ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : รูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูอนามัยเพื่อการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้นประถมศึกษา
ผู้แต่ง : อุธาทิพย์ นักธรรม ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : โรคฟันผุเป็นปัญหาสุขภาที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต ครอบครัวและเศรษฐกิจในเด็ก อาการปวดฟันเป็นอุปสรรคต่อการนอนหลับ การเจริญเติบโต พัฒนาการด้านอื่นๆ ตลอดจนการเรียนรู้ และสภาพจิตใจ ความไม่มั่นใจในตนเองเนื่องจากมีฟันผุหรือมีกลิ่นปาก จากผลการสำรวจนักเรียนประถมศึกษา ในเขตรับผิดชอบ รพ.สต.บ้านข้าวหลามพบว่า ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 - 6 มีปัญหาสุขภาพช่องปาก มากกว่าทุกระดับชั้น คือ โรคฟันผุ ร้อยละ 47.4 มีค่าเฉลี่ยฟันผุ อุด ถอน เป็น 2.3 ซี่ต่อคน ซึ่งมีค่าสูงกว่าทั้งระดับประเทศและระดับภาค ซึ่งนักเรียนระดับดังกล่าว มีฟันแท้ 28 ซี่ เป็นช่วงที่มีการขึ้นของฟันแท้ครบทุกซี่ หากไม่มีการส่งเสริมและป้องกันในเรื่องทันตสุขภาพในทางที่ถูกต้องจะทำให้เกิดปัญหามากยิ่งขึ้นในอนาคต จากการทบทวนเอกสารวิชาการและนำเสนอสถานการณ์สุขภาพช่องปากของนักเรียนที่เกิดขึ้นแก่ที่ประชุมกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย ทำให้ต้องกลับมาทบทวนวิธีการทำงานเพื่อการปรับปรุงงานทันตสาธารณสุข ให้การป้องกันโรคฟันผุเป็นไปในแนวทางที่ดีขึ้น เนื่องจากโรคฟันผุสามารถป้องกันได้หากมีความรู้ ความเข้าใจ และมีส่วนร่วมในการการปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมของผู้ปกครองนักเรียน ครูอนามัย รวมถึงนักเรียนเอง ก่อนที่จะเกิดอาการรุนแรงจนถึงการสูญเสียฟันไปก่อนเวลาอันควร คณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย จึงมีความสนใจศึกษาการพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูอนามัยในการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้นประถมศึกษา เพื่อให้นักเรียนสามารถป้องกันโรคฟันผุได้อย่างมีประสิทธิภาพ  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาสถานการณ์การสุขภาพช่องปากของนักเรียนชั้นประถมศึกษา 2.เพื่อพัฒนารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูอนามัยในการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้น  
กลุ่มเป้าหมาย : - นักเรียนชั้นประถมศึกษาโรงเรียน จำนวน 38 คน - ผู้ปกครองนักเรียนชั้นประถมศึกษา จำนวน 30 คน  
เครื่องมือ : -แนวทางการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิง -แนวทางการสังเกตแบบมีส่วนร่วม -แนวทางการจัดประชุม  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงปฏิบัติการ (action research) เพื่อศึกษารูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูอนามัยเพื่อการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้นประถมศึกษา โดยการสมัครใจเข้าร่วมโครงการ การดำเนินการวิจัยแบ่งเป็น 3 ระยะ คือ 1) ระยะที่ 1 ขั้นประเมินสถานการณ์ (Situation Analysis Phase)  ประเมินสภาวะสุขภาพช่องปากของนักเรียนประถมศึกษา จากข้อมูลทุติยภูมิ พบว่าการตรวจสุขภาพเด็ก  จากการสัมภาษณ์รายบุคคลและสนทนากลุ่ม นักเรียน ผู้ปกครองนักเรียน และครูอนามัยเกี่ยวกับพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคฟันผุ 2) ระยะที่ 2 ดำเนินการ (Action Phase) แกนนำชุมชนบ้านข้าวหลาม ได้จัดโครงการจัดบริการตรวจสุขภาพประกอบด้วยกิจกรรม การตรวจสุขภาพ 1 ครั้ง/ปี การตรวจสุขภาพช่องปาก 1 ครั้ง/ปี บันทึกผลการสะท้อนคิดนำมาวิเคราะห์แก้ไขปัญหา การปรับแผน (วงรอบที่ 1) จึงจัดทำโครงการแก้ไข กิจกรรมให้ความรู้แก่ผู้ปกครองและครูอนามัย 3) ระยะที่ 3 ขั้นการประเมินผล (Evaluation Phase) โดยประเมินสุขภาพช่องปากนักเรียนประถมศึกษา การมีส่วนร่วม และความพึงพอใจของนักเรียน ผู้ปกครอง และครูอนามัย ประเมินผลโครงการ(วงรอบที่ 2 ) นำเสนอต่อกองทุนฯ  
     
ผลการศึกษา : สถานการณ์การสุขภาพช่องปากของนักเรียนชั้นประถมศึกษา พบนักเรียนส่วนใหญ่มีปัญหาสุขภาพช่องปากอย่างน้อย 1 อย่าง ร้อยละ 75.2 โดยปัญหาที่พบมากที่สุดคือมีหินปูน ร้อยละ 46.2 รองลงมาคือฟันผุ ร้อยละ 43.9 เสียวฟัน ร้อยละ 22.0 และมีกลิ่นปาก ร้อยละ 10.3 ฟันแท้ผุ อุด ถอน เป็น 2.7 ซี่ต่อคน นักเรียนส่วนใหญ่บริโภคอาหารที่ไม่ดีต่อสุขภาพช่องปาก กินขนมกรอบเป็นประจํามากที่สุด ร้อยละ 37.5รองลงมา คือน้ำอัดลม/นมเปรี้ยว ร้อยละ 30.5 และขนมหวาน ร้อยละ 15.1 นักเรียนส่วนใหญ่แปรงฟันไม่ถึงวันละ 2 ครั้ง ร้อยละ 72.3 และไม่ทราบว่าการป้องกันโรคฟันผุทำอย่างไร โรงเรียนยังอนุญาตให้จำหน่ายอาหารที่เสี่ยงต่อฟันผุ สถานที่แปรงฟันและน้ำดื่ม ยังไม่พอเพียงต่อจำนวนนักเรียน จากการปฏิบัติงานร่วมกันได้แนวทางการป้องกันโรคฟันผุ (รอบแรก) คือ 1) การจัดกิจกรรมการเรียนรู้เรื่องทันตสุขภาพ 2) การควบคุมการบริโภคอาหาร/ขนมที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ 3) จัดให้นักเรียนแปรงฟันหลังอาหารกลางวันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกวัน 4) จัดสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อทันตสุขภาพ 5) ผู้ปกครองดูแลเรื่องการป้องกันฟันผุที่บ้าน นอกจากนั้นพบว่า มีการเสนอให้นักเรียนลงนามทำพันธสัญญาในการป้องกันโรคฟันผุ มอบประกาศเกียรตินักเรียนฟันดี และโรงเรียนจัดกิจกรรมเป็นโรงเรียนฟันดี และของบประมาณสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนตำบลและชุมชนเพื่อมาดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคฟันผุสำหรับนักเรียน หลังดำเนินโครงการโรงเรียนมีการจัดสถานที่แปรงฟันสำหรับนักเรียนเพิ่ม 4 ที่ จัดให้นักเรียนแปรงฟันหลังอาหารกลางวันด้วยยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกวัน มีการควบคุมไม่ให้จำหน่ายอาหาร/ขนมที่เสี่ยงต่อโรคฟันผุในโรงเรียน และได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินกิจกรรมป้องกันโรคฟันผุในนักเรียน จากกองทุนหลักประกันสุขภาพองค์การบริหารส่วนตำบลกมลาไสย จำนวน 5,000 บาท นักเรียนมีการแปรงฟันวันละอย่างน้อย 2 ครั้ง ร้อยละ 100 และรู้จักการป้องกันโรคฟันผุสามารถเล่าวิธีปฏิบัติได้อย่างถูกต้องทุกคน รูปแบบการป้องกันโรคฟันผุในนักเรียนชั้นประถมศึกษาเพื่อนำไปสู่การมีสุขภาพช่องปากที่ดีควรประกอบด้วย การมีส่วนรับผิดชอบแก้ไขปัญหาอย่างจริงจังของทุกคน มีเป้าหมายที่ชัดเจน การจัดให้มีการพัฒนาศักยภาพด้านทันตสุขภาพของนักเรียนผู้ปกครองและครูอนามัย กระตุ้นให้กำลังใจแก่ผู้ปฏิบัติงาน ทันตบุคลากรเปลี่ยนจากการสั่งการหรือการให้มาเป็นการกระตุ้นให้กำลังใจ จุดประกายเกื้อกูลให้เกิดกิจกรรม การตรวจเยี่ยมแบบกัลยาณมิตรอย่างสม่ำเสมอ การประสานงานที่ดี การร่วมกันสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อทันตสุขภาพ และการได้รับงบประมาณสนับสนุนจากองค์กรปกครองท้องถิ่นและชุมชน  
ข้อเสนอแนะ : ผู้ที่จะนำรูปแบบการมีส่วนร่วมของผู้ปกครองและครูอนามัยในการป้องกันโรคฟันผุไปใช้ต้องมีความรู้และทักษะด้านทันตสุขภาพเป็นอย่างดี และมีการใช้สื่อที่เหมาะสม จึงจะเกิดประสิทธิภาพในการถ่ายทอดความรู้ รูปแบบนี้อาจนำไปประยุกต์ใช้กับกลุ่มเป้าหมายในชุมชนอื่นๆ ได้ ซึ่งจะช่วยพัฒนาให้เกิดพฤติกรรมสุขภาพที่เหมาะสมต่อไป  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)