ประเภทบทความ/งานวิจัย : R2R สถานะ : จัดทำรายงาน
   บทความ/วิจัย เรื่อง : ประสิทธิผลของการนวดแบบราชสำนักร่วมกับการทำเวชปฏิบัติเผายาในการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างของผู้มารับบริการคลินิกการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง
ผู้แต่ง : สุณัฐฏา หนองห้าง อรุณญา คล่องแคล่ว และผู้ช่วยแพทย์แผนไทย ปี : 2560
     
หลักการและเหตุผล : การนวดหรือหัตถเวช เป็นการรักษาโรควิธีหนึ่ง ซึ่งมีผลทางการรักษาโรคในกลุ่มกล้ามเนื้อได้เป็นอย่างดี การนวดแบบราชสำนัก เดิมเป็นการนวดเพื่อถวายกษัตริย์และเจ้านายชั้นสูงในพระราชวัง จึงมีการนวดด้วยท่าที่สุภาพ เน้นการใช้นิ้วมือและฝ่ามือเท่านั้น รวมถึงเน้นบุคลิกของหมอเป็นหลัก และคำนึงถึงความสวยงามในท่วงท่าการนวดและลงน้ำหนักในทิศทางของแรงอย่างถูกต้อง หน่วง เน้น นิ่ง มีความนุ่มนวล แต่มีพลังในการนวด สิ่งสำคัญคือ ต้องคำนึงถึง องศามาตราส่วนในการนวด หากปฏิบัติไม่ถูกต้องจะทำให้ผู้นวดปวดเมื่อยแก่ตัวเองได้ การนวดจะนวดด้วยความระมัดระวังมากกว่า การนวดแบบเชลยศักดิ์ อันเป็น การนวดไทย อีกวิธีหนึ่งที่นิยมใช้รักษาควบคู่กับสังคมไทย จากรายงานผู้รับบริการคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง ปีงบประมาณ 2558 มีผู้รับบริการอาการปวดหลัง จำนวน 115 คน 179 ครั้ง และปีงบประมาณ 2559 มีผู้รับบริการอาการปวดหลัง จำนวน 125 คน 209 ครั้ง เป็นกลุ่มโรคอันดับหนึ่งของผู้รับบริการในคลินิกแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง ปวดหลังช่วงล่าง (Low back pain) เป็นอาการที่พบได้บ่อยอาการหนึ่ง บางการศึกษารายงานว่า เป็นอาการพบบ่อยเป็นลำดับที่ 2 รองจากอาการปวดศีรษะในผู้ใหญ่อายุ 20-30 ปีขึ้นไป ร้อยละ 80 ของผู้ใหญ่เคยมีอาการนี้ และร้อยละ 41 ของคนในช่วงอายุ 26-44 ปี มักเคยมีอาการปวดหลังในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมา ทั้งนี้โอกาสปวดหลังเกิดได้ใกล้เคียงกันทั้งในเพศหญิงและเพศชายอาการปวดหลังช่วงล่างเกิดได้จากหลายกลไกทั้งจากการเสื่อมและโรคของกล้ามเนื้อ เอ็น กระดูก และหมอนรองกระดูกสันหลัง ส่งผลให้เกิดอาการ ปวด เจ็บ ชา กล้ามเนื้อหลังและกล้ามเนื้อขาอ่อนแรง การรักษาด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยใช้วิธีการรักษาด้วยการหัตถเวชหรือการนวด การประคบสมุนไพร และเวชปฏิบัติเผายา เพื่อช่วยบรรเทากลุ่มอาการปวดหลัง งานแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง จึงได้ตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพด้วยศาสตร์การแพทย์แผนไทยเพื่อบรรเทาอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยทำการศึกษาประสิทธิผลของการนวดแบบราชสำนักร่วมกับการทำเวชปฏิบัติเผายาในการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างของผู้มารับบริการคลินิกการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง ขึ้น  
วัตถุประสงค์ : เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการนวดแบบราชสำนักร่วมกับการทำเวชปฏิบัติเผายา ในการรักษากลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างของผู้มารับบริการคลินิกการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง  
กลุ่มเป้าหมาย : ผู้รับบริการกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างที่ได้รับการวินิจฉัย โรคลมปลายปัตคาดสัญญาณ 1,3 หลัง ในคลินิกการแพทย์แผนไทย โรงพยาบาลเขาวง  
เครื่องมือ : แบบฟอร์มการบันทึกการรักษา, แบบประเมินวัดความปวดตามความรู้สึก  
ขั้นตอนการดำเนินการ : 1.ประเมินผู้รับบริการตามแบบฟอร์มการบันทึกการรักษาคลินิกแพทย์แผนไทย เป็นผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยตามหลักการแพทย์แผนไทย จากแพทย์แผนไทยประยุกต์ที่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะ โดยผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยจะต้องมีอาการปวดกล้ามเนื้อหลังส่วนล่างที่ได้รับการวินิจฉัย โรคลมปลายปัตคาดสัญญาณ 1,3 หลัง 2. วัดระดับความเจ็บปวดก่อนการรักษา โดยใช้ประเมินวัดความปวดตามความรู้สึกของผู้รับการนวด โดยแพทย์แผนไทยเป็นผู้อธิบายระดับความปวดตามมาตราวัด Comparative Pain Scale 3. ทำการรักษาด้วยการนวดแบบราชสำนัก สูตรการรักษาโรคลมปลายปัตคาดสัญญาณ 1,3 หลัง และทำหัตถการเผายา เครื่องยาประกอบด้วย ไพล ขมิ้น ผิวมะกรูด 4. วัดระดับความเจ็บปวดหลังการรักษา โดยใช้ประเมินวัดความปวดตามความรู้สึกของผู้รับการนวด โดยแพทย์แผนไทยเป็นผู้อธิบายระดับความปวดตามมาตราวัด Comparative Pain Scale  
     
ผลการศึกษา : 1. ข้อมูลส่วนบุคคล พบว่ากลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงคิดเป็นร้อยละ 70.00 เพศชาย คิดเป็นร้อยละ 30.00 ทุกคนมีอายุช่วง 30 ปีขึ้นไป (วัยปัจฉิมวัย) คิดเป็นร้อยละ 100.00 ครึ่งหนึ่งมีการศึกษาระดับปริญญาตรี คิดเป็นร้อยละ 50.00 ส่วนใหญ่มีเตโชธาตุเป็นธาตุเจ้าเรือน (เกิดในเดือน กุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน) คิดเป็นร้อยละ 50.00 ฤดูที่มีการเกิดโรคคือ วสันต์ตะฤดู ช่วงแรม 1 ค่ำเดือน 8 ถึง ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 คิดเป็นร้อยละ 50.00 พบว่าเวลาที่มีการกำเริบของโรคมากที่สุดคือช่วงที่ได้รับอิทธิพลของวาตะกระทำ เวลา 14.00 น.– 18.00 น และ 02.00 น.-06.00 น. คิดเป็นร้อยละ 40.00 อริยบถที่ไม่เหมาะสมและทำงานเกินกำลังเป็นมูลเหตุของการเกิดโรคมีสัดส่วนเท่ากัน คิดเป็นร้อยละ 50.00 2. อาการปวดหลังส่วนล่าง พบว่าก่อนการทดลองกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่มีอาการปวดหลังส่วนล่างในระดับปวดมาก คิดเป็นร้อยละ 50.00 หลังการทดลองพบว่าอาการปวดหลังส่วนล่างลดลง โดยส่วนใหญ่มีอาการปวดเล็กน้อย คิดเป็นร้อยละ 70.00 ดังแสดงในตารางที่ 1 3. การเปรียบเทียบค่าเฉลี่ยอาการปวดหลังส่วนล่างระหว่างก่อนและหลังการทดลอง พบว่าหลังการทดลอง กลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยอาการปวดหลังส่วนล่างน้อยกว่าก่อนการทดลองอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (t=15,p<.001) ดังแสดงในตารางที่ 2 4. การวิเคราะห์ระดับความพึงพอใจของผู้รับบริการ ในภาพรวม และองค์ประกอบตามมิติด้านต่างๆ พบว่าความพึงพอใจของผู้รับบริการด้านผลการศึกษา ภาพรวมมีความพอใจมาก (x ̅=4.1, S.D.=2.59) ความพึงพอใจด้านผลการศึกษา ภาพรวมมีความพอใจมาก (x ̅=4, S.D.=1.04) ความพึงพอใจด้านคุณค่า ภาพรวมมีความพึงพอใจมากที่สุด (x ̅=4.73, S.D.=.45) เมื่อวิเคราะห์ภาพรวมทุกด้าน ผู้รับบริการมีความพึงพอใจมากที่สุด (x ̅=4.39 S.D.=1.28) ดังแสดงในตารางที่ 3 การวิจัยครั้งนี้ ผู้วิจัยอภิปลายผลการวิจัยตามสมมติฐานการวิจัย ดังนี้ ผลการวิจัยพบว่าหลังได้รับการนวดแบบราชสำนักร่วมกับการเผายา กลุ่มตัวอย่างมีอาการปวดหลังส่วนล่างลดลง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ซึ่งเป็นไปตามสมุฏฐานการวิจัย ซึ่งสามารถอธิบายได้ว่าเป็นเพราะการประยุกต์ศาสตร์การแพทย์แบบผสมผสานร่วมกับทฤษฏีประตูควบคุมความปวด (Gate Control Theory) โดยอภิปรายผลการวิจัยตามลำดับดังนี้ ผลการนวดไทยแบบราชสำนัก เป็นการนวดเป็นการใช้นิ้วมือและฝ่ามือนวด การลงน้ำหนักมือในทิศทาง มุมและองศาของแรงอย่างถูกต้อง ในการนวดหน่วง เน้น นิ่ง มีความนุ่มนวล แต่มีพลังในการนวด การนวดไทยแบบราชสำนัก จะช่วยกระตุ้นระบบไหลเวียนของเลือด น้ำเหลือง และระบบประสาทให้ทำงานดีขึ้น ช่วยทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว ซึ่งเป็นผลดีในการบำบัดรักษาโรคที่มีอาการปวด ตึง ล้าตามส่วนต่างๆ ของร่างกาย ทั้งยังช่วยฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ป่วยที่เกิดหรือภาวะผิดปกติ และช่วยบรรเทาการปวดเมื่อยตามร่างกาย ในขณะที่การเผายาสมุนไพรเป็นการเพิ่มความร้อนจากภายนอก ลักษณะความร้อนที่แผ่กระจาย ออกเป็นลักษณะความร้อนที่ไม่รุนแรง แต่จะค่อยๆเพิ่มขึ้น การเผายาจะมียาสมุนไพรลองอีกชั้น ความร้อนจะแผ่กระจายผ่านชั้นยา จึงช่วยในการทำให้ลมเดินได้อย่างสุขุมและสะดวกขึ้น ลดการติดขัดหรือคั่งค้างของลมในบริเวณต่างๆ ในร่างกายได้  
ข้อเสนอแนะ : 1. เนื่องจากการนวดแบบราชสำนักร่วมกับการทำเวชปฏิบัติเผายาสามารถให้ผลในการลดอาการปวดหลังส่วนล่าง และส่งผลให้เกิดความผ่อนคลาย ตลอดจนก่อให้เกิดความสุขสบายภายหลังการนวดและการทำเวชปฏิบัติเผายา ดังนั้นจึงควรศึกษาติดตามประสิทธิพลของการนวดร่วมกับการทำเวชปฏิบัติเผายาในการลดอาการปวดว่ายังมีฤทธิ์อยู่ได้นานเท่าใด หรือติดตามต่อเนื่องนานกว่า 3 เดือน 2. ควรมีการพัฒนาโปรแกรมการลดความเจ็บปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังส่วนล่าง โดยการมีกิจกรรม เช่น ใช้ยาสมุนไพรในในบัญชียาหลักแห่งชาติ หรือ การพอกยาสมุนไพร เพื่อเพิ่มประสิทธิผลของโปรแกรม  
     
รางวัลที่ได้รับ : ยังไม่ได้รับรางวัล  
     
  ดาวน์โหลด : เอกสารฉบับเต็ม (Fulltext)