ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : รูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐาน บ้านดงสวนพัฒนา ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : กฤตเมธ อัตภูมิ,มนชยา พรมศรี,พล ทองสถิตย์ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ประชากรโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 6,070.6 ล้านคนในปี 2543 เป็น 7,851.4 ล้านคนในอีก 25 ปีข้างหน้า คือ ปี 2568 ในขณะที่ประชากรไทยก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกันจาก 62.2 ล้านคนในปี 2543 เป็น 72.3 ล้านคนในปี 2568 โดยที่ผู้สูงอายุมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นในอัตราร้อยละ 10.0 ในปี 2543 เป็นร้อยละ 15.0 ในปี 2568 [1]การที่อายุยืนยาวขึ้นของผู้สูงอายุ ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านร่างกายและส่งผลกระทบทั้งในด้านปัญหาสุขภาพ ปัญหาเศรษฐกิจและสังคม โดยปัญหาสุขภาพที่พบมากในผู้สูงอายุได้แก่ปัญหา การได้ยินและการมองเห็น การสื่อสาร การเคลื่อนไหวร่างกายและอุบัติเหตุ ปัญหาในการขบเคี้ยวอาหารและการขับถ่าย ปัญหาสภาพจิตใจ โรคสมองเสื่อมและปัญหาการเจ็บป่วยด้วยโรคเรื้อรัง[2]บ้านดงสวนพัฒนา ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ มีประชากรในเขตรับผิดชอบ 3,763 คน มีผู้สูงอายุจำนวน 331 คน คิดเป็นร้อยละ 8.79 ผลการสำรวจภาวะสุขภาพของประชาชน พบว่า ผู้สูงอายุป่วยด้วยโรคเรื้อรัง (NCD) ร้อยละ 65.62 มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดโรคเรื้อรัง ร้อยละ 76.33 รอบเอวสูงกว่าเกณฑ์ ร้อยละ 60.36 และ BMI เกินเกณฑ์ปกติ ร้อยละ 63.48 การประเมินความสามารถในการปฏิบัติกิจวัตรประจำวันพื้นฐานด้วยตนเอง (ADL) พบผู้สูงอายุที่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ร้อยละ 94.7 และ กลุ่มตัวอย่างที่ต้องการคนคอยช่วยเหลือบางกิจกรรม ร้อยละ 5.3 นอกจากนี้ยังพบว่า ผู้สูงอายุมีสัดส่วนพฤติกรรมสุขภาพที่พึงประสงค์ ร้อยละ 11.2 [3] ดังนั้นเพื่อป้องกันปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรังของผู้สูงอายุและความพิการ แนวคิดสำคัญที่น่าจะนำมาใช้ในการการส่งเสริมการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุคือการมีส่วนร่วมของชุมชน โดยการผสมผสานทฤษฎีการจัดการในชุมชนและทฤษฎีด้านการมีส่วนร่วมของชุมชน ซึ่งการนำแนวคิดการมีส่วนร่วมของชุมชนในการพัฒนาการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุ เกิดรูปแบบหรือแนวทางในการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุตามปัญหาและความต้องการและสอดคล้องกับวิถีชีวิตและบริบทของชุมชน ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีสุขภาวะและคุณภาพชีวิตที่ดี  
วัตถุประสงค์ : การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อ 1.พัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ บ้านดงสวนพัฒนา ตำบลนาทัน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ 2. เพื่อศึกษาความรู้ การปฏิบัติในการดูแลสุขภาพตนเอง และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ 3. เพื่อเปรียบเทียบความรู้ การปฏิบัติในการดูแลสุขภาพตนเอง และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุก่อนและหลังการทดลอง  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่าง ที่ใช้ในการวิจัย เลือกแบบเจาะจง มี 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จำนวน 32 คน 2) กลุ่มตัวอย่าง จำนวน 40 คน เลือกแบบเจาะจง ซึ่งมีเกณฑ์การคัดเข้า คือ (1) มีอายุ 60 ปี ขึ้นไป(2) มีสติสัมปชัญญะการรับรู้ดีมีความสามารถให้ข้อมูล และเข้าร่วมกิจกรรมได้(4) ยินดีและสมัครใจในการให้ข้อมูล เกณฑ์การคัดออก (1) มีการเสียชีวิต หรือย้ายออกจากหมู่บ้านในระหว่างการสำรวจข้อมูล (2) ในระหว่างที่ศึกษากลุ่มตัวอย่างปฏิเสธการให้ข้อมูล  
เครื่องมือ : เครื่องมือในการพัฒนา ได้แก่ ใช้รูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการด้วยการประยุกต์ใช้กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา การวางแผน การดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล คือ แบบสอบถามลักษณะส่วนบุคคล จำนวน 7 ข้อ ความรู้ในการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ จำนวน 20 ข้อ การปฎิบัติตนในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ จำนวน 45 ข้อ และคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ จำนวน 26 ข้อ แบบสนทนากลุ่ม สำหรับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ครอบคลุมประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ การรับรู้สถานะสุขภาพของผู้สูงอายุ คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ ระบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุในปัจจุบัน การให้ความช่วยเหลือจากภาคีเครือข่าย ความต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุ และรูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุที่เหมาะสมของบ้านดงสวนพัฒนา เครื่องมือในการวิเคราะห์ข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูลด้านลักษณะประชากรของกลุ่มตัวอย่าง โดยใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และสถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ pair t-test ใช้นำเสนอในรูปแบบของ Mean difference และ 95% CI ในการเปรียบเทียบค่าเฉลี่ย ก่อนและหลังการทดลอง โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นในการทดสอบทางสถิติที่ระดับ 0.05  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ใช้รูปแบบการประชุมเชิงปฏิบัติการด้วยการประยุกต์ใช้กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วมในการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ ประกอบด้วย การค้นหาปัญหาและสาเหตุของปัญหา การวางแผน การดำเนินงาน การติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหา เกิดรูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ คือ 1) เครือข่าย FCT, Care giverในการดูแลผู้สูงอายุ LTC 2) ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพผู้สูงอายุ 3) โรงเรียนผู้สูงอายุ 4) เยี่ยมบ้านHome Health Care, Palliative care  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มตัวอย่างมีสัดส่วนเพศหญิงมากกว่าเพศชาย ร้อยละ 57.3 มีอายุเฉลี่ย 70 ปี (S.D.= 7.60) มีสถานะภาพคู่ ร้อยละ 52.6ส่วนใหญ่มีการศึกษาสูงสุด คือ ประถมศึกษา ร้อยละ 85.5 ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ร้อยละ 73.2 ลักษณะการอยู่อาศัยในครอบครัวของผู้สูงอายุส่วนใหญ่ ร้อยละ 91.6 จะอยู่กับครอบครัวของบุตรหลาน ส่วนใหญ่มีรายได้ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่าย ร้อยละ 75.6 และเข้าร่วมกิจกรรมชุมชน ร้อยละ 61.8หลังจากได้รับโปรแกรมพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ พบว่า เกิดรูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ คือ 1) เครือข่าย FCT, Care giverในการดูแลผู้สูงอายุ LTC2) ระบบสารสนเทศด้านสุขภาพผู้สูงอายุ 3) โรงเรียนผู้สูงอายุ 4) เยี่ยมบ้านHome Health Care, Palliative care เมื่อเปรียบเทียบคะแนนความรู้ พบว่าหลังการทดลองมีมากกว่าก่อนการทดลอง 2.25 คะแนน(95% CI =1.27 to 3.22 , P-value <0.01)การปฎิบัติพบว่า หลังการทดลองมีคะแนนมากกว่าก่อนการทดลอง 10.05 คะแนน(95% CI =6.99 to 13.10 , P-value <0.01) และคุณชีวิตของผู้สูงอายุหลังการทดลองมีคะแนนมากกว่าก่อนการทดลอง 9.20 คะแนน(95% CI = 7.16 to 11.23 , P-value < 0.001)  
ข้อเสนอแนะ : รูปแบบการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุโดยใช้ชุมชนเป็นฐานที่มีการประยุกต์ใช้กระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนารูปแบบการดูแลสุขภาพตนเองของผู้สูงอายุ ส่งผลให้ผู้สูงอายุมีความรู้และมีการปฏิบัติกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพแลป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  
     
รางวัลที่ได้รับ : - ระดับ ระดับจังหวัด  
     
  ไม่มีเอกสารแนบ