ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนา “กลุ่มเพื่อนความดันช่วยกันเลิกบุหรี่”
ผู้แต่ง : อ๊อด ศักดิ์ศิริ ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่สูบบุหรี่หรือสัมผัสควันบุหรี่อย่างต่อเนื่อง ทำให้ไขมันในเลือดชนิดไม่ดี (LDL) เพิ่มขึ้น ไขมันในเลือดชนิดดี (HDL) ลดลง จนเกิดโรคแทรกซ้อนเร็วกว่าปกติ 2 – 3 เท่า ได้แก่ โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย หัวใจโต หัวใจล้มเหลว โรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก ซึ่งทำให้เกิดอัมพฤกษ์หรืออัมพาตและโรคไตวาย เป็นต้น สารพิษในควันบุหรี่ทำให้การรักษาโรคความดันโลหิตสูงมีประสิทธิภาพน้อยลง เนื่องจากการที่มีสารนิโคตินและสารพิษบางอย่างในควันบุหรี่จะส่งผลให้หลอดเลือดแดงแข็งและเกิดการอักเสบของหลอดเลือดแดง รวมถึงไขมันอุดตันหลอดเลือดทำให้ความดันโลหิตควบคุมให้อยู่ในเกณฑ์พึงประสงค์ได้ยากขึ้น สำหรับการดูแลสุขภาพผู้ป่วยเรื้อรังนั้นทุกคนต้องไม่สูบบุหรี่ คือเป้าหมายหลักของกระทรวงสาธารณสุข และรพ.สต.บ้านข้าวหลามมีการให้คำปรึกษาด้านการเลิกบุหรี่ในคลินิกให้คำปรึกษาทั่วไป มีผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เลิกบุหรี่ได้สำเร็จ พร้อมให้คำแนะนำผู้ที่ต้องการเลิกบุหรี่ ผู้ศึกษาได้นำแนวคิดของกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนมาประยุกต์ใช้ ในการจัดตั้งกลุ่มเพื่อความดันช่วยกันเลิกบุหรี่ ซึ่งเป็นกลุ่มแบบไม่เป็นทางการขึ้น โดยการรวมตัวกันของผู้ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่และผู้เลิกบุหรี่สำเร็จ สมัครใจเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่ม มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อช่วยเหลือกันในการการเลิกบุหรี่ ช่วยแนะนำ เล่าประสบการณ์ วิธีการเลิกบุหรี่อย่างได้ผลและวิธีแก้ไขความล้มเหลวในการเลิกบุหรี่อย่างเด็ดขาด  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อศึกษาสถานการณ์การสัมผัสควันบุหรี่ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง 2.เพื่อศึกษาแนวทางการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง โดยใช้กลุ่มเพื่อนความดันช่วยกันเลิกบุหรี่  
กลุ่มเป้าหมาย : ได้แก่ ผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่สมัครใจร่วมโครงการ 10 คน  
เครื่องมือ : - แนวทางการสนทนากลุ่ม และการสัมภาษณ์เชิงลึก - แนวทางการสังเกตแบบมีส่วนร่วม - แนวทางการจัดประชุมระดมสมอง  
ขั้นตอนการดำเนินการ : แบ่งออกเป็น 3 ระยะ มีขั้นตอน ดังนี้ 1.ระยะประเมินสถานการณ์ 1) ประชุมร่วมกันระหว่างผู้วิจัย พยาบาลเวชปฏิบัติ ที่ รพ.สต.และตัวแทนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง เพื่อชี้แจงวัตถุประสงค์การศึกษา และร่วมกันกำหนดแนวทางการวิจัย 2) ศึกษาสถานการณ์การสัมผัสควันบุหรี่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงและค้นหาผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่เคยพยายามเลิกบุหรี่และเลิกสูบบุหรี่ได้ ศึกษาองค์ความรู้ท้องถิ่นของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง หาปัจจัยที่ครอบครัวยังมีผู้สูบบุหรี่ ศึกษาประสบการณ์การเลิกสูบที่ล้มเหลว ความต้องการเลิกสูบบุหรี่ โดยการสัมภาษณ์เชิงลึกและการสนทนากลุ่ม เพื่อนำความต้องการไปใช้ในการวางแผนช่วยเหลือเพื่อนที่ยังอาศัยในครอบครัวที่สูบบุหรี่ 3) ค้นหาความต้องการเลิกสูบบุหรี่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง โดยการสนทนากลุ่ม การสัมภาษณ์เชิงลึก การสังเกตแบบมีส่วนร่วม 2.ระยะการวางแผนและดำเนินการแก้ไขปัญหา เป็นการสร้างความตระหนักของสมาชิกกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนลดละเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยความดันโลหิตสูง และพัฒนาทักษะแก่สมาชิก ในการลดการสัมผัสควันบุหรี่ โดยมีการจัดประชุมระดมสมอง เพื่อประเมินสถานการณ์ การสัมผัสควันบุหรี่ที่บ้านรวมถึงสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับพิษภัยของการสูบบุหรี่ต่อการเจ็บป่วยด้วยโรคความดันโลหิตสูง และร่วมกันหาแนวทางแก้ไขสถานการณ์การสัมผัสควันบุหรี่ในบ้านผู้ป่วยความดันโลหิตสูง รวมถึงการลดการสัมผัสควันบุหรี่ในบ้าน การจัดตั้งกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงได้จากการสะท้อนคิดของสมาชิกกลุ่มและผู้ร่วมศึกษาจากการดำเนินการกลุ่มผ่านมา เพื่อปรับปรุงแก้ไข เพิ่มเติม การจัดตั้งกลุ่ม “เพื่อนช่วยเพื่อนเลิกบุหรี่ในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง” สมาชิกเสนอกฎกติกาได้ 4 ข้อได้แก่ 1) สมาชิกทุกคนต้องมาตามนัดทุกครั้ง 2)สมาชิกทุกคนควรพูดที่ละคน รับฟังความคิดเห็นของเพื่อนอย่างตั้งใจ 3) สมาชิกทุกคนมีความเท่าเทียมกัน จะไม่ตำหนิ ไม่วิจารณ์ ไม่ตัดสินคำพูดของเพื่อน ว่าไม่ดี หรือขัดจังหวะไม่ให้คนอื่นพูด 4) สมาชิกทุกคนต้องร่วมมือกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ ดูแล ให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน ด้วยความจริงใจ มุ่งมั่นที่จะช่วยกันแก้ปัญหาระหว่างการเลิกบุหรี่ของสมาชิกทุกคน การเลือกผู้นำกลุ่ม มีการเลือกประธานกลุ่ม จากผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เลิกบุหรี่สำเร็จและเป็นอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน เพราะเป็นผู้นำด้านสุขภาพในหมู่บ้านและประสานงานกับกลุ่มต่างๆ ที่จะช่วยเหลือกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อนเลิกบุหรี่ได้สะดวก 3.ระยะประเมินผล ประเมินผลหลังการดำเนินโครงการ โดยการติดตามเยี่ยมบ้าน สำรวจจำนวนผู้ป่วยความดันโลหิตสูง ที่สูบบุหรี่ และผู้ป่วยที่สัมผัสบุหรี่ นำข้อมูลมาเปรียบเทียบกับก่อนการดำเนินโครงการ มีการประชุมระดมสมองและสะท้อนคิด ประเมินผลและปรับแนวทางการพัฒนาโดยการจัดเวทีประชุม ในการประชุมผู้วิจัยจะส่งเสริมให้ผู้ร่วมศึกษาได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์ และสรุปผลลัพธ์ของการดำเนินการวิจัยในการสร้างความเข้มแข็งของหุ้นส่วนชุมชนเพื่อลดการสัมผัสควันบุหรี่ที่บ้านของผู้ป่วยความดันโลหิตสูง จัด 2 ครั้ง ครั้งแรกหลังจากขั้นตอนประเมินรอบแรกคือ มีการคืนข้อมูลสถานการณ์การสูบบุหรี่และการสัมผัสควันบุหรี่ของผู้ป่วยความดันโลหิตสูงมีการเสวนากลุ่มย่อย วางแผนแก้ปัญหาใหม่ และสะท้อนคิดหลังการทำกลุ่มสัปดาห์ที่ 4 เสร็จ (1 วงรอบ) ครั้งที่ 2 หลังการทำกลุ่มสัปดาห์ที่ 8 เสร็จโดยมีการเชิญผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ นายกองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้นำชุมชน อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) เจ้าอาวาสและไวยากรณ์วัด รวมถึงการให้ข้อเสนอแนะในการนำผลการศึกษาไปใช้ในระดับ รพ.สต. อสม. ครอบครัว และข้อเสนอแนะในการศึกษาต่อไป  
     
ผลการศึกษา : ผลการศึกษา พบว่า ก่อนดำเนินการพบผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงที่เข้าร่วมโครงการทุกคนเป็นผู้สัมผัสควันบุหรี่ที่บ้าน และพบกลุ่มเพื่อนพาผู้ป่วยสูบบุหรี่ 6 กลุ่ม คือ 1) เพื่อนใช้แรงงานสูบยาแก้เหนื่อย 2) เพื่อนดื่มเหล้าเมายาสูบ 3) เพื่อนสูบบุหรี่คอข่าวเช้า 4) เพื่อนสูบบุหรี่ปรึกษาปัญหารุมเร้า 5) เพื่อนดมควันในบ้านตนเอง 6) เพื่อนดมควันนอกบ้านหรือสถานที่สาธารณะ หลังดำเนินการ พบว่า จากการที่ผู้ป่วยร่วมเสวนาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ สะท้อนคิด ได้เรียนรู้ร่วมกับผู้มีประสบการณ์เลิกบุหรี่ จึงเกิดกลุ่มเพื่อนความดันชวนกันเลิกบุหรี่ 4 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มเพื่อนใช้แรงงานพากันเลิกยาสูบ 2) กลุ่มเลี่ยงเหล้าเซาสูบยา 3) กลุ่มโสข่าวเช้าพาเพื่อนเลิกบุหรี่ 4) กลุ่มให้กำลังใจเพื่อนคลายเครียด บทเรียนจากการปฏิบัติงานร่วมกันได้แนวทางเลิกบุหรี่ คือ หลัก 6 ต คือ 1) ตั้งเป้าหมาย 2) ตัดใจทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์การสูบ 3) ติดต่อขอกำลังใจจากคนที่รักเรา 4) ตัดใจไม่สูบถ้าเกิดอาการอยาก 5) เตรียมลูกอมหรือหมากฝรั่งติดตัว 6) ต้องออกกำลังกายคลายความหงุดหงิด นอกจากนั้นพบว่า เกิดเครือข่ายการเลิกบุหรี่ของชุมชน ได้แก่ 1)บุคคลต้นแบบเลิกบุหรี่อาสาช่วยเพื่อน 2) อสม.ช่วยหนุนเสริมกิจกรรมกลุ่มเพื่อนความดัน 3) ผู้นำชุมชนช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กิจกรรมกลุ่มยั่งยืนขึ้น มีการทำพันธสัญญาครอบครัวปลอดบุหรี่ โดยคณะกรรมการหมู่บ้าน ผู้นำชุมชน ทุกหมู่บ้านมีการประชุมแจ้งนโยบายในที่ประชุมประจำเดือนของหมู่บ้านเพื่อกำหนดกติกาชุมชน สร้างสถานที่ปลอดบุหรี่ และเชิญชวนให้สมาชิกชุมชนร่วมกิจกรรมหนุนเสริมกลุ่มเพื่อนช่วยเพื่อน ดังนี้ 1) มอบประกาศเกียรติคุณบ้านปลอดบุหรี่ 2) กำหนดที่ประชุมปลอดบุหรี่ ในชุมชน 3) จัดสถานที่สาธารณะปลอดบุหรี่ในทุกหมู่บ้าน หลังดำเนินโครงการผู้ป่วยเลิกสูบบุหรี่ได้ 12 เดือน จำนวน 4 คน ผู้ป่วยรู้สึกสดชื่นขึ้น หายใจเต็มปอด รับประทานอาหารอร่อยขึ้น จากการสังเกต พบว่า หลังเลิกบุหรี่มีสีหน้าสดใส เอิบอิ่ม ดูมีสุขภาพดีขึ้น กลุ่มเป้าหมายที่เข้าร่วมกลุ่ม 1 คนยังไม่สามารถเลิกบุหรี่ได้ แต่ลดจำนวนลงเหลือ วันละ 1-2 มวน ต้องมีการติดตามต่อถึงผลระยะยาวในการเลิกบุหรี่ของผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูงรายนี้ เกิดบ้านปลอดบุหรี่ 10 หลัง ผู้สัมผัสบุหรี่มือสองมีทักษะในการป้องกันการสัมผัสควันบุหรี่ในบ้านตนเองและนอกบ้าน เกิดการขยายเครือข่ายให้การช่วยเหลือการเลิกบุหรี่ในชุมชนครบทุกหมู่บ้าน เหตุผลที่ทำให้เลิกบุหรี่ได้ พบว่ากระบวนการกลุ่มเพื่อนความดันชวนกันเลิกบุหรี่ เป็นกลวิธีที่เอื้อให้เกิดการได้พูดคุยถึงปัญหา ได้แลกเปลี่ยน ได้รับฟังปัญหาของคนอื่น สมาชิกช่วยเสริมกำลังใจกันในการต่อรองเอาชนะใจตนเอง รักสุขภาพของตนเอง เป็นการสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของปัญหา ตระหนักถึง ศักยภาพของตนเองในการที่จะจัดการกับปัญหา และนำไปสู่การคิดหาวิธีการจัดการกับปัญหาของตนโดยการสร้างแรงจูงใจ ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ไขปัญหาด้วยตนเอง  
ข้อเสนอแนะ : 1) กระบวนการกลุ่มช่วยเหลือตนเองมีประโยชน์ด้านการสาธารณสุข โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เป็นกระบวนการที่ช่วยให้กลุ่มเป้าหมายเกิดความตระหนัก จัดการแก้ไขปัญหาด้วยตนเองซึ่งนำไปสู่ ความมั่นใจของตนเอง 2) การตรวจสุขภาพหลังเลิกบุหรี่ยังเห็นผลไม่ชัดเจนควรมีการศึกษาโดยใช้เวลานานขึ้นเพื่อดูผลความเปลี่ยนแปลงของระดับความดันโลหิตของผู้เลิกบุหรี่อย่างต่อเนื่อง  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)