ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การพัฒนาการดำเนินงานป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกน้อย ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์
ผู้แต่ง : ทิพวรรณ ทุมก่ำ, ศิริพล ภูปุย ปี : 2559
     
หลักการและเหตุผล : โรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease; HFMD)เป็นโรคที่มีสาเหตุของโรคเกิดจากเชื้อไวรัส กลุ่มที่อยู่ในลำไส้ของคน เรียกว่าเอนเทอโรไวรัส(Enterovirus) ซึ่งมีหลายสายพันธุ์ ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัสค็อกซากี้ เอ 16 (coxasckievirus A 16)1 สถานการณ์โรคมือ เท้า ปาก จังหวัดกาฬสินธุ์เป็นจังหวัดระหว่างปี พ.ศ.2554-2558มีอัตราป่วย 19.25,49.25,26.23,72.59 และ18.05 ต่อประชากรแสนคน2 ตามลำดับ ไม่มีรายงานผู้ป่วยเสียชีวิต สถานการณ์โรคมือ เท้า ปากอำเภอคำม่วง ระหว่างปี พ.ศ.2554-2558 มีอัตราป่วย 21.64, 27.55, 51.16,43.29 และ72.81ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ จะเห็นว่าอัตราป่วยในอำเภอคำม่วงมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกปี และตำบลโพนเป็นตำบลที่พบอัตราป่วยสูงติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2554-2558อัตราป่วย 29.07,72.69,43.61ต่อประชากรแสนคน ตามลำดับ และจากรายงานการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกน้อย ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ ปี 2558 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2558-31 ธันวาคม 2558 พบผู้ป่วย 2 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 29.07ต่อแสนประชากร3ซึ่งการระบาดดังกล่าวได้ดำเนินการควบคุมป้องกันโรคตามแนวทางและมาตรการของกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กแต่การควบคุมโรคเป็นเพียงการดำเนินการของเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และผู้ดูแลศูนย์เด็กเล็กเท่านั้นยังขาดการมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายทางด้านสุขภาพ ดังนั้นผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาการพัฒนาการมีส่วนร่วมในการป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก บ้านโคกน้อย ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์โดยประยุกต์หลักทฤษฎีกระบวนการวิจัยเชิงปฏิบัติการ Kemmisและ McTaggaet(1988)4 มีขั้นตอนคือ การวางแผน(Planning)การปฏิบัติ (Action) การสังเกต (Observation) และการสะท้อนกลับ (Reflection) เพื่อการหาแนวทางที่ดีในการดำเนินงานป้องกันและควบคุมโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและกระตุ้นให้เกิดการดำเนินงานการป้องกันโรคมือเท้าปากที่ชัดเจนยิ่งขึ้น  
วัตถุประสงค์ : การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาการพัฒนาการดำเนินป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกน้อย ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์  
กลุ่มเป้าหมาย : กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้คือผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (stakeholders) ได้จากการคัดเลือกแบบเจาะจง (Purposive Sampling) คัดเลือกจากผู้ยินดีและสมัครใจร่วมโครงการ จำนวน 60 คน เพื่อเข้าร่วมการวิจัยประกอบไปด้วยครูพี่เลี้ยงเด็กจำนวน 5คน ผู้ปกครองเด็กจำนวน 50 คน ผู้นำชุมชนจำนวน5คน  
เครื่องมือ : เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลเชิงปริมาณ ได้แก่ แบบทดสอบความรู้(ค่าความเชื่อมั่น = 0.85) แบบวัดการปฏิบัติตัว(ค่าความเชื่อมั่น = 0.98) และการมีส่วนร่วมป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก(ค่าความเชื่อมั่น = 0.84)เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ 1. แบบสังเกตการประชุม สังเกตการมีส่วนร่วมของกลุ่มผู้เข้าร่วมประชุม 2. แบบสังเกตพฤติกรรมในการปฏิบัติงานตามแผนวิเคราะห์ข้อมูลทั่วไปใช้สถิติเชิงพรรณนา ได้แก่ จำนวนและร้อยละ สถิติเชิงอนุมาน ได้แก่ paired t-test  
ขั้นตอนการดำเนินการ : การพัฒนาประกอบด้วยกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดทำแผนแก้ไขปัญหาจำนวนจำนวน 3 โครงการคือ1. โครงการพัฒนาความรู้เรื่องโรคมือเท้าปาก 2. โครงการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3. โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยบูรณาการกับงานสาธารณสุขอื่นๆ กิจกรรมที่สำคัญ คือ การอบรมให้ความรู้ การตรวจสุขภาพเด็ก การคัดกรองอาการป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก การทำความสะอาดอุปกรณ์ของเล่น ที่นอน ห้องเรียน ห้องครัว นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการให้สุขศึกษาทางหอกระจายข่าวโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ในชุมชนมีการตื่นตัว  
     
ผลการศึกษา : ภายหลังการพัฒนา พบว่า พบว่า กลุ่มตัวอย่างมีคะแนนเฉลี่ยความรู้ การปฏิบัติตัว และการมีส่วนร่วมในการดำเนินงานป้องกันโรคมือเท้าปากเพิ่มขึ้นจากก่อนพัฒนา อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05จากกระบวนการวางแผนแบบมีส่วนร่วม วิเคราะห์ปัญหาการดำเนินงานป้องกันโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และจัดทำแผนแก้ไขปัญหาจำนวนจำนวน 3 โครงการคือ1. โครงการพัฒนาความรู้เรื่องโรคมือเท้าปาก 2. โครงการเฝ้าระวังโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 3. โครงการพัฒนาสิ่งแวดล้อมให้น่าอยู่ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ดำเนินการในศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก โดยบูรณาการกับงานสาธารณสุขอื่นๆ กิจกรรมที่สำคัญ คือ การอบรมให้ความรู้ การตรวจสุขภาพเด็ก การคัดกรองอาการป่วยด้วยโรคมือเท้าปาก การทำความสะอาดอุปกรณ์ของเล่น ที่นอน ห้องเรียน ห้องครัว นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการให้สุขศึกษาทางหอกระจายข่าวโดยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ทำให้ในชุมชนมีการตื่นตัว ส่งผลให้การป้องกันและค้นหาผู้ป่วยที่มีอาการสงสัยและหากเกิดโรคก็จะสามารถเข้าควบคุมโรคได้ทันท่วงที ผลการดำเนินงานพบว่าไม่มีรายงานผู้ป่วยโรคมือเท้าปากในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกน้อย“บทเรียน” จากการดำเนินการตามขั้นตอนเหล่านี้ทำให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านโคกน้อย ตำบลโพน อำเภอคำม่วง จังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดการรับรู้สภาพปัญหา วิเคราะห์ปัญหาร่วมกัน โดยทุกคนมีส่วนร่วมจัดทีมแก้ไขปัญหาและจัดการองค์ความรู้ที่ได้คืนข้อมูลสู่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กและชุมชนควรนำเอารูปแบบที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในบริบทเดียวกัน  
ข้อเสนอแนะ : ควรนำเอารูปแบบที่ได้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่อื่นๆ ในบริบทลักษณะคล้ายกัน  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)