ประเภทบทความ/งานวิจัย : วิจัย สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : การแปรงฟันคุณภาพในกลุ่มเด็ก 9 เดือน – 3 ปี
ผู้แต่ง : นิภาพร คำเนตร ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : สุขภาพช่องปากมีความสำคัญต่อสุขภาพของทุกคนโดยเฉพาะในเด็กเล็กและเด็กปฐมวัยโรคฟันผุในเด็กสามารถพบได้ตั้งแต่ฟันเริ่มขึ้นในช่วงขวบปีแรกและอัตราการผุเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 1-3 ปีแม้กระทั่งเด็กที่มีฟันเพิ่งขึ้นในช่องปากได้ไม่นาน ผลเสียที่เห็นได้ชัดคือหากฟันน้ำนมผุ ในส่วนของฟันกราม เด็กจะเกิดความเจ็บปวดจากการบดเคี้ยวอาหาร ไม่สามารถรับประทานอาหารได้ตามปกติ ซึ่งไม่เพียงแต่ส่งผลต่อน้ำหนักตัวและการเจริญเติบโตของร่างกายจนบางคนถึงกับขาดสารอาหารแล้ว ยังส่งผลในเรื่องของการพัฒนากล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าและช่องปากตลอดจนการเจริญของกระดูกขากรรไกรอีกด้วย นอกจากจะมีผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพของเด็กในขณะนั้นแล้วยังมีผลเสียต่อฟันแท้ของเด็กในอนาคตด้วยกล่าวคือฟันน้ำนมที่เสียถูกถอนหรือหลุดไปก่อนที่ฟันแท้จะขึ้นแทนที่จะทำให้ฟันที่อยู่ติดกัน รวน เก และล้มเอียงเข้าหาช่องว่างทำให้ฟันแท้ที่จะขึ้นแทนตำแหน่งนั้นไม่สามารถขึ้นได้อย่างปกติอาจจะขึ้นมาในลักษณะบิดซ้อนกันหรือมีขนาดใหญ่ไม่เหมาะสมกับใบหน้าของเด็กซึ่งจะเป็นปมด้อยทำให้เด็กไม่กล้าในการแสดงออก ตัวแปรสำคัญที่ทำให้เด็กต้องเผชิญปัญหาดังกล่าวมาจากพฤติกรรมการดูแลทันตสุขภาพเด็กของผู้ปกครองที่ไม่เหมาะสม เช่น การให้เด็กหลับคาขวดนม การให้เด็กอมลูกอมเป็นประจำ ผู้ปกครองขาดความเอาใจใส่ดูแลทันตสุขภาพของตัวเด็ก และเกิดจากตัวเด็กที่ไม่ชอบแปรงฟันนั้นเองต้นตอของปัญหาเหล่านี้สามารถจัดการได้โดยตัวผู้ปกครองเอง ได้แก่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการเลี้ยงดู โดยเฉพาะการทำความสะอาดในช่องปากและ การรับประทานอาหารที่เหมาะสม รวมทั้งการปลูกฝังให้เด็กรักการแปรงฟันตั้งแต่เล็กนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นที่จะช่วยให้ปัญหาฟันผุของเด็กลดน้อยลง  
วัตถุประสงค์ : 1.เพื่อส่งเสริมสุขภาพอนามัยช่องปากด้วยการแปรงฟันคุณภาพในกลุ่มเด็ก 9 เดือน – 3 ปี 2.เพื่อส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็กให้รู้หลักการแปรงฟันคุณภาพ  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้ปกครองเด็ก 25 คน ครูผู้ดูแลเด็ก 3 คน เด็ก 25  
เครื่องมือ : ๑. การสนทนากลุ่ม ๒. สมุดประจำตัวลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก ๓. หลักสูตรการอบรม ๕. กิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้  
ขั้นตอนการดำเนินการ : ๑. เขียนโครงการและกำหนดแผนปฏิบัติงาน วางแผนจัดทำโครงการ ๒. เสนอโครงการเพื่ออนุมัติ ๓. ติดต่อประสานงานและประชุมร่วมกันระหว่าง อสม. ครูผู้ดูแลเด็ก ผู้นำชุมชน ๔. สำรวจสถานที่ในการทำกิจกรรม ๕. จัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการตรวจ และอุปกรณ์ในการฝึกปฏิบัติ ๖. ประสานงานผู้เข้าร่วมโครงการ ๗. ดำเนินโครงการตามกำหนดการ ๘. สรุปผลการดำเนินงาน ปัญหาและอุปสรรคที่พบ  
     
ผลการศึกษา : จากการศึกษาและลงมือฝึกปฏิบัติแบบมีส่วนร่วม ร่วมกับการให้บริการทาฟลูออไรด์เฉพาะที่โดยทันตบุคลากรนั้น ทำให้ไม่พบฟันน้ำนมผุเพิ่มขึ้น คราบจุลินทรีย์บนผิวฟันลดลง ส่งผลให้เหงือกอักเสบลดลง เด็กเล็กที่พบฝ้าขาวที่ลิ้นฝึกทำความสะอาดจนเป็นปรกติ ในด้านพฤติกรรมผู้ปกครองปรับเปลี่ยนวิธีและพฤติกรรการแปรงฟันตามสูตรการแปรงฟันคุณภาพ 2 2 2 โดยใช้ยาสีฟันผสมฟลูออไรด์ทุกครั้งและบ้วนน้ำให้น้อยที่สุดหรือเรียกว่า “การแปรงฟันแบบแห้ง” ผู้ปกครองแปรงฟันซ้ำให้เด็กเพิ่มขึ้น ในส่วนของศูนย์พัฒนาเด็กเล็กมีมาตรการให้เด็กเลิกดูดขวดนมหลังจากเข้าศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 1 เดือน มีกิจกรรมการจัดอาหาร ผักผลไม้ตามฤดูกาล นมจืด ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคฟันผุแทนขนมและนมรสหวาน จัดสถานที่ที่เอื้อต่อการแปรงฟันและให้เด็กรับประทานอาหารและนมเสร็จก่อนแปรงฟันเข้านอนทุกวัน ครบทุกคน นำไปสู่การแก้ไขปัญหาการเกิดโรคฟันผุอย่างชัดเจน หลังสิ้นสุดโครงการได้มีการระดมสมองสะท้อนคิดจากผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก ได้มาตรการ “ 3 ป 2 ต 1 ท ” ในการดูแลสุขภาพช่องปากเด็ก 3 ป คือ 1) แปรงฟันซ้ำ 2)ปรับเปลี่ยนวิธีแปรงฟัน 3)ปรับปรุงสภาพแวดล้อม 2 ต คือ 1)ตรวจฟันโดยผู้ปกครอง ครูผู้ดูแลเด็ก ทุกวัน 2)ตรวจฟันซ้ำโดยทันตบุคลากร 1 ท คือ 1)ทำเป็นประจำ  
ข้อเสนอแนะ : 1.ด้านการศึกษา ควรศึกษาประเด็นปัญหา ตัวแปรอื่นที่อาจเกี่ยวข้องเพิ่มเติม เช่น ปัจจัยทางชีววิทยา หรือพฤติกรรมการรับประทานอาหาร 2.ด้านการปฏิบัติงานสาธารณสุข ในเด็กที่มีฟันขึ้นซี่แรกหรือในช่วงอายุ 9 เดือน – 3 ปี ควรมีการแปรงฟันซ้ำให้เด็กอีกครั้งโดยผู้ปกครอง หรือครูผู้ดูแลเด็ก  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)