี และมีการส่งเสริมให้เกิดการบังคับใช้ข้อบัญญัติท้องถิ่น โดยร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ และประกาศวาระ “ธรรมนูญสุขภาพตำบลลำห้วยหลัวไม่กินปลาดิบ “ ๔. กิจกรรมเฝ้าระวัง/ควบคุมโรค ๔.๑) คัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่มีอายุ ๔๐ปีขึ้นไปด้วยแบบคัดกรองด้วยวาจา (Verbal Screening) ๔.๒) บันทึกข้อมูลจากแบบสอบถามลงในระบบonlineในเวปไซต์ www.cdckalasin.com ๔.๓) ตรวจอุจจาระกลุ่มเสี่ยงที่อายุครบ๔๐ปีขึ้นไป และประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องการตรวจ ๔.๔) ตรวจอุจจาระประชาชนที่ติดเชื้อโรคพยาธิใบไม้ตับในปี๒๕๕๙ และกลุ่มเสี่ยง (ด้วยวิธี kato’s tick smear) ๔.๕) วิเคราะห์ข้อมูล/คืนข้อมูลสู่ชุมชน ๕. กิจกรรมสุขศึกษา / รณรงค์ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพลดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ๕.๑).ประชุม ประชาคม ให้ความรู้และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินปลาดิบ และกำหนดเป็นธรรมนูญหมู่บ้าน และตำบล ๕.๒) แกนนำอสม. เคาะประตูบ้านติดแผ่นสุขศึกษาชาวตำบลลำห้วยหลัวไม่กินปลาดิบ ๕.๓) ดำเนินกิจกรรมหมู่บ้านต้นแบบในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่กินปลาดิบ - อบรมให้ความรู้ประชาชน และ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสุขภาพประชาชนกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วยเพื่อไม่ให้กลับมาป่วยซ้ำ - ให้ความรู้ทางหอกระจายข่าว ทุกหมู่บ้าน - ติดตามประเมินผลกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มป่วย ร่วมกับทีมหมอครอบครัว ๓ เดือน / ครั้ง - ส่งเสริมร้านค้า ร้านอาหารไม่ให้มีเมนูปลาดิบ และส่งเสริมการบริโภคปลาร้าสุก (ร้านนี้ปรุงอาหารด้วยปลาร้าสุก) หรือต้องหมักอย่างน้อย ๖ เดือน ๖.ดำเนินกิจกรรมโรงเรียนประถมศึกษาต้นแบบโรงเรียนแห่งการเรียนรู้โรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ๖.๑) อบรมแกนนำนักเรียน OV ๖.๒) ตรวจอุจจาระนักเรียน ป.๔-๖ โรงเรียนต้นแบบ/ รักษาผู้ติดเชื้อพยาธิ ๖.๓) ติดตาม และประเมินผลนักเรียนที่พบพยาธิ ๗) สรุป/ประเมินผลการดำเนินงานลดปัญหาโรคพยาธิใบไม้ตับและมะเร็งท่อน้ำดี ตำบลลำห้วยหลัว  
     
ผลการศึกษา : ได้เกิดธรรมนูญสุขภาพตำบลเกิดขึ้น เพื่อใช้เป็นมาตรการทางสังคมในการแก้ไขปัญหาพยาธิใบไม้ตับ และมะเร็งท่อน้ำดี ภายใต้ วาระสุขภาพ ชาวลำห้วยหลัวร่วมใจลดการกินปลาดิบ โดยเน้นหลัก ๕ ส. ๒ ร. ๑ ม. ดังนี้ ๑.ส. สุก กินอาหารจากปลาที่ทำให้สุกด้วยความร้อนทุกครั้ง ๒.ส.ส้วม ถ่ายอุจจาระลงในส้วมทุกครั้ง มีและใช้ส้วม ๑๐๐ เปอร์เซ็นต์ ๓.ส.สะอาด ล้างมือให้สะอาด ก่อนกินอาหาร ก่อนปรุงอาหาร หลังถ่ายอุจจาระ ๔.ส.ส่ง เมื่อมีประวัติเคยกินปลาน้ำจืดดิบหรือสุกๆดิบๆให้ไปรับการตรวจหาไข่พยาธิ ๕.ส.สาธารณสุข ปฏิบัติตามคำแนะนำ พร้อมทั้งให้ความร่วมมือ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และ อสม. ๑.ร.ร้านค้า ไม่ขาย ไม่ปรุงอาหารที่สุกๆดิบๆ เมนูส้มตำ เน้นปลาร้าต้มสุก ๒.ร.รถดูดส้วม กำจัดให้ถูกต้อง ไม่ให้รถดูดส้วมไปเทอุจจาระในพื้นที่ไร่ นา สวน และพื้นที่สาธารณะ ๑.ม. แม่น้ำ ช่วยกันดูแลแหล่งน้ำ ไม่ขับถ่ายลงในแม่น้ำ และหลังจากใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลพบว่าประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้รับการตรวจอุจจาระ ทั้งหมด ๖๕๔ คน พบติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ ๓๒ ราย คิดเป็นร้อยละ ๔.๘๙ ซึ่งพบพยาธิใบไมในตับลดลง จากเมื่อปี ๒๕๕๘ ซึ่งตรวจอุจจาระทั้งหมด ๒๓๔ คน พบติดเชื้อพยาธิใบไม้ในตับ ๓๙ คน คิดเป็นร้อยละ ๑๖.๖๗ ดังนั้นการใช้ธรรมนูญสุขภาพตำบลสามารถลดการติดเชื้อพยาธิใบไมในตับในพื้นที่ได้จริง  
ข้อเสนอแนะ : เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการดำเนินงานอย่างยั่งยืน ควรมีการดำเนินงานเพื่อติดตามการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ร่วมกับภาคีเครือข่าย และผลักดันให้เกิดข้อบัญญัติของท้องถิ่น ให้สามารถมีผลบังคับใช้ต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)